ฟื้นสัมพันธ์อียู โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข

แฟ้มภาพ

ถือเป็นข่าวดีของรัฐบาล ที่ รมว.ต่างประเทศอียู ลงมติเมื่อ 11 ธ.ค.ที่ผ่านมา ปรับความสัมพันธ์ด้านการเมืองกับไทย หลังจากยุติมา 3 ปี จากปี 2557

จากมติ 14 ข้อของอียู การฟื้นสัมพันธ์รอบนี้ มีรายละเอียดที่คล้ายกับเป็นเงื่อนไขอยู่หลายเรื่อง

นั่นคือ การย้ำให้ไทยปรับปรุงในเรื่องการเมือง ทั้งการคืนสู่ประชาธิปไตยอย่างเร่งด่วน จัดเลือกตั้งที่น่าเชื่อถือและมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย การเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน

การเลือกตั้งที่ว่านี้ ทางอียูหยิบยกเอาคำประกาศของนายกฯ ที่บอกว่าจะเลือกตั้งเดือน พ.ย. 61 มาอ้างถึงด้วย

Advertisement

ในข้อ 3 อียูระบุว่า

ยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับสิทธิทางการเมือง สิทธิพลเมือง และเสรีภาพ ซึ่งได้ถูกลิดรอนไปอย่างรุนแรงในประเทศไทยหลังจากการรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ.2557 เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมยังคงถูกจำกัดอยู่เป็นอย่างมาก ผ่านกฎหมายและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลายฉบับ”

“นอกจากนี้นักเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนยังคงเผชิญกับการคุกคามทางกฎหมาย คณะรัฐมนตรี ตอกย้ำถึงความสำคัญของเสรีภาพขั้นพื้นฐานดังกล่าวที่ต้องได้รับการฟื้นฟู ขณะที่ประเทศไทยดำเนินการไปสู่ประชาธิปไตย และขอย้ำถึงความสำคัญของเสรีภาพขั้นพื้นฐานดังกล่าวซึ่งมีความเชื่อมโยงกับบทบาทของภาคประชาสังคมในระบอบประชาธิปไตยที่มีประสิทธิภาพ ด้วยเหตุนี้สหภาพยุโรปจะยังคงสนับสนุนองค์กรภาคประชาสังคมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนต่อไป”

Advertisement

ส่วนในทางเศรษฐกิจการค้า อียูระบุว่า กำลังขอให้คณะกรรมาธิการยุโรปสำรวจความเป็นไปได้ในการกลับมาเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างยุโรป-ไทย (EU-Thailand Free Trade Agreement)

แต่การลงนาม เป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือ ในเรื่อง FTA จะดำเนินการได้กับรัฐบาลพลเรือนที่ได้รับการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ในข้อ 12 ในความสัมพันธ์ของอียูกับไทย ถึงประเด็นสำคัญ 3 เรื่อง คือ 1.การให้เสรีภาพสื่อ เสรีภาพการชุมนุม ปลดล็อกให้พรรคการเมืองและองค์กรต่างๆ ทำกิจกรรมทางการเมืองได้ 2.จัดเลือกตั้งที่น่าเชื่อถือ 3.การมีรัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้ง 

ถ้าอ่านจากมติของอียูรอบนี้ แล้วลองส่องมองการเมืองประเทศไทย จะพบว่าหากไทยต้องการปรับสัมพันธ์ปกติและค้าขายกับอียู ยังมีการบ้านต้องทำอีกมาก

อย่างการเลือกตั้ง ที่อียูเรียกร้อง จะเป็นคนละเรื่องกับการเลือกตั้งที่คนไทยรับรู้จากข่าวสารที่ผ่านๆ มา

อียูเรียกร้องไปถึงรัฐบาลหลังเลือกตั้งว่า จะต้องเป็นรัฐบาลพลเรือน

ส่วนในระยะใกล้ อียูเรียกร้องไปถึงการปลดล็อก ไม่เฉพาะให้พรรคการเมืองเท่านั้น

แต่ทุกกลุ่มต้องทำกิจกรรมทางการเมืองได้ด้วย

หลังจากปรับรูปโฉม ลบภาพรัฐบาลทหารออกไปได้บ้าง อย่างที่เห็นใน “ประยุทธ์ 5”

ถ้าผ่อนปรนขยับขยายในเรื่องสิทธิเสรีภาพให้มากขึ้น น่าจะทำให้ “ประยุทธ์ 5” ทำงานได้ง่ายขึ้น

……………

วรศักดิ์ ประยูรศุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image