รางวัลวรรณกรรมในสังคมการอ่านที่เปลี่ยนไป : โดย กล้า สมุทวณิช

“เหนือกว่ารางวัล คือโอกาส” คือคำขวัญของรางวัลวรรณกรรม “นายอินทร์อะวอร์ด” ในสมัยที่ยังมีการจัดประกวดกันอยู่

เป็นประโยคสั้นๆ ที่อธิบายถึงความสำคัญและบทบาทของ “รางวัลวรรณกรรม” ต่อนักเขียนทั้งหลาย

จริงอยู่ว่า โดยอุดมคติแล้ว เราอาจจะเป็นนักเขียนได้โดยไม่ต้องประทับตรารางวัลใดๆ และนักเขียนคนสำคัญทั้งหลายในโลกใบนี้ก็ไม่เคยต้องมีรางวัลการันตี แต่หากมองโลกตามความเป็นจริงแล้ว การที่ใครสักคนนึกฝันอยากเป็นนักเขียนนั้น ก็เพื่อหวังที่จะสื่อสารความคิดของเขาผ่านตัวอักษรให้แก่คนอื่นๆ ซึ่งได้แก่ผู้อ่าน และการที่จะมีผู้อ่าน นั่นหมายถึงว่างานของเขาจะต้องได้รับการเผยแพร่ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ในสมัยก่อนก็คือจะต้องมีการตีพิมพ์ในหนังสือหรือนิตยสาร

ในสมัยหนึ่ง รางวัลนั้นจึงเป็นทั้งพื้นที่ “แจ้งเกิด” ของนักเขียนหน้าใหม่ ให้มีชื่อติดขึ้นมาอยู่ในความสนใจของคนในแวดวงวรรณกรรม เพิ่มโอกาสในการได้ตีพิมพ์หรือรวมเล่มหนังสือเล่มแรกในชีวิต และรางวัลยังเป็นเหมือนการ “ประดับยศ” ให้แก่นักเขียนให้เป็นผู้มีชื่อเสียงระดับประเทศ ตราสัญลักษณ์ของรางวัลยังมีส่วนในการเพิ่มยอดขายมากน้อยตามชื่อเสียงและความขลังของรางวัล นักเขียนสมัครเล่นอาจจะผันตัวมาเป็นนักเขียนอาชีพได้หลังจากได้รับการประดับตรารางวัลสำคัญๆ รวมถึงยังอาจจะเป็นการประกาศการกลับมาของนักเขียนผู้ห่างหายไปจากวงการด้วย

Advertisement

เบื้องหลังของโล่เหรียญเงินรางวัล จึงเป็น “โอกาส” ในรูปแบบต่างๆ สำหรับนักเขียน

ในปัจจุบันรางวัลวรรณกรรมมีความสำคัญยิ่งขึ้น ด้วยเป็นยุคอัสดงของสื่อกระดาษ และการปิดตัวของนิตยสารที่เคยเป็นเวทีให้เรื่องสั้นและนวนิยายได้โลดแล่น รวมถึงการพิจารณาเลือกพิมพ์หนังสือของสำนักพิมพ์ต่างๆ นั้นก็เป็นไปอยางถี่ถ้วนและคิดมากขึ้น โดยเฉพาะงานแนวที่ขายได้ยากอย่างแนววรรณกรรม เวทีประกวดวรรณกรรมประเภทที่รับพิจารณาต้นฉบับ จึงแออัดยัดแน่นไปด้วยผลงานของทั้งนักเขียนหน้าเก่าและหน้าใหม่ที่ชิงกันเพียงเพื่อการได้มีพื้นที่ในการตีพิมพ์เผยแพร่ แทนหน้ากระดาษของนิตยสารที่หดหายไป

เวทีวรรณกรรมจึงยิ่งมีความสำคัญต่อนักเขียนมากขึ้นไปอีกในแง่ของการเป็นพื้นที่หายใจเช่นนี้

Advertisement

แต่ถ้าเรากลับมามองในมุมของนักอ่านในยุคปัจจุบันแล้ว “รางวัล” วรรณกรรมทั้งหลายนั้นเริ่มลดความสำคัญลงไป จนเกือบจะไม่อยู่ในพื้นที่ของสังคมการอ่านอีกแล้ว ไม่มีข้อยกเว้นแม้แต่สำหรับสุดยอดรางวัลวรรณกรรมแห่งชาติ อย่างรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือรางวัลซีไรต์ (S.E.A Write) ซึ่งจัดติดต่อกันมา 39 ปีแล้ว นับถึงปีนี้ก็ตาม

