การปฏิรูประบบการเลือกตั้ง ของไทยกับการคาดการณ์ที่ผิดพลาด : เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ

ระบบการเลือกตั้งมีผลต่อระบบพรรคการเมืองเพราะทำให้เกิดการแพ้-ชนะกันในสภา และมีผลรวมต่อการเมืองการปกครองในภายหลังด้วย การปฏิรูปการเมืองจึงต้องปฏิรูปการเลือกตั้งด้วยเสมอ ทุกวันนี้พบว่าประเทศต่างๆ ส่วนใหญ่จะปฏิรูปการเลือกตั้งทุกๆ สิบปี

ปัจจุบันประเทศไทยกำลังปฏิรูประบบการเลือกตั้ง โดยใช้ระบบเลือกตั้งแบบผสม (mixed members electoral system) แต่เป็นแบบผสมแบบสัดส่วน (mixed member proportional system) หรือ MMP ซึ่งดัดแปลงมาจากเยอรมนี

หากนับเฉพาะระบบเลือกตั้ง ส.ส.ปัจจุบันไทยเราแบ่ง ส.ส.ออกเป็น 2 ประเภท คือ ส.ส.เขตกับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ สำหรับ ส.ส.เขตมี 350 คน หรือประมาณ 52% ส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อมี 150 คน หรือประมาณ 42% รวมทั้งหมด 500 คน ส่วนสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว.มีอีก 250 คน

การปฏิรูปการเลือกตั้ง ส.ส.ดังกล่าวมี 3 ด้าน คือ (1) การควบคุมดูแลการเลือกตั้ง ส.ส. (election control) (2) โครงสร้างบัตรเลือกตั้ง ส.ส. (ballot structure) (3) สูตรการคิดที่นั่ง ส.ส. (electoral formula)

Advertisement

ด้านแรก การควบคุมดูแลการเลือกตั้ง ให้ กกต.มีอำนาจให้ใบเหลือง (เลือกตั้งใหม่) ใบส้ม (ระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งชั่วคราวไม่เกิน 1 ปี) และใบแดง (กกต.ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อให้สั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และหรือเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง โดยเฉพาะใบแดงครั้งใหม่นี้หนักที่สุดเพราะห้ามไม่ให้เล่นการเมืองตลอดชีวิต) นอกจากนั้น ยังแก้ปัญหาที่เคยเป็นจุดอ่อนในการควบคุมการเลือกตั้ง เช่น ให้ กกต.มีอำนาจแต่งตั้งเจ้าพนักงาน ให้มีอำนาจสืบสวน สอบสวน ไต่สวน หรือดำเนินคดีได้เหมือนตำรวจ เช่น สามารถจับกุมผู้กระทำความผิดซึ่งหน้า หรือขอหมายค้น หมายจับได้ และเมื่อดำเนินคดีอาญาหรือการพิจารณาของศาลให้ใช้สำนวนของเจ้าพนักงานของ กกต.เป็นสำนวนในคดีทั้งในชั้นพนักงานอัยการและชั้นศาล รวมทั้งให้รางวัลผู้ชี้เบาะแส หรือกันคนกระทำผิดไว้เป็นพยานได้

ด้านที่สอง โครงสร้างบัตรเลือกตั้ง เปลี่ยนไปใช้บัตรเลือกตั้งบัตรเดียว คือ บัตรเลือกตั้ง ส.ส.เขต และใช้คะแนนของ ส.ส.เขตเป็นฐานในการคิด ส.ส.บัญชีรายชื่อ (เดิมมีบัตรเลือกตั้ง ส.ส. 2 ใบแยกกัน ได้แก่ บัตรเลือกตั้ง ส.ส.เขต และบัตรเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ)

