แอบดูการศึกษาของประเทศมาเลเซีย โดย เพชร เหมือนพันธุ์

ข้อมูลออนไลน์จาก http//pantip.com.topic/36936937 ชื่อ “สะท้อนภาพเมืองไทยเมื่อดูมาเลเซีย” ที่ น.อ.ดร.ศรายุทธ กันหลง ส่งไลน์มาให้ ทำให้มองเห็นภาพที่เด็กรุ่นใหม่ของมาเลเซียที่ได้เรียนรู้หลายภาษาและเข้าใจการเงิน สะท้อนถึงเป้าหมายหลักสูตรการศึกษาของเขาวางเป้าหมายไว้เช่นนั้

ความว่า มีคนไทยที่ไปทำงานในมาเลเซียที่รัฐปีนัง เมื่อเขานั่งรถเมล์รอบเกาะปีนัง ได้เจอนักเรียนมาเลเซียกลุ่มใหญ่อายุประมาณ ม.ต้น ขึ้นรถเมล์ คุยกับคนขับรถเมล์เป็นภาษามาเลย์ (Bahasa malayu) ยืนบนรถเมล์หันไปคุยกับเพื่อนเป็นภาษาอังกฤษ แอบมองหนังสือเรียนที่พวกเขาถืออยู่เป็นภาษาจีน

วันรุ่งขึ้น ได้ถามคนงานที่ไปทำงานที่นั่นเขาบอกว่า นั้นคือปกติของโรงเรียนที่มาเลเซีย สะท้อนให้เห็นว่า ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของมาเลเซีย เขาก้าวหน้าไปไกลกว่าเรา เขาสอนคนของเขาให้เรียนรู้ภาษาทางธุรกิจถึงสองภาษาคือภาษาอังกฤษและภาษาจีน แล้วยังได้เรียนรู้เรื่องการเงินการบัญชีที่ใช้ในชีวิตประจำวันอีกด้วย

ข้อมูลเชิงลึก เด็กมาเลเซียทุกคน “เรียนฟรี” ด้วยมาตรฐานที่ลูกคนจนถึงลูกคนชั้นกลางได้เรียนในคุณภาพที่เสมอกัน บางโรงเรียนได้นำวิชาการเงิน มาสอนตั้งแต่ชั้นเด็กๆ ด้วย เด็กชั้นประถม เรียนวิชาการใช้เงิน เด็ก ม.ต้น เรียนวิชาการหาเงิน เด็ก ม.ปลาย เรียนวิชาบริหารการเงิน

Advertisement

ฟังแล้วสะท้อนถึงเด็กไทยที่ยังเรียนระบบท่องจำ ต้องไปเรียนกวดวิชาจากครูที่สอนครึ่งหนึ่งในห้องที่เรียน ที่เหลือนำไปสอนในโรงเรียนกวดวิชาเพื่อหารายได้ และนำเอาข้อสอบจริงมาสอนกวดวิชาล่วงหน้าเพื่อทำให้เด็กกวดวิชาได้คะแนนดี และผู้ปกครองยังคาดหวังว่าการสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัยได้คือความสำเร็จของชีวิต

เด็กไทยยอมลงทุนด้วยราคาที่สูงใช้เวลาเรียนที่ยาวนาน 15-20 ปี เพื่อหวังว่าเมื่อจบออกไปแล้วจะได้มีงานทำเป็นลูกจ้างประจำรายเดือนหรือข้าราชการที่มีเงินเดือนปริญญาตรีเดือนละ 15,000 บาท ซึ่งดูแลตนเองก็ยังไม่พอ

สถานประกอบการของไทยไม่อยากรับเด็กนักเรียนมาฝึกงานเพราะเด็กเหล่านี้รู้แค่ในหนังสือตำรา ทำงานไม่เป็น ทำงานไม่มีคุณภาพ รอคำสั่ง คิดงานเองไม่ได้ แต่อยากได้เงินเดือนสูงๆ และสวัสดิการดีๆ นี่คือเรื่องจริง

Advertisement

บทความนี้ ได้สะท้อนให้เห็นสภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานเปรียบเทียบระหว่างไทยกับมาเลเซีย ใครเตรียมเด็กเพื่ออนาคตในทศวรรษหน้าได้ดีกว่ากัน

