ความสัมพันธ์ระหว่างเจดีย์บนภูเขาสูงในรัฐกะเหรี่ยง-มอญ กับล้านนา : โดย ศิริศักดิ์ อภิศักดิ์มนตรี – ธณิกานต์ วรธรรมานนท์

เจดีย์ Kyaikhtiyo ถ่ายเมื่อ พ.ศ.2557

บทนำ

เมื่อไปทัศนศึกษาในรัฐกะเหรี่ยงและมอญ ประเทศพม่า ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2559-วันที่ 4 มีนาคม 2559 นั้น สิ่งที่ชวนมองมากที่สุด คือ บรรดาเจดีย์บนภูเขาสูงที่เห็นอยู่ลิบๆ ไกลตา องค์เจดีย์เรียงไล่กันไปตามสันเขาสูงต่ำ เป็นจังหวะ มีเป็นระยะๆ ตลอดทั้งเส้นทางที่รถแล่นจากรัฐกะเหรี่ยงไปรัฐมอญ แห่งใดมีภูเขา บนภูเขานั้นจะมีเจดีย์ แต่ละองค์ล้วนเมลืองมลังด้วยสีทองอร่ามงามตา เพียงแค่ได้เห็น ศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาในพม่าก็ก่อขึ้นในใจทันที

เราเห็นเจดีย์บนยอดเขาสูงจำนวนมาก ทว่ามีเพียง 3 องค์สำคัญเท่านั้น ที่มีโอกาสได้ขึ้นไปกราบนมัสการ คือ

1.เจดีย์ Zwe Ka Bin บนยอดเขาสูงของเทือกเขาหินปูนด้านหลังวัด Zwe Ka Bin เมืองพะอัน (Hpa-An) ในรัฐกะเหรี่ยง ตัวเมืองพะอันนั้นสร้างโอบล้อมภูเขาใหญ่ลูกนี้ เมื่อคนขับรถวนหาวัด Zwe Ka Bin จึงวนเป็นวงกลม ตัวเมืองไม่ใหญ่มากนัก ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน เมืองติดทะเล ข้าวปลาอาหารจึงอุดมสมบูรณ์

Advertisement

ระหว่างการพูดคุยกับเจ้าอาวาส เพื่อขอพักค้างแรมที่วัด จับใจความได้ว่าเจดีย์ Zwe Ka Bin นั้น เป็นเจดีย์บรรจุพระเกศาธาตุ มีสถานะเป็นเจดีย์น้องของเจดีย์ Kyaikhtiyo หรือที่รู้จักกันในชื่อพระธาตุอินทร์แขวน

ผมเดินเท้าขึ้นไปนมัสการพระเกศาธาตุเจดีย์ในค่ำคืนหนึ่งระหว่างพักค้างแรมที่วัด ทางเดินเท้าขึ้นเจดีย์ก่อเป็นขั้นบันไดมีราวจับตลอดทั้งเส้นทาง วกวนลัดเลาะในป่าอันเต็มด้วยไม้ใหญ่ไม้หลวงสูงชะลูด ยืนต้นตระหง่านแผ่กิ่งใบคลุมดินในความมืด ท่ามกลางแสงดาวในฤดูหนาว เมื่อกึ่งนั่งกึ่งนอนบนก้อนหินใหญ่ระหว่างทาง แหงนมองขึ้นไปจึงเห็นต้นตั้งลำมีปลายโน้มเข้าหากัน ลมบนพัดแรงยอดไม้สูงไหวเอนไปมา พอได้พักคลายหายเหนื่อยแล้วจึงฉายไฟฉายนำทาง แล้วตั้งหน้าตั้งตาเดินไปในความมืดอีกครั้ง แสงไฟจากโคมไฟข้างทางมีเป็นระยะๆ เราใช้เวลาเดินขึ้นทั้งหมดเกือบ 4 ชั่วโมง

เมื่อเราขึ้นไปถึงลานเจดีย์นั้นดาวเต็มท้องฟ้าแล้ว เราหลบลมที่พัดแรงนอนค้างในวิหารหลังเล็กบนลานเจดีย์ ผู้คนทั้งพ่อค้าแม่ขายตลอดนักเดินทางฝรั่งกระจายกันนอนในอาคารด้านล่างลงไป

