คลองไทยคือความหวังของชาวโลก แต่คนไทยบางกลุ่มมองไร้ค่า : โดย ณรงค์ ขุ้มทอง

โครงการคลองไทย (คลองกระ) กลับมาเป็นที่กล่าวถึงอีกครั้งหลังจากท่านองคมนตรี ธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้มีหนังสือเปิดผนึกถึงท่านนายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อให้รัฐบาลหยิบยกโครงการคลองไทยขึ้นมาศึกษา และรัฐบาลควรนำพื้นที่ชายฝั่งทะเลทั้ง 2 ด้าน เกือบ 2,000 กิโลเมตร มาพัฒนาเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ

แนวคิดดังกล่าวส่งผลให้ผู้ใหญ่ของบ้านเมืองร่วมด้วยนักวิชาการอิสระในพื้นที่ภาคใต้รวมตัวกันเป็นทีมอาสาสมัครร่วมกันขับเคลื่อนโครงการคลองไทยขึ้นมาอีกครั้ง เป้าหมายคือทำการศึกษาในขั้นเชิงลึกโดยให้รัฐบาลตั้งกรรมการศึกษาว่าคุ้มทุนหรือไม่ ภายใต้มีหลักคิดและตั้งข้อสังเกตว่าถึงเวลาที่รัฐควรหาช่องทางใหม่สร้างงานสร้างรายได้ให้กับประเทศใหม่

เพราะ 1.ราคายางพารา และปาล์มน้ำมันน่าจะไม่ใช่รายได้หลักของคนใต้อีกต่อไป 2.คลองไทยเคยผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติมาแล้วปี 2548 แต่ทำไมเดินหน้าไม่ได้ 3.ทุกครั้งที่มีข่าวการรื้อฟื้นโครงการคลองไทยก็มักจะหยุดไปและกลับมีเสียงเล่าลือกันว่ามีต่างชาติขัดขวางพร้อมใช้เงินมหาศาลเพื่อล้มโครงการนี้ 4.มีหลายฝ่ายทั้งทหาร+นักธุรกิจผู้เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไปออกมาส่งเสียงไม่คุ้มทุนไม่มีเรือมาวิ่งแต่ทำไมคลองสุเอซ คลองปานามา ได้ขยายแนวคลองและขุดเพิ่มเติม 5.ขณะนี้ประเทศนิการากัวในทวีปอเมริกากลางเหนือประเทศปานามาได้ทำการขุดคลองเส้นใหม่ในโลกนี้ภายใต้โครงการ Nicaragua Grand inter Oceanic ยาว 278 กิโลเมตร รับตู้สินค้าได้ 25,000 (TEU) ต้องการเรือวิ่งผ่าน 25 ลำ/วัน 6.ประเทศเพื่อนบ้านของไทยได้พัฒนาแบบก้าวกระโดดแต่ตรงข้ามประเทศไทยกลับช้าและถูกขัดขวางจนเดินหน้าไม่ได้ 7.โครงการใหญ่ที่สร้างความเจริญสร้างงานสร้างรายได้ทำไมไม่ค่อยเกิดขึ้นในภาคใต้

7 ข้อสงสัยนี้เป็นเหตุผลเบื้องต้นที่กลุ่มอาสา 5 จังหวัด คือ สงขลา, พัทลุง, นครศรีธรรมราช, ตรัง, กระบี่ รวมตัวกันต้องการหาทางเลือกใหม่เสนอรัฐบาล ขณะเดียวกันเมื่อโครงการนี้ได้เผยแพร่และกระจายข่าวออกไปก็มีกลุ่มคนได้ออกมาเสนอแนะความคิดเห็นต่างๆ นานาด้วยเหตุผลที่ตนเองคิด ที่ตนเองมีความรู้และประสบการณ์

