สุจิตต์ วงษ์เทศ : เที่ยวเมืองรอง ท่องเที่ยวทางเลือก เข้าถึงท้องถิ่น

สุจิตต์ วงษ์เทศ

ท่องเที่ยวทั้งเมืองหลักและเมืองรอง หรือท่องเที่ยวทางเลือก มีโอกาสพัฒนาให้ยั่งยืนยาวนานได้ด้วยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นแท้จริง ที่สะท้อนสังคมวัฒนธรรมของคนหลากหลาย ไม่ว่าเมืองเก่า หรือเมืองใหม่

“รถไฟความเร็วสูง ต้องสร้างเมืองใหม่ เช่น ญี่ปุ่นมีรถไฟและเมืองโดยรอบ จึงจะใช้ประโยชน์จากรถไฟความเร็วสูงจริงๆ” นายชัชชาติ สุทธิพันธุ์ อดีต รมต. บอกอีกว่า “โครงสร้างพื้นฐานเป็นแค่เครื่องมือสร้างมูลค่า ตัวมันเองไม่มีค่า เทียบได้กับครกและสาก ถ้าไม่เอาไปตำน้ำพริกก็ไม่มีความหมาย” (มติชน ฉบับวันเสาร์ที่ 2 ธันวาคม 2560 หน้า 9)

เมืองเก่าและเมืองใหม่ที่มีรถไฟผ่าน ไม่ว่าความเร็วสูงหรือไม่สูงหรือคู่ขนาน ล้วนเกื้อกูลให้เกิดท่องเที่ยวทางเลือก

ท้องถิ่นเสียโอกาส

ประวัติศาสตร์ไทยเต็มไปด้วยสงคราม จึงไม่มีสังคมและผู้คน แล้วไม่มีชุมชนท้องถิ่น

Advertisement

นักประวัติศาสตร์โบราณคดีกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ถนัดขุดค้นซากวัดกับวัง จึงอ่อนแออย่างยิ่งต่อประวัติศาสตร์สังคม ตลอดจนประวัติศาสตร์ชุมชนท้องถิ่น

มหาวิทยาลัยในท้องถิ่นส่วนมากก็อ่อนแอไม่แพ้กัน คนท้องถิ่นเลยเสียโอกาส

ดังนั้น ย่อมยากยิ่งที่รองนายกฯ และ รมต. ท่องเที่ยวฯ จะคาดคั้นให้เทศบาลต่างๆ ทั่วประเทศ “ฟื้นฟูและสร้างเรื่องราวจากเอกลักษณ์ในแต่ละชุมชน”

Advertisement

ทางออกของเรื่องอย่างนี้ ต้องแนะนำเทศบาลทุกท้องถิ่นหารือภาคเอกชนที่มากประสบการณ์ทางวิชาการด้านนี้

มีผู้เล่าว่าปราสาทพิมาย (อ. พิมาย จ. นครราชสีมา) ท้องถิ่นใช้เวลาหลายปีกว่าจะมีการแสดงเรื่องท้าวปาจิต นางอรพิม ซึ่งเป็นนิทานตำนานประจำถิ่นลุ่มน้ำมูล (มีสมุดข่อยวรรณคดีกลอนอ่านแต่งสมัยกรุงธนบุรี) เพราะถูกห้ามแสดงจากกระทรวงวัฒนธรรมที่อ่อนแอความรู้ท้องถิ่น

ท่องเที่ยวทางเลือก

“ต้องฟื้นฟู และสร้างเรื่องราวเอกลักษณ์แต่ละชุมชนให้น่าสนใจ” นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ กล่าวถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทำรายได้สูงเข้าประเทศ แต่กระจุกที่เมืองหลักต้องกระจายสู่เมืองรองให้ลงถึงชุมชน (มติชน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 14 ธันวาคม 2560 หน้า 1, 8) แล้วบอกอีกว่า

“ผลักความก้าวหน้าเข้าไปยังเมืองรอง เพราะมีแหล่งท่องเที่ยวจำนวนมาก แต่กลับไม่ได้มุ่งเน้นเป้าหมายลงไป”

“บางแห่งทำได้ทันที บางแห่งต้องใช้เวลา” นายสมคิด รองนายกฯ ย้ำว่าต้องสร้างทางลัดไปเมืองรอง ท่องเที่ยวทางเลือกเร็วที่สุด

“ต้องขยายผลการท่องเที่ยวให้กระจายไปสู่ทุกคน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้วยการท่องเที่ยว”

“มีนักท่องเที่ยว 34 ล้านคนต่อปี แต่กระจุกที่กรุงเทพฯ, เชียงใหม่, ภูเก็ต หากจะปล่อยไปตามกลไกธรรมชาติให้รายได้ค่อยๆ กระจายไปเมืองรองก็ได้ แต่ตอนนี้ต้องสร้างทางลัดให้เกิดขึ้นเร็วที่สุด”

ท่องเที่ยวเมืองรอง แท้จริงแล้วคือท่องเที่ยวทางเลือกที่ไม่ต้องไปช่วงชิงแก่งแย่งเที่ยวทางหลักเมืองหลัก

อยุธยา-ลพบุรี-สุพรรณบุรี

กรุงศรีอยุธยา เติบโตเป็นรัฐขนาดใหญ่ ได้รับยกย่องเป็น ราชอาณาจักรสยามแห่งแรก โดยมีกำเนิดจากความร่วมมือของรัฐละโว้กับรับสุพรรณภูมิ

รัฐละโว้ จ. ลพบุรี มีพื้นที่อยู่ทางตะวันออกของอยุธยา รัฐสุพรรณภูมิ จ. สุพรรณบุรี มีพื้นที่อยู่ทางตะวันตกของอยุธยา

ทุกวันนี้มีถนนหนทางอย่างดีมากๆ ใช้เดินทางไปมาเชื่อมถึงกันอย่างสะดวกสบาย

แต่คนทั่วไปไม่รู้เรื่องราวเหล่านี้ เพราะไทยไม่ให้ความสำคัญกิจกรรมแบ่งปันข้อมูลความรู้สู่สาธารณะ โดยเฉพาะเกี่ยวกับพัฒนาการของบ้านเมืองทั่วประเทศ เอกสารทางวิชาการมักรวบหัวรวบหางมีกำเนิดกรุงศรีอยุธยามาดื้อๆ เหมือนลอยลงจากสวรรค์

ดังนั้น นักท่องเที่ยวตลอดจนนักเรียนนักศึกษา และครูบาอาจารย์ทั่วประเทศ ไปเที่ยวอยุธยามรดกโลก แต่ไม่รู้ความเกี่ยวข้องใกล้ชิดอย่างยิ่งระหว่างประวัติศาสตร์ของอยุธยากับ ละโว้และสุพรรณภูมิ เลยไม่คิดจะไปเที่ยวลพบุรี, สุพรรณบุรี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image