ปฏิรูปองค์กรสงฆ์ เพื่อธำรงมั่นแห่งพระพุทธศาสนา : โดย รศ.ดร.กิตติทัศน์ ผกาทอง

สังคมสงฆ์ในบริบทของสังคมไทยกำลังมีภัยรอบด้าน, ทั้งภัยที่เกิดจากปัจจัยภายใน คือในองค์กรสงฆ์เอง และภัยที่เกิดจากปัจจัยภายนอก คือคนในสังคมรอบข้าง ภัยทั้งสองปัจจัยดังกล่าวเกิดจากกระบวนการบริหารจัดการเป็นประการสำคัญ ในอดีตองค์กรสงฆ์ดำรงอยู่ได้เพราะสังคมมอบความไว้วางใจในฐานะป็นองค์กรแห่งความศักดิ์สิทธิ์ แม้จะมีเรื่องระแคะระคายให้ได้ยินอยู่บ้าง แต่เมื่อบวกลบคูณหารแล้ว ยอมรับได้ เพราะถึงอย่างไรเสียองค์กรสงฆ์หรือวัดก็ยังเป็นเขตอภัยทานเป็นแหล่งคุณงามความดีมากกว่าบ้าน หรือองค์กรอื่นๆ ยิ่งองค์กรสงฆ์ที่ตั้งอยู่ในชนบทหรือห่างไกลความเจริญด้วยแล้วชาวบ้านต้องทำใจ เพราะหาพระที่มีการศึกษา มีปฏิปทาที่ถูกใจยากเหลือเกิน

แต่เมื่อสังคมปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีโทรศัพท์ โทรทัศน์ทุกครัวเรือน การได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ฉับไว จึงเริ่มมีความรู้ใหม่เกิดขึ้นซึ่งเป็นความรู้ที่เรียกว่า “ทันสมัย” คือรู้ทุกอย่างแม้แต่เรื่องที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของพระและกิจกรรมของวัด

เมื่อรู้มาก ก็เริ่มเกิดความระแวงสงสัย จากการระแวงสงสัยแบบซุบซิบนินทาในกลุ่มคนที่คุ้นเคย ก็เริ่มขยายตัวสู่สังคมวงกว้างเรื่อยๆ ในที่สุดจากแค่ระแวงสงสัยก็พัฒนาสู่การจ้องจับผิด

ปัจจุบันสังคมชาวบ้านกับสังคมชาววัดในหลายพื้นที่ในชนบทเริ่มขัดแย้งแตกแยกกันมากยิ่งขึ้น บางชุมชนไม่เข้าวัดและทำบุญกับพระภิกษุ-สามเณรในวัดที่อยู่ในชุมชนก็มี เพราะไม่ศรัทธาเลื่อมใสในพฤติกรรมส่วนพระภิกษุหรือวัดก็ไม่ง้อชุมชนเช่นกัน บางวัดและบางชุมชนถึงไม่เปิดเสียงตามสายปะทะคารมกันแบบขิงก็ราข่าก็แรงก็มีให้ได้ยินอยู่เนืองๆ

Advertisement

ส่วนวัดกับชุมชนในพื้นที่สังคมเมืองไม่ต้องพูดถึงเพราะวัดกับชุมชน ไม่ค่อยเป็นมิตรต่อกันมานานแล้ว

โครงสร้างการบริหารองค์กรสงฆ์ : การบริหารกิจการพระศาสนาโดยหลักการต้องยึดถือพระธรรมวินัยเป็นบรรทัดฐาน แต่เมื่อสังคมมีการพัฒนา เจริญก้าวหน้า การบริหารองค์กรสงฆ์นอกจากยึดหลักพระธรรมวินัยแล้ว ยังต้องยึดกฎหมายของบ้านเมืองควบคู่ไปด้วย เพียงแต่เมื่อบ้านเมืองมีการพัฒนาก้าวไกล แต่องค์กรสงฆ์กลับล้าหลัง