Advertisement

ผู้เขียนในฐานะประธานอำนวยการประสานงานการศึกษาความเป็นไปได้โครงการคลองไทยและในฐานะผู้เข้าชี้แจงโครงการคลองไทยต่ออนุกรรมาธิการศึกษาด้านโลจิสติกส์ ในคณะกรรมาธิการคมนาคมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา อยากจะให้ข้อมูลเชิงบวกของโครงการคลองไทยในสายตาของต่างชาติ เช่น การรายงานงานวิจัยของ University Malaysia Terengganu ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่เชี่ยวชาญด้านการขนส่งทางทะเลของมาเลเซียภายใต้หัวข้อ A descriptive method for analyzing The kra Canal decision on maritime business Patterns in Malaysia ปี 2016 ผ่านวารสารการค้าการขนส่งทางเรือประเทศมาเลเซียปี 2016 (Journal of Shipping and Trade)

ข้อมูลในชิ้นงานดังกล่าวได้รายงานไว้ว่า คลองไทยจะมีผลเชิงบวกมากกว่าเชิงลบอย่างน่าทึ่งน่าสนใจยิ่ง เช่น ปลอดภัยมากกว่าช่องมะละกาที่เรือถูกโจรสลัดปล้นในปี 2013 ถึง 125 ลำ ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากถึง 350,000 ดอลลาร์สหรัฐ สามารถลดภาวะโลกร้อน

และได้สรุปไว้ว่า คลองไทยจะได้รับผลดีจากผู้ประกอบธุรกิจการขนส่งทางเรืออย่างมากเพราะประหยัดได้มาก ความปลอดภัยสูง

Advertisement

งานวิจัยของ นาย Dennis Small EIR 14 สิงหาคม 2015 ภายใต้หัวข้อ The Suez and Nicaragua Canals Reshape the World Ocean คลองสุเอซและคลองนิการากัวเปลี่ยนโฉมมหาสมุทรโลกรายงานนี้บอกว่า ประธานาธิบดีเอลซีซีของอียิปต์ได้เปิดคลองสุเอซใหม่เมื่อ 6 สิงหาคม 2015 ได้ประกาศต่อหน้าชาวอียิปต์ว่า “อียิปต์เป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่และเจริญรุ่งเรืองมา 7,000 ปี คลองสุเอซใหม่เป็นของขวัญสำหรับมนุษย์โลก ประเทศอียิปต์มีความมุ่งมั่นที่จะทำให้ความปรารถนาของประชาชนบรรลุผล” และนาย Lyndon Lyndon Larouche นักเคลื่อนไหวชาวอเมริกาบอกว่า “คลองสุเอซได้เปลี่ยนทั้งโลก ไม่มีหลายมหาสมุทรอีกต่อไป ทุกอย่างจะเปลี่ยนไป ความสำเร็จทางการค้าทะเลจะเกิดขึ้น”

ในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจโลกเชื่อมทั้งทางบกและทางทะเลโลก (World Land – Bridge มีการเชื่อมโยงทั้งโลก One Ocean, One Continent) หนึ่งมหาสมุทรหนึ่งทวีป คลองสุเอซใหม่เพิ่มเรือจาก 49 ลำ/วัน เป็น 97 ลำ/วัน รับเรือขนาดบรรจุทุกสินค้าได้ 240,000 DWT

จากการรายงานของ Marine Department of Malaysia มกราคม 2014 ภายใต้หัวข้อ Collision Safety in the Malacca Straits and Singapore Waters บอกว่า ช่องแคบมะละกาในปัจจุบันนี้ไม่สามารถรองรับภาระการขนส่งทางทะเลได้อีกในอนาคตข้างหน้า

