ประเด็น เลือกตั้ง เจตจำนง “เป้าหมาย” อันมาจาก “คสช.”

ความเชื่อในเรื่อง “เลือกตั้ง” กำลังกลายเป็นความเชื่อที่เลื่อนลอย ว่างเปล่า กระทั่งทำท่าว่าอาจเป็นเรื่องของความใฝ่ฝันอันแสนไกลเป็นลำดับ

ความเชื่อว่าจะมีในปี 2561 ดับไปแล้ว

แม้จะมีการเสนอว่าน่าจะเป็นในปี 2562 แต่ก็ดำรงอยู่อย่างว่างโหวง แทบไม่มีรากฐานอะไรเข้ามารองรับ

บางคนไปไกลถึงขนาดที่ว่า ไม่น่าจะ “มี”

Advertisement

มีความเป็นไปได้ว่า การดำรงอยู่ของสิ่งที่เรียกว่า “เลือกตั้ง” ที่เคยมีสถานะเป็นดั่ง “ความฝันใฝ่” อาจแปรและกลายเป็น “ความเพ้อฝัน”

นั่นก็คือ เป็น “ความเพ้อฝัน” ในยุคแห่ง “คสช.”

สัญญาณอันมาจากการประกาศและบังคับใช้ “รัฐธรรมนูญ” เมื่อเดือนเมษายน 2560 ที่ว่าจะเหยียบเข้าสู่ “โหมด” แห่ง “การเลือกตั้ง”

Advertisement

กลับกลายเป็น “สัญญาณ” ในแบบ “ถอยห่าง”

เหตุปัจจัยอะไรทำให้การดำรงอยู่ของ “การเลือกตั้ง” กลับกลายเป็นการดำรงอยู่อันเลื่อนลอย ว่างเปล่าและไร้สิ้นซึ่งความหวัง

ปัจจัยหลักมาจาก “คสช.”

พลันที่ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ออกมาฟันธงว่าจะยังไม่มีการปลดล็อกพรรคการเมืองออกจากคำสั่ง คสช.

นั่นเท่ากับเป็นการตัด “คัตเอาต์”

ยิ่งเหตุผลพื้นฐานมาจากบทสรุปที่ว่ายังไม่เกิดความสงบอันเหมาะสมที่จะจัดการเลือกตั้ง ยิ่งทำให้เชื่ออย่างเป็นจริงว่าการเลือกตั้งไม่น่าจะเกิดขึ้นโดยเร็ว

1 เพราะ คสช.คือ “รัฏฐาธิปัตย์”

เมื่อผู้ดำรงความเป็น “รัฏฐาธิปัตย์” ไม่มีความมั่นใจในเรื่องความสงบเรียบร้อยเสียแล้ว ใครไหนเล่าจะสามารถให้ความมั่นใจได้

ทุกอย่างย่อม “อวสาน”

คําถามต่อ คสช.ก็คือ ยังจะยืนยันจัดการเลือกตั้งตาม “โรดแมป” ของรัฐธรรมนูญ คือภายในปี 2561 เหมือนเดิมอยู่หรือไม่

หากทำไม่ได้ก็ควร “ยอมรับ”

เป็นการยอมรับและแสดงให้เห็นว่า สังคมประเทศไทยไม่ควรตั้งความหวังไว้กับ “การเลือกตั้ง” หากแต่ดำรงระบอบอย่างที่เห็นและเป็นอยู่มาแต่หลังเดือนพฤษภาคม 2557

จะเรียกว่า “ระบอบ” อะไรก็ว่ากันไป

จะว่าเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมี “เอกลักษณ์ไทย” จะเรียกว่าระบอบประชาธิปไตย “ครึ่งใบ” หรือจะเรียกว่าระบอบ “รัฐประหาร”

คสช.ก็ควรจะต้องเสนอและอธิบาย

เพราะการยืนยันในเรื่อง “การเลือกตั้ง” โดยไม่สุกงอมหรือไม่มีความพร้อมที่จะจัดให้มี “การเลือกตั้ง” หากไม่สามารถทำได้ก็รังแต่จะเสียรังวัด

ขาดความเชื่อมั่น ขาดความน่าเชื่อถือ

เมื่อขาดความเชื่อมั่น ขาดความเชื่อถือเสียแล้ว การดำรงอยู่ของ “คสช.” ก็ไม่หนักแน่น จริงจัง และจะค่อยๆ ไร้พลังไปเป็นลำดับ

ความเป็นจริงที่จะต้องยอมรับร่วมกันก็คือ การดำรงอยู่อย่างที่เห็นและเป็นอยู่ในห้วงหลังเป็นไปตามความต้องการของประชาชนคนไทยหรือไม่

ไม่ว่าไทยที่ชอบ “รัฐประหาร”

ไม่ว่าไทยที่ “ไม่ชอบ” รัฐประหาร

ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนจะแสวงหาคำตอบ “ร่วมกัน” โดยเอาคำว่า “การเลือกตั้ง” มาเป็นโจทย์ในการตรวจสอบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image