ทำไมในหลักสูตรการศึกษาไทยจึงไม่ได้บรรจุสาระวิชาการเงินการบัญชีเป็นวิชาแกนเข้าไปในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ฝากคณะปฏิรูปอิสระฯ ท่าน ศ.กิตติคุณ นพ.จรัส สุวรรณเวลา ด้วยครับ

เรามาดูผลผลิตที่มีคุณภาพของบุคคลต้นแบบที่ผ่านหลักสูตรชีวิตในโลกทุกวันนี้ว่า ว่าเขามีทักษะการเรียนรู้ที่พัฒนาตนเองให้ขึ้นไปยืนอยู่ในแนวหน้าของโลกได้อย่างไร โรงเรียนสอนอะไร เขาเรียนกันอย่างไร เขาเรียนหลักสูตรอะไร ดังนี้

ท่านแรก มีชื่อเสียงที่สุดคือ Elon Musk ชาวอเมริกัน-แคนาดา เกิดในแอฟริกา เป็นนักพัฒนาคิดค้นนวัตกรรมในวงการดิจิทัลเทคโนโลยี เป็นทั้งนักวิทยาศาสตร์และนักเศรษฐศาสตร์ เป็นผู้ที่กำลังเปลี่ยนแปลงโลก เป็นผู้ก่อตั้ง Pay pal, Tesla Motors, Space X เป้าหมายของเขาคือการลดโลกร้อนโดยการใช้พลังงานสะอาด เขาจะปฏิวัติการใช้พลังงานของโลก จะนำเอาพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ทดแทนพลังงานน้ำมันภายในทศวรรษหน้านี้ เขาเป็นเจ้าพ่อแห่งรถยนต์พลังงานแสงอาทิตย์ Tesla เขาคือดาวฤกษ์ดวงหนึ่งที่ส่งประกายเจิดจ้าไปทั่วโลกที่ทุกคนกำลังเฝ้ามอง

ท่านที่ 2 คือ Jack Ma บุคคลสำคัญหมายเลขที่ 2 ของจีนแผ่นดินใหญ่ เขาเป็นผู้บุกเบิกอาณาจักรธุรกิจอาลีบาบา เป็นประธานบริษัทอาลีบาบาซึ่งประสบผลสำเร็จในธุรกิจอินเตอร์เน็ต อีคอมเมิร์ซ เขาขยายธุรกิจออกไปครอบคลุมทุกทวีปทั่วโลก เขาคือต้นแบบของคนเอเชียที่มีต้นทุนต่ำมาตั้งแต่เกิดแต่สามารถพัฒนาตนเองได้ด้วยแรงขับภายในของตนเอง

ท่านที่ 3 คือ Mark Zuckerberg เป็นนักนักธุรกิจหนุ่มชาวอเมริกัน เป็นที่รู้จักในฐานะเป็นผู้ก่อตั้งเว็บไซต์เฟซบุ๊ก เขาได้เปิดตัวเฟซบุ๊ก จากห้องพักของเขาในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2004 เขาประสบผลสำเร็จทั้งๆ ที่ไม่ได้จบปริญญาจากมหาวิทยาลัย เขาเป็นผู้สร้างเครือข่าย Face book สังคมออนไลน์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เป็นมหาเศรษฐีอายุยังน้อย และเป็นต้นแบบบุคคลที่การศึกษาไทยควรใช้เป็นต้นแบบในการพัฒนาหลักสูตรได้

มีข่าวว่าจะมาเยี่ยมประเทศไทยปลายปี 2560 นี้ จริงไม่จริงคอยดู

ในฝั่งของคนไทยที่ยืนในแนวหน้าสังคมดังนี้ ท่านแรก พ.อ.ดร.เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช. และประธานกิจการโทรคมนาคม เป็นทั้งนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์เทคโนโลยี เป็นผู้บุกเบิกประมูลคลื่น 3G, 4G ซึ่งระยะนี้ท่านได้ถูกสถาบันต่างๆ เชิญไปเป็นผู้บรรยายในหลักสูตรต่างๆ มากมาย ท่านเป็นผู้ชี้ให้คนรุ่นใหม่ของไทยเห็นโลกในอนาคตที่จะเกิดขึ้นในอีก 5-10 ปีข้างหน้า ว่าจะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างไร

