การจัดการขยะ จังหวัดภูเก็ต ตอนที่ 2 : โดย ดร.พิรียุตม์ วรรณพฤกษ์

กว่า 20 ปีของการทำงานในแวดวงขยะต้องเกี่ยวข้องกับผู้คนและหน่วยงานหลากหลาย ตั้งแต่ชาวบ้าน เจ้าหน้าที่รัฐ / องค์กรปกครองท้องถิ่น นักวิชาการ นักธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีทั้งความสำเร็จ ความล้มเหลว พบกับการมีส่วนร่วมและการต่อต้านคัดค้านแม้กระทั่งการข่มขู่นานารูปแบบ ปัญหาขยะจึงไม่ใช่แค่ปัญหาทางวิชาการหรือปัญหาทางเทคนิค มันรวมเอาปัญหาเงินๆ ทองๆ ผลประโยชน์ ปัญหาสังคม จนถึงปัญหาการเมือง

พัฒนาการของระบบกำจัดขยะ จังหวัดภูเก็ต มีเรื่องราวที่น่าสนใจหลายเรื่องหลายประเด็นที่สังคมไทยควรมีโอกาสเรียนรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งท้องถิ่นที่มีหน้าที่จัดการขยะ และกระทรวงมหาดไทยที่ต้องกำกับดูแลท้องถิ่นและรับผิดชอบนโยบายการจัดการขยะของประเทศ (การจัดการขยะ จังหวัดภูเก็ต ตอนที่ 1)

หลังจากได้รับการถ่ายโอนเตาเผาขยะจากกรมโยธาธิการในปี 2542 จังหวัดภูเก็ตได้มอบให้เทศบาลนครภูเก็ตรับผิดชอบการเดินระบบเตาเผาขยะขนาด 250 ตันต่อวัน เพื่อให้บริการกำจัดขยะแก่ทุกท้องถิ่นในจังหวัดโดยจัดเก็บค่าธรรมเนียมกำจัดขยะในอัตรา 200 บาทต่อตัน และมีข้อตกลงกับกระทรวงมหาดไทยที่ต้องจัดสรรงบประมาณอุดหนุนพิเศษเพื่อการเดินระบบ เริ่มจาก 70 ล้านบาท ในปีแรกและลดหลั่นจนเหลือประมาณปีละ 40-50 ล้านบาท ในปีถัดๆ ไป ทั้งนี้ เนื่องจากรายได้จากค่าธรรมเนียมกำจัดขยะและการจำหน่ายไฟฟ้าที่ผลิตได้ประมาณ 2 เมกะวัตต์ ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในการเดินระบบซึ่งประกอบด้วยค่าจ้างเอกชนที่มีประสบการณ์ในการเดินระบบ ค่าซ่อมบำรุงรักษา อะไหล่ สารเคมี วัสดุสิ้นเปลือง ค่าบำบัดน้ำเสียและฝังกลบเถ้าจากการเผา จากการบันทึกข้อมูลของเทศบาลนครภูเก็ตพบว่าอัตราค่าใช้จ่ายต่อน้ำหนักสำหรับการเดินระบบในช่วง 3 ปีแรกประมาณ 650-750 บาทต่อตัน และเพิ่มเป็นมากกว่า 900 บาทต่อตันในปีที่มีการซ่อมบำรุงครั้งใหญ่

เมื่องบประมาณอุดหนุนพิเศษเพื่อการเดินระบบจากกระทรวงมหาดไทยลดลง เทศบาลนครภูเก็ตมีความจำเป็นต้องหารายได้ทางอื่นเพิ่มขึ้นเพื่อให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในการเดินระบบ ดังนั้น คณะกรรมการบริหารจัดการขยะมูลฝอยที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานจึงมีมติให้ปรับค่าธรรมเนียมกำจัดขยะเพิ่มเป็น 300 บาทต่อตัน ในปี 2550

Advertisement

นับตั้งแต่ปี 2542 เทศบาลนครภูเก็ตรับผิดชอบในการเดินระบบเตาเผาและให้บริการกำจัดขยะแก่ท้องถิ่นอื่นๆ ซึ่งก็คือการบริหารจัดการในรูปแบบการรวมกลุ่มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการกำจัดขยะ หรือ Cluster การจัดการขยะที่เสนอโดยกรมควบคุมมลพิษในปี 2548 และเป็นรูปแบบเดียวกันที่กำหนดไว้ในแผนที่เส้นทาง Roadmap การจัดการขยะในปี 2557 นั่นเอง อาจกล่าวได้ว่าการจัดการขยะ จังหวัดภูเก็ต ก็คือตัวอย่างการรวมกลุ่มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการจัดการขยะที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2542 และยังคงดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมจนถึงปัจจุบัน

