การแต่งงาน : ในบริบทของสังคมไทย : โดย เฉลิมพล พลมุข

ชีวิตมนุษย์หรือคนเมื่อได้เกิดมาแล้วเมื่อถึงวัยอันควรก็เป็นที่คาดหวังทั้งของตนเอง ครอบครัว ประเพณีวัฒนธรรม กฎหมาย รวมถึงความเป็นปึกแผ่นมั่นคงในสถานภาพของชีวิตในการสร้างผลิตผลคือบุตรหลานเพื่อสืบทอดวงศ์ตระกูล บรรพบุรุษให้คงมีประชากรที่มีคุณภาพเพื่อการพัฒนาชาติบ้านเมือง

การแต่งงานเป็นพิธีกรรมหรือประเพณีวัฒนธรรมหนึ่งของหลายๆ สังคมมนุษย์ ในอดีตการแต่งงานของชาวกรีกโบราณ มีความเชื่อหนึ่งก็คือ การคลุมถุงชน มีการจับจองชีวิตคู่ตั้งแต่วัยเด็ก ผู้ชายส่วนใหญ่ต้องไปทำหน้าที่เป็นทหารสู้รบกับศัตรู จึงมักแต่งงานในวัยอายุ 30 ปี โดยจะเลือกผู้หญิงในวัย 20 ปีเศษ ด้วยเหตุผลคือการกำเนิดบุตรและช่วยดูแลบ้านครอบครัว โดยมีความเชื่อว่า ควรแต่งงานในวันที่ดวงจันทร์เต็มดวงก็จะประสบถึงความสำเร็จและมีโชค

ในสังคมจีนเรียกพิธีแต่งงานว่า ฮุนหลี่ ก็คือพิธีกรรมยามโพล้เพล้ หรือยามเย็น โดยนิยมสวมเสื้อผ้าสีแดงเชื่อว่าเป็นสีที่เป็นมงคลของชาวจีน มีการเสี่ยงทายต่อหน้ารูปปั้นของเทพเจ้า บูชาบรรพบุรุษไหว้ฟ้าดิน มีพิธียกน้ำชาและไม่นิยมแต่งงานช่วงเทศกาลกินเจ โดยเชื่อว่าช่วงดังกล่าวเป็นเวลาที่ประตูสวรรค์และนรกได้เปิด เมื่อแต่งงานไปแล้วถือว่าลูกสาวเป็นสมบัติหรือสมาชิกของฝ่ายชาย และคนที่นามสกุลหรือแซ่เดียวกันจะไม่แต่งงานกัน…

การแต่งงานของสังคมอินเดียซึ่งมีศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูเป็นแบบดั้งเดิมมาแต่ครั้งโบราณ เจ้าบ่าวเจ้าสาวอาบน้ำล้างตัวด้วยน้ำขมิ้น แป้ง ไม้จันทน์ นมข้น น้ำดอกกุหลาบหรือที่เรียกว่าเข้า พิธีฮัลดี จะทำให้เนื้อตัวสดใสหลังจากนั้นก็จะมีช่างมาเพนต์เฮนน่า หรือวาดรูปลวดลายศิลปะบนฝ่ามือ แขนขา ให้ดูสวยงาม มีพิธีเดินรอบกองไฟหรือพิธีสัปตาปาดีก็คือปฏิญาณด้วยกันว่าจะรักและดูแลกันไปตลอดชีวิต และมีพิธีกรรมเคารพบูชาพระวิษณุ…

Advertisement

ความเชื่อของพราหมณ์ หรือฮินดูยังเชื่อเรื่องชั้นวรรณะ ช่วงวัยของชีวิตทั้งพรหมจารี เป็นวัยของการเริ่มมีครอบครัวที่ดีมีลูก คฤหัสถ์ คือวัยของการสร้างเนื้อสร้างตัวเก็บทรัพย์สมบัติไว้ให้คนรุ่นหลัง วนปรัสถ์ คือวัยแห่งการแสวงหาความสุขสงบของชีวิต และสันยาสี คือวัยแห่งการเข้าสู่ความเป็นจริงของสรรพสิ่งและชีวิต

สังคมไทยเรามีความสลับซับซ้อนทั้งความเชื่อ ศาสนา ประเพณีวัฒนธรรมที่หลากหลายมาเป็นเวลานาน การแต่งงานเพื่อมีชีวิตคู่อยู่ด้วยกันก็เป็นอีกบริบทหนึ่งของชีวิตท่ามกลางกระแสของความเป็นวัตถุนิยม บริโภคนิยม เงินนิยม ความคิด ความรู้และความเชื่อของหลายๆ คนอาจจะมองว่า การแต่งงานมิใช่สาระสำคัญของชีวิตมากนักโดยอาจจะมองเห็นภาพของผู้คนที่ใกล้ชิดทั้งญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงที่มีงานแต่งงานแล้วหลังจากนั้นไม่นานนักชีวิตก็ต้องแยกจากกัน ไม่อาจจะนับรวมที่เป็นข่าวที่ถูกนำเสนอในสื่อต่างๆ ที่ผ่านมา

