อาศรมมิวสิก : ห้องดนตรีโรงเรียนวัดลาดทราย โดย สุกรี เจริญสุข

โรงเรียนวัดลาดทราย อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นโรงเรียนที่อยู่ในความดูแลของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพระนครศรีอยุธยา เขต 1 ตั้งอยู่บนถนนสายเอเชีย มีนักเรียนประมาณ 300 คน เปิดสอนระดับอนุบาลถึงระดับประถมศึกษาปีที่ 6 ชุมชนโดยรอบเป็นบริษัท เป็นโรงงาน พ่อแม่ของนักเรียนเป็นคนพื้นที่ครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งเป็นครอบครัวของคนจร โยกย้ายถิ่นฐานมาทำงาน จำนวนมากที่ครอบครัวแตกแยก อาศัยอยู่ตามริมคลองโดยรุกล้ำพื้นที่สาธารณะ ส่วนใหญ่มีฐานะที่ยากจน เด็กมีคุณภาพชีวิตต่ำ ประมาณว่าไทยแลนด์ 1.0 ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานที่รัฐได้ตั้งไว้ว่าเป็นไทยแลนด์ 4.0

โรงเรียนวัดลาดทราย เป็นโรงเรียนที่ได้รับคำแนะนำต่อๆ กันมา ตั้งแต่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ได้เคยเข้าไปสนับสนุนกีฬาวอลเลย์บอล โดยส่งอดีตนักกีฬาทีมชาติไปช่วยฝึกสอนเด็ก ทำให้เด็กได้เล่นกีฬา ทำให้เด็กได้พัฒนาร่างกาย อารมณ์ และสังคม

ต่อมาเมื่อมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้เสนอให้มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ไปช่วยเหลือโรงเรียนบ้านนอก เพื่อที่จะทำโครงการนำร่องให้กับตลาดหลักทรัพย์ โรงเรียนวัดลาดทรายเป็นโรงเรียนที่ได้รับคำแนะนำว่า น่าจะได้รับเลือกให้ไปทำกิจกรรม เพราะว่าเป็นโรงเรียนที่อาศัยอยู่ในวัด ผู้อำนวยการเป็นผู้ที่มีความเอาใจใส่สูงและขยัน ครูในโรงเรียนทุกคนมีน้ำใจร่วมกันทำงาน

และนักเรียนก็อยู่ในฐานะที่น่าสงสาร ซึ่งชุมชนโดยรอบก็มีความยากจนเป็นพื้นฐาน

Advertisement

มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข โดยการสนับสนุนของมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จึงได้เข้าไปทำวงดนตรีไทย โดยการส่งคณะครูดนตรีไทยไปสอนตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 เป็นต้นมา จากโรงเรียนที่ไม่มีครูดนตรี ไม่มีเครื่องดนตรี ไม่มีวงดนตรี กระทั่งวันนี้ โรงเรียนวัดลาดทรายมีเครื่องดนตรีทั้งวงปี่พาทย์และวงเครื่องสาย มีห้องดนตรีให้เด็กได้ฝึกซ้อม มีนักเรียนที่เล่นดนตรีไทย 42 คน ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ไปกระทั่งชั้นประถมศึกษาปีที่ 6

ครูดนตรีไทย 3 คน จากมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ได้เข้าไปสอนเด็ก โดยมีครูในโรงเรียนเป็นผู้ช่วยเหลือดูแลสนับสนุนกิจกรรมการเรียนการสอนดนตรีไทย ซึ่งนอกจากจะช่วยดูแลแล้วก็ยังได้เรียนรู้ดนตรีไทยและได้ทำกิจกรรมไปด้วย แต่ครูในโรงเรียนก็ยังมีความหวั่นเกรงว่าครูที่มาจากมูลนิธิจะมาทำงานเพื่อสร้างภาพ เมื่อได้ภาพแล้วก็จากไป