Advertisement

ยังไม่รุ่งสาง แสงอาทิตย์ไม่ทันจับขอบฟ้า เราก็ยินเสียงสวดมนต์บนลานเจดีย์ ลุกขึ้นออกจากวิหารมาดูจึงเห็นหญิงวัยกลางคนนุ่งห่มแบบพม่า ประแป้งทาหน้าหวีผมเรียบร้อย นั่งพับเพียบสวดมนต์หน้าเจดีย์ หญิงสาวอีกคนนั่งนับลูกประคำ ไม่นานฝรั่งที่ค้างแรมด้านล่างก็สะพายกล้องเดินมาบนลานเจดีย์ ไม่ไหว้เจดีย์ เอาแต่ถ่ายรูปเมฆหมอกทิวเขาและเมืองด้านล่าง เรายิ้มให้กันทั้งฝรั่งทั้งกะเหรี่ยง ขาลงใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงกว่า สวนทางกับหนุ่มสาวชาวกะเหรี่ยงที่ขึ้นมานมัสการเจดีย์แต่เช้า

เจดีย์ Zwe Ka Bin ไม่เป็นที่รู้จักกันมากนักในหมู่คนไทย แต่เป็นที่เคารพมาแต่โบราณกาลในหมู่ชนกะเหรี่ยงนานแล้ว ในคืนที่เราพักค้างแรมในอาคารไม้หลังใหญ่แบบพม่าที่วัด Zwe Ka Bin นั้น จึงมีหนุ่มสาว พ่อแม่ บุตรหลาน ชวนกันมานอนค้างในอาคารหลังเดียวกันกับเรา เพื่อรอเดินทางขึ้นไปไหว้พระเจดีย์ในยามเช้า ด้วยเหตุนี้ ประวัติพระธาตุเจดีย์จึงมีเพียงคำบอกเล่าที่ได้พูดคุยกับเจ้าอาวาสผ่านล่ามชาวพม่า

เจดีย์ Zwe Ka Bin

รูปแบบเจดีย์ Zwe Ka Bin เป็นเจดีย์ทรงระฆังแบบมอญ ส่วนฐานเป็นบัวลูกแก้วอกไก่ในผัง 8 เหลี่ยม ซ้อนกัน 2 ชั้น ลักษณะของฐานบัวนั้น มีบัวคว่ำในตอนล่างชัดเจน แต่บัวหงายตอนบนนั้นย่อขนาดให้เล็กลง แต่ละด้านของฐานตอนล่างสุดมีซุ้มพระ ข้างซุ้มพระเป็นสัญลักษณ์รูปสัตว์ประจำวันเกิดทั้ง 8 วัน โดยนับวันพุทธเป็น 2 วัน คือ พุธกลางคืนหนึ่งวัน กับพุธตอนเช้าอีกหนึ่งวัน ตามฐาน 8 เหลี่ยม รอบฐานด้านล่างสุดก่อเป็นซุ้มพระเรียงกันไปด้านละ 7 ซุ้ม เหนือส่วนฐานขึ้นไปเป็นส่วนรองรับองค์ระฆัง แต่งเป็นชั้นลูกแก้ว 3 ชั้น ตั้งแต่ชั้นนี้ขึ้นไปบุแผ่นทองจังโก ชั้นลูกแก้วบนสุดแต่งกลีบบัว องค์ระฆังเตี้ยฐานผายออก มีรัดอก องค์ระฆังแต่งเป็นหน้ากาลคายพวงมาลัย เหนือองค์ระฆังเป็นส่วนของปล้องไฉนที่เป็นชั้นลูกแก้วซ้อนกันขึ้นไป 7 ชั้น รับบัวกลุ่มแบบพม่า ปลียอดยาว และฉัตรในส่วนบนสุด ปลียอดที่ยาวนั้นแตกต่างจากเจดีย์ในกลุ่มศิลปะพม่าอย่างชัดเจนที่มีปลียอดสั้น