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข มีข้อมูลหนึ่งที่พบว่าช่วงสิบปีที่ผ่านมาคนไทยมีการหย่าร้างกันมากขึ้นในปี พ.ศ.2549 มีการจดทะเบียนหย่า ร้อยละ 27 และปี พ.ศ.2559 มีการจดทะเบียนหย่าร้อยละ 39 และจากสถิติประชากรข้อมูล ของกระทรวงมหาดไทยในปี พ.ศ.2559 เมืองไทยเรามีจำนวนครอบครัวมากกว่า 25 ล้านครอบครัว คนไทยไปจดทะเบียนสมรส 307,746 คู่ และมีผู้จดทะเบียนหย่า 118,539 คู่ โดยสาเหตุของการหย่าร้างก็คือ สถานะของเศรษฐกิจ การเงิน ทัศนคติความรู้ ความเชื่อ…(มติชนรายวัน 12 ธันวาคม 2560 หน้า 7)

Advertisement

ในข้อมูลดังกล่าวเราท่านจะเห็นได้ว่า จำนวนคู่ที่แต่งงานและคู่ที่ไปจดทะเบียนหย่ากันมีจำนวน 1 ใน 3 ของการจดทะเบียนสมรสหรือแต่งงานกัน อาจจะมีคำถามที่ว่าเหตุใดบริบทของการแต่งงาน การจดทะเบียนสมรสในยุคปัจจุบันมีเหตุปัจจัยของการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะการหย่าร้าง ซึ่งอาจจะมีสภาพปัญหาอื่นๆ ตามมา อาทิ การที่ต้องเป็นพ่อแม่ที่ต้องเลี้ยงลูกเดี่ยว ฐานะด้านการเงิน เศรษฐกิจในการดูแลเลี้ยงดูครอบครัว ความมั่นคงของชีวิต ไม่อาจจะนับรวมถึงการมีคดีความเรียกร้องสินสมรส และคดีที่ก่อให้เกิดอาชญากรรมดังที่ปรากฏในสื่อมาเป็นระยะๆ

หากครอบครัวใดที่มีบรรพบุรุษ ปู่ย่า ตายาย ลุงป้า น้าอา พี่น้อง อยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่ที่มีสัมพันธภาพของชีวิตและครอบครัวเป็นอยู่อย่างมีความสุข ผู้เขียนเข้าใจว่ายังไม่มีหน่วยงานของรัฐใดเข้าไปสำรวจที่ได้มาถึงข้อมูลที่เป็นจริงว่ามีครอบครัวดังกล่าวอยู่ในสังคมไทยจำนวนเท่าใด และครอบครัวที่ถูกแยกไปตั้งครอบครัวใหม่มีเฉพาะพ่อแม่ลูก หรือพ่อและแม่แยกกันอยู่ แต่ยังคงสัมพันธภาพของความเป็นครอบครัวมีจำนวนเท่าใด…

ไม่อาจจะนับรวมถึงจำนวนและคุณภาพชีวิตของผู้ที่แต่งงานหรือจดทะเบียนสมรสแล้ว มีการหย่าร้างด้วยพฤตินัยแต่ยังคงมีทะเบียนสมรสกันอยู่ว่ามีจำนวนกี่คู่ อาจจะด้วยเหตุผลบางประการของชีวิตคู่ที่ถือว่าหลักฐานของราชการคือ ทะเบียนสมรส อาจจะหมายถึงอำนาจ ผลประโยชน์ และสถานภาพทางสังคมรวมไปถึงนัยยะอื่นๆ

การแต่งงานและการจดทะเบียนสมรส เป็นมิติของชีวิตที่ถือว่าเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล หลายคนเลือกที่จะไม่มีหลักประกันดังกล่าวเนื่องด้วยบางคนมีฐานะทางเศรษฐกิจและหน้าที่การงานที่อยู่ในระดับดีมาก บางคนอาจจะมีประสบการณ์ตรงถึงการไม่ประสบผลสำเร็จในเรื่องความรักและชีวิตคู่ บางคนหรือบางชีวิตก็รอจังหวะและเวลาโอกาสหนึ่งของชีวิตที่เกิดมาจะได้แต่งงานและจดทะเบียนสมรสดังกล่าว แต่สำหรับบางคนถึงกับปฏิเสธในการแต่งงานโดยมีทัศนคติมุมมองในหลักการหลักคิดที่เป็นของตนเอง…