Advertisement

ผลงานของเด็กที่ได้เรียนและเล่นดนตรีไทย วงดนตรีไทยได้ออกงานแสดงของชุมชน ของราชการ ของโรงเรียน และของวัด ทำให้วงดนตรีไทยของเด็กมีความเข้มแข็งมากขึ้น เด็กบางคนได้เข้าไปแข่งขันจนได้รับรางวัล ซึ่งรางวัลเป็นแรงบันดาลใจแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องรอบข้าง พ่อแม่มีความชื่นชมว่าลูกไปโรงเรียนแล้วก็ได้เรียนรู้มีความสามารถติดตัว ครูในโรงเรียนมีกำลังใจ โรงเรียนมีผลงาน อาจารย์ใหญ่ให้ความเชื่อถือ มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยผู้ให้การสนับสนุนก็เห็นความก้าวหน้า ทุกฝ่ายต่างก็มีความสุข

สาวน้อยคนหนึ่งเรียนดีดจะเข้ในวงดนตรีไทย เมื่อเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยธรรมชาติของสังคม ชุมชน และครอบครัวแล้ว ต้องออกไปทำงานในโรงงาน และในที่สุดก็ต้องมีครอบครัวก่อนวัยอันควร ในขณะที่เป็นพื้นที่ความเสี่ยงสูง (สีแดง) คือเป็นแหล่งของยาเสพติด เพราะประชาชนเป็นผู้ใช้แรงงาน มีความทุกข์เป็นพื้นฐาน เมื่อไม่มีที่พึ่งก็ใช้เงินซื้อพึ่งยาเสพติด คุณภาพชีวิตของสังคมต่ำ

อาจารย์ใหญ่ได้อธิบายและขอร้องให้มูลนิธิได้ช่วยเหลือสาวน้อย ก่อนที่ผู้ปกครองจะส่งเธอไปเผชิญชะตากรรมในโรงงาน เนื่องจากชีวิตไม่มีทางเลือก เธอได้ใช้ความสามารถในการเล่นจะเข้ สอบเข้าเรียนต่อที่วิทยาลัยนาฏศิลปที่ศาลายาได้ โดยการสนับสนุนให้ทุนการศึกษาจากมูลนิธิ

ในวันหยุดเธอก็ได้ไปช่วยทำงานที่มูลนิธิ เพื่อให้มีรายได้เป็นค่าขนมกลางวัน ก็เป็นตัวอย่างให้น้องๆ ที่โรงเรียนวัดลาดทราย ได้เห็นว่า “ดนตรีที่เรียนอยู่ ช่วยชีวิตได้”

เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2560 โรงเรียนวัดลาดทรายมีความภูมิใจยิ่งที่จะเปิดห้องดนตรีของโรงเรียน โดยมีผู้มีส่วนร่วมมาจากหุ้นส่วนต่างๆ มีโอกาสได้ชมการแสดงดนตรีไทยของเด็ก ได้ชมห้องดนตรีที่ทำขึ้นโดยครูนำเงินเดือนของตนมาลงขันหุ้นกันสร้าง เพื่อต้องการให้เด็กมีห้องเรียนดนตรี เจ้าอาวาสวัดลาดทรายมาเจิมป้ายเปิดห้องดนตรี ผู้ใหญ่ของอำเภอมาเป็นสักขีพยาน ครูอาจารย์ทั้งโรงเรียน เพื่อนครูจากโรงเรียนโดยรอบได้ไปร่วมงาน ต่างชื่นชมแสดงความยินดี วงดนตรีประกอบด้วยเด็ก 42 ชีวิต ก็ได้เล่นดนตรีทุกเพลงที่เล่นได้ (4 เพลง) เล่นผิดบ้างถูกบ้าง แต่ทุกคนมีความสุข

อาจารย์ใหญ่เล่าให้ฟังเรื่องปัญหาพื้นฐานของโรงเรียน ได้รับงบประมาณน้อย มีครูไม่พอ ขอไปก็ไม่มีครูให้ หากให้มาก็ไม่ตรงตามความต้องการของโรงเรียน อาจารย์ใหญ่ก็ได้มาโดยฝ่ายรัฐส่งไปให้ ส่วนใหญ่ก็เป็นคนที่อยู่นอกพื้นที่ เป็นพวกที่เรียนเก่งสอบได้ เมื่อไปอยู่ก็วิ่งเต้นเพื่อโยกย้าย ไม่มีเวลาทำงาน มีงานของรัฐให้ทำสำรวจข้อมูลพื้นฐาน ทำแล้วทำอีก แต่ละกระทรวงต่างก็ขอข้อมูล