ลักษณะเจดีย์แบบมอญที่มีต่างออกไปจากเจดีย์แบบพม่านี้ ควรเกิดขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20-21 สมัยหงสาวดี ที่พุทธศาสนาในเมืองมอญเจริญรุ่งเรือง โดยเฉพาะในสมัยพระนางซินสอบูและพระเจ้าธรรมเจดีย์ กษัตริย์ในราชวงศ์มอญของพระเจ้าฟ้ารั่ว

2.เจดีย์ Kyauknalatt ตั้งอยู่บนภูเขาหินปูน กลางบึงใหญ่ในเมืองพะอัน (Hpa-An) จากผืนแผ่นดินที่กำลังก่อสร้างวิหารหน้านอกนั้น มีสะพานทอดข้ามไปยังพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์อันปกคลุมด้วยต้นไม้ใหญ่และต้นลั่นทม ภูเขาลูกนี้ไม่สูงนักเมื่อเทียบกับเขา Zwe Ka Bin มันถูกกัดเซาะด้วยลมและน้ำ วิ่นเว้าหายไปเป็นแห่ง เอวภูเขาที่กิ่วคอดแทบจะขาดนั้นก็เพราะลมและน้ำ

เจดีย์ Kyauknalatt

เราใช้เวลาเดินทางไม่นานก็ถึงส่วนสูงสุดที่เขาเปิดให้ขึ้น เห็นพระภิกษุพม่ารูปหนึ่งนุ่งห่มจีวรสีกลัก นั่งให้ศีลให้พรผู้แสวงบุญ ในมือท่านมีระฆังขนาดเล็กสำหรับตีเป็นระยะๆ ขณะสวดให้พร ทางต่อไปจากนี้ขึ้นไม่ได้ ด้านบนลมแรง สั่นต้นลั่นทม ดอกหล่นร่วงเต็มพื้นทางเดิน

รูปแบบเจดีย์ Kyauknalatt ค่อนข้างสูงชะลูด ส่วนฐานที่แคบและส่วนมาลัยเถาที่ยืดสูงขึ้น เป็นเหตุให้เจดีย์องค์นี้ดูชะลูด ฐานบัวอย่างง่ายในแปดเหลี่ยมซ้อนกัน 2 ชั้นในตอนล่าง รับองค์ระฆังที่สูงขึ้นไปก่อนงุ้มปลายเข้าหากัน เหนือองค์ระฆังเป็นบัลลังก์แปดเหลี่ยมรูปฐานบัว รับส่วนปล้องไฉนที่ค่อยลดเหลี่ยมลงจากแปดเหลี่ยมเป็นวงกลมในตอนบนสุด ถัดจากนี้เป็นบัวกลุ่มแบบพม่า รับปลียอดและฉัตรในส่วนบนสุด

ลักษณะเจดีย์องค์นี้ ก็เป็นแบบเจดีย์มอญเช่นเดียวกับเจดีย์ Zwe Ka Bin และน่ามีอายุการสร้างในช่วงเดียวกัน คือ พุทธศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา

3.เจดีย์ Kyaikhtiyo ตั้งอยู่ในเมืองไจโท เขตเมืองสะเทิม (สุธรรมวดี หรือท่าตอนในปัจจุบัน) ของรัฐมอญ เป็นหนึ่งในเจดีย์ประจำปีเกิดตามคติล้านนา ตั้งอยู่บนภูเขา Paung Laung (พวงลวง) หรือ ภูเขาฤษี

อาศัยรถบรรทุกคันโตไต่ไปบนถนนซีเมนต์ คนขับไม่เคยลดความเร็วเมื่อไต่ขึ้นเขา ความชำนาญของเขาก่อความหวาดเสียวให้เราเมื่อรถเทตัวเข้าโค้งทุกครั้ง ถนนซีเมนต์ที่รัฐบาลพม่าสร้างไว้มีระยะทาง 9.5 กิโลเมตร ระยะทางที่รถวิ่งมาส่งเรายังท่ารถด้านบน 8.5 กิโลเมตร อีกประมาณ 1 กิโลเมตรที่เหลือเราเดินเท้า บางคนที่ขึ้นไปด้วยกันก็อาศัยคานคนหาม เพราะอยากลองนั่งดู

