รัฐประหาร – เมื่อ ‘Coup’ กลายเป็นคำสแลง ที่สร้างความแตกต่าง : โดย ปรีชาญาณ วงศ์อรุณ

ในประเด็นสำคัญหนึ่งของเหตุการณ์การยึดอำนาจครั้งล่าสุดในซิมบับเวเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาก็คือ เรื่องศัพท์แสงคำว่ารัฐประหารหรือ “coup” ที่ดูเหมือนจะกลายเป็นคำสแลง?

หากพิจารณาเปรียบเทียบสามกรณีแล้ว จะเห็นความแตกต่างจนเกิดข้อสงสัยว่า ทำไมรัฐบาลสหรัฐจึงเรียกกรณีของไทยด้วยคำว่า “coup” แต่ทำไมจึงยกเว้นหรือหลีกเลี่ยงไม่ใช้ศัพท์คำเดียวกันนี้เรียกขานกรณีที่เกิดขึ้นคล้ายๆ กันทั้งในอียิปต์และซิมบับเว

ในแถลงการณ์ 457 คำของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ต่อเหตุการณ์การยึดอำนาจในอียิปต์เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2013 (หนึ่งวันก่อนถึงวันชาติของสหรัฐ) ถึงแม้จะกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจใช้กำลังทหารของกองทัพอียิปต์ในการ “remove” หรือถอดถอนประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด มอร์ซี ออกจากตำแหน่งและยกเลิกรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ปรากฏว่าผู้นำสหรัฐเรียกเหตุการณ์รัฐประหารโค่นล้มผู้นำรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งคนแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศด้วยคำว่า “coup” หรือ “military coup” แต่อย่างใด

ขณะเดียวกัน นอกจากจะไม่ยืนยันชี้ชัดให้กระจ่างด้วยคำว่า “coup” แล้ว โฆษกประจำทำเนียบขาวยังช่วยสร้างความชอบธรรมให้กับกองทัพอียิปต์ โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากอดีตผู้นำพลเรือน (ที่มาจากการเลือกตั้ง) ไม่ได้บริหารปกครองประเทศอย่างสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย ดังนั้น (ตีความได้ว่า) สมควรแล้วที่ต้องถูกยึดอำนาจ?

Advertisement

ในขณะที่จอห์น เคร์รี่ รัฐมนตรีต่างประเทศ ถึงจะมาช้า (เพราะต้องรอนานถึงสี่สัปดาห์จึงแสดงท่าที) แต่ไปไกลถึงขั้นช่วย “ฟอกขาว” ยืนยันว่ากองทัพอียิปต์ไม่ได้ก่อการรัฐประหารยึดอำนาจหรือ “coup” แต่กำลัง “restoring democracy” หรือฟื้นฟูประชาธิปไตยของประเทศ

แต่เมื่อเทียบกับกรณีของไทย กลับปรากฏให้เห็นถึงท่าทีสองมาตรฐานของรัฐบาลสหรัฐอย่างแจ่มแจ้งชัดเจน

เพราะในแถลงการณ์ 151 คำของกระทรวงการต่างประเทศ (ที่ประกาศภายใน 24 ชั่วโมง) ปรากฏว่า จอห์น เคร์รี่ รัฐมนตรีคนเดียวกันนี้ ได้เรียกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2014 ด้วยคำว่า “military coup” นั่นคือการรัฐประหาร ไม่มีการใช้คำว่า “revolution” หรือ “restoring democracy” เหมือนที่อ้างอิงเรียกเหตุการณ์ในอียิปต์เมื่อสิบเดือนก่อนหน้านั้น ทั้งๆ ที่เป็นเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองด้วยวิธีที่คล้ายๆ กัน

Advertisement

จนกระทั่งจอห์น แมคเคน อดีตผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐแข่งกับบารัค โอบามา เมื่อปี 2008 และถือเป็นวุฒิสมาชิกผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองและการต่างประเทศมากที่สุดคนหนึ่งในยุคปัจจุบัน ถึงกับคันไม้คันมือต้องทวีตด้วยความสงสัยว่า ไฉนเมื่อเรียกเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงในประเทศไทยด้วยคำว่า “coup” แล้ว ทำไมจึงไม่เรียกเหตุการณ์ที่คล้ายๆ กันในอียิปต์ด้วยคำว่า “coup” เล่า?