จากที่เดิมนั้น เพียงหนังสือเล่มใดได้เข้ารอบสุดท้ายหรือ Short list ของรางวัลนี้ ก็จะกลายเป็นหนังสือขายดี มีผู้ติดตามซื้อมาอ่านเพื่อวิพากษ์วิจารณ์กะเก็งกันว่าเล่มไหนจะเข้าป้ายได้รางวัล เมื่อประกาศผลแล้ว หนังสือเล่มที่ได้รับประดับมงกุฎช่อวงปากกานี้ ก็จะกลายเป็นที่กล่าวขวัญถึงโดยทั่วไปนานข้ามเดือน ส่งผลถึงยอดขายที่จะขึ้นเป็นอันดับต้นๆ ในร้านหนังสือทั่วประเทศ รวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์รางวัลอย่างคึกครื้นหรือเผ็ดร้อน ส่วนนักเขียนที่ได้รับรางวัลซีไรต์กลายเป็นผู้มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักในสังคมวงกว้าง

ในขณะที่ปัจจุบัน หนังสือที่ได้รับรางวัลซีไรต์นั้น หากไม่ใช่หนังสือที่มีชื่อเสียงด้วยตัวเองมาก่อน บางครั้งผู้คนนอกวงการก็ไม่ทราบด้วยซ้ำว่าหนังสือเล่มใดหรือใครได้รับรางวัลในปีนี้ ส่วนความนิยมที่วัดจากยอดขายนั้นก็ได้ทราบว่า รางวัลวรรณกรรมระดับชาติที่เก่าแก่นี้แม้จะยังกระตุ้นยอดขายได้บ้างเป็นนัยสำคัญ แต่ก็ไม่ถึงขนาดกลายเป็นหนังสือขายดิบขายดีระดับเบสต์เซลเลอร์ทั่วประเทศอย่างในยุคสมัยอันรุ่งเรือง เว้นแต่ว่าหนังสือที่ได้รางวัลเล่มนั้นจะเป็นเรื่องที่ได้รับความนิยมมาก่อนนั้นแล้ว

ยิ่งกว่านั้น งานเขียนที่ได้รับรางวัลทางวรรณกรรมไม่ว่าจะรางวัลใดก็ตาม กลับกลายเป็น “ยาขม” สำหรับผู้อ่านทั่วไป ซึ่งมีภาพลักษณ์และความเชื่อว่าหนังสือประเภท “รางวัล” นี้ เป็นหนังสือที่อ่านยาก ต้องปีนบันไดหรือตีลังกาอ่าน หนักสมองต้องตีความหลายซับหลายซ้อน หรือไม่ก็เป็นเรื่องของความทุกข์ความยากในสังคมหรือชะตากรรมอันเศร้าสลดของผู้คน ซึ่งอ่านแล้วพาลจะจิตตกหดหู่ แทนที่จะได้รับความบันเทิงหรือสุขใจจากการอ่านหนังสือซึ่งคนส่วนใหญ่ถือว่าเป็นกิจกรรมเพื่อการพักผ่อน

คำถามที่ผู้จัดผู้แจกและคนในวงการวรรณกรรมอาจจะต้องช่วยกันพิจารณา คือ “รางวัลวรรณกรรม” นั้น ยังคงเชื่อมโยงสอดคล้องกับสังคมการอ่านของผู้คนในยุคปัจจุบันอยู่หรือไม่

เพราะการอ่านหนังสือของผู้อ่านทั่วไปในปัจจุบันนี้ แตกต่างจากสมัยสามสิบสี่สิบปีก่อน ครั้งที่แรกเริ่มก่อตั้งรางวัลวรรณกรรมต่างๆ ทั้งในแง่ของสาระและรูปแบบ