เจดีย์องค์นี้เป็นที่รู้จักกันดีทั้งในหมู่คนไทยและพม่ามาแต่โบราณกาล ว่าเป็นเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์ บรรจุไว้ซึ่งพระเกศาธาตุ มีประวัติความเป็นมาที่ปรากฏในเอกสารทั้งฝ่ายไทยและพม่าอย่างแพร่หลาย ชื่อ Kyaikhtiyo หรือไจ้ติโยนั้น มีความหมายถึงเจดีย์ผ้าโพกหัวฤษี ตามที่เรื่องเล่าในตำนานดึกดำบรรพ์

รูปแบบเจดีย์ Kyaikhtiyo นั้น เป็นเจดีย์ขนาดเล็กที่ตั้งบนก้อนหินขนาดใหญ่ แต่ฐานที่เป็นแปดเหลี่ยม องค์ระฆังที่ผายออก และปลียอดที่ยาว อันเป็นอัตลักษณ์ของเจดีย์มอญ ก็ยังปรากฏให้เห็นในเจดีย์ Kyaikhtiyo

เจดีย์ Kyaikhtiyo ถ่ายเมื่อ พ.ศ.2559

ตํานานการสร้างพระธาตุ ตำนานการสร้างเมืองในเมืองกะเหรี่ยง-มอญกับล้านนา

ตำนานการสร้างพระธาตุอินทร์แขวนนั้น เล่ากันมาแต่ครั้งพุทธกาล ว่าในครั้งที่เมืองไจ้ติโยยังมีเจ้าเมืองปกครองนั้น เจ้าเมืองมีโอรส 2 องค์ ทั้งสองไม่ปรารถนาจะครองเมืองดุจบิดา จึงเสด็จหนีไปบวชเป็นฤษีอยู่ในป่าตรงเชิงเขาใกล้เมือง ระหว่างที่เป็นฤษีนั้น มีนางนาคตนหนึ่งขึ้นมาสมสู่อยู่กับมนุษย์ เมื่อนางตั้งครรภ์ มนุษย์ผู้นั้นก็หนีไป ส่วนนางนาคก็กลับเมืองบาดาล ทิ้งไข่ 2 ฟอง ไว้ที่ชายป่า ฤษีไปพบเข้าจึงเก็บมาดูแลรักษา วันหนึ่งไข่ก็แตกออก มีทารกอยู่ในไข่นั้น ฤษีตนพี่จึงช่วยดูแลเลี้ยงดูเด็กผู้พี่ ส่วนฤษีคนน้องดูแลเลี้ยงดูเด็กผู้น้อง

ต่อมาเด็กผู้น้องตาย ไปเกิดใหม่ในชมพูทวีป ได้บวชเรียนกับพระพุทธเจ้า และระลึกชาติได้ว่าเคยอยู่กับฤษีที่เชิงเขาใกล้เมืองไจ้ติโยมาก่อน จึงได้กราบอาราธนาให้พระพุทธเจ้าไปโปรดฤษีทั้งสอง พระพุทธเจ้าก็เสด็จมาโปรด และได้ประทานเกศาธาตุให้ฤษีคนละหนึ่งเส้น ฤษีผู้น้องนำไปบรรจุไวในเจดีย์องค์หนึ่งให้คนบูชา ทว่าฤษีผู้พี่เก็บรักษาไว้ในหมวกของตน