แน่นอนที่สุด ไม่มีคำตอบคำอธิบายอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลสหรัฐถึงท่าทีสองมาตรฐานในการเลือกใช้คำศัพท์ดังกล่าวนี้

อาจจะด้วยเพราะคำว่า “coup” เป็น “dirty word” นั่นคือเป็นศัพท์สแลงหรือคำสกปรกจริงๆ อย่างที่วุฒิสมาชิกจอห์น แมคเคนกล่าวไว้ จึงทำให้โฆษกของกองทัพซิมบับเวต้องออกแถลงการณ์ในเช้าตรู่ของวันที่ 15 ที่ผ่านมา ภายหลังการควบคุมตัวประธานาธิบดีโรเบิร์ต มูกาเบ เพื่อยืนยันอย่างหนักแน่นว่า “This is not a military takeover” นี่ไม่ใช่การรัฐประหารยึดอำนาจ

ในกลุ่มผู้สนับสนุนกองทัพ เรียกขานการยึดอำนาจด้วยคำว่า “bloodless correction” นั่นคือการเปลี่ยนแปลง (แก้ไข) โดยไม่เสียเลือดเนื้อ กล่าวอีกนัยหนึ่ง ตลอดระยะเวลากว่า 37 ปีที่อยู่ในอำนาจ ประธานาธิบดีมูกาเบได้บิดเบือนอำนาจเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวและเข่นฆ่าฝ่ายตรงข้ามอย่างโหดร้ายทารุณจนขึ้นชื่อลือชา ดังนั้น การยึดอำนาจของกองทัพในครั้งนี้จึงถือว่า “correction” หรือเป็นการเปลี่ยนแปลงแก้ไขที่ถูกต้องแล้วหรือ

คล้ายๆ กับกรณีของอียิปต์ซึ่งกลายเป็น “ศึกภาษา” ที่น่าสนใจ เพราะต่างฝ่ายต่างก็อ้างและเรียกขานด้วยคำว่า “coup” และ “revolution” ที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะตัวอดีตผู้นำพลเรือนซึ่งถูกยึดอำนาจยืนยันว่า นี่คือการรัฐประหารเต็มรูปแบบหรือ “full coup” ในขณะที่ผู้นำคนใหม่ที่ถูกแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ชั่วคราว เลือกให้เหตุผลด้วยคำว่า “amend and correct” นั่นคือการ (เข้ามาทำหน้าที่) แก้ไขและทำภารกิจ “อาหรับสปริง” ที่เกิดขึ้นในปี 2011 ให้ถูกต้อง

แต่สิ่งที่แตกต่างอย่างชัดเจนก็คือ ดูเหมือนว่ากองทัพซิมบับเวจะสร้างกฎเกณฑ์มาตรฐานใหม่เพื่อยืนยันว่าไม่ได้ทำรัฐประหารหรือ “coup” ตามที่กล่าวอ้างจริงๆ เพราะไม่ได้มีการล้มล้างรัฐธรรมนูญ ไม่ได้มีการยุบสภา ไม่ได้มีการเสียเลือดเสียเนื้อ ไม่ได้มีการจับกุมคุมขังตัวและลงโทษประธานาธิบดี ไม่ได้มีการกวาดล้างฝ่ายตรงข้าม ไม่ได้มีการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวหรือตั้งผู้นำกองทัพขึ้นมาบริหารประเทศ จนสื่อระดับโลกอย่าง CNN ถึงกับเรียกขานว่าเป็นการรัฐประหารที่แปลก (พิกล) ที่สุดในโลก เพราะไม่เคยพบเห็นมาก่อนเลย

ที่สำคัญก็คือ การที่ปรากฏภาพกองทัพปฏิบัติต่อประธานาธิบดีมูกาเบอย่างให้เกียรติเสมือนหนึ่งยังเป็นผู้นำประเทศ พร้อมทั้งยื่นข้อเสนอต่างๆ เป็นดีล “เสวยสุข” แลกเปลี่ยน จนทำให้อดีตผู้นำยอมลาออกจากตำแหน่ง (ด้วยความสมัครใจ?)

