‘ปวดศีรษะ’ : โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

 

“ปวดศีรษะ” เป็นอาการที่คนทั่วๆ ไปจะรู้สึกได้เอง ว่ามีอาการปวดตื้อๆ หนักๆ บีบๆ ปวดตุบๆ ในที่นี้จะพูดถึงอาการปวดหัวที่พบได้บ่อยๆ 2 ชนิด คือ
1.ปวดศีรษะจากความเครียด (Tension headache)
2.ปวดหัวข้างเดียวที่เรียกว่าไมเกรน (Migraine)

1.ปวดศีรษะจากความเครียด : เป็นภาวะหรืออาการที่พบได้บ่อยมากในคนทั่วไปประมาณร้อยละ 80-90 ของผู้ที่มีอาการปวดศีรษะจะมีสาเหตุมาจากความเครียด (Tension) พบในผู้ใหญ่มากกว่าวัยเด็กและพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

สาเหตุ : อาจมีสาเหตุได้หลายอย่าง เช่น ทำงานหนัก ใช้สมองมาก อารมณ์เครียด กังวลใจ นอนไม่หลับ เป็นต้น ทำให้มีอาการปวดตึงของกล้ามเนื้อตรงต้นคอและรอบศีรษะ
อาการ : ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตื้อๆ หนักๆ ตรงบริเวณต้นคอ (ท้ายทอย) หรือปวดรอบศีรษะคล้ายถูกเข็มขัดรัด บางรายอาจปวดตื้อไปทั่วศีรษะ ⦁ ส่วนมากจะปวดตอนบ่ายๆ หรือเย็นๆ มักไม่ปวดหลัง ตื่นนอนตอนเช้าและถ้าได้นอนพักสักครู่อาจทุเลาไปได้เอง ⦁ อาการมักจะเป็นอยู่เพียงไม่กี่ชั่วโมงก็ทุเลาไปได้เอง แต่บางรายอาจปวดนานเป็นวันๆ ก็ได้ ⦁ ผู้ป่วยจะมีอาการภายหลังได้คร่ำเคร่งกับงานหนัก หรือขณะมีเรื่องคิดมาก กังวลใจ หรือนอนไม่หลับ ⦁ อาการปวดมักไม่รุนแรง และโดยมากจะไม่มีอาการอื่นๆ เช่น ตาพร่ามัว คลื่นไส้ อาเจียน เป็นไข้ เป็นหวัดร่วมด้วย

Advertisement

สิ่งที่ตรวจพบ : การตรวจร่างกายจะไม่พบสิ่งผิดปกติแต่อย่างใด รวมทั้งความดันโลหิตสูงจะอยู่ในเกณฑ์ปกติ
การรักษา : ควรบอกให้ผู้ป่วยพักผ่อนนอนหลับ พักผ่อนสักพักหนึ่ง หรือนวดต้นคอและขมับด้วยมือ หรือทานวดด้วยยาหม่อง หากไม่ดีขึ้นให้ยาแก้ปวด เช่น แอสไพริน หรือพาราเซตามอล ครั้งละ 1-2 เม็ด ร่วมกับยากล่อมประสาท เช่น ไดอะซีแพม ⦁ ถ้านอนไม่หลับพักผ่อนไม่ได้ตอนกลางคืน ควรให้ไดอะซีแพม ขนาด 5-20 มิลลิกรัม กินก่อนนอน ⦁ ส่วนในรายที่มีเรื่องกังวลก็ให้ดูแลรักษาแบบเดียวกับโรคกังวล

ถ้าปวดรุนแรง : ปวดติดต่อกันนาน 24 ชั่วโมง ปวดถี่หรือปวดแรงขึ้นทุกวัน ปวดมากตอนดึก หรือเช้ามืดจนทำให้สะดุ้งตื่น เป็นๆ หายๆ โดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดนานเกิน 2 สัปดาห์ หรือสงสัยว่าอาจมีสาเหตุร้ายแรง ควรส่งโรงพยาบาลเพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด ⦁ ถ้าเป็นโรคปวดศีรษะจากความเครียดเรื้อรัง อาจจะเกิดอาการซึมเศร้า ท้อแท้ เบื่อหน่าย และตื่นกลางดึกแล้วนอนไม่หลับ ควรให้ยาแก้อาการซึมเศร้า ได้แก่ อะมิทริปไทลีน อาจช่วยให้ดีขึ้นได้

ข้อแนะนำ : 1.ปวดศีรษะจากความเครียดถือเป็นภาวะที่ไม่รุนแรง แต่อาจเป็นๆ หายๆ ได้บ่อย อย่างไรก็ตาม ก่อนจะวินิจฉัยโรคนี้ควรตรวจวัดความดันและซักถามอาการให้ถ้วนถี่จนแน่ใจว่าไม่มีสาเหตุร้ายแรงเสียก่อน 2.โรคนี้ควรแยกออกจากโรคไมเกรน ซึ่งจะมีลักษณะปวดตุบๆ ที่ขมับ แต่บางครั้งอาจแยกกันไม่ชัด แต่อย่างไรก็ตาม การดูแลรักษาเบื้องต้นก็ไม่ต่างกัน 3.ในรายที่เป็นเนื้องอกในสมองระยะแรกเริ่ม อาจมีอาการปวดศีรษะไม่มาก คล้ายปวดศีรษะจากความเครียดก็ได้ แต่ต่อมาจะปวดถี่ขึ้นแรงขึ้น มักจะปวดตอนดึกๆ หรือเช้ามืดจนทำให้สะดุ้งตื่นและเป็นเรื้อรัง ดังนั้น ถ้าพบคนที่มีอาการปวดศีรษะในลักษณะดังกล่าว หรือเป็นๆ หายๆ นานเกิน 2 สัปดาห์ ควรแนะนำให้ไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาล 4.สำหรับผู้ที่มีอาการปวดศีรษะจากความเครียดประจำ ควรแนะนำให้พักผ่อนให้เพียงพอ อย่าคร่ำเคร่งกับงานจนเกินไป ออกกำลังกายเป็นประจำ และหมั่นฝึกทำสมาธิเป็นประจำ หรือหาทางพักผ่อนคลายเครียดด้วยวิธีต่างๆ อยู่อย่างสบายๆ และรู้จักเพียงพอไม่โลภ โกรธ หลง ละวางให้ได้ก็จะสบายใจไม่ปวดหัว