เมื่อผู้คนทราบข่าว จึงไปพูดคุยกับฤษีผู้พี่ ว่าขอให้บรรจุพระเกศาธาตุไว้ในพระเจดีย์ เพื่อที่คนทั้งหลายจะได้บูชา ฤษียินยอมแบบมีเงื่อนไขว่า จะบรรจุไว้ในเจดีย์ที่ตั้งอยู่บนก้อนหินที่มีรูปร่างเหมือนหมวกที่ตนสวมเท่านั้น เมื่อพระอินทร์ทราบ จึงเหาะไปหาก้อนหินในมหาสมุทร ได้หินก้อนหนึ่งที่มีรูปร่างดังที่ฤษีต้องการ ยกมาตั้งไว้บนยอดเขาไจ้ติโย ส่วนเด็กชายลูกนางนาคกับมนุษย์ที่ฤษีผู้พี่เลี้ยงนั้น ต่อมาได้เป็นเจ้าเมืองไจ้ติโย พระองค์ได้เสด็จมาเจาะรูก้อนหินแล้วนำพระเกศาธาตุที่ฤษีเก็บรักษาไว้มาบรรจุ แล้วสร้างเจดีย์ไว้ด้านบน

มีตำนานเกี่ยวกับพระธาตุองค์นี้อีกสำนวนหนึ่ง เป็นเรื่องราวของลูกนางนาคกับชายมนุษย์ที่ฤษีไปพบ เมื่อไข่แตกออกมาเป็นเด็กหญิง ฤษีจึงนำไปให้ชาวบ้านเลี้ยงดู ชื่อนางชเวนันจิน เมื่อโตขึ้นเป็นหญิงสาวได้อภิเษกกับโอรสเจ้าเมืองสะเทิมที่ทรงพระนามว่า พระเจ้าสิทธะธรรม ทีหะยารสาร (Teiktha Dhamma Thiha Yarzar)

อภิเษกได้ไม่นาน นางก็ล้มป่วย มีคนมาบอกว่าเหตุที่นางไม่สบายนั้น เพราะก่อนอภิเษก นางไม่ได้กลับไปไหว้บรรพบุรุษ คือ ฤษี นางจึงออกเดินทางจากเมืองสะเทิมไปยังเมืองไจ้ติโย เพื่อขึ้นไปไหว้ฤษีและพระธาตุเจดีย์ไจ้ติโย ทว่าระหว่างทางลูกนางนาคก็ถูกเสือทำร้าย เมื่อยังมีสติ นางจึงอธิษฐานว่าขอให้วิญญาณนางวนเวียนอยู่ภายในภูเขา คอยช่วยเหลือผู้คนที่จะเดินทางไปนมัสการพระธาตุจากสัตว์ร้าย ท้ายที่สุดนางหนีเสือได้ทว่ามาหมดแรงขาดใจตายบริเวณทางขึ้นวัด ปัจจุบันชาวบ้านจึงจำลองรูปนางนอนอยู่เชิงบันไดทางขึ้นพระธาตุ

ฤษีระหว่างทางเดินขึ้นพระธาตุอินทร์แขวน

ผู้คนที่เดินทางไปนมัสการเจดีย์ มักแวะเข้าไปกราบไหว้รูปปั้นนาง เพราะความเชื่อว่า ถ้าเจ็บไข้ได้ป่วยปวดเมื่อยร่างกายบริเวณใด ก็ให้ลูกอวัยวะส่วนนั้นของรูปปั้น และอธิษฐานขอให้อาการเจ็บปวดนั้นๆ หายไป

จากตำนานพระธาตุอินทร์แขวนกับเรื่องเล่าจากเจ้าอาวาสวัด Zwe Ka Bin ทำให้เราทราบข้อมูลเพิ่มเติมว่า พระธาตุเจดีย์ที่บรรจุเกศาธาตุซึ่งฤษีผู้พี่เก็บรักษาไว้ คือ พระธาตุอินทร์แขวน ส่วนพระธาตุเจดีย์ที่บรรจุเกศาธาตุซึ่งฤษีผู้น้องเก็บรักษาไว้ คือ พระธาตุ Zwe Ka Bin ทั้งสององค์มีฐานะเป็นองค์พี่องค์น้อง

