เนปาลกับปากีสถานยังถอนตัวออกทัน แต่สายไปเสียแล้วสำหรับศรีลังกา : โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

ระเบียงเศรษฐกิจ 6 เส้นทางในโครงการ One Belt One Road (OBOR)

โครงการเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 (One Belt One Road หรือ OBOR) ของจีนนั้นมีโครงการย่อยของระเบียงเศรษฐกิจ 6 แห่งด้วยกันคือ
1) ระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน ( China-Pakistan Economic Corridor)
2) ระเบียงเศรษฐกิจจีน-บังกลาเทศ-อินเดีย-เมียนมา (Bangladesh-China-India-Myanmar)
3) ระเบียงเศรษฐกิจจีน-มองโกเลีย-รัสเซีย (China-Mongolia-Russia)
4) ระเบียงเศรษฐกิจยูเรเชีย (The Eurasian Land Bridge)
5) ระเบียงเศรษฐกิจจีน-เอเชียกลาง-เอเชียตะวันตก (China-Central Asia-West Asia)
6) ระเบียงเศรษฐกิจจีน-คาบสมุทรอินโดจีน (China-Indochina Peninsula)

ระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน

ครับ! ในภูมิภาคเอเชียใต้ที่ประกอบด้วย 7 ประเทศ คือ อินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ เนปาล ภูฏาน ศรีลังกา และมัลดีฟส์ มีเพียงอินเดียประเทศเดียวที่ประกาศอย่างเป็นทางการว่าไม่เอาด้วยกับโครงการวันเบลต์ วันโรด ของจีน ถึงแม้ว่าจะมีระเบียงเศรษฐกิจจีน-บังกลาเทศ-อินเดีย-เมียนมา ในโครงการของจีนก็ตาม

ส่วนประเทศปากีสถาน ศรีลังกาและเนปาลได้เข้าร่วมโครงการวันเบลต์ วันโรด (ส่วนประเทศภูฏานไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับจีน และมัลดีฟส์เป็นประเทศเกาะเล็กนิดเดียวอยู่นอกสายตาของจีน)

ปรากฏว่าวิธีการดำเนินการโครงการวันเบลต์ วันโรด ของจีนนั้นเอาเศรษฐกิจการค้าเป็นศูนย์กลางโดยใช้โครงการร่วมมือต้องคุ้มค่าทางเศรษฐกิจในตัวมันเองและให้เอกชนจีนเข้ารับเหมาโครงการโดยทางการจีนช่วยเหลือเกื้อกูล แต่จะส่งผลปรับเปลี่ยนดุลอำนาจทางภูมิรัฐศาสตร์ในบั้นปลาย ถูกตั้งข้อกังขาว่าการที่จีนรวบเอาทรัพยากรประเทศเจ้าบ้านไป มุ่งคุมภาคส่วนเศรษฐกิจสำคัญในระยะยาว ดูทีท่าเป็นระบอบอาณานิคมใหม่อย่างชัดแจ้ง

Advertisement

ยกตัวอย่างเช่น ประเทศศรีลังกาเป็นตัวอย่างซึ่งจีนได้ดำเนินนโยบายเข้าช่วยชาวสิงหลในสงครามกลางเมืองระหว่างชาวสิงหลกับชาวทมิฬที่อยู่ทางตอนเหนือของเกาะด้วยการช่วยและปกป้องรัฐบาลของประธานาธิบดีราชปักษาที่ทำสงครามที่โหดเหี้ยมกับพวกทมิฬด้วยการวีโตการนำเรื่องสงครามของศรีลังกาขึ้นมาอภิปรายในคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติและยังได้เสนอความช่วยเหลือเงินกู้มาสร้างสนามบินนานาชาติราชปักษาที่ได้ฉายาว่าเป็น “สนามบินนานาชาติที่ว่างเปล่าที่สุดในโลก”

และท่าเรือน้ำลึกราชปักษาที่ศรีลังกากู้เงินจีนมาสร้างก็เช่นกันก็ไม่มีเรือของชาติใดมาใช้ประโยชน์เลยนอกจากเรือดำน้ำของจีนมาจอดซึ่งก็เหมือนกับท่าเรือน้ำลึกของปากีสถานที่กู้เงินจีนมาหลายพันล้านดอลลาร์มาสร้างเหมือนกันซึ่งก็ไม่มีใครมาใช้เลยนอกจากเรือรบของจีน

เมื่อศรีลังกาไม่สามารถใช้เงินให้จีนได้ตามกำหนดก็ต้องยอมให้จีนได้สิทธิพิเศษในการสร้างท่าเรือน้ำลึกเพิ่มขึ้นอีกที่เมืองหลวงโคลัมโบของศรีลังกา ซึ่งตลกดีจังและจีนได้สัญญาเช่าท่าเรือใหม่นี้ 99 ปี เหมือนกับที่จีนเคยก่นด่าอังกฤษที่เช่าดินแดนของจีน 99 ปี เพราะการเช่านี้คือมีสิทธิสภาพนอกอาณาเขตเลยนะครับ

Advertisement

อีทีนี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้วหยกๆ นี้เองทั้งเนปาลและปากีสถานประกาศถอนตัวจากโครงการสร้างเขื่อนขนาดยักษ์ 2 เขื่อน ซึ่งต้องกู้เงินจากจีนโดยเขื่อนที่ก่อสร้างในปากีสถานนั้นเป็นส่วนสำคัญในโครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน ซึ่งเป็นโครงข่ายของถนน ทางรถไฟ เมืองท่าและเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมและใช้น้ำในการเกษตรนั่นเอง

ความจริงก็เป็นที่เข้าใจได้ไม่ยากนักว่า ทำไมทั้งเนปาลและปากีสถานจึงบอกเลิกโครงการกู้เงินจากจีนในเวลาไล่เลี่ยกัน

เนื่องจากทางบริษัทเอกชนของจีนให้รัฐบาลทั้งสองประเทศนี้กู้เงินจำนวนมหาศาลด้วยดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ 16 ต่อปี และหนี้ประเภทนี้คิดดอกเบี้ยทบต้นอีกด้วยซึ่งเมื่อกู้เงินไปแล้วโอกาสที่จะใช้คืนได้นั้นไม่ง่ายเลย

ดังนั้น ทั้งประเทศเนปาลและประเทศปากีสถานดูจะไหวตัวทันถอนตัวออกเสียก่อนที่จะหนี้ท่วมหัวต้องตกเป็นอาณานิคมยุคใหม่ให้กับจีนขูดรีดเอาทรัพยากรของชาติไปชดเชยรวมทั้งสัญญาเช่า
ดินแดน 99 ปี ซึ่งจีนบังคับทำกับประเทศลูกหนี้อย่างไม่สะทกสะท้าน

แต่สำหรับประเทศศรีลังกานั้นดูจะสายไปเสียแล้ว ห่วงแต่บรรดาประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีโครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-คาบสมุทรอินโดจีน (China-Indochina Peninsula) เท่านั้นแหละครับ โดยเฉพาะบ้านเราที่โปรโมตประเภทระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ของเราเองกันเหลือเกิน นัยว่าจะเอาไปเชื่อมกับโครงการวันเบลต์ วันโรด ของจีนเสียด้วยซี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image