มีชัย ฤชุพันธุ์ คำตอบสุดท้าย โดย การ์ตอง

ก่อนหน้านั้น “ร่างรัฐธรรมนูญ” ฉบับที่คณะกรรมการร่างที่มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน เมื่อประกาศออกมาก็นับว่าหนักหนาสากรรจ์ในความรู้สึกของ “นักประชาธิปไตย” ที่เชื่อถือในโครงการอำนาจที่ยึดโยงกับประชาชนอยู่แล้ว

พลันที่ “ข้อเสนอแนวทางการปรับปรุงบทเฉพาะกาลในร่างรัฐธรรมนูญ” ที่ พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ในฐานะเลขาธิการ คสช. ส่งไปถึงประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ โดยเป็นการระบุว่าเป็นข้อเสนอของ “แม่น้ำ 4 สาย”

และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เป็นทั้งหัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ย้ำเข้าไปอีกทำนองว่าหากคณะกรรมการร่างไม่เอาข้อเสนอนี้ไปใส่ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญจะส่งไปอีกจนกว่าจะใส่

อาการหนาวเหน็บดูเหมือนจะเกาะกิน “นักประชาธิปไตย” จนเย็นเยือกไปถึงไขกระดูกสันหลัง

Advertisement

เพราะเป็นข้อเสนอที่ชัดเจนมุมมองที่ว่า การบริหารจัดการประเทศไทยจะต้องอาศัยกลไกพิเศษต่อไปอีกระยะหนึ่ง

“มีความเป็นไปได้สูงว่าการเมืองช่วงเวลานั้นเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของประเทศซึ่งอาจประสบปัญหาความรุนแรง ความไม่สงบเรียบร้อย และเกิดเงื่อนไขความขัดแย้งใหม่ อันเป็นเรื่องที่ประชาชนทั่วไปไม่ประสงค์จะพบเห็น”

เป็นโครงสร้างอำนาจตามบทเฉพาะกาลที่ “ผู้ยึดมั่นในประชาธิปไตย แบบเชื่อมั่นในสิทธิที่เท่าเทียมกันของประชาชน” ทุกคน ไม่มีทางเข้าใจได้ว่าจะเป็นถนนนำทางสู่ประชาธิปไตยได้อย่างไร

Advertisement

และความไม่เข้าใจนั้นทำให้แรงกดดันไปสู่การจับจ้องมองการดำเนินการของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะตัว นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ว่าจะรับ “ข้อเสนอ” นี้ ด้วยท่าทีแบบไหน

จะเป็นแค่ “เนติบริการ” ประดิษฐ์กฎหมายให้เป็นไปตามความต้องการของผู้ที่แต่งตั้งให้เข้ามาทำหน้าที่

หรือเป็น “นักกฎหมายที่ผ่านชีวิต ผ่านสังคม ผ่านโลก” มายาวนานจนสามารถประเมินได้ว่า “รัฐธรรมนูญ” แต่ละแบบจะส่งผลอย่างไรต่อประเทศชาติ แล้วเลือกเอาแบบที่น่าจะเป็นประโยชน์กับประเทศมากที่สุด

ถึงวันนี้ ข้อเสนอของฝ่ายต่างๆ ได้ถูกรวบรวมไว้ให้ “คณะกรรมการร่าง” ที่มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ได้พิจารณาข้อสรุปที่เหมาะสม ประกาศเป็นร่างที่จะนำสู่การทำ “ประชามติ”

เป็นการทำ “ประชามติ” ที่รับรู้กันอยู่ว่า มีความเป็นไปได้สูงที่จะเป็นไปตามที่ “คณะกรรมการร่าง” เห็นดีเห็นงาม

ดังนั้น แม้ที่สุดแล้วจะมีการทำ “ประชามติ” ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญที่สุดของการร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเท่ากับว่าเป็น “ร่างรัฐธรรมนูญ” ที่ “ผ่านการเห็นชอบจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน” ซึ่งถือเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะใช้เป็นข้ออ้างว่าเป็นประชาธิปไตย

แต่คล้ายกับว่าเป็นความสำคัญในรูปของพิธีกรรมเท่านั้น เพราะมีความเชื่อว่าที่สุดแล้วประชาชนจะโหวตให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่าน

ดังนั้นเอง ถึงนาทีนี้ คำตอบว่า มีชัย ฤชุพันธุ์ จะนำคณะให้ร่างรัฐธรรมนูญนี้ออกมาเป็นอย่างไร

จะเป็นตัวตัดสินว่า ประชาธิปไตยไทยจะมีรูปแบบของโครงสร้างอำนาจอย่างไร และจะส่งผลต่อการเมืองในระยะต่อไปอย่างไร

เหมือนคำตอบจะฝากไว้กับ “มีชัย ฤชุพันธุ์”

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image