อำนาจจับกุม เป็นอำนาจที่ให้คุณให้โทษอย่างยิ่ง ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา : โดย กนกศักดิ์ พวงลาภ

อํานาจจับกุมเป็นอำนาจที่ใช้บ่อยที่สุดในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา อีกทั้งมีปัญหามากที่สุด มีข้อโต้แย้งมากที่สุดทั้งในแง่การจับและไม่จับ บทความนี้จะชี้ให้เห็นปัญหาของกระบวนการจับกุม และเสนอแนวทางแก้ไข ซึ่งเป็นแนวทางของประเทศต่างๆ

การจับนั้นมีปัญหามาก แต่การไม่จับในบางกรณีมีปัญหามากกว่าในข้อที่ว่า เป็นการไม่จับในความผิดซึ่งหน้า ที่เป็นการไม่จับโดยชอบด้วยกฎหมายเพราะเจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจแล้วเห็นว่าบุคคลไม่มีความผิด หรือเป็นการไม่จับที่ละเมิดต่อกฎหมาย (ไม่ทำหน้าที่) โดยไม่สามารถอ้างเหตุผลใดๆ ได้ ทำนองเดียวกับการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และอีกข้อหนึ่ง ยังมีการไม่จับหรือจับไม่ได้ ในกรณีที่มีการออกหมายจับไว้แล้วอีกต่างหาก ซึ่งมีปัญหามากเหมือนกัน ในแง่อายุความ

ตามประมวลกฎหมายอาญา ผู้มีอำนาจจับกุมผู้กระทำความผิดหรือผู้ต้องสงสัยว่ากระทำความผิด คือ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจและยังรวมถึงเจ้าหน้าที่อื่น เช่น เจ้าพนักงานของกรมสรรพสามิต เจ้าพนักงานของกรมศุลกากร พัศดีซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในเรือนจำ ฯลฯ ผู้ใช้อำนาจจับกุมเหล่านี้อาจจับกุมบุคคลได้ทั้งกรณีตามหมายจับ (ที่ออกโดยศาล) และการจับโดยไม่มีหมายจับ อย่างเช่น กรณีความผิดซึ่งหน้าเมื่อได้เห็นบุคคลกำลังกระทำความผิดอยู่ หรือพบในอาการที่แทบไม่ต้องสงสัยเลยว่าบุคคลนั้นได้เพิ่งกระทำความผิดมาแล้วสดๆ

การจับยังมีความสำคัญอีกข้อหนึ่ง คือ การจับทำให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจอื่นสืบเนื่องต่อๆ กันไปอีก คือ เมื่อจับบุคคลใดแล้วก็จะมีอำนาจค้นตัวผู้นั้นและมีอำนาจควบคุม ซักถาม สอบสวนแจ้งข้อหา ฯลฯ อำนาจเหล่านี้ถูกยกขึ้นมาใช้ทันทีพร้อมๆ กัน โดยผู้ถูกจับถ้าไม่มีหลักดี หรือไม่ทันตั้งตัว หรือไม่รู้กฎหมายด้วยแล้ว แทบจะหาโอกาสโต้แย้งอะไรไม่ได้เลย กว่าจะตั้งตัวได้อีกทีก็ต่อเมื่อมีทนายความ หรือเมื่อถูกส่งตัวมาพบพนักงานอัยการ หรือเมื่อปรากฏตัวต่อหน้าศาลซึ่งบางครั้ง อาจจะไม่มีโอกาสปรากฏตัวอีกเลย (ถูกบังคับให้หายตัวหรือโดยวิธีการต่างๆ ทั้งโดยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจหรือโดยรู้เท่าไม่ถึงการ หรือข้อกฎหมายไม่แม่น หรือต่อรองให้ทำอย่างอื่น งานลับ แทนการถูกดำเนินคดีอย่างที่คนธรรมดาไม่อาจจะคาดคิดได้)

Advertisement

เมื่อกล่าวถึงตรงนี้แล้วคงเห็นได้ชัดเจนว่า อำนาจจับกุมเป็นอำนาจที่สำคัญใครกุมอำนาจนี้ไว้จะให้คุณและให้โทษแก่คนอื่นได้นานัปการ และมีความสำคัญต่อภาพรวมคดีอาญาทั้งหมดเพราะเป็นกระบวนการเริ่มต้นของการดำเนินคดีอาญา ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้จับจะพบผู้ต้องหาเป็นคนแรก ส่วนกรณีที่ไม่จับนั้น ผู้มีอำนาจจับก็จะพบผู้ต้องหาเป็นคนแรกเช่นกัน แล้วก็ไม่มีบุคคลใดในกระบวนการยุติธรรมพบผู้ต้องหาคนนั้นอีกเลย

