นิตยสารปิดตัว (อีกแล้ว) โดย ปราปต์ บุนปาน

เมื่อต้นเดือนธันวาคม ด้วยฐานะที่เป็นหนึ่งในแอดมินของเพจเฟซบุ๊กนิตยสารเล่มหนึ่งในเครือมติชน จึงมีโอกาสได้อ่านข้อความอินบ็อกซ์ที่ผู้อ่านอาวุโสท่านหนึ่ง ซึ่งใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศ ส่งเข้ามา

ผู้อ่านท่านนั้นเล่าว่า เมื่อก่อนเคยรับนิตยสารภาษาไทยจำนวนสี่เล่มจากร้านหนังสือไทยที่นั่นเป็นประจำ

ในจำนวนนั้น เป็นนิตยสารแนวผู้หญิงเสียสามเล่ม ส่วนอีกเล่มเป็นนิตยสารแนววิเคราะห์ข่าวรายสัปดาห์

ปัจจุบัน สามเล่มแรกได้ปิดตัวลงหมดแล้ว เหลือเพียงเล่มสุดท้ายที่ยังส่งไปขายอยู่

Advertisement

คำบอกเล่าข้างต้นของผู้อ่านอาวุโสสอดคล้องกับข่าวคราวล่าสุด ที่ “ดิฉัน” นิตยสารแนวไลฟ์สไตล์-แฟชั่นชื่อดัง ซึ่งมีอายุเก่าแก่กว่าสามทศวรรษ ได้ประกาศปิดตัวลงอีกหนึ่งเล่ม

ท่ามกลางวิกฤตของธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ ดูเหมือนนิตยสารแฟชั่น/ผู้หญิง/ไลฟ์สไตล์จะได้รับผลกระทบหนักและชัดเจนที่สุด เมื่อต้องเผชิญหน้ากับคู่แข่งรายเล็กรายน้อยในโลกออนไลน์ ที่ผลิตเนื้อหาแนวทางเดียวกันได้รวดเร็วหลากหลายกว่า เคลือบเลี่ยมด้วยสีสันฉูดฉาดหวือหวาเข้ากับความนิยมหรือจริตของผู้คนได้มากกว่า

จนนิตยสารกระดาษเล่มใหญ่ๆ หนาๆ ไม่มีศักยภาพในการดึงดูดผู้อ่าน (หรือผู้ดู) และผู้ลงโฆษณาอีกต่อไป แม้จะมีรูปลักษณ์ประณีตงดงามขนาดไหน หรือผ่านกระบวนการบรรณาธิการมาละเอียดลออเพียงใดก็ตาม

Advertisement

ขณะที่พอจะปรับตัวเข้าสู่การผลิตสื่อใหม่เพื่อเผยแพร่บนอินเตอร์เน็ต ทุกอย่างก็ดูเหมือนจะไม่ง่ายและอยู่ผิดที่ผิดทางไปเสียหมด ทั้งการปฏิรูปตัวเองซึ่งเชื่องช้าอืดอาดเกินไป การมีเว็บไซต์และหน้าเพจประเภทเดียวกันมากเกินไป และการมีฐานผู้อ่านเฉพาะกลุ่มที่แคบจนเกินไป (จนมิอาจแปรเป็นยอดคลิกอันน่าพอใจ)

นอกจากนี้ สิ่งที่ “สื่อเก่า” ทุกประเภท (ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่นิตยสารผู้หญิง/แฟชั่น) ต่างต้องเผชิญหน้าพร้อมๆ กัน ก็คือ การประจักษ์กับข้อเท็จจริงที่ว่าการโยกย้ายสนามจาก “สื่อเดิม” (ไม่ว่าจะเป็นกระดาษ, เทป-ซีดี-ดีวีดี หรือวิทยุ-โทรทัศน์ ฯลฯ) มาสู่ “สื่อใหม่” ในโลกออนไลน์นั้น มิได้หมายถึงการถ่ายโอนเนื้อหาจากสื่อประเภทหนึ่งมายังสื่ออีกประเภท แบบซื่อๆ ทื่อๆ

หากหมายถึงการต้องนำข้อมูลเนื้อหาจำนวนมากที่ตนเองมีอยู่ในมือ มาเขย่าปรับเปลี่ยนดัดแปลงให้สอดคล้องต้องตรงกับสภาวะแวดล้อมของสื่อชนิดใหม่ และรูปแบบการเสพของผู้บริโภคยุคใหม่ ซึ่งมีความผันแปรหรือมีอะไรต่อมิอะไรอัพเดตใหม่อยู่ตลอดเวลา

อย่างไรก็ดี การปรับเปลี่ยนที่ว่ายังดำรงอยู่ในกรอบของการประกอบ “ธุรกิจสื่อ” ทว่า ยังมีความเปลี่ยนแปลงในบางองค์กรที่ขยับไปไกลเกินกว่ากรอบดังกล่าวลิบลับ

เห็นได้จากภาพเปรียบเทียบของผู้ประกอบธุรกิจบันเทิงสองเจ้าใหญ่ในเมืองไทย ที่เจ้าหนึ่งคล้ายจะยังเชื่อมั่นกับ “เนื้อหา” ซึ่งตนเองมีอยู่เป็นทุนเดิม และพยายามแสวงหาช่องทาง รวมถึงวิธีการใหม่ๆ ในการนำเสนอเนื้อหาเหล่านั้น

ผิดกับอีกเจ้าที่เปลี่ยนโมเดลธุรกิจ และประกาศว่าตนเองไม่ได้เป็น “ธุรกิจสื่อ” อีกต่อไป

เหล่านี้ คือ กระแสความเปลี่ยนแปลงที่คงจะเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

เป็นความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเลือกข้างแบ่งฝ่ายทางการเมืองสักเท่าใดนัก

แต่เป็นความเปลี่ยนแปลงอันเกิดจากวิวัฒนาการของเทคโนโลยีและการผลิตในระดับสากล

เป็นความเปลี่ยนแปลงที่ถูกกระตุ้นเร้าจากทั้งรูปแบบรสนิยมใหม่ๆ และลักษณะพื้นฐานเฉพาะของโลกทัศน์-วิถีชีวิตแบบเดิมๆ ในหมู่ผู้บริโภคชาวไทย

……………………

คลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่ ‘ดิฉัน’ ปิดตัวแล้วหลังออกฉบับสุดท้าย ธ.ค.ปก ‘เวียร์-เบลล่า’

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image