เมื่อพิจารณาความเหมือนกันของเจดีย์ทั้งสององค์ เราจะพบว่าเป็นเจดีย์สำคัญที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ตั้งอยู่โดดๆ บนยอดเขาสูง มีประวัติการก่อสร้างเกี่ยวข้องกับการเสด็จมาของพระพุทธเจ้า สัมพันธ์กับเรื่องเล่าพื้นบ้านชาวกะเหรี่ยง มีตัวละครสำคัญ คือ ฤษี นาค และกษัตริย์พื้นเมือง ทั้งยังแสดงความสัมพันธ์ระหว่างเมืองไจ้ติโยกับเมืองสะเทิมไว้ในตำนานพระนางชเวนันจินด้วย

เมืองสะเทิมหรือเมืองสุธรรมวดี (Thaton) นั้น เป็นเมืองศูนย์กลางชาวมอญในอดีต สร้างก่อน พ.ศ.241 มีประวัติการสร้างเมืองคล้ายกับการสร้างพระธาตุไจ้ติโย เล่ากันมาว่า โอรส 2 องค์ของพระเจ้าติสสะจากอินเดีย เดินทางมาค้าขายบริเวณอ่าวเมาะตะมะ ภายหลังโอรสทั้งสองได้บวชเป็นฤษี บำเพ็ญตบะแก่กล้าในภูเขา วันหนึ่งได้นำลูกของนางนาคที่ทิ้งไว้มาเลี้ยงดูเป็นบุตรบุญธรรม จนเมื่อเด็กเติบใหญ่จึงได้สร้างเมืองให้ ณ ปากอ่าวเมาะตะมะตรงที่สำเภามาจอด ให้ชื่อเมืองว่าสะเทิม ส่วนบุตรบุญธรรมได้รับการสถาปนาเป็นกษัตริย์นามว่า พระเจ้าสีหราชา เป็นปฐมกษัตริย์แห่งเมืองสะเทิม ลักษณะเป็นตำนานการสร้างเมือง

ความคล้ายคลึงกันระหว่างตำนานการสร้างเมืองสะเทิมกับตำนานการสร้างพระธาตุอินทร์แขวน คือ มีฤษี 2 ตน เป็นตัวละครสำคัญ ฤษีทั้งสองมีสถานะเป็นกษัตริย์ ได้เลี้ยงลูกนาคเช่นกัน เมื่อลูกนาคเติบโตขึ้น ในกรณีเป็นผู้ชายจึงได้เป็นกษัตริย์ครองเมืองที่ฤษีสร้าง ส่วนในกรณีเป็นผู้หญิง ได้เป็นมเหสีของกษัตริย์ในเมืองสำคัญใกล้เคียง

โอรสกษัตริย์ที่บวชเป็นฤษีนั้น เป็นสัญลักษณ์แทนกษัตริย์จากอินเดีย ที่สืบสายพระมหาสมมุติทางสายเลือดมาตั้งแต่ครั้งที่กษัตริย์องค์แรกกำเนิดขึ้นในโลก ตามเรื่องเล่าในอัคคัญญสูตร ส่วนลูกนางนาคเป็นสัญลักษณ์ของชาวพื้นเมืองที่ถูกเลี้ยงดูโดยกษัตริย์อินเดียซึ่งต่อมาได้บวชเป็นฤษี แม้เด็กชายจะไม่มีสายเลือดพระมหาสมมุติเฉกเช่นเดียวกับกษัตริย์อินเดียที่เลี้ยงต้นมา แต่ด้วยความที่กษัตริย์นั้นสอนให้เคารพในพระพุทธศาสนา ลูกนางนาคก็บังเกิดมีเชื้อสายพระมหาสมมุติได้เช่นกัน แม้มิใช่เป็นทางสายเลือดก็เป็นทางธรรม เป็นโดยธรรม เขาจึงสามารถขึ้นเป็นกษัตริย์ได้อย่างชอบธรรม

ด้วยเหตุนี้ เรื่องเล่าการสร้างเมืองสะเทิมจึงมีนัยบอกว่า พระสีหราชาปฐมกษัตริย์ของเมืองสะเทิมมีความชอบธรรมในการขึ้นครองราชย์ เพราะมีสายเลือดพระมหาสมมุติทางธรรม