ดังนั้น หากจะสนใจปฏิรูปอะไรหรือหน่วยงานใด ทำได้หรือไม่ได้ อาจไม่ใช่ข้อสำคัญ ข้อที่สำคัญกว่าคือ การบริหารจัดการกระบวนการเล็กๆ น้อยๆ เช่น กระบวนการจับกุมนี้ให้มีมาตรฐานกว่าเดิม ก็ยังถือว่าก้าวหน้ามากแล้ว ยิ่งเมื่อเรารู้แล้วว่าการปฏิรูปองค์กรใดไม่ใช่ของง่าย การกำจัดจุดอ่อนที่เป็นจุดตาย (หรือจุดอำนาจเหนือขององค์กร) ไปพลางๆ ก่อนก็ยังดี

เพราะการมีอำนาจจับกุมสำคัญมากนี้เอง องค์กรผู้ใช้อำนาจเหล่านี้จึงต้อง (หรือพยายามที่จะ) มีสายการบังคับบัญชายาวเหยียด แต่พอล้วงลูกก็มีระเบียบให้รวบรัดระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างถึงเนื้อถึงตัวกันทีเดียว ซึ่งเป็นการรักษาอำนาจไว้สำหรับผู้บังคับบัญชาให้เข้าถึงอำนาจในทุกช่วงชั้น (ถึงเรียกว่ากุมอำนาจได้) ระเบียบต่างๆ ที่หล่อเลี้ยงระบบนั้นก็มีปัญหาอีกมาก และอาจเป็นที่มาของการมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่ระดับล่าง หรือระดับปฏิบัติการ (เช่น ระเบียบต่างๆ ที่จะต้องเสนอเพื่อให้ผู้ที่อยู่เหนือตนขึ้นไปรับทราบ หรือเพื่อกลั่นกรอง ระเบียบว่าด้วยการรายงานเหตุการณ์ สถานการณ์ รายงานเรื่องสำคัญ แจ้งความคืบหน้า แน่นอนว่าข้อดีสำหรับการทำงานในหน้าที่ก็มีอยู่ แต่จุดยึดโยงอำนาจก็มี ซึ่งจะเหนียวแน่นแค่ไหนแล้วแต่ผู้บังคับบัญชาแต่ละคน เห็นไหมว่ายืดหยุ่นได้ ไม่เบาเลย)

Advertisement

ดังนั้น การพัฒนารูปแบบในการจับกุม (เอาแค่พัฒนาก็พอ ไม่จำเป็นต้องใหญ่กว่านั้น) โดยเพิ่มให้มีฝ่ายตรวจสอบอำนาจจับกุมมากขึ้นจึงเป็นแนวคิดที่เห็นว่าจำเป็นแล้วสำหรับตอนนี้ ตอนที่ระบบกำลังจะพังพาบลงไปเพราะขาดความเชื่อมั่น

ฝ่ายที่จะเข้ามาตรวจสอบหรือเข้ามารู้เห็นการใช้อำนาจจับกุมนั้น ควรเป็นใคร ทำอย่างไร หาคำตอบได้ด้วยการศึกษาเปรียบเทียบกฎหมายต่างประเทศ ซึ่งบางประเทศได้กำหนดผู้ตรวจสอบไว้คือ ศาลและพนักงานอัยการ แน่นอนว่าประเทศต่างๆ อาจมีบุคคลผู้เข้ามาตรวจสอบมากกว่านี้อีก แต่หากกล่าวโดยรวมของระบบกระบวนการยุติธรรมตามที่นิยมในโลกปัจจุบันนี้แล้วคงไม่พ้นศาลและพนักงานอัยการ

(ความจริงภาคสื่อมวลชนทั้งสื่ออาชีพ และสมัครเล่นผู้อัตคลิปต่างๆ เผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ตก็ทำงานตรวจสอบได้ผลมากแล้ว ในบางกรณีต้องให้เครดิตเขาจริงๆ การทำงานที่ดีมีประสิทธิภาพของสื่อประเภทต่างๆ นี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันการพัฒนาประสิทธิภาพของการจับกุมได้จริง)