ในด้านรูปแบบ ที่จากเดิมนั้นเราแบ่ง “วรรณกรรม” ออกเป็นสามประเภทใหญ่ๆ คือ นวนิยาย เรื่องสั้น และบทกวี (ซึ่งเป็นประเภทงานที่รางวัลวรรณกรรมส่วนใหญ่รับพิจารณาประกวดกัน) แล้ว ในยุคปัจจุบัน วรรณกรรมมีรูปแบบที่หลากหลายขึ้น ไม่อาจจำกัดเฉพาะตายตัวหรือกำหนดนิยามได้ง่ายนัก และรูปแบบใหม่ๆ ดังกล่าวนั้น ก็เป็นที่นิยมของผู้อ่านด้วย เช่น งานในเชิงความเรียงร้อยแก้วที่เผยแง่มุมของความคิดประสบการณ์หรือโลกทัศน์ เช่น งานของ “นิ้วกลม” งานประเภทคำคมให้ข้อคิดหรือกำลังใจสั้นๆ ที่อาจถือว่าเป็น “กวีนิพนธ์” ของผู้คนในยุคปัจจุบัน เช่น งานของ “คิดมาก” หรือรูปแบบงานเขียนรูปแบบล่าสุดที่สร้างความแปลกใหม่ คืองานเขียนเรื่องแต่งในรูปแบบของ “นิยายแชต” เช่น ในแอพพลิเคชั่น “จอยลดา” (JOYLADA) ที่กล่าวไปนั้นคือส่วนหนึ่งของ “วรรณกรรม” รูปแบบใหม่สำหรับผู้อ่านในยุคปัจจุบัน

ในเชิงเนื้อหา อาจต้องยอมรับว่าวรรณกรรมเพื่อชีวิตที่สะท้อนภาพสังคม ความไม่เป็นธรรม การนำเสนออุดมการณ์อันสูงส่ง หรืองานวรรณกรรมเพื่อความงามบริสุทธิ์ของภาษาหรือสภาวะจิตใจอันสลับซับซ้อนของมนุษย์นั้นได้รับความนิยมน้อยลง ผู้อ่านหากไม่คาดหวังงานที่สนุกสนานหรือสร้างความเพลิดเพลินหรือให้ความสุขในการอ่าน ก็จะอ่านงานประเภทที่ชวนให้ขบคิดถึงแง่มุมเล็กๆ น้อยๆ ของชีวิตแบบปัจเจก งานที่อาจจะกล่าวถึงชีวิตและสภาวะจิตใจอันเปลี่ยวเหงา สับสน และความสัมพันธ์อันคลุมเครือของผู้คนร่วมสมัย หรือผู้ที่ใช้ชีวิตในสังคมยุคใหม่ งานประเภทสัจนิยมมหัศจรรย์ที่อาจจะไม่ต้องมีเหตุผลทางตรรกะมากกว่าความรู้สึกสัมผัสทางจิตใจ หรือถ้างานนั้นจะนำเสนอ “อุดมการณ์” หรือ “สะท้อนสังคม” ก็ควรแทรกสอดมันไว้อย่างแนบเนียน

ความเปลี่ยนแปลงของผู้อ่านประการนี้เอง ส่งผลให้รางวัลวรรณกรรมต่างๆ นั้นเริ่มลดความสำคัญจากสังคมการอ่าน เนื่องจากขาดความเชื่อมโยงสอดคล้องกับพฤติกรรมการอ่านของผู้คนส่วนใหญ่ในสังคม ซึ่งไม่ใช่ความผิดของใครทั้งนั้น ไม่ว่าจะนักเขียนที่เขียนวรรณกรรมในรูปแบบเดิม ตัวรางวัลวรรณกรรม หรือแม้แต่ผู้อ่านที่เปลี่ยนแปลงไป แต่นี่คือความเปลี่ยนแปลงอันเป็นธรรมดาของยุคสมัย เหมือนการเปลี่ยนรูปแบบของวรรณคดีร้อยกรองไปสู่วรรณกรรมร้อยแก้วเมื่อร่วมร้อยปีก่อน

ผู้ที่ยังยืนยันจะเขียนงานเชิงวรรณกรรม อาจจะอยู่บนทางเลือกสองทาง คือการยืนยันว่าคงแนวทางการเขียนงานในรูปแบบเดิม ด้วยสาระและวิธีการอย่างเดิม โดยยอมรับสภาพของการตอบสนองที่ลดน้อยลงในสังคมการอ่าน การขาดไร้ซึ่งเวที รวมถึงความยากลำบากในการรวมพิมพ์เป็นเล่มหรือยอดขายในกรณีที่สามารถผลักดันงานจนได้รับการตีพิมพ์ หรือไม่อีกทาง คือแสวงความอยู่รอดด้วยการปรับเปลี่ยนรูปแบบและแนวทางการเขียนเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ในสังคมการอ่านของยุคสมัยใหม่