ด้านที่สาม สูตรการคิดที่นั่ง ส.ส.ด้านนี้ได้เปลี่ยนวิธีคิด ส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่ โดยนำคะแนน ส.ส.เขตมาเป็นตัวตั้ง และเอาเขตพื้นที่ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ วิธีการคือ นับบัตรดีที่เลือก ส.ส.เขตทั้งหมดก่อน เช่น 29 ล้านเสียง เอาจำนวนนี้ตั้ง เสร็จแล้วหารด้วยจำนวนที่นั่ง ส.ส.ทั้งหมด คือ หารด้วย 500 ผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นคะแนนเสียงต่อ ส.ส.หนึ่งคนหรือหนึ่งเก้าอี้ จากนั้นก็ไปพิจารณาดูทีละพรรค เช่น พรรค ก. ได้คะแนน 10 ล้านเสียง จะได้กี่เก้าอี้ สมมุติคิดออกมาได้ 60 เก้าอี้ ต่อมาก็เอาจำนวน ส.ส.เขตมาหักออก สมมุติได้ ส.ส.เขต 48 เสียงเอาไปหักออก ที่เหลืออีก 12 เสียงก็เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ

Advertisement

วิธีการเปลี่ยนโครงสร้างบัตรเลือกตั้งและสูตรการคิดที่นั่ง ส.ส.ดังกล่าว มีข้อดี คือ ทำให้เข้าใจง่าย ผู้เลือกตั้งลงคะแนนง่าย และผู้คิดคะแนนก็คิดง่าย (รวมทั้งมีจุดเด่นที่ไทยเราดัดแปลงมาใช้เองประเทศเดียว จึงมีเอกลักษณ์) แต่ข้อเสียคือ การเลือกด้วยบัตร 2 ใบ ได้แก่ การเลือก ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบที่เคยทำมาในรัฐธรรมนูญปี 2550 นั้นหายไป ทำให้หลักการที่ว่า “การเลือก ส.ส.เขตเป็นการเลือกคน” ส่วน “การเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อเป็นการเลือกพรรค” นั้นหายไป ความเป็นตัวแทนประชาชนกับความเป็นตัวแทนพรรคก็หายไปด้วย เหลือเพียงการเลือก ส.ส.เขตอย่างเดียว และคะแนนของ ส.ส.เขตมีความสำคัญมาก เพราะมีผลโดยตรงต่อคะแนนของ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ตามวิธีการเลือกใหม่นี้ สัดส่วนของคะแนน ส.ส.เขต กับคะแนนของ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะเป็นสัดส่วนเดียวกัน (proportional outcomes) เช่น พรรค ก. ได้คะแนน ส.ส.เขต 41% คะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อก็ต้องคำนวณได้ 41% ด้วย ปรากฏการณ์ที่พรรค ก.ได้ ส.ส.เขตมาก แต่ได้คะแนนสัดส่วนน้อย อย่างเช่น กรณีของพรรครัฐบาลรัสเซียในปัจจุบันจะไม่เกิดขึ้นกับประเทศไทย ยิ่งเราให้เขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ก็จะตรงกับทฤษฎีการเลือกตั้งที่ว่า “ยิ่งเขตการเลือกตั้งใหญ่เท่าใด คะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคที่ได้รับ จะยิ่งมีความเป็นสัดส่วนเดียวกันเท่านั้น”

เราจะเห็นได้ว่า การใช้คะแนน ส.ส.เขตเป็นฐานเช่นนี้ ยิ่งทำให้พรรคใหญ่ได้เปรียบ เพราะวิธีการลงคะแนนดังกล่าวจะทำให้พรรคที่ได้คะแนนที่หนึ่ง ทิ้งห่างพรรคที่สอง ที่สาม และที่สี่มากขึ้น เพราะจะไม่มี strategic vote หรือ ticket-splitting เกิดขึ้น หมายความว่า ถ้ามีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ โอกาสที่จะเลือกผู้สมัครพรรคหนึ่ง และเลือกพรรคอีกพรรคหนึ่งจะมีมาก เช่น การใช้บัตรเลือกตั้งในเยอรมนี แม้ใช้บัตรใบเดียว แต่แบ่งออกเป็น 2 ข้าง ข้างซ้ายเลือกคน ข้างขวาเลือกพรรค