แล้วประเทศอื่นเขาทำกันอย่างไร

คําตอบคือ หลายประเทศทำอย่างนี้

1.เมื่อมีการจับกุมแล้วต้องมีการตรวจสอบการจับกุมจากองค์กรอื่นในกระบวนการยุติธรรมทันทีซึ่งเป็นในลักษณะเป็นการเพิ่มผู้รู้เห็นหรือผู้ตรวจสอบเข้าในกระบวนการโดยมิให้ชักช้า

2.เมื่อมีการจับกุมแล้วเจ้าหน้าที่ผู้จับควรมีอำนาจควบคุมตัวผู้ต้องหาในเวลาอันสั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้วส่งตัวผู้ต้องหาไปพบพนักงานอัยการหรือศาลที่มีเขตอำนาจ หรือผู้พิพากษาไต่สวน ฯลฯ

ในยุโรป ประเทศต่างๆ ในยุโรปภาคพื้นทวีป เช่น โปรตุเกส สเปน เบลเยียม มีระบบกระบวนการยุติธรรมที่มีผู้พิพากษาไต่สวนคดี ซึ่งอาจจะเรียกว่าผู้พิพากษาไต่สวน มีอำนาจหน้าที่เข้าถึงคดีก่อนผู้พิพากษาผู้มีอำนาจพิจารณาคดี กล่าวคือ ผู้พิพากษาไต่สวนจะเป็นตำแหน่งที่แยกต่างหากจากผู้พิพากษาผู้ทำหน้าที่พิจารณาคดี

ผู้พิพากษาไต่สวน จะไต่สวนพยานในคดี ทั้งพยานบุคคล พยานเอกสาร วัตถุพยานที่จะนำมาใช้ยืนยันความผิดของผู้ถูกกล่าวหาก่อนในเบื้องต้น รวมถึงอาจเข้าตรวจสถานที่อันเกี่ยวกับคดี เช่น ที่เกิดเหตุ และมีอำนาจสั่งให้สืบหา ค้นหาพยานหลักฐานอื่นเพิ่มเติมได้อีกด้วย จากนั้นประเมินหลักฐานทั้งหมดว่าสมควรดำเนินคดีต่อหรือไม่ ถ้าผู้พิพากษาผู้ทำหน้าที่ไต่สวนเห็นว่าหลักฐานมากพอสมควรดำเนินคดีต่อ คดีนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีเต็มรูปตามปกติต่อไป โดยที่ศาลซึ่งทำหน้าที่พิจารณาคดีเต็มรูปก็ไม่ผูกพันตามความเห็นเดิมของผู้พิพากษาผู้ทำหน้าที่ไต่สวน ต่างคนต่างเป็นอิสระต่อกัน ดูๆ ไปแล้ว ผู้พิพากษาไต่สวนนี้ทำงานบางส่วนคล้ายอัยการในประเทศเรา

การมีผู้พิพากษาผู้ทำหน้าที่ไต่สวนนี้เป็นประโยชน์แก่ผู้ถูกจับกุม ที่เขาจะได้พบกับศาลได้ในเวลาอันรวดเร็ว ศาลก็สอบปากคำผู้ต้องหาได้ด้วยตนเองอย่างทันท่วงที หากเห็นว่าการจับกุมกระทำโดยมิชอบผู้ต้องหาอาจถูกปล่อยตัวในไม่ช้า ซึ่งตามที่กฎหมายของประเทศในยุโรปภาคพื้นทวีปกำหนดไว้อย่างนี้แตกต่างจากกระบวนวิธีพิจารณาคดีอาญาของประเทศไทยเป็นอย่างมากเพราะประเทศไทยไม่มีผู้พิพากษาไต่สวน ก่อนการเริ่มคดี

แต่บางคนก็อาจจะแย้งว่าระบบกฎหมายไทยเราก็เปิดโอกาสให้ศาลไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญาได้อยู่แล้ว อาจจะมองว่าคล้ายการไต่สวนของยุโรปภาคพื้นทวีปอยู่เหมือนกัน แต่ในความเห็นของผู้เขียนว่ายังไม่เหมือนกันทีเดียวเพราะผู้พิพากษาไต่สวนของเขาทำงานบางส่วนคล้ายงานในหน้าที่อัยการ และทำงานเชิงรุกค่อนข้างสูง บางครั้งสั่งให้หาพยานหลักฐานเพิ่ม เป็นต้น