ท่านที่ 2 คือ รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เจ้าพ่อโครงการรถไฟความเร็วสูง ผู้ที่วางแพลทฟอร์มรถไฟความเร็วสูงไว้แล้วแต่ไม่ได้สร้าง ท่านได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับกระแสเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก ในการประชุมสัมมนาที่จัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจเมื่อเร็วๆ นี้ว่า “ทำไมประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไม่ทันโลก ไม่ฟังไม่ได้แล้ว” ท่านใดที่ยังไม่ได้ฟังก็กลับไปหาฟังได้จาก You tube จาก Google ครับ เพราะบทความนี้ท่านอ้างว่าท่านอ่านหนังสือมาหลายเล่ม นำมาเสนอต่อสังคมไทยเพื่อให้มองเห็นภาพใน 3 เรื่อง คือ ทำไมจึงต้องเปลี่ยนแปลง จะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต และเราจะรับมือกับอนาคตได้อย่างไร

ท่านบรรยายว่าการสร้างรถไฟความเร็วสูงจะทำให้เกิดธุรกิจใหม่และจะทำให้เกิดชุมชนใหม่ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงภายในสังคม 3 มิติคือ 1.จะมีเครือข่ายการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น Connectivity 2.มีการทำลายอย่างสร้างสรรค์ Creative Destruction และ 3.จะมีธุรกิจที่สร้างการทำลาย Destructive Economy

ดร.ชัชชาติบอกว่า โลกในอนาคตจะเป็นไปตามกฎของ Cordon Moore หรือเรียกว่า Moore Law ซึ่งกำหนดไว้ว่าพลังของ IT จะมีการเปลี่ยนแปลงโลกเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ในทุก 2 ปี โดยเริ่มต้นมานับแต่เมื่อปี 1970 ซึ่งขณะนี้ล่วงเลยถึงปี 2017 เป็นเวลาถึง 41 ปี ช่วงนี้จึงมีความเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงและรวดเร็วยิ่งกว่ายุคที่ผ่านมา Digital จะนำโลกไปสู่สังคมเปิด ผู้รักษาด่านประตูชายแดน (Gate Keeper) จะสูญเสียอำนาจ ระบบธุรกิจแบบท่อ Pipe Line จะถูกทำลายลงแล้วแทนที่ด้วยระบบตลาดนักการค้า Digital ได้พัฒนาระบบเครือข่ายนวัตกรรมเทคโนโลยี Connectivity ขึ้น จะเชื่อมโยงโลก ยกตัวอย่างเช่น Mark Zuckerberg เชื่อมโยงเครือข่ายด้วย Face book ส่วน Jack Ma เชื่อมโยงเครือข่ายด้วยธุรกิจขนาดเล็ก Alibaba การแข่งขันจะกลายเป็น Global Competition ใช้เทคโนโลยีแทนแรงงานคนด้วย ระบบ Automation, Robot งานในอนาคตจะจ้างงานมนุษย์น้อยลง

บุคคลที่ 3 คือ เถ้าแก่น้อย ต๊อบ หรือ นายอิทธิพัทธ์ กุลพงษ์วณิชย์ หรือ พีระเดชาพันธ์ ที่กลายเป็นเศรษฐีร้อยล้านเมื่ออายุเพียง 23 ปี เขาเรียนไม่เก่ง แต่ชอบอ่านประวัติของนักธุรกิจชั้นนำของโลก เช่น ธนินท์ เจียรวนนท์ เจริญ ศิริวัฒนภักดี ตัน ภาสกรนที โดนัลด์ ทรัมป์ บิล เกตต์ สตีฟ จ็อบส์ เป็นต้น

ต๊อบเรียนไม่เก่งแต่รู้จักสร้างอัศวินประจำใจ สร้างไอดอลให้กับตนเอง เขามีแรงบันดาลใจจากอัศวินของเขา เขาเป็นนักธุรกิจหนุ่มน้อยที่มีต้นทุนต่ำ เริ่มต้นจากครอบครัวมีหนี้สิน ต่อสู้ดิ้นรนจนเป็นเจ้าของบริษัทเถ้าแก่น้อย ฟู้ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด เมื่อปี 2546 ขณะที่มีอายุเพียง 19 ปี เขาผลิตสาหร่ายทะเลทอดกรอบและขนมขบเคี้ยว ภายใต้ตราสินค้าตรา “เถ้าแก่น้อย”