ทั้งนี้เนื่องเพราะกฎหมายที่ฝ่ายบ้านเมืองจัดทำขึ้นเพื่อมอบให้คณะสงฆ์ใช้ปกครองควบคู่กับพระธรรมวินัยนั้น แต่มีความเป็นดึกดำบรรพ์มากเพราะเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อ พ.ศ.2505 แม้จะมีการแก้ไขบ้างก็แค่เพียงบางมาตราเท่านั้น และบางมาตราก็แก้แบบแก้บน มิได้แก้ให้เกิดประโยชน์ในการบริหารจัดการแต่อย่างใด

เมื่อกฎหมายล้าหลังแต่บ้านเมืองเจริญก้าวหน้า ปัญหาในการบริหารจัดการจึงเกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะการบริหารจัดการองค์กรสงฆ์ตามกฎหมายฉบับที่ใช้บังคับในปัจจุบัน ซึ่งแบ่งการปกครองคณะสงฆ์ออกเป็น 2 ประเภท คือ การปกครองคณะสงฆ์ในส่วนกลางและการปกครองคณะสงฆ์ในส่วนภูมิภาค

ก) การปกครองคณะสงฆ์ส่วนกลาง : การปกครองคณะสงฆ์ในส่วนกลางแบ่งออกเป็น 5 คณะใหญ่ ประกอบด้วย
1.คณะใหญ่หนกลาง ปกครองภาคกลางและภาคตะวันออกบางจังหวัด
2.คณะใหญ่หนเหนือ ปกครองภาคเหนือ
3.คณะใหญ่หนตะวันออก ปกครองภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกบางจังหวัด
4.คณะใหญ่หนใต้ ปกครองภาคใต้ทั้งหมด
5.คณะใหญ่คณะธรรมยุต ปกครองคณะธรรมยุติกนิกายทั้งหมด

คณะใหญ่ทั้ง 5 คณะให้มีผู้บังคับบัญชาซึ่งเรียกว่า “เจ้าคณะใหญ่” และผู้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะใหญ่ได้นั้นต้องมีสมณศักดิ์ตั้งแต่พระราชาคณะชั้นรองสมเด็จขึ้นไป

ปัจจุบันเจ้าคณะใหญ่ที่เป็นรองสมเด็จพระราชาคณะมีเพียงเจ้าคณะใหญ่หนใต้ และเจ้าคณะใหญ่หนเหนือเท่านั้นนอกนั้นล้วนเป็นสมเด็จพระราชาคณะทั้งสิ้น

ที่สำคัญเจ้าคณะใหญ่ส่วนใหญ่ล้วนแต่มีอายุค่อนข้างมาก ทั้งนี้โดยไม่มีวาระในการดำรงตำแหน่งแต่อย่างใดเป็นเรื่อยๆ จนถึงแก่มรณภาพ ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดในสังคมยุคโลกาภิวัตน์

เมื่อองค์กรสงฆ์มีจารีตนิยมในการครองตำแหน่งระดับสูงเช่นนี้ การบริหารกิจการพระศาสนาในเชิงรุกจึงไม่เกิดขึ้น

ข)การปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค : การปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาคแบ่งออกเป็น 4 ระดับ ประกอบด้วย
1.ระดับภาค มีเจ้าคณะภาคเป็นผู้บังคับบัญชา
2.ระดับจังหวัด มีเจ้าคณะจังหวัดเป็นผู้บังคับบัญชา
3.ระดับอำเภอ มีเจ้าคณะอำเภอเป็นผู้บังคับบัญชา
4.ระดับตำบล มีเจ้าคณะตำบลเป็นผู้บังคับบัญชา

การปกครองในส่วนภูมิภาคนี้มีจุดอ่อนตรงที่ไม่ได้กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ และเจ้าคณะตำบล แต่ปฏิบัติหน้าที่ไปเรื่อยๆ จนถึงอายุ 80 ปีจึงจะพ้นจากตำแหน่ง ทำให้การบริหารจัดการองค์กรสงฆ์ในเขตพื้นที่ที่ตนรับผิดชอบไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เพราะ 1) อายุมาก และ 2) ดำรงตำแหน่งนาน แม้จะมีรองเจ้าคณะในแต่ละตำแหน่งช่วยเป็นภาระธุระในการบริหารก็ตาม แต่ส่วนใหญ่มักมีแต่ตำแหน่งแต่ไม่มีอำนาจ การบริหารคณะสงฆ์ในระดับตำบล ระดับอำเภอ และระดับจังหวัด จึงมีปัญหามากมายดังเป็นข่าวปรากฏทางสื่อในปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี การปกครองคณะสงฆ์ในส่วนภูมิภาคนั้น มีเพียงตำแหน่งเจ้าคณะภาคเท่านั้นที่กำหนดวาระ 4 ปี แต่อาจได้รับการต่อวาระอีกได้ (หากถูกใจเจ้าคณะใหญ่)

