เจาะเวลาหาอดีต : การกลับมาของ‘ประชาธิปไตยไร้พรรค’ในรูปแบบใหม่ โดยพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

แทนที่จะมุ่งหน้าไปสู่การเลือกตั้งตามที่ไปพูดไว้ทั่วโลก และอ้างถึงโรดแมปโบราณที่มีแต่คำสัญญาลมๆ แล้งๆ – ไร้เงื่อนเวลาที่แน่นอน (เว้นแต่ข้อจำกัดในข้อกฎหมายต่างๆ ที่หลายฝ่ายกังวลกัน) ปรากฏการณ์ทางการเมืองในสัปดาห์ที่่ผ่านมากลับปรากฏอาการประสานเสียงอย่างประหลาดของบรรดากองเชียร์รัฐประหาร ที่ทำหน้าที่เป็น “นักปาหิน (ถามทาง)” ที่เสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงกฎกติกาของบ้านเมืองที่ผ่านประชามติมาแล้ว (มิพักต้องกล่าวถึงว่าเงื่อนไขทางจิตวิทยาข้อหนึ่งที่พูดกันมานานว่าประชามติผ่านได้เพราะประชาชนอยากให้มีการเลือกตั้ง)

ข้อเรียกร้องของบรรดากองเชียร์คณะรัฐประหารในสัปดาห์ที่แล้วจากหลายๆ กลุ่มก็คือขอให้เปลี่ยนกฎกติกาให้ ส.ส.ไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง

ข้อเสนอที่ดูสวยหรูภายใต้คำอธิบายแนวปีศาจวิทยาว่า พรรคการเมืองเป็นสิ่งเลวร้าย และความเป็นอิสระของ ส.ส.นั้นไม่ค่อยได้รับการตอบรับจากพรรคการเมืองมากนัก แน่นอนว่าพรรคที่เคยเป็นรัฐบาลแล้วถูกโค่นด้วยวิธีนอกรัฐธรรมนูญย่อมไม่พอใจ

แต่ที่น่าสนใจก็คือพรรคที่ดูจะทำไม่รู้ไม่เห็นต่อการใช้วิธีนอกรัฐธรรมนูญในการล้มกระดานในหลายครั้งที่ผ่านมา (มิต้องพูดว่าบางส่วนของพรรคนั้นเข้าไปร่วมในกระบวนการล้มกระดานครั้งที่แล้วอย่างเต็มตัว) ก็ดูจะไม่ปลื้มกับข้อเสนอแบบนี้

Advertisement

มิหนำซ้ำกระแสสังคมเองก็ดูจะเฉยๆ กับเรื่องนี้อยู่ – ไม่ได้มีกระแสขานรับอะไรมากมาย รวมไปถึงตัวทีมงานผู้ร่างกติกาเองอย่าง กรธ. ก็ดูจะงงๆ ว่าทำไมเพิ่งจะมาโผล่ตอนนี้

เรื่องสำคัญที่ควรพิจารณาในการเคลื่อนไหวทางการเมืองรอบนี้ก็คือ ทำไมระบบที่ผมจะเรียกว่า “ประชาธิปไตยไร้พรรค” นี้ จึงถูกนำเสนอในห้วงเวลานี้ ห้วงเวลาที่กฎหมายพรรคการเมืองก็ออกมาแล้ว และการเลือกตั้งก็ดูจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เข้าไปทุกที

ที่เสนอประเด็นเรื่อง “ประชาธิปไตยไร้พรรครูปแบบใหม่” ก็เพื่อชี้ให้เห็นว่า การเสนอให้มีการเลือกตั้งโดยไม่ให้สังกัดพรรคการเมือง (หรือจะมีก็ได้ ไม่บังคับ) นั้น เราต้องพิจารณามันในฐานะระบบการเมืองแบบหนึ่ง หรือ สถาบันการเมืองแบบหนึ่ง ไม่ใช่มองว่ามันเป็นเรื่องไร้ระบบ