ผลปรากฏว่าการเลือกตั้งแต่ละครั้งคนเยอรมันจะเลือกคนพรรคหนึ่งและเลือกพรรคอีกพรรคหนึ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ (ปัจจุบันสูงกว่า 20%) เพื่อให้พรรคได้คะแนนกระจายกันออกไป และจะได้เกิดรัฐบาลผสม รวมทั้งมีการลงคะแนนแบบนี้โดยไม่ตั้งใจ ซึ่งเกิดจากความเข้าใจผิดว่าเขาสามารถลงคะแนนได้ทีละสองพรรคด้วย ฉะนั้น เมื่อคะแนนห่างกันมาก โอกาสที่พรรคที่หนึ่งจะได้เสียงข้างมากก็ย่อมมีมากตามไปด้วย

เป้าหมายของการนำระบบผสมมาใช้คือ การเพิ่มตัวเล่นในทางการเมือง ได้แก่ การเพิ่มพรรคที่สอง ที่สาม ที่สี่ ที่ห้านั้นจึงเป็นไปได้ยาก รวมทั้งเป็นความเข้าใจผิดของผู้ออกแบบ ซึ่งนำเอาคะแนนการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ มาคำนวณแล้วพบว่าพรรคที่ได้ที่หนึ่งจะได้คะแนนลดลง ส่วนพรรคที่สองและที่สามจะได้คะแนนเพิ่มขึ้น เนื่องจากคะแนนครั้งก่อนๆ นั้นมีคะแนน strategic vote ปนอยู่จำนวนมาก ผู้เขียนเข้าใจว่าน่าจะถึง 40% (เพียงแต่ยังไม่มีใครศึกษาวิจัย) เพราะผู้เขียนสังเกตเห็นว่าคนไทยในเมืองส่วนใหญ่จะเลือกคนพรรคหนึ่ง และจะเลือกพรรคอีกพรรคหนึ่ง เพื่อต้องการให้ถ่วงดุลกัน

ด้วยเหตุนี้ การให้ความเห็นว่า “จะไม่มีใครได้เสียงข้างมาก” นั้น นอกจากเป็นการพูดเกินหน้าที่แล้วยังชักนำสังคมให้เข้าใจผิด รวมไปถึงการอธิบายผิดๆ ด้วยว่า “วิธีการคิดคะแนนเลือกตั้งแบบใหม่นี้ นำคะแนนมาคิดทุกคะแนน” เพราะหลักที่อ้างนั้นเป็นของระบบการถ่ายโอนคะแนน หรือ STV ของไอร์แลนด์เหนือและมอลตา ส่วนของไทยเราไม่ได้เอาคะแนนของพรรคที่ได้คะแนนไม่ถึงคะแนนขั้นต่ำต่อ ส.ส.หนึ่งคนมาคิด คะแนนของพรรคนั้นจะหายไปจากระบบ เช่น พรรค จ. (ซึ่งส่งผู้สมัครลงบัญชีรายชื่อด้วย) ได้คะแนน 999 คะแนน แต่คะแนนต่อ ส.ส.หนึ่งคน 1,000 คะแนน คะแนน 999 คะแนนของพรรค จ. นั้นจะหายไป ไม่ได้นำไปถ่ายโอนให้กับพรรค ก. พรรค ข. แต่อย่างใด

ดังนั้น ระบบการเลือกตั้งใหม่นี้จึงน่าจะไม่มีผลในการเพิ่มพรรคการเมืองใหม่ๆ ตลอดจนยังมีปัญหาอื่นที่เป็นอุปสรรคต่อพรรคใหม่ เช่น การตั้งพรรคใหม่ยังกระทำไม่ได้ ข้อที่สำคัญกว่านั้นคือ การเลือกตั้งของไทยอาศัยฐานคะแนนเดิมเป็นหลัก พรรคใหม่สอดแทรกเข้าไปยาก รวมทั้งการซื้อเสียงของไทยเปลี่ยนไปเป็นการซื้อระยะยาวมาร่วมสิบปีแล้ว (หัวคะแนน ส.ส.ในปัจจุบันเป็นกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตาทวด และตกทอดมาถึงรุ่นหลาน เหลน) มีน้อยคนที่จะไปซื้อตอนเลือกตั้งและซื้อแล้วก็ไม่มีทางได้เป็น ส.ส.

มีข้อยกเว้นเพียงอย่างเดียวคือ การใช้กลไก “ปตท.” (ปกครอง ตำรวจ ทหาร) เข้าไปบล็อกเท่านั้น

เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image