ในสังคมไทยเรา งานแต่งงานของลูก หลานหรือบุคคลที่เป็นที่รู้จักมักจะจัดงานดังกล่าวหลังจากเทศกาลออกพรรษาของพระสงฆ์ ผู้เขียนและอาจจะรวมถึงท่านผู้อ่านหลายท่านที่ได้รับการ์ดเชิญให้ไปร่วมงานดังกล่าวอยู่เป็นระยะๆ ทั้งงานแต่งงานของรุ่นลูก หลาน งานแต่งงานของคนวัยกลางคน งานแต่งงานของผู้สูงอายุบางคน ไม่อาจจะนับรวมที่ต้องไปในงานแต่งงานของชายกับชาย หญิงกับหญิงที่เราท่านได้รับรู้กันเป็นอย่างดีในบ้านเมืองเรา

หลักการของการแต่งงานของชนชาติต่างๆ ทั่วโลกตั้งแต่อดีตกาลมาจนถึงปัจจุบันก็คือ การใช้ชีวิตคู่อยู่ร่วมกันในการสร้างครอบครัว มีลูกหลานประกาศถึงความเป็นปึกแผ่นมั่นคงของสถาบันครอบครัว หลายคู่ชีวิตมิได้มีพิธีของการแต่งงานและการจดทะเบียนสมรส แต่มีชีวิตอยู่กันด้วยความรัก ความเข้าใจ ปรารถนาดีต่อกัน จริงใจกันทั้งชีวิต มีลูกหลานของเขาเหล่านั้นหลายคนประสบความสำเร็จในชีวิตและหน้าที่การงาน อาจจะมีคำถามที่ว่า การแต่งงานยังคงมีความจำเป็นกับวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่หรือสมัยใหม่อยู่ด้วยหรือไม่…

การแต่งงานของบางคู่ชีวิตเสมือนละครชีวิต นั่นก็คือ บางคู่แต่งงานกันด้วยฐานะทางเศรษฐกิจ ชื่อเสียงของวงศ์ตระกูล บางชีวิตคู่แต่งงานกันด้วยภาวะจำยอมด้วยบางเหตุผล อาทิ การคลุมถุงชน ในกรณีนี้บางคนอาจจะมีคำถามที่ว่ายังมีการคลุมถุงชนอยู่ในสังคมไทยหรือสังคมโลกอยู่ด้วยหรือไม่

หลากหลายชีวิตคู่ของคนที่แต่งงานแล้ว มีความจำเป็นด้วยเหตุผลบางประการที่ไม่อาจจะประกาศให้สาธารณชนได้ทราบอย่างทั่วกัน นั่นก็คือ ทัศนคติทางด้านเพศ ช่องว่างระหว่างวัย ทั้งความคิด ความรู้ ความเชื่อ หลายชีวิตคู่มิได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน บางชีวิตคู่ก็มีการหย่าร้างโดยมิปรากฏหลักฐานทางราชการ ขณะเดียวกันบางชีวิตคู่ก็ปรากฏด้วยหลักฐานทางราชการ

ในข้อเท็จจริงของเรื่องดังกล่าวยังคงมีความสลับซับซ้อนในบริบทต่างๆ

สังคมโลกในหลายๆ ประเทศได้มีกฎหมายรับรองถึงการแต่งงานในเพศเดียวกัน ผู้ชายแต่งงานกับผู้ชาย หรือผู้หญิงแต่งงานกับผู้หญิง อาทิ เนเธอร์แลนด์ มีกฎหมายรับรองเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2001 เบลเยียม มีกฎหมายรับรองเมื่อ 1 มิถุนายน 2003 สเปน มีกฎหมายรับรองเมื่อ 30 มิถุนายน 2005 แคนาดา มีกฎหมายรับรองเมื่อ 20 กรกฎาคม 2005 นอร์เวย์ มีกฎหมายรับรองเมื่อ 17 มิถุนายน 2008 โดยพรรคการเมืองใหญ่คือ Christian Democrats มีความเห็นว่าการแต่งงานไม่ควรมีศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องและให้ไปจัดในโบสถ์ส่วนตัว สวีเดน มีประชากรกว่าร้อยละ 71 สนับสนุนให้มีการแต่งงานในเพศเดียวกันและมีกฎหมายบังคับใช้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2008 ไอซ์แลนด์ นายกรัฐมนตรี นาง Johanna Siguroardottir แต่งงานกับนาง Jonina Leosdottir ในวันที่ 27 มิถุนายน 2010 เป็นวันแรกที่มีกฎหมายบังคับใช้ และลักเซมเบิร์ก นายกรัฐมนตรี Xavier Bettel แต่งงานกับ Gauthier Destenay ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำอียูคนแรกที่แต่งงานกับคนเพศเดียวกันและมีกฎหมายรับรองเมื่อ 1 มกราคม 2015

