คิดถึง‘สภาพัฒนาการเมือง’ : โดย ผศ.ดร.สมหมาย จันทร์เรือง

เมื่อสภาพัฒนาการเมือง (สพม.) สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายได้ถูกยกเลิกไป ทำให้สำนักงานและบุคลากรจำนวนมากยังไม่ได้มีการใช้ประโยชน์หรือจัดการมอบภารกิจให้ทำตามความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์

กรณีสภาพัฒนาการเมืองจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสภาพัฒนาการเมือง พ.ศ.2551 มีฐานะเป็น “องค์กรภาคประชาสังคม” ประกอบด้วย ชุมชน ชุมชนท้องถิ่น หรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ซึ่งรวมกันเป็นสภาองค์กรชุมชนตำบลตามกฎหมายว่าด้วยสภาองค์กรชุมชน มีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพและจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งดำเนินการส่งเสริมให้ประชาชนมีความเข้มแข็งในทางการเมือง

ภาพรวมของสภาพัฒนาการเมืองจึงยึดโยงกับประชาชนเป็นสำคัญเช่นเดียวกับสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ดังนั้น เมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่เน้นให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรากฎหมาย โดยมาตรา 77 วรรคสองบัญญัติไว้ ความว่า

“ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบรวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน เมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว รัฐพึงจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายทุกรอบระยะเวลาที่กำหนดโดยรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องประกอบด้วย เพื่อพัฒนากฎหมายทุกฉบับให้สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป”

Advertisement

การปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่ประชาชนมีส่วนสำคัญในการตรากฎหมายโดยผ่านทางสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ย่อมต้องให้ความสำคัญในการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้กฎหมายนั้นสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน แต่ที่ผ่านมานับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตย เมื่อ พ.ศ.2475 และมีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยถึงปัจจุบันนับเป็นฉบับที่ 20 ประชาชนยังมีส่วนร่วมกับการตรากฎหมายน้อย หรือส่วนมากการรับฟังความคิดเห็นก็เป็นเพียงกระบวนการ ไม่ได้เกิดผลจากความต้องการของประชาชน ทั้งนี้ เพราะประชาชนขาดความรู้ความเข้าใจต่อการเสนอกฎหมาย และการมีส่วนร่วม ประกอบกับไม่มีหน่วยงานใดทำหน้าที่ให้ความรู้ความเข้าใจและประสานความเห็นของประชาชนตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ทำให้คิดถึง “สภาพัฒนาการเมือง” และหน่วยงานที่ถูกยุบเลิกรวมสามหน่วยงาน ที่ควรบูรณาการเป็นหน่วยงานใหม่ เพื่อรองรับการมีส่วนร่วมของประชาชนดังกล่าว เหตุผลก็คือ

1.สภาพัฒนาการเมือง และสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมถึงคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ได้ปฏิบัติภารกิจเกี่ยวข้องกับประชาชนอย่างใกล้ชิด และสมาชิกของสภาทั้งสองก็คัดเลือกหรือสรรหามาจากชุมชน ซึ่งถือเป็นผู้แทนของประชาชน ย่อมเข้าถึงประชาชนได้อย่างดี

Advertisement

2.หน่วยงานทั้งสามที่ถูกยุบเลิกไปมีทรัพย์สินและบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันแทบไม่ได้นำมาใช้กิจการของบ้านเมืองอย่างคุ้มค่า เช่น ห้องประชุมสัมมนา ยานพาหนะ อุปกรณ์สำนักงานที่ทันสมัย เป็นต้น

3.ข้อเสนอของการจัดตั้งหน่วยงานใหม่เชิงบูรณาการนั้น ควรจัดตั้งเป็นสำนักงานสังกัดรัฐสภา โดยโอนบุคลากรและทรัพย์สินทั้งหมดมาใช้ในสำนักงานใหม่นี้ ซึ่งไม่ต้องเพิ่มงบประมาณ หรือเครื่องมืออุปกรณ์ใดๆ เพราะมีอยู่พร้อมที่จะดำเนินการได้ทันที

4.สำนักงานใหม่นี้ทำหน้าที่ให้ความรู้ความเข้าใจการปกครองระบอบประชาธิปไตยแก่ประชาชน การเสนอกฎหมาย และการแสดงความเห็นในการตรากฎหมาย ซึ่งสอดคล้องกับมาตรา 77 วรรคสอง รวมถึงการประสานงานในการตรากฎหมายที่อยู่ในขั้นตอนของรัฐสภา ทำให้การพิจารณากฎหมายมีความรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน

จากเหตุผลทั้งสี่ประการนี้ควรเร่งดำเนินการบูรณาการหน่วยงานทั้งสาม เพื่อจัดตั้งหน่วยงานใหม่ให้เอื้อต่อการปฏิรูปกฎหมายซึ่งนำไปสู่การปฏิรูปประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต

ผศ.ดร.สมหมาย จันทร์เรือง
ประธานคณะทำงานพิจารณากฎหมายในระบบรัฐสภา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image