เหตุ กับ ปัจจัย ปม รัฐบาล “ขาลง” อะไร คือมูลฐาน

คําว่า “ขาลง” ของ คสช.และของรัฐบาล เป็นคำอันไม่ควรเกิดขึ้น หรือมีขึ้นอย่างเด็ดขาดหากมองจากอำนาจที่มีอยู่ในมือของ คสช.และของรัฐบาล

ถามว่าแล้วเกิดขึ้นได้อย่างไร

ต้องยอมรับว่าคำว่า “ขาลง” เป็นเงาสะท้อนจากคำถามของ “ผู้สื่อข่าว” ที่เสนอต่อบุคคลสำคัญไม่ว่าจะเป็นของ คสช. ไม่ว่าจะเป็นของรัฐบาล

แล้วก็ได้รับการปฏิเสธทุกครั้ง

Advertisement

ไม่ว่าจะเป็นคำถามต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าจะเป็นคำถามต่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็ตาม

นั่นถือได้ว่าเป็น “ความรับผิดชอบ”

ทั้งๆ ที่ได้รับการปฏิเสธ ไม่ว่าจะจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าจะจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แล้วเหตุใดคำว่า “ขาลง” จึงยังดำรงอยู่

Advertisement

เหมือนกับเป็น “ความจริง” อย่างปกติ

หากประเมินจากแต่ละสถานการณ์อันถือว่าเป็นเงาสะท้อนในห้วง “ขาลง” ของ คสช.และของรัฐบาลก็จะเห็นได้จากหลายกรณีประกอบและประสานเข้าด้วยกัน

นั่นก็ได้แก่ กรณีซึ่งเกี่ยวกับการปรับ ครม.

การที่ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ถือเป็นรูปธรรมแห่งความขัดแย้งอย่างเด่นชัด

เป็นความขัดแย้งจาก “ภายใน”

ภายใน 1 คือ มีสาเหตุมาจากการแต่งตั้งโยกย้ายในกระทรวงแรงงานผ่าน ครม. ภายใน 1 คือ มีสาเหตุมาจากการออกคำสั่งหัวหน้า คสช.โดยมาตรา 44 เพื่อกลับมติ ครม.

นั่นก็ได้แก่ รายละเอียดอันเกี่ยวกับการปรับ ครม.

ถ้าทุกอย่างเป็นปกติการปรับ ครม.ก็น่าจะจำกัดกรอบเพียงแต่ 1 กระทรวง 1 คน แต่นี่กลายเป็นการปรับ ครม.ขนาดใหญ่ บางกระทรวงถึงกับมีการกวาดล้างไปทั้งยวง

นี่คือความไม่เป็นปกติอย่างยิ่งจาก “ภายใน”

ทั้งหมดนั้นคือรากและฐานที่มาอย่างแท้จริงของปัญหาซึ่งดำรงอยู่ภายใน คสช. ภายในรัฐบาล ขณะที่แต่ละปรากฏการณ์ถือได้ว่าเป็นความต่อเนื่อง

อย่างเช่น การออกมาพูดกรณีของ “น้องเมย”

อย่างเช่น การส่งเสียงตวาดกลางตลาดปลา ปัตตานี อย่างเช่นการทำให้เรื่องไม่เป็นเรื่องกลายเป็นเรื่องกลายเป็นประเด็นในกรณีของ “แบมุส”

และที่สุดก็มาถึงกรณีของ Richard Mille

เห็นหรือไม่ว่าแต่ละรูปธรรมอันนำไปสู่บทสรุปว่าเป็น “ขาลง” ของ คสช.และของรัฐบาลนั้นมีความสัมพันธ์และยึดโยงกันและกัน

หากไม่มีการพูดเลอะเทอะต่อ “น้องเมย” คงไม่มีการขอโทษ

หากไม่มีการตวาดที่ตลาดปลา ปัตตานี และการไล่กวาดต้อนชาวบ้านที่แยกสำโรงสงขลา ก็คงไม่ต้องย้อนกลับไปยังตรังเพียงอีกไม่กี่วันคล้อยหลัง

เหล่านี้เสมอเป็นเพียง “ปรากฏการณ์” แต่ละปม แต่ละปัญหา

หากรากฐานอย่างแท้จริงดำรงอยู่ภายใน “คสช.” ดำรงอยู่ภายในกระบวนการบริหารจัดการของ ครม.มากกว่า

การมอบหมายอำนาจค่อนข้างเบ็ดเสร็จของการแก้ไขปัญหาทางด้านเศรษฐกิจให้กับ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ นั่นแหละคือตัวจริง ของจริง

ตัวจริง ของจริงว่า “ปัญหา” คืออะไร

ปมเงื่อนอยู่ตรงที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ จะบริหารจัดการอย่างไร จะมุ่งต่อประเด็นในทางเศรษฐกิจโดยละเลยและมองข้ามประเด็นในทางการเมืองกระนั้นหรือ

นี่ย่อมเป็น “การบ้าน” อย่างแหลมคมยิ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image