ทุกๆ ครั้งที่เกิดเหตุการณ์รัฐประหารยึดอำนาจในประเทศใดประเทศหนึ่ง ท่าทีหรือปฏิกิริยาของสหรัฐ ถือว่าสำคัญอย่างยิ่งยวด และกลายเป็นมาตรฐานสำหรับประเทศตะวันตกอื่นๆ

ในกรณีของซิมบับเว ถึงแม้สื่อต่างๆ ของสหรัฐจะใช้คำว่า “military takeover” หรือ “coup” แต่ในคำแถลงของโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ กลับไม่มีการระบุด้วยคำว่า “coup” แบบตรงๆ ชัดเจนเหมือนกรณีของไทย ดูเหมือนจะมีท่าทีลังเลชั่งใจ ประมาณว่าสถานการณ์ยังไม่ถึงขั้นที่จะฟันธงสรุปว่าเป็น “coup” ได้หรือไม่ ต้องติดตามสถานการณ์ให้ชัดเจนมากกว่านี้ (เหมือนกรณีของอียิปต์)

ตอกย้ำด้วยท่าทีของเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีต่างประเทศเจ้ากระทรวง เพราะนอกจากจะไม่เอ่ยคำว่า “coup” ไม่ประณามกล่าวหาว่าทำให้ประเทศถอยหลังแล้ว ยังกลับมองเห็นอนาคตอันสดใสของซิมบับเวรอท่าอยู่

การใช้คำว่า “new path” และ “new era” สามารถตีความได้ว่า การยึดอำนาจของกองทัพในครั้งนี้ (จะ) ไม่เสียของ แต่จะเป็นโอกาสให้ประเทศได้ก้าวสู่เส้นทางใหม่ (ที่สดใสกว่าเดิม)

ในขณะเดียวกันท่าทีของรัฐบาลอังกฤษในฐานะเป็นเจ้าอาณานิคมเก่าของซิมบับเวก็ดูจะเข้าเป็นปี่เป็นขลุ่ยสอดรับเป็นเนื้อเดียวกับท่าทีของรัฐบาลสหรัฐ

หากพิจารณาถ้อยแถลงของรัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษต่อสภาผู้แทนราษฎร จะเห็นว่าไม่มีการระบุใช้คำว่า “coup” หรือ “military takeover” ใดๆ เลย ไม่ได้มองการเข้ายึดอำนาจประธานาธิบดีว่าเป็นการก้าวถอยหลัง แต่กลับมองเห็น “a moment of hope” หรือแสงแห่งความหวังขึ้นมาในบัดดล

เหตุผลสำคัญหนึ่งที่ทำให้สหรัฐมีท่าทีเป็นสองมาตรฐานในเรื่องเกี่ยวกับการใช้คำ “coup” ก็เป็นผลมาจากข้อบัญญัติของกฎหมายสองฉบับ นั่นคือ “The Foreign Assistance Act” และ “The Consolidated Appropriations Act” ซึ่งกำหนดให้รัฐบาลต้องระงับการช่วยเหลือด้านต่างๆ ต่อประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงหัวหน้ารัฐบาลโดยวิธีรัฐประหารยึดอำนาจ หรือ “military coup” ทั้งนี้ กฎหมายไม่ได้มีผลบังคับโดยอัตโนมัติ แต่เปิดช่องขึ้นอยู่กับการตีความและการใช้คำของรัฐบาล (โดยกระทรวงการต่างประเทศ) เป็นสำคัญ