Advertisement

และระบอบประชาธิปไตยไร้พรรครูปแบบใหม่นี้จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อความเป็นไปของการเมืองไทยในห้วงรอยต่อของการเปลี่ยนผ่านจากเผด็จการทหารสู่ประชาธิปไตยแบบรัฐสภาในภาพรวม ซึ่งประเด็นนี้ผมอยากจะเสนอว่ามันเป็นเรื่องที่มากกว่าการพยายามอยู่ในอำนาจของคณะรัฐประหารและเหล่าพวกพ้องชุดนี้ ผ่านการทำให้เกิดนายกฯคนนอกง่ายขึ้น และลดอิทธิพลของพรรคการเมืองสองขั้ว

แรงบันดาลใจจากการเขียนงานชิ้นนี้มาจากงานวิจัยที่น่าจับตามองของ ผศ.ดร.ภูริ ฟูวงศ์เจริญ แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชิ้นล่าสุด ที่ชื่อว่า “คณะการเมือง” หลังการปฏิวัติสยาม: พลวัต พัฒนาการ และ ชะตากรรมของระบบไร้พรรค (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2560)

งานวิจัยชิ้นนี้ของอาจารย์ภูริ ถือเป็นหมุดหมายสำคัญในการศึกษาการเมืองเปรียบเทียบเชิงสถาบันนิยม-ประวัติศาสตร์ หรือ สถาบันประวัติศาสตร์นิยม (historical institutionalism) ที่น่าสนใจ เพราะตั้งคำถามถึงพัฒนาการของการก่อรูปของ “ระบบไร้พรรค” ของการเมืองไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

พูดภาษาง่ายๆ ก็คือ แทนที่จะตั้งหลักในเรื่องการศึกษาประวัติศาสตร์พรรคการเมืองไทย เมื่อกฎหมายระบุว่ามีได้ หรือ เมื่อพรรคการเมืองปรากฏตัว คือ 2489 (อย่าลืมว่าพรรคการเมืองแรกของเราคือพรรคที่เป็นปฏิปักษ์กับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง) อาจารย์ภูริพาเราย้อนไปดูรากฐานของความเคลื่อนไหวของการก่อตัวของ “สมาคม” ตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เรื่อยมาจนถึงความพยายามก่อตั้ง “สมาคมการเมือง” ในเวลาต่อมา

ประเด็นสำคัญคือ ในช่วงก่อนมีพรรคการเมืองที่เป็นทางการ หมายถึงเมื่อกฎหมายรับรองนั้น (ประมาณเกือบยี่สิบปีหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง) การไม่มีพรรคการเมืองนั้น ควรจะถูกมองว่ามันก็เป็น “ระบบการเมือง” แบบหนึ่ง ที่มีที่มาที่ไป มีเหตุผลของมันเอง หรือที่อาจารย์ภูริเรียกมันว่า “ระบบไร้พรรค”

ในฐานที่งานชิ้นนี้เป็นงานทางรัฐศาสตร์ อาจารย์ภูริพยายามเสนอการเปรียบเทียบตัวแบบที่สำคัญของประชาธิปไตยแบบรัฐสภาสามแบบในเรื่องของพัฒนาการเริ่มแรกของพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยรัฐสภา เพื่อชี้ให้เห็นว่า รูปแบบของระบบพรรคการเมือง แบบหลายพรรค แบบพรรคเดียว และแบบไร้พรรค นั้น มีที่มาที่ไป และมีเหตุผลต่างกัน

บทเรียนจากการกลับไปศึกษาที่มาที่ไปของการไม่มีพรรคการเมืองในช่วงแรกของประชาธิปไตยไทย หรือที่เราควรจะพิจารณาในฐานะ “ระบบไร้พรรค” นั้น อาจจะทำให้เราเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ของการเมืองไทยได้ไม่มากก็น้อย

อาจารย์ภูริตั้งข้อสังเกตว่า การเมืองของไทยในอดีตนั้น เป็นตัวอย่างสำคัญในการตั้งคำถามกับพัฒนาการทางการเมือง โดยเฉพาะพัฒนาการของระบบพรรคการเมืองที่สามารถเปรียบเทียบกับกรณีประเทศอื่นได้

