Cloud Lovers : สนุกกับ ‘เมฆใกล้ภูเขา’ : โดย บัญชา ธนบุญสมบัติ

ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของเนินเขา ภูเขา เทือกเขา ฯลฯ มีผลต่อการเคลื่อนที่ของกระแสลม ส่งผลให้เกิดเมฆสนุกๆ ทั้งในแง่รูปร่างและพฤติกรรม โดยจุดเกิดเมฆอาจมีได้ทั้งยอดเขาและบริเวณใกล้เคียง มาดูตัวอย่างกันครับ

เริ่มจากภาพที่ 1 ซึ่งจะเป็นเมฆที่เกิดคลุมยอดเขา ฝรั่งมองเป็นภูเขาสวมหมวกแก๊ป ก็เลยเรียกว่า “cap cloud” หรือ “เมฆหมวกแก๊ป” ชื่อนี้น่าเปรียบเทียบกับ “หมวกเมฆ (pileus)” ซึ่งเป็นเมฆบางๆ ที่เกิดเหนือเมฆก้อน อาจจำง่ายๆ ว่า “หมวกเมฆ คือ หมวกของเมฆ” ส่วน “เมฆหมวกแก๊ป คือ หมวกของภูเขา” ก็ได้

ภูเขาดังๆ ที่ชอบสวมหมวก เช่น ภูเขาไฟฟูจิในญี่ปุ่น และภูเขาเรนเนียร์ (Mount Rainier) ในสหรัฐอเมริกา ส่วนในบ้านเรา มีผู้ถ่ายภาพเมฆหมวกแก๊ปได้เหนือเทือกเขาพนมเบญจา จังหวัดกระบี่

Advertisement

ภาพที่ 1 : เมฆหมวกแก๊ปเหนือภูเขาไฟฟูจิ
16 ธันวาคม 2560 เวลา 10:16 น.
ภาพ : กรองกาญจน์ เพชรแอน

ทีนี้หากยอดเขามีลักษณะแหลม คล้ายๆ ยอดพีระมิด อาจเกิดเมฆติดยอดเขาทางฝั่งปลายลม ฝรั่งมองว่าเมฆเป็นธงหรือผืนผ้าโบกสะบัดอยู่บนยอดเขา จึงเรียกเมฆนี้ว่า “banner cloud” ผมแปลตรงตัวว่า “เมฆป้าย” ดูภาพที่ 2 ครับ

ภูเขาที่โด่งดังขึ้นชื่อในเรื่องนี้คือ ภูเขาแมตเทอร์ฮอร์น (Matterhorn) ในสวิตเซอร์แลนด์ อย่างภาพที่นำมาฝากนี้ถ่ายโดย คุณปู รินทร์ลิตา กีรติปัญญพันธ์ ผู้ประกาศข่าวในรายการ “ทันข่าว 28” ช่อง 3 SD และรายการ “บอกข่าว เล่าอากาศ” ช่อง 3 Flash News คุณปูเล่าว่า

Advertisement

“ภาพภูเขา Matterhorn ถ่ายไว้เมื่อครั้งไปเที่ยวสวิตเซอร์แลนด์ (ดินแดนในฝัน) เป็นครั้งแรกเมื่อเดือนพฤษภาคม 2556 แน่นอนว่าที่นี่เป็นจุดหมายที่ปักหมุดไว้ว่าต้องไม่พลาด จะต้องไปเห็นภูเขาที่ได้ชื่อว่าสูงที่สุดแห่งหนึ่งของเทือกเขาแอลป์ และเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของสวิตเซอร์แลนด์ให้ได้ วันนั้นนั่งรถไฟสาย Gornergrat Bahn ขึ้นไป เพื่อไปชม Matterhorn ที่รักให้ใกล้ที่สุด เมื่อได้เห็นก็กดชัตเตอร์รัวๆ แต่นึกเสียดายที่มีเจ้าเมฆมาเกาะติดอยู่ที่ยอดเขา ทำให้ไม่ได้เห็นยอดเขาโล่งๆ เป็นยอดแหลมพีระมิดแบบในภาพโฆษณาและโลโก้ช็อกโกแลตชื่อดัง แล้วก็พกความเสียดายติดใจมาตลอด

จนมาวันหนึ่งได้คุยกับอาจารย์บัญชา จึงได้รู้ว่าเจ้าเมฆตรงยอดเขานี้ เรียกว่า ‘banner cloud’ หรือ ‘เมฆป้าย’ เกิดขึ้นจากกระแสลมที่พัดผ่านยอดเขาแหลม ทำให้เกิดกระแสอากาศไหลวนทางฝั่งปลายลมใกล้ยอดเขา ซึ่งกระแสอากาศไหลวนนี่แหละ ทำให้อากาศบริเวณผิวพื้นบางส่วนยกตัวสูงขึ้นไปตามสันเขา จนเมื่ออากาศที่ไหล

ภาพที่ 2 : เมฆป้าย
ภาพ : รินทร์ลิตา กีรติปัญญพันธ์

ห่างออกมาจากภูเขาทางด้านปลายลม หากกระแสอากาศเกิดการกระเพื่อมเป็นคลื่น ก็มีสิทธิลุ้น “lenticular cloud” แปลตรงตัวว่า “เมฆรูปเลนส์” แต่นิยมเรียกว่า “เมฆจานบิน” เจ้าเมฆจานบินนี่น่ารักด้วย เพราะมักจะอยู่นิ่งๆ บนฟ้านานพอสมควรเพื่อให้เราถ่ายภาพได้อย่างสบายใจ ดูภาพที่ 3 ครับ

ภาพที่ 3 : เมฆเลนส์
ภาพ : บัญชา ธนบุญสมบัติ

เมฆใกล้ภูเขาแบบสุดท้ายที่ขอแนะนำคือ “rotor cloud” หรือ “เมฆโรเตอร์” เกิดจากกระแสอากาศปั่นป่วนทางฝั่งปลายลม ถ้าเฝ้าดูนานๆ จะเห็นเมฆนี้ม้วนหมุนวนลอยอยู่กับที่

ภาพที่ 4 : เมฆโรเตอร์
เขายายเที่ยง 2 ธันวาคม 2560 08:00-08:50 น.
ภาพ : สุเรนทร์ สุวดินทร์กูร

เมฆที่เกิดจากภูเขาทั้งหมดนี้จะดูสนุกยิ่งขึ้นหากเห็นการเปลี่ยนแปลงตามเวลา ขอแนะนำให้ส่อง QR Codes ที่ให้ไว้ในภาพที่ 5 เพื่อชมพฤติกรรมของเมฆแต่ละแบบ ใครชอบแบบไหน เขียนมาบอกได้ครับ

ภาพที่ 5 : คลิปแสดงพฤติกรรมเมฆใกล้ภูเขาแบบต่างๆ

ขุมทรัพย์ทางปัญญา
ขอแนะนำเรื่อง Orographic influences on clouds ที่ https://cloudatlas.wmo.int/orographic-influences-on-clouds.html

บัญชา ธนบุญสมบัติ
www.facebook.com/buncha2509
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image