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้รัฐบาลสหรัฐระมัดระวังไม่เรียกขานเหตุการณ์รัฐประหารด้วยคำศัพท์เดียวกันตลอด ดังปรากฏในกรณีของอียิปต์ ไทย และซิมบับเว ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่าประเทศไหนมีผลประโยชน์ต่อสหรัฐมากกว่ากัน อดีตโฆษกประจำทำเนียบขาวในยุคบารัค โอบามา เคยแถลงกล่าวอย่างชัดเจนว่า ไม่ใช่ประโยชน์สูงสุดสำหรับสหรัฐที่จะเรียกการยึดอำนาจผู้นำอียิปต์ที่มาจากการเลือกตั้งด้วยคำว่า “coup”

ถึงแม้ว่าการรัฐประหารล้มล้างประธานาธิบดีพลเรือนคนแรกของอียิปต์จะขัดกับหลักการประชาธิปไตยและจุดยืนของสหรัฐอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ แต่เมื่อชั่งน้ำหนักแล้ว รัฐประหารถือเป็น “ของสแลง” ที่แย่หรือเลวร้ายน้อยยิ่งกว่าภัยคุกคามจากกลุ่ม “Muslim Brotherhood” ซึ่งผูกพันอย่างแนบแน่นกับอดีตประธานาธิบดีมอร์ซี

ดังนั้น การเลือกข้างกองทัพคือหลักประกันที่แน่นอนที่สุดว่าผลประโยชน์ของสหรัฐในตะวันออกกลางรวมทั้งสันติภาพระหว่างอียิปต์และอิสราเอลจะยังคงดำเนินต่อไป เรียกว่าเลือกข้างกองทัพดีกว่าเป็นไหนๆ

เมื่อหลีกเลี่ยงไม่ใช้คำว่า “coup” อย่างเป็นทางการ จึงทำให้รัฐบาลสหรัฐสามารถให้ความช่วยเหลือด้านการทหารและอื่นๆ แก่กองทัพอียิปต์ได้ต่อไปเพื่อเป้าหมายข้างต้น

ในขณะเดียวกัน ถึงแม้ว่าทั้งสหรัฐและอังกฤษไม่พึงปรารถนาการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลด้วยวิธีการรัฐประหาร แต่ในกรณีของซิมบับเวแล้ว ดูเหมือนจะเป็นข้อยกเว้น?

โดยหลักการแล้ว รัฐประหารเป็นสิ่งที่เลวร้าย แต่ที่เลวร้ายยิ่งกว่าก็คือ ตัวประธานาธิบดีมูกาเบที่ถูกชาติตะวันตกกาหัวต้องหาทางกำจัดให้ได้ เพราะดำเนินนโยบาย “เหยียดผิว” เข่นฆ่าผู้คนเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะคนผิวขาว หากสังเกตโทนเสียงและภาษาของทางการสหรัฐและอังกฤษแล้ว ดูเหมือนจะโล่งอก จนถึงขั้นอยากขอบคุณกองทัพด้วยซ้ำ?

กล่าวโดยสรุปแล้ว การที่รัฐบาลสหรัฐมีท่าทีแบบสองมาตรฐานโดยหลีกเลี่ยงไม่ใช้คำว่า “coup” กับกรณีของอียิปต์และซิมบับเว เหตุผลหนึ่ง (นอกเหนือจากข้อกล่าวหาว่าสหรัฐรับรู้ถึงขั้นสั่งการ?) ก็เพราะมีตัวเลือกที่ถือว่าเลวร้ายยิ่งกว่าการรัฐประหารยึดอำนาจ ซึ่งแตกต่างจากกรณีของไทยที่ไม่มีตัวเลือกให้เปรียบเทียบให้ต้องเลือก จึงทำให้ถูกเรียกขานด้วยคำว่า “coup” อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันแรกแบบไม่รีรอ จนถูกตัดความช่วยเหลือต่างๆ และถูกปฏิบัติจากชาติตะวันตกแบบสองมาตรฐานที่แตกต่างจากกรณีของอียิปต์และซิมบับเวอย่างที่ปรากฏให้เห็น

ปรีชาญาณ วงศ์อรุณ
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image