กล่าวคือ การที่ไม่มีการอนุญาตให้มีพรรคการเมืองที่เป็นทางการ (ไม่มีกฎหมายรองรับ) นั้น มีที่มาที่ไปของมัน และเป็นระบบอย่างหนึ่ง คำถามก็คือ ทำไมระบบนี้จึงเกิดขึ้น (ไม่ใช่ถามว่า ทำไมไม่มีพรรคการเมืองเฉยๆ แต่มองว่า การไม่มีพรรคการเมือง เป็นระบบอย่างหนึ่งต่างหาก)

ที่สำคัญอาจารย์ภูริไม่ได้เข้าข้างตัวแสดงทางการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรืออุดมการณ์ใดอุดมการณ์หนึ่งในยุคสมัยนั้น แต่มองว่า พลวัตของการที่แต่ละฝ่ายนั้นเลือก หรือ ไม่เลือกที่จะยอมรับและสร้างระบบพรรคการเมืองนั้นมันเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขอะไร

ข้อเสนอหนึ่งที่น่าสนใจของอาจารย์ภูริ อยู่ตรงที่ว่า กรณีศึกษาของประเทศไทยในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จนมาถึงการยอมให้มีการจดทะเบียนพรรคการเมืองเมื่อ 2489 นั้น เป็นสิ่งที่ไม่สามารถเข้าใจได้ในตัวแบบทฤษฎีการก่อตัวของพรรคการเมืองในแบบคลาสสิก นั่นก็คือ พรรคการเมือง หรือ ระบบการเมืองที่ต้องการมีพรรคการเมืองนั้นเป็นผลมาจากการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยที่สิทธิการเลือกตั้งนั้นขยายขอบเขต และรัฐสภามีอำนาจเพิ่มพูน (ในทางประวัติศาสตร์ก็คือ ผู้คนกระตือรือร้นที่จะเข้าสู่ประชาธิปไตย อาจจะมาจากการต่อสู้ทางชนชั้น หรือ การหลุดพ้นจากอาณานิคมผ่านการต่อสู้อันยาวนาน)

กล่าวคือ ในกรณีช่วงที่เราไม่มีการจัดตั้งพรรคการเมืองที่เป็นทางการ คือ มีแต่การที่คณะราษฎร พยายามตั้งสมาคมคณะราษฎร และฝ่ายโต้อภิวัฒน์ พยายามจัดตั้งสมาคมคณะชาติ และสุดท้ายล้มเลิกไปทั้งคู่ในช่วงปีแรกๆ ของการเปลี่ยนแปลงนั้น ทำไมความพยายามเหล่านั้นไม่ประสบความสำเร็จ?

คําตอบในทางทฤษฎีที่อาจารย์ภูริได้มาจากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ก็คือ การเมืองไทยไม่ได้มีแต่ตัวแสดงที่ต้องการแข่งขันกันเข้าสู่ระบบการเมือง (สิ่งนี้นักเรียนรัฐศาสตร์ที่ผ่านวิชาระบบการเมืองในชั้นปีที่หนึ่งย่อมเข้าใจไม่ยากนัก หากย้อนกลับไปเข้าใจตัวแบบการเมืองพหุนิยมแบบ EASTON และ ALMOND ในเรื่องของระบบการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ และ พรรคการเมือง) แต่ในการเมืองบางแบบนั้น เงื่อนไขสำคัญของการเลือกที่จะมีระบบการเมืองแบบหลายพรรค (อนุญาตให้มีพรรคการเมืองแข่งขันกัน) แบบพรรคเดียว หรือ แบบไร้พรรค นั้น ขึ้นกับตัวแปรที่สำคัญอีกตัวหนึ่งนั่นคือ “ตัวแสดงครอบงำ” (Hegemonic Player) หรือหมายถึงว่า ในโครงสร้างทางอำนาจที่การเมืองไม่ได้มีความเท่าเทียมกันทางอำนาจนั้น การเมืองไม่ได้มีแต่คนมาแข่งกัน หรือ อยากจะแข่งกัน แต่มีกลุ่มที่มีอำนาจในระบบอยู่แล้ว ที่จะมีพลังในการตัดสินใจเลือกที่จะสร้างสถาบันทางการเมือง หรือ ระบบการเมือง เช่นกัน