แนวทางการปฏิรูปองค์กรสงฆ์ : ประเทศไทยในสมัยรัฐบาลของนายชวน หลีกภัย ได้มีพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติขึ้นเป็นฉบับปฏิรูปที่สมบูรณ์ครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.2542 โดยมีการบูรณาการหน่วยงานที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันอยู่ในกระทรวงเดียวกัน ได้แก่การเปลี่ยนกระทรวงศึกษาธิการ เป็น “กระทรวงการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม” แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ นายทักษิณ ชินวัตร ได้แก้ไขให้เป็นชื่อเดิม คือ “กระทรวงศึกษาธิการ” ใน พ.ศ.2545 แล้ว ตั้งชื่อกระทรวงใหม่ชื่อ “กระทรวงศาสนาและวัฒนธรรม” แต่ชาวพุทธส่วนหนึ่งอยากได้ “กระทรวงพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมไทย”

ในที่สุด นายทักษิณ ชินวัตร จึงจัดสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติให้แทน รวมทั้งตั้งกระทรวงวัฒนธรรมขึ้น

ดังนั้น หากต้องการปฏิรูปองค์กรสงฆ์ให้เป็นองค์กรที่เอื้อต่อการจรรโลงพระพุทธศาสนาและศีลธรรมอันดีงามให้กับสังคมไทย นอกจากจะไล่เช็กหรือตรวจสอบเงินทอนแล้ว ท่าน ผอ.สำนักพุทธฯ ต้องเร่งดำเนินการในช่วงที่รัฐบาล คสช.มีอำนาจล้นฟ้า ใช้มาตรา 44 ยกเครื่องกฎหมายคณะสงฆ์ และกฎระเบียบที่ล้าหลัง เพื่อกระจายอำนาจการบริหารจัดการองค์กรสงฆ์ให้เกิดความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมวดว่าด้วยมหาเถรสมาคม ควรกำหนดสัดส่วนใหม่เพื่อความเป็นธรรม รวมทั้งคุณสมบัติของกรรมการมหาเถรสมาคมให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ควรบูรณาการกลุ่มงานที่คล้ายคลึงกันให้อยู่ในหน่วยงานเดียวกัน นั่นก็คือ ยุบรวมสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติและกระทรวงวัฒนธรรม ให้เป็นหน่วยงานเดียวกัน โดยตั้งชื่อใหม่ว่า “กระทรวงศาสนาและวัฒนธรรม” เพราะปัจจุบันเวลาทำเรื่องเกี่ยวกับการตั้งและเลื่อนสมณศักดิ์ ต้องไปที่สำนักพุทธฯ พอทำเรื่องขอพระราชทานเพลิงต้องไปที่กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม หากอยู่ที่เดียวกันความคล่องตัวก็เกิดขึ้น

ที่สำคัญเรื่องเงินอุดหนุนที่มีปัญหาในเวลานี้จะค่อยๆ หมดไป เพราะมีกระทรวงดูแลรับผิดชอบงบประมาณชัดเจน การปฏิรูปองค์กรตำรวจเพื่อพัฒนาจิตสำนึกในเชิงบวกต่อภาระหน้าที่ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับประชาชนในฐานะผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ฉันใด การปฏิรูปองค์กรสงฆ์เพื่อธำรงรักษาพระธรรมวินัยในฐานะศาสนทายาท ก็ฉันนั้น

หากตำรวจเป็นคนดีไม่ได้ พระเป็นนักบวชที่ดีไม่ได้ สังคมไทยก็สิ้นหวัง

รศ.ดร.กิตติทัศน์ ผกาทอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image