เรื่องเล่าเช่นนี้ยังปรากฏในตำนานการสร้างเมืองหริภุญชัยเช่นกัน ที่ระบุว่า ฤษีเป็นผู้สร้างเมืองต่างๆ ให้คนพื้นเมืองปกครอง แต่เมืองก็พินาศลงเพราะความไม่มีธรรมของผู้ปกครอง ภายหลังฤษีจึงสร้างเมืองหริภุญชัย และมอบให้พระนางจามเทวี อันสืบเชื้อสายทางธรรมปกครอง เมืองจึงเจริญรุ่งเรือง

ความคล้ายกันของตำนานนี้ มีเหตุผลรองรับทางประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างเมืองสะเทิมกับเมืองหริภุญชัย โดยนักประวัติศาสตร์พบว่าวัฒนธรรมของหริภุญชัยเป็นเช่นเดียวกับวัฒนธรรมมอญโบราณ ทั้งรูปแบบอักษร และเรื่องเล่าในประวัติ ที่ครั้งหนึ่งเมื่อเกิดโรคระบาดในเมืองหริภุญชัย ชาวเมืองหริภุญชัยได้ชวนกันหนีไปพึงญาติพี่น้องที่เมืองสะเทิม

ส่วนตำนานการสร้างพระธาตุอินทร์แขวนมีนัยบอกถึง การเสด็จมาของพระพุทธเจ้าในเมืองมอญโบราณ เพื่อตอกย้ำการสืบเชื้อสายพระมหาสมมติทางธรรมของฤษีทั้งสอง ผ่านการพบกันและการรักษาพระเกศาธาตุ มีเค้าโครงคล้ายกับตำนานพระเจ้าเลียบโลกของล้านนา ทว่าความแตกต่างกันในเนื้อเรื่องของทั้งสองตำนาน เป็นเรื่องจุดประสงค์ในการเสด็จมาของพระพุทธเจ้า ในตำนานพระเจ้าเลียบโลกของล้านนาระบุถึงการมาของพระพุทธเจ้าว่าเกิดจากพระประสงค์ของพระพุทธองค์เอง ไม่มีใครอาราธนา ทั้งท้ายเรื่องพระพุทธเจ้าจะแสดงพุทธทำนายถึงเมืองอันจะเจริญรุ่งเรื่องในบริเวณที่พระองค์ประทับ ทั้งยังตั้งชื่อเมืองไว้ด้วยตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลานั้น ส่วนในเรื่องตำนานการสร้างพระธาตุอินทร์แขวนนั้น ลูกนางนาคเมื่อเกิดใหม่ได้อาราธนามา และท้ายตำนานก็ไม่มีพุทธทำนายแต่อย่างใด

เรื่องที่ขยายออกไปในตำนานพระเจ้าเลียบโลก ได้แสดงวัตถุประสงค์อย่างชัดเจน เพื่ออธิบายการเกิดขึ้นของเมืองพุทธศาสนาสำคัญในล้านนาและแผ่นดินใกล้เคียง ส่วนตำนานพระธาตุอินแขวนที่ไม่มีพุทธทำนายการเกิดเมือง กลับแสดงนัยสำคัญในการเป็นผู้อุปถากพระพุทธศาสนาของฤษี ซึ่งเป็นโอรสกษัตริย์พื้นเมืองมากกว่า เป็นการกลมกลืนความเชื่อพื้นเมืองให้เข้ากันได้กับพุทธศาสนา ปรากฏให้เห็นชัดในตำนานพระนางชเวนันจิน ที่ระบุว่าเพราะนางไม่ได้ไหว้ผีบรรพบุรุษ คือ ฤษี ก่อนที่นางจะอภิเษก จึงทำให้นางเจ็บป่วย และนำมาซึ่งความตาย

ทั้งนี้จึงสรุปได้ถึงนัยของตำนานพระธาตุอินแขวนและตำนานพระธาตุ Zwe Ka Bin ว่าเป็นไปเพื่อแสดงนัยของการกลมกลืนความเชื่อพื้นเมืองให้เข้ากันได้กับพุทธศาสนา

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)

ศิริศักดิ์ อภิศักดิ์มนตรี
ธณิกานต์ วรธรรมานนท์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image