บรรดา “ตัวแสดงครอบงำ” เหล่านี้จะประเมินสถานการณ์ว่าจะสร้างสรรค์ระบบพรรคการเมืองแบบไหน คือ แบบที่ให้แข่งขันกัน แบบรวบอำนาจไว้พรรคเดียว หรือ แบบไร้พรรค (ไม่ให้มีพรรคการเมือง แต่มีนักการเมือง) โดยพิจารณาจากเงื่อนไขสามประการ

1.ความกว้างขวาง เข้มข้นของกระแสเรียกร้องให้มีพรรคการเมือง

2.การพิจารณาว่าถ้าเปิดให้มีระบบหลายพรรค (ให้พรรคแข่งขันกัน และอาจจะให้สังกัดพรรค หรือรองรับการมีพรรค) นั้นเป็นภัยต่ออำนาจของพวกเขาไหม

3.ความจำเป็นที่จะต้องอาศัยการเลือกตั้งในการรักษาอำนาจของพวกเขาไว้

ในกรณีประเทศไทยนั้น อาจารย์ภูริเสนอว่า ระบบไร้พรรค ของไทยในช่วงต้นของการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น เป็นผลมาจากการที่กระแสสังคมที่เรียกร้องให้มีพรรคการเมืองนั้นยังต่ำอยู่ ขณะที่การมีพรรคการเมืองจะเป็นภัยคุกคามต่อการอยู่ในอำนาจของบรรดาตัวแสดงครอบงำ

และที่สำคัญ การตั้งพรรคการเมืองนั้นไม่ใช่เรื่องจำเป็นในการอยู่ในอำนาจของตัวแสดงครอบงำ เพราะมีกลไก และ สถาบันอื่นๆที่จะช่วยให้เขาอยู่ในอำนาจ เช่น สมาชิกสภาที่มาจากการแต่งตั้งครึ่งสภา

การเมืองไทยในยุคนั้นจึงเป็นตัวแบบของระบบไร้พรรค ขณะที่ ญี่ปุ่น เป็นตัวแบบของระบบมีพรรคหลายพรรค (เพราะกระแสสังคมเรียกร้องให้มีพรรคการเมืองอย่างกว้างขวาง) และ ตุรกี เป็นตัวแบบของระบบพรรคเดียว (เพราะตัวแสดงครอบงำต้องการใช้พรรคการเมืองในการรักษาอำนาจ)

อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงของการเมืองไทยจากช่วงระบบไร้พรรคมาสู่ระบบหลายพรรคนั้นเกิดขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างอำนาจ

โดยเฉพาะเมื่อมีการปรับดุลอำนาจใหม่หลังจากการโค่นล้มฝ่ายอนุรักษนิยมแบบพระยามโนลงไปได้ และเกิดกลุ่มพันธมิตรทางอำนาจใหม่ในช่วงตอนปลายของสงครามโลกครั้งที่สอง (มิพักต้องกล่าวถึงว่า บรรดา ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งในระบบไร้พรรคก็เรียกร้องให้มีพรรคการเมืองด้วย)? อันได้แก่ กลุ่มพลเรือนของปรีดี กลุ่ม ส.ส.สายอีสาน และ กลุ่มอนุรักษ์นิยม

เมื่อกลุ่มทหารของจอมพล ป. หมดอำนาจลง การเปิดตัวของพรรคก้าวหน้า (ซึ่งชื่อนั้นย้อนแย้งมากเพราะเป็นพรรคของสายอนุรักษนิยม) และ พรรคสหชีพของ ส.ส. สายอีสานที่หนุนปรีดี จนต่อมา รัฐธรรมนูญ 2489 ก็รองรับการมีพรรคการเมือง และ มี พ.ร.บ.พรรคการเมืองตามมา ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นของระบบหลายพรรคในบ้านเรา

งานวิจัยของอาจารย์ภูริชิ้นนี้ควรถูกนำมาอภิปรายอย่างกว้างขวางในฐานะบทเรียนทางประวัติศาสตร์ และ บทอภิปรายในทางทฤษฎีรัฐศาสตร์ว่าด้วยการก่อตัวของระบบพรรคการเมือง โดยเฉพาะในสภาวการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ กับคำถามที่ว่า ทำไมอยู่ดีๆ การเปิดให้มีประชาธิปไตยอีกครั้งหนึ่งของ “ตัวแสดงครอบงำ” ที่อยู่ในรัฐบาล แต่ก็พยายามเข้าไปสร้างข้อจำกัดมากมายมหาศาลกับพรรคการเมืองผ่านกฎระเบียบ และการเก็บเงินสมาชิกพรรค