เมืองไทยเราช่วงวันเวลาที่ผ่านมานี้เราท่านทั้งหลายได้พบเห็นชีวิตคู่ที่หลากหลายได้มีชีวิตอยู่ด้วยกันในเพศเดียวกัน ผู้ชายอยู่ร่วมหรือแต่งงานกับผู้ชาย ผู้หญิงแต่งงานกับผู้หญิง หรือผู้ชายบางคนที่เคยมีภรรยาหรือมีลูกแล้ว ระยะต่อมาก็เปลี่ยนในเพศสภาพ แต่ยังคงมีคำนำหน้าว่านายอยู่ ส่วนการเปลี่ยนแปลงเพศหรือเปลี่ยนเพศสภาพยังคงเป็นบริบทหนึ่งในเชิงสังคม โรงพยาบาลของเมืองไทยเรามีชื่อเสียงในเรื่องการผ่าตัดแปลงเพศเป็นอย่างดีในรอบปีหนึ่งมีทั้งคนไทยเราและชาวต่างชาติ นิยมมาแปลงเพศในเมืองไทยเรา

บริบทหนึ่งของสังคมไทยเราระยะหลังๆ มานี้เราท่านหลายคนอาจจะพบเห็นถึงการแต่งงานของชายผู้สูงอายุกับหญิงสาวคราวลูกหรือหลาน หรือผู้หญิงที่สูงอายุอยู่กินกับคนในวัยหนุ่ม หรือแม้กระทั่งการนิยมแต่งงานของผู้หญิงทางภาคอีสานบางจังหวัดที่นิยมฝรั่งต่างชาติ หรือชาวต่างชาติประเทศต่างๆ

มุมมองหนึ่งของสังคมไทยถึงตัวเลขของเด็กทารกที่เกิดในแต่ละปีมีจำนวนน้อยลงไปมีการสะสมแทบทุกๆ ปี ผลกระทบในภาพรวมก็คือมีโรงเรียนระดับประถมศึกษาในต่างจังหวัดมีเด็กเล็กๆ เข้าเรียนจำนวนที่น้อย ตัวเลขของการเข้าเรียนในระดับอาชีวศึกษาและมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็มีจำนวนน้อยไปด้วย เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมานี้กระทรวงสาธารณสุขมีโครงการส่งเสริมสาวไทยแก้มแดง มีลูกเพื่อชาติ โดยมีแผนให้สอดคล้องกับนโยบายยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยเจริญพันธุ์แห่งชาติฉบับที่ 2 (พ.ศ.2560-2569) ที่ว่าด้วยการส่งเสริมการเกิดและการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ โดยส่งเสริมให้มีการเกิดในหญิงอายุ 20-34 ปี รวมถึงการวางแผนให้ความช่วยเหลือในการมีบุตร…

ตัวเลขของจำนวนประชากรไทยที่ลดลงร้อยละ 2.7 ในปี พ.ศ.2513 ร้อยละ 0.4 ในปี พ.ศ.2558 อีก 10 ปีข้างหน้าหากไม่มีมาตรการใดๆ จะมีการเพิ่มของประชากรที่ 0.0 หมายถึงอัตราการเกิดจะเท่ากับอัตราการตาย คือ ไม่มีจำนวนประชากรเพิ่ม ปัจจุบันตัวเลขอัตราเกิดปีละ 7 แสนคนและตายอยู่ที่ 4 แสนคน/ปี จำนวนผู้สูงอายุก็จะมีจำนวนมากขึ้นในตัวเลขที่เป็นจริง อนาคตของชาติบ้านเมืองย่อมต้องฝากประเทศไว้ให้กับคนรุ่นเด็กเยาวชนอย่างปฏิเสธมิได้

การที่ประชากรของชาติลดลงทั้งตัวเลขและคุณภาพชีวิตย่อมเป็นผลกระทบโดยตรงต่อรัฐทั้งระบบเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา การเมือง การพัฒนาประเทศในภาพรวมหนึ่งที่มีประชากรแฝงอยู่ในบ้านเราขณะนี้มีคนต่างด้าวเป็นจำนวนมากหลายคนก็ช่วยสร้างระบบเศรษฐกิจและความมั่นคงให้รัฐ แต่มีบางคนที่เป็นภาระของรัฐที่ต้องเข้าไปดำเนินการทั้งผิดศีลธรรมและกฎหมาย ผู้นำของเมืองไทยเราเวลานี้ได้เตรียมพร้อมกับปัญหาดังกล่าวดีแล้วหรือไม่…

เฉลิมพล พลมุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image