และในปี 2553 เขามียอดจำหน่ายกว่า 1,500 ล้านบาท เขาเป็นต้นแบบที่น่าจับต้องได้

หันกลับมาดูการศึกษาไทย ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นวิกฤตติดหล่มและยังหลงทางอยู่ ค้นหาเส้นทางและเป้าหมายไม่พบ หามาถึง 4 ทศวรรษแล้ว ก็ยังหารูปแบบที่เหมาะสมไม่ได้ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเดียวคือ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งยิ่งปรับก็ยิ่งยุ่งเหมือนบีบลูกโป่ง “บีบจุดหนึ่งโป่งขึ้นอีกจุดหนึ่ง” เขตพื้นที่การศึกษาและศึกษาธิการจังหวัดยังสับสนในภาระงาน ข้าราชการส่วนภูมิภาคหลายแห่งต้องขึ้นโรงขึ้นศาล เกิดผลกระทบเชิงลบไปถึงโรงเรียนครูและเด็ก

ภาพปฏิรูปการศึกษาที่เห็นผ่านมา คือการนำเอานวัตกรรมการสอนใหม่ๆ เข้าไปในชั้นเรียนเช่น STEM, PLC, BBL, SME, COUPON TICKETS, โรงเรียน 4.0 มันเป็นความพยายามที่เหมือนกับพ่อครัวจะปรุงแต่งรสชาติของอาหารในแกงหม้อเก่าที่ค้างคืนมาหลายปี เพื่อให้มีรสชาติดีขึ้น พ่อครัวพยายามเติมน้ำปลา ผงชูรส มะนาวเข้าไปตามแต่จะคิดได้ ผลมันก็คงเป็นได้แค่แกงหม้อเก่าเอานำกลับมาอุ่นไฟใหม่ ปรุงใหม่ ซึ่งคุณภาพอาจบูดเน่าเสียตกยุคไปแล้ว

ครับ ต้องกล้ารื้อหลักสูตรการศึกษาที่ล้าหลังทิ้ง โลกมันก้าวเข้าสู่ยุคที่ไม่ต้องการครูมายืนบอกความรู้หน้าชั้นแล้ว เพราะความรู้ทั้งมวลอยู่ในอินเตอร์เน็ตและมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การออกแบบหลักสูตรใหม่จึงมีความจำเป็นยิ่ง และต้องหาคนมีความรู้ชำนาญการในการออกแบบหลักสูตร มีต้นแบบที่เขาประสบความสำเร็จมาเป็นตัวแบบ

ไม่ต้องอายใคร ต้องกล้าพูดความจริง ต้องเอาความจริงมาพูดกัน แม้สังคมไทยจะยังไม่สามารถพูดความจริงได้ทั้งหมด เราต้องปฏิวัติไปเลย

เด็กรุ่นใหม่ไม่จำเป็นต้องเชื่อความรู้ตามที่ครูสอน เขามีข้อมูลของตนเองที่ค้นหาเองได้ ถ้าครูยังผูกขาดเนื้อหาหรือคำตอบที่ถูกต้องอยู่เพียงคนเดียว ครูอาจถูกเด็ก Challenge คัดค้านหรือตรวจสอบจากเด็กได้

แนวโน้มหลักสูตรในอนาคต จะต้องเป็นหลักสูตรที่ฝึกทักษะชำนาญการระยะสั้น เรียนจบทักษะเป็นเรื่องๆ ไป เรียนจบแล้วนำมาใช้ทำมาหากินได้เลย เรียนไปทำงานไป ไม่ใช่เรียนจบแล้วค่อยหางานทำ อยากสมัครเรียนทักษะอะไรต้องได้เรียน และที่สำคัญคือต้องไม่เป็นหลักสูตรเชิงเดี่ยว คือเรียนรู้แต่วิชาเอกวิชาเดียว มันต้องเป็นรูปแบบไร่นาสวนผสมเหมือนศาสตร์พระราชา วิชาสามัญทั่วไปอาจไม่จำเป็นต้องสอนในห้องเรียน เพราะผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้จากสังคมอยู่แล้ว

เพชร เหมือนพันธุ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image