ขณะเดียวกัน ตัวแสดงครอบงำเหล่านี้ ก็สร้างกลไกในการรักษาอำนาจไว้เช่นวุฒิสมาชิกครึ่งสภา และองค์กรอิสระมากมาย ซึ่งท้าทายให้เราถามคำถามว่ามันมีนัยยะสำคัญอะไรกับการพลิกเกมมาเป็นเรื่องของการพยายามหันไปหาระบบไร้พรรคในรูปแบบใหม่ แทนที่จะเน้นแต่การสร้างระเบียบวินัยพรรคในแบบที่พยายามผลักดันกันมานาน

ประชาธิปไตยแบบไร้พรรครูปแบบใหม่นี้ ไม่ใช่ไม่อนุญาตให้ตั้งพรรคแบบในอดีต แต่เปิดให้มีการตั้งพรรคและก็เปิดให้มีอิสระ ซึ่งสิ่งนี้ทำให้เกิดการสร้างความอ่อนแอให้พรรคการเมือง เพื่อไม่ให้เกิดการท้าทายอำนาจ ใช่หรือไม่

ข้อสังเกตประการต่อมาก็คือ การพยายามเข้าไปจัดการทำให้พรรคการเมืองมีความอ่อนแอมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งดูจะสวนทางกับความพยายามในการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยตั้งแต่ รัฐธรรมนูญ 2521 2540 และ 2550? ที่บังคับให้ ส.ส.สังกัดพรรค พรรคส่งผู้สมัครเป็นจำนวนมาก มีนัยยะของการมองว่าพรรคการเมืองเป็นภัยคุกคามต่ออะไร?

คุกคามต่อประชาธิปไตย?

หรือ คุกคามต่อตัวผู้แสดงครอบงำเอง?

มิพักต้องกล่าวถึงกลไกและสถาบันอีกมากมายที่ตัวแสดงครอบงำวางเอาไว้ในการรักษาอำนาจ ซึ่งในประเด็นนี้ทำให้ต้องหันมาพิจารณาว่า อาจเป็นไปได้ว่า การรักษาอำนาจในอนาคตนี้ อาจจะต้องพึ่งพาทั้งเครือข่ายอำนาจพันธมิตร กลไกอำนาจที่วางเอาไว้ผ่านองค์กรอิสระ และวุฒิสมาชิกครึ่งหนึ่ง

และพรรคเล็กๆ ที่มาจากกลุ่มก้อนที่พร้อมจะร่วมมือกับใครก็ได้ที่มีอำนาจ รวมทั้ง ส.ส.อิสระที่ง่ายต่อการเจรจาต่อรอง

เงื่อนไขที่กล่าวมานี้อาจจะช่วยให้เกิดการรักษาอำนาจได้โดยไม่ต้องพึ่งพาพรรคการเมืองหลัก เพราะพรรคการเมืองหลักทั้งสองพรรคอาจจะเป็นภัยคุกคามต่อตัวแสดงครอบงำและระบอบของพวกเขาในท้ายที่สุด ดังวาทกรรมนักการเมืองโกงที่ถูกผลิตออกมาอย่างต่อเนื่อง

มาถึงตรงนี้ก็คงต้องจับกระแสสังคมดูล่ะครับ ว่า จะเอาด้วยกับหินที่ถูกโยนถามทางจากบรรดา “นักปาหิน” เหล่านี้แค่ไหน

และที่น่าสนใจอีกเรื่องก็คือ จะมีการต่อสู้กันในระดับอุดมการณ์และวาทกรรมอะไรในข้อถกเถียงเรื่องการก้าวสู่ประชาธิปไตยไร้พรรครูปแบบใหม่นี้ ที่ท้ายที่สุดจะนำไปสู่การลดทอนความชอบธรรมของระบอบการปกครองที่บรรดาผู้แสดงครอบงำเหล่านี้ครองอำนาจอยู่ในปัจจุบันได้แค่ไหน อย่างไร?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image