ครูในโรงเรียนไม่มีเวลาสอนหนังสือเพราะต้องไปทำข้อมูลพื้นฐานให้กับหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเป็นปัญหาของกระทรวงศึกษาธิการ

สําหรับในกระทรวงศึกษาธิการ มีข้าราชการอยู่ 6-7 พันคน ทุกคนเป็นผู้ที่มีความรู้สูง มีปริญญาสูง มีเงินเดือนรายได้สูง มีตำแหน่งสูง เพียงแต่เป็นผู้ที่ไม่มีผลงาน ครูทุกคนที่อยู่ต่างจังหวัดต่างก็วิ่งเต้นไปอยู่ในกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อจะได้มีตำแหน่งหน้าที่ มีความก้าวหน้า คนในกระทรวงศึกษาธิการมีหน้าที่อยู่ในห้องประชุม หอบกระดาษหิ้วคอมพิวเตอร์ ออกกฎเกณฑ์ออกหลักการ สั่งการแล้วสั่งการอีก เป็นการสั่งการที่ไม่มีคนทำและทำไม่ได้ มีหลักการซ้ำซ้อน

ส่วนครูที่อยู่ในโรงเรียนนั้น มีความรู้น้อย ปริญญาต่ำ เงินเดือนน้อย ตำแหน่งต่ำต้อย คุณภาพชีวิตต่ำกว่ามาตรฐานประเทศ มีหนี้สินล้นพ้นตัว ต้องทำงานทุกอย่างที่มีอยู่ในโรงเรียน ในที่สุดก็วิ่งเต้นโยกย้ายไปเป็นผู้บริหารอยู่ในจังหวัด อยู่ในกระทรวงศึกษาธิการ ที่ต่างก็เห็นว่าดีกว่า

ทางเลือกของกระทรวงศึกษาธิการ มอบโรงเรียนให้พื้นที่การศึกษาในชุมชนเป็นผู้ดูแล เป็นผู้บริหารจัดการ โอนเงินงบประมาณไปให้โรงเรียนจัดการ โอนอำนาจให้ชุมชนจัดการเรื่องรับครูเอง ให้จัดการศึกษาเอง ซึ่งในระยะเริ่มต้นอาจจะเผชิญกับปัญหามาก เพราะไม่เคยมีเงิน ไม่เคยบริหาร ไม่เคยมีอำนาจ ซึ่งความจริงแล้ว ครูในโรงเรียนมีข้อมูลรู้ปัญหามากกว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสียอีก

การลดข้าราชการในกระทรวงศึกษาธิการให้เหลือฝ่ายเสมียน 6-7 ร้อยคนก็พอ เพื่อทำหน้าที่เป็นฝ่ายสนับสนุนนโยบาย ส่วนบุคลากรที่เหลือในกระทรวงให้ส่งออกไปเป็นครูที่โรงเรียนให้หมด โรงเรียนก็จะได้ครูที่เก่ง มีความรู้สูง มีรายได้สูง โรงเรียนก็จะพัฒนาทันที ให้กระจายอำนาจออกไปให้โรงเรียน ลดอำนาจของส่วนกลางลง ระยะแรกอาจจะล้มลุกคลุกคลาน แต่ในระยะยาว ชุมชน วัด โรงเรียน ก็จะทำงานร่วมกัน ได้ช่วยกันแก้ปัญหา สิ่งสำคัญก็คือ เอาทรัพยากรที่มีให้โรงเรียนเขาไป ให้สามารถจัดการศึกษาเพื่อชุมชนได้