หรือรางวัลวรรณกรรมเอง ก็อยู่บนทางเลือกลักษณะเดียวกันว่า จะยืนยันที่จะแจกรางวัลวรรณกรรมให้แก่งานเขียนรูปแบบเดิมๆ คือ นวนิยาย รวมเรื่องสั้น และกวีนิพนธ์ หรือจะพิจารณาขยายขอบเขตของรางวัลออกไปในงานเขียนรูปแบบอื่นๆ เช่น ความเรียง ถ้อยคำข้อคิด งานเขียนประกอบภาพหรือสื่อประเภทอื่นๆ ที่เป็นรูปแบบการ “เขียน” และการ “อ่าน” ของคนในยุคปัจจุบัน

ในแง่นี้แล้ว หากย้อนกลับไปที่งานที่ได้รับรางวัลซีไรต์ของปีนี้ อย่าง “สิงโตนอกคอก” ของจิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท อาจจะถือว่าเป็น “จุดเปลี่ยนแปลง” จุดหนึ่งของรางวัลวรรณกรรมเก่าแก่และยิ่งใหญ่ขรึมขลังที่สุดในประเทศไทยก็ได้ ในแง่ของเนื้องานที่ได้รับรางวัลนี้ เป็น “วรรณกรรม” ที่ตั้งคำถามถึงประเด็นต่างๆ ทางสังคมหรือการใช้อำนาจรัฐ ด้วยการใช้แนวทางของการเขียนที่แยกผู้อ่านออกจากบริบทของสังคมและโลกประเทศในความเป็นจริงชั่วคราว ไปสู่การเล่าเรื่องแบบนิยายวิทยาศาสตร์ โลกสมมุติแฟนตาซี โลกอนาคตอันมืดหม่น (Dystopia) ที่จัดวางองค์ประกอบและระเบียบเรื่องและโลกเหล่านั้นไว้ในพื้นที่จำกัด เพื่อในที่สุดแล้วอาจจะกระตุ้นให้ผู้อ่านฉุกคิดและเชื่อมโยง “สาร” ที่ได้รับจากการอ่าน แล้วตั้งคำถามและเปรียบเทียบกับสิ่งที่ได้พบเห็นในสังคมประเทศของโลกความเป็นจริงที่ตนมีส่วนร่วมอยู่ได้นั้น หรือแม้จะอ่านแล้วปล่อยผ่านไม่ฉุกคิดอะไร อย่างน้อยก็ได้ความสนุกสนานบันเทิงกลับไป

ไม่แน่ว่านี่อาจจะเป็น “วรรณกรรม” เชิงสังคม ที่ปรับบทให้เหมาะกับคนรุ่นใหม่มากที่สุดแล้ว ประกอบกับความที่ผู้เขียนนั้นก็เป็นนักเขียนยอดนิยมที่มีชื่อเสียงโด่งดังในหมู่ผู้นิยมอ่านนิยายรักแนวตัวเอกชายต่อชาย ที่ในวงการนิยายเรียกว่า “นิยายวาย” ด้วยนามปากกา “ร.เรือในมหาสมุทร” ซึ่งผู้อ่านที่แข็งแรงกลุ่มนี้ ก็จะข้ามแดนเข้ามาอ่านงานเชิง “วรรณกรรม” ที่เขียนด้วยชื่อจริงของ “จิดานันท์” ได้อย่างง่ายดาย

หากมองอย่างมีความหวัง การได้รับรางวัลวรรณกรรมระดับชาติที่เก่าแก่และยิ่งใหญ่ของ “สิงโตนอกคอก” อาจจะเป็นสัญญาณการมาถึงของวรรณกรรมสมัยใหม่ และรางวัลวรรณกรรมที่จะเริ่มกลับมาเชื่อมโยงกับสังคมการอ่านของนักอ่านในปัจจุบันอีกครั้ง

ก็เพราะที่ในที่สุดแล้ว วรรณกรรมต้องรับใช้มนุษย์ เป็นงานเรียงร้อยอักษรที่ทำให้ผู้คนอ่านแล้วมีความสุข ได้แง่คิด ประสบการณ์ ได้สัมผัสกับแง่มุมอารมณ์ความรู้สึกของบุคคลอื่น ได้ค้นพบตัวเอง หรือตั้งคำถามต่อสิ่งอื่นที่อยู่ในสังคมรอบตัว งานเขียนรูปแบบใดก็ตามที่สามารถพาผู้อ่านบรรลุถึงเป้าหมายนี้ ก็สมควรที่จะถูกเรียกว่าเป็น “วรรณกรรม” ทั้งสิ้น

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image