จากการรายงานของ UNCTAD trade and development report และ Suez Canal Authority Economic Unit ว่ามีการลงทุนในเขตคลองสุเอซปี 2013-2014 ทั้งสิ้น 5031.8-5369.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีการลำเลียงของเรือปี 2013-2014 จำนวน 120-249 ลำ เก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง (1,000 ดอลลาร์สหรัฐ) ได้ 23,291-50,003 ดอลลาร์สหรัฐ และตั้งแต่ปี 1999 เป็นต้นมารายได้ของคลองสุเอซติดลบเพียง 3 ครั้ง คือในปี 2002 คือได้ 1,876 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ปี 2009 ได้ 4,700 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกเหนือจากนั้นคลองสุเอซมีกำไรทั้งสิ้นเช่นปี 2014-2015 มีรายได้รวม 5,310-5,372 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (General Authority of The Suez Canal – different Years)

อียิปต์ได้ขุดคลองคู่ขนานระยะทาง 35 กม. ลึก 24 เมตร กว้าง 317 เมตร สามารถรับเรือได้จากวันละ 49 ลำ เป็นวันละ 97 ลำ ในปี 2023 มีรายได้เพิ่มขึ้น 259% เป็นเงินประมาณ 13,226 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งปัจจุบันมีรายได้เพียง 51 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ SCA-Expected revenues for the Coming 7 years in nomod maritime trading Situation

ด้านคลองปานามาจากการรายงานประจำปี 2559 (Panama Canal Annual Report 2016) และ Satisfying Market Demand ปี 2557 มีรายได้ค่าผ่านทาง 1,909.30 ล้านบัลโบอา (1 บัลโบอา = 33 บาท) ปี 2558 1,994.20 ล้านบัลโบอา และปี 2559 1933.00 ล้านบัลโบอา ชนิดของเรือที่ผ่านคลองปานามาปี 2559 เรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ ผ่านคลอง 2,977 ครั้ง เรือบรรทุกสินค้าเหลว 2,947 ครั้ง, เรือบรรทุกสินค้าเทกองแห้ง 2,634 ครั้ง เรือบรรทุกรถยนต์ 809 ครั้ง, เรือปรับอุณหภูมิ 948 ครั้ง และเรือบรรทุกผู้โดยสาร 213 ครั้ง (208,703 คน)

นี่คือข้อมูลเบื้องต้นและเป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำตอบว่า ทำไมมีกลุ่มคนที่ต้องการเสนอให้รัฐบาลหยิบเรื่องคลองไทยมาศึกษาใหม่

นาย Lyndon LaRouche ได้บอกว่า คลองกระคลองไทยได้เริ่มกล่าวถึงใน ศตวรรษที่ 18 สนับสนุนโดยจากสถาบันวิจัยมิตซูบิชิแห่งญี่ปุ่น โดยกองทุนโครงสร้างพื้นฐานโลก (GIF) สนับสนุนให้ขุดคลองไทย โดยมีการประชุมที่กรุงเทพมหานครที่ประชุมชี้ให้เห็นว่า “ความมุ่งหวังในการขุดคลองไทย ไม่เพียงแต่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศไทยและประเทศภูมิภาคเท่านั้น แต่คลองนี้จะเป็นแกนหลักที่ทำให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านอื่นๆ”

และนาย Lyndon LaRouche ได้กล่าวสรุปในที่ประชุม เมื่อ 7 สิงหาคม 2015 ว่า “ความโง่เขลาของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเท่านั้นที่ขัดขวางไม่ให้สิ่งนี้เกิดความสำเร็จ นานมาแล้ว (รัฐบาลก่อนๆ) เวลาจึงผ่านไปอย่างไร้ประโยชน์”

นี่คือภาพสะท้อนเรื่องคลองไทยบางส่วนจากต่างชาติ ผ่านงานวิจัย-งานประชุมเสวนา หรือคลองไทยต้องรอเวลา ประชาชน รวมถึงผู้บริหารประเทศและประชาชนคนไทยต้องช่วยกันคิด โดยปราศจากความขลาดกลัว วิตกกังวลใจจนเกินเหตุทำให้ประเทศเดินหน้าไม่ได้

ณรงค์ ขุ้มทอง
ประธานกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
โรงเรียนนวมินทราชูทิศทักษิณ และโรงเรียนดาวนายร้อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image