ห้องดนตรีโรงเรียนวัดลาดทรายจะช่วยตัวเองได้อย่างไร ที่วัดลาดทรายมีเมรุเผาศพ เดือนหนึ่งมีศพที่ต้องเผา 2-3 ศพ หากแต่ละศพที่มาเผาที่วัด มีปี่พาทย์ของนักเรียนบรรเลงในงานศพ ได้ประโคมศพ และบรรเลงส่งดวงวิญญาณสู่สรวงสวรรค์ในวันเผาอีก 1 ครั้ง โดยโรงเรียนหุ้นกับวัด ทำเป็นนโยบายของชุมชนว่า ศพที่เผาในวัดลาดทรายจะต้องมีปี่พาทย์บรรเลงประโคมศพ วัดไม่รับพวงหรีด แต่ขอบำรุงวัด 5 พันบาท โดยวัดมีเมรุและวงปี่พาทย์ให้ ใช้เงินค่ากำนนแบ่งให้วัด 2 พัน ให้โรงเรียน 3 พัน โรงเรียน วัด และวงดนตรีปี่พาทย์ของเด็กก็จะอยู่ได้

ทั้งนี้ มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อาจให้การสนับสนุนในปีแรก เพื่อให้นโยบายของชุมชนดำเนินไปได้ในระยะหนึ่งก่อน

วันนี้ อาชีพดนตรีไทยตายแล้ว เนื่องจากไม่มีพื้นที่ ไม่มีเวทีที่จะแสดง สำคัญอย่างยิ่งก็คือ ไม่มีเงินเข้าไปในอาชีพดนตรีไทย เล่นดนตรีไทยเรียนดนตรีไทยแล้วประกอบอาชีพไม่ได้ แต่ก่อนงานศพทุกวัดมีวงปี่พาทย์ส่งดวงวิญญาณขึ้นสู่สวรรค์ เดี่ยวนี้ไม่มีวงปี่พาทย์ประจำวัดอีกต่อไป เนื่องจากการบริหารจัดการระหว่างวัดกับวงปี่พาทย์ไม่ลงรอยกัน วัดต้องการเงินรายได้ ปี่พาทย์ได้เงินน้อย พวกปี่พาทย์ถูกนินทาว่าเป็นพวกขี้เมา “กินอยู่อย่างราชา นอนอย่างกะหมา” ปี่พาทย์จึงเป็นที่รังเกียจของชาววัดและเจ้าภาพงานศพ ปัจจุบันทุกวัดทั่วประเทศจึงไม่มีปี่พาทย์ประโคมศพอีกต่อไป วิญญาณทั้งหลายจึงกลายเป็นสัมภเวสีไม่ได้ขึ้นสวรรค์ เกิดใหม่ก็ยังดิบอยู่

โครงการวงปี่พาทย์งานศพของโรงเรียนวัดลาดทราย เป็นเพียงการนำเสนอทางออกให้การศึกษาดนตรีไทยให้มีเป้าหมายของ “อาชีพดนตรีไทย” หากมีอาชีพดนตรีไทยเกิดขึ้น ก็ไม่จำเป็นต้องรักดนตรีไทย ไม่ต้องหวงแหน ไม่ต้องโหยหาและฟูมฟายรักดนตรีไทยกันอีกต่อไป อาชีพดนตรีไทยก็จะช่วยตัวเองได้ มีดนตรีไทยอยู่กับงานศพไทย ซึ่งต่อไปดนตรีไทยก็จะรุกคืบไปสู่งานแต่งงาน “กล่อมเจ้าบ่าวเจ้าสาว” ไปสู่งานสังสรรค์รื่นเริง คนเล่นดนตรีไทยก็จะมีฝีมือมากขึ้น เพราะมีรายได้ ประกอบเป็นอาชีพได้ ไม่ต้องรอคอยให้กระทรวงวัฒนธรรมหลงรักและหวงแหนดนตรีไทยไว้แต่เพียงผู้เดียว

ห้องดนตรีโรงเรียนวัดลาดทราย เป็นการจุดประกายน้อยๆ ให้กับชุมชน ให้โรงเรียนที่อยู่ห่างจากเมืองหลวงกรุงเทพมหานครเพียง 65 กิโลเมตร อยู่ในอยุธยาเมืองหลวงเก่าของเราแต่ก่อน ซึ่งเป็นเมืองสวรรค์ของพวกลิเกและปี่พาทย์

วันนี้ ลิเกและปี่พาทย์ได้ตายไปจากกรุงศรีอยุธยาหมดแล้ว เหลือแต่คำโหยหาอดีตและฟูมฟายว่ารักวัฒนธรรมไทย โดยไม่มีอาชีพประกอบอีกต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image