อีกประเด็นคือการตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการขยะมูลฝอย จังหวัดภูเก็ต เพื่อให้เป็นกลไกขับเคลื่อนการจัดการขยะของท้องถิ่นต่างๆ ในจังหวัดให้ไปในทิศทางเดียวกัน และทำหน้าที่กำหนดค่าธรรมเนียมกำจัดขยะ เป็นตัวอย่างของระบบการบริหารจัดการขยะ ต่อมาในเดือนตุลาคม 2557 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีประกาศกระทรวงเพื่อให้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการขยะระดับจังหวัดทุกจังหวัด

เป็นเวลาเกือบ 20 ปีแล้ว ที่จังหวัดภูเก็ตสั่งสมประสบการณ์การบริหารจัดการขยะในรูปแบบการรวมกลุ่มของท้องถิ่นโดยมีคณะกรรมการบริหารจัดการขยะเป็นกลไกขับเคลื่อน กำกับดูแล ทำให้เกิดความร่วมมือของท้องถิ่นต่างๆ ในการจัดทำแผน การให้ข้อมูลข่าวสารและการรณรงค์ลดและคัดแยกขยะจากแหล่งกำเนิดในทิศทางเดียวกัน ร่วมกันกำหนดค่าธรรมเนียมกำจัดขยะ ปัจจุบันค่าธรรมเนียมกำจัดขยะถูกกำหนดไว้ที่อัตรา 590 บาทต่อตัน ซึ่งปรับเพิ่มจาก 200 บาทต่อตัน ในปี 2542 และเพิ่มขึ้นเป็น 300 บาทต่อตัน ในปี 2550 นี่นอกจากนั้น ครั้งเมื่อเกิดวิกฤตปัญหาขยะล้นขีดความสามารถของเตาเผาในระหว่างปี 2550-2551 คณะกรรมการนี้ได้ร่วมกันตัดสินใจที่มอบให้เทศบาลนครภูเก็ตดำเนินการเชิญชวนเอกชนให้ลงทุนและเดินระบบเตาเผาชุดใหม่

Advertisement

และเวลาเกือบ 20 ปีนี้ยังเป็นประสบการณ์ยาวนานสำหรับเทศบาลนครภูเก็ตของการใช้เทคโนโลยีเตาเผา เข้าใจรายละเอียดของเทคโนโลยีเตาเผาที่เหมาะสมกับขยะที่มีความชื้นสูงของสังคมไทย ผ่านการแก้ไขปัญหาอุปสรรคและวิกฤตที่เกิดจากผลกระทบจากเตาเผา จากน้ำชะขยะ ปัญหากลิ่น เข้าใจต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการกำจัดด้วยเตาเผา ผ่านประสบการณ์ความล้มเหลวของโรงงานคัดแยกวัสดุรีไซเคิล และที่สำคัญคือประสบการณ์ในการจัดจ้างและกำกับดูแลเอกชนเพื่อการเดินระบบเตาเผา 250 ตันต่อวันชุดเก่าที่ได้รับการถ่ายโอนจากกรมโยธาธิการ ประสบการณ์ในการจัดทำสัญญาสัมปทานให้กับเอกชนในการลงทุนโรงงานคัดแยกวัสดุรีไซเคิล และการคัดเลือกเอกชนเพื่อการลงทุนและเดินระบบเตาเผาขนาด 700 ตันต่อวันชุดใหม่

แม้ว่าการรวมกลุ่มของท้องถิ่นในการจัดการขยะ จังหวัดภูเก็ต เกิดขึ้นจากเงื่อนไขทางภูมิศาสตร์ที่มีสภาพเป็นเกาะ การขนส่งขยะจากองค์การบริหารส่วนตำบลไม้ขาวบริเวณเหนือสุดของเกาะไปยังสถานที่ตั้งของเตาเผาซึ่งตั้งอยู่ตอนใต้ของเกาะมีระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร เป็นระยะทางที่เหมาะสมสำหรับการใช้ระบบกำจัดร่วมกัน สำหรับปริมาณขยะรวมที่ท้องถิ่นต่างๆ เก็บขนไปกำจัดที่เตาเผามีมากกว่า 500 ตันต่อวัน ตั้งแต่ปี 2550 ขณะที่ขีดความสามารถของเตาเผาในเวลานั้นมีเพียง 250 ตันต่อวัน การรวมกลุ่มของท้องถิ่น จังหวัดภูเก็ต จึงจัดอยู่ในการรวมกลุ่มขนาดใหญ่ที่มีความเหมาะสมและเป็นไปได้ที่จะให้เอกชนลงทุนและเดินระบบเตาเผาที่สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้า

ประสบการณ์ยาวนานของการจัดการขยะ จังหวัดภูเก็ต ควรได้รับการถอดบทเรียน เพื่อให้ท้องถิ่นและจังหวัดอื่นๆ ศึกษาอย่างจริงจัง ไม่ต้องเริ่มต้นใหม่และสามารถหลีกเลี่ยงความผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

ดร.พิรียุตม์ วรรณพฤกษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image