ในความเห็นของผู้เขียน กรณีของประเทศเรานั้น การจับกุมตามหมายจับนั้นไม่ค่อยเป็นปัญหาสักเท่าใดเพราะ ก่อนที่จะออกหมายจับศาลได้พิจารณาดูแล้วจึงออกหมายจับ แต่ที่น่าจะเป็นปัญหามากอยู่ที่การจับโดยไม่ต้องมีหมายหรือที่เรียกว่าการจับผู้กระทำความผิดซึ่งหน้า หรือที่ถือว่าเป็นความผิดซึ่งหน้าตามที่กล่าวไว้ข้างต้น ซึ่งเป็นอำนาจการตัดสินใจของผู้ใช้อำนาจจับล้วนๆ เป็นการตัดสินใจในปัจจุบันทันด่วน เพราะเนื้อหาของเรื่องจำเป็นต้องทำอย่างนั้น

(กรณีการจับตามหมายนั้น คงมีปัญหาใหญ่อย่างเดียว คือ การไม่จับ กล่าวคือ สืบสวนหาตัวไม่พบ หรือมีความล่าช้าในการติดตามตัว ฯลฯ จนคดีขาดอายุความ ซึ่งปัญหาการไม่จับหรือจับไม่ได้นี้ ในบางเรื่องเป็นเรื่องที่ไล่หาความรับผิดได้ยากที่สุด เพราะความล่าช้าเกิดได้หลายช่วงกับเจ้าหน้าที่หลายคนและหลายหน่วยงาน หลายขั้นตอน แต่ละช่วง แต่ละงานครอบครองความล่าช้ากันคนละนิดคนละหน่อย จนท้ายที่สุดเป็นความล่าช้าผลรวม คือขาดอายุความ)

วิธีการที่จะตรวจสอบการจับในความผิดซึ่งหน้าในเรื่องนี้ มีกฎหมายของหลายประเทศสามารถนำมาเปรียบเทียบ ในบางประเทศเมื่อตำรวจจับกุมผู้ต้องสงสัยในความผิดซึ่งหน้าแล้วต้องรายงานให้พนักงานอัยการทราบในทันที เพื่อให้พนักงานอัยการพิจารณาความชอบด้วยกฎหมายของการจับและการตั้งข้อหา และรวมถึงพยานหลักฐาน ในเกาหลีใต้ พนักงานอัยการเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน นั่นหมายถึงทุกขั้นตอนที่ตำรวจทำหรือจะทำต้องมีการแจ้ง รายงานหรือขอความเห็นชอบจากพนักงานอัยการก่อน หรือแจ้งหลังกระทำในทันทีแล้วแต่รูปเรื่อง ดังนั้นการทำงานของตำรวจและพนักงานอัยการเกือบจะเป็นเนื้อเดียวกัน

สำหรับการที่จะไปขอหมายต่อศาล หลายประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ก่อนที่ตำรวจจะขอหมายจับและหมายค้นต่อศาลนั้นจะต้องผ่านการพิจารณาและผ่านความเห็นชอบจากพนักงานอัยการก่อน จึงจะไปขอหมายต่อศาลได้ (คล้ายกับให้อัยการกลั่นกรองความชอบด้วยกฎหมายและความจำเป็น) รูปแบบอย่างนี้ทำให้การจับกุมตามหมายเป็นไปโดยความรอบคอบผิดพลาดน้อย และกระทบสิทธิเสรีภาพของบุคคลเท่าที่จำเป็น

จะเห็นว่าวิธีการปฏิบัติของประเทศต่างๆ ที่มีระบบการตรวจสอบอำนาจจับกุม ก็เป็นเพียงแค่กระบวนการที่เพิ่มขึ้นมาจากที่ประเทศเรามีอยู่แล้วเท่านั้นเอง ไม่ใช่ของแปลกประหลาดขนาดจะต้องรื้อระบบกันใหญ่โต จริงอยู่วางระบบกันทีเดียวให้ครบทุกอย่างนั้นดีแน่ แต่ถ้ายังทำไม่ได้ ค่อยๆ แก้ไขไปทีละจุดอย่างเรื่องอำนาจในการจับนี้ก่อนก็ไม่เสียหายแต่อย่างใด

กนกศักดิ์ พวงลาภ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image