Advertisement

2.ไมเกรน (Migraine) : โรคปวดหัวข้างเดียว ลมตะกังก็เรียก พบได้ประมาณร้อยละ 5-10 ของประชากรทั่วไป พบได้ในคนทุกวัย แต่พบมากในช่วงอายุ 10-30 ปี พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ⦁ โรคนี้มักเป็นๆ หายๆ เรื้อรังเป็นแรมปี เริ่มเป็นครั้งแรกมักพบตอนอายุย่างเข้าวัยรุ่น หรือระยะหนุ่มสาว โดยเฉพาะผู้หญิงมักจะพบเป็นโรคนี้ตอนเริ่มมีประจำเดือน (Menarche) บางรายเริ่มเป็นโรคนี้ตั้งแต่วัยเด็ก ซึ่งมักมีอาการปวดท้อง เมารถเมาเรือร่วมด้วย มีน้อยคนที่จะมีอาการเป็นครั้งแรก เมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป แต่ผู้หญิงที่เคยเป็นไมเกรนมาก่อน เมื่อถึงวัยประจำเดือนใกล้หมด (40-50 ปี) อาจมีอาการปวดศีรษะบ่อยขึ้น โรคนี้มักจะหายไปเองเมื่ออายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป หรือวัยหมดระดูหรือประจำเดือน

ไมเกรนจัดว่าเป็นโรคไม่มีอันตรายร้ายแรงใดๆ แต่สร้างความรำคาญน่าทรมาน และทำให้เสียอารมณ์ เสียงาน โรคนี้เกิดได้กับคนทุกระดับ ไม่เกี่ยวกับฐานะสังคม หรือระดับสติปัญญา แต่ผู้ป่วยที่มีฐานะดี หรือมีการศึกษา มักจะปรึกษาแพทย์ประจำ ⦁ คนเป็นโรคนี้อยู่ประจำมักเป็นคนเจ้าระเบียบ จู้จี้จุกจิก และมักพบว่าคนที่เป็นโรคนี้มักมีประวัติว่าพ่อแม่ พี่น้อง เป็นโรคนี้ด้วยเสมอ คนเป็นโรคนี้ชาวบ้านเรียกชื่ออีกอย่างว่า “ลมตะกัง”

สาเหตุ : สาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัดแต่สันนิษฐานว่ามีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงในการทำงานของระบบประสาทและหลอดเลือดในสมอง ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมองที่มีชื่อว่า “ซีโรโทนิน” (serotonin) พบว่ามีปริมาณลดลงขณะที่มีอาการกำเริบร่วมกับสารเคมีในสมองกลุ่มอื่นๆ ส่งผลให้เกิดการอักเสบของเส้นใยประสาทสมองเส้นที่ 5 (trigeminal nerve fiber) ที่เลี้ยงบริเวณใบหน้าและศีรษะรวมทั้งการอักเสบร่วมกับการหดและการขยายตัวของหลอดเลือดแดงทั้งในและนอกกะโหลกศีรษะ ทำให้เปลือกสมอง (cortex) มีเลือดไปเลี้ยงน้อยลง กระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะและอาการร่วมต่างๆ ขึ้นมา เช่น หลอดเลือดที่ขมับขยายตัวทำให้เกิดอาการปวดตุบๆ ตรงขมับศีรษะ

สาเหตุกระตุ้น : ผู้ป่วยมักบอกได้ว่ามีสาเหตุต่างๆ ที่กระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะ ซึ่งแต่ละคนอาจมีสาเหตุที่แตกต่างกันไป แต่มักจะมีได้หลายๆ อย่างเช่น
⦁มีแสงสว่างจ้าเข้าตา เช่น ออกกลางแดดจ้า แสงจ้า แสงไฟกะพริบและสีระยิบระยับในโรงมหรสพ หรือสถานเริงรมย์ ฯลฯ
⦁การใช้สายตาเพ่งดูอะไรนานๆ เช่น ดูภาพยนตร์ หนังสือ หรือกล้องจุลทรรศน์ เย็บปักถักร้อย ฯลฯ
⦁การอยู่ในที่เสียงดัง จอแจ เช่น ตลาดนัด หรือเสียงอึกทึก เช่น เสียงกลอง ระฆัง
⦁การสูดดมกลิ่นฉุนๆ เช่น กลิ่นน้ำมันรถ กลิ่นน้ำหอม กลิ่นสารเคมีอีดีที ควันบุหรี่ ฯลฯ:
⦁การดื่มกาแฟมากๆ ก็อาจกระตุ้นให้ปวดได้
⦁การอยู่ในที่ร้อนหรือเย็นเกินไป เช่น อากาศร้อน หรือหนาวจัด ห้องที่อบอ้าว ห้องปรับอากาศเย็นจัด เป็นต้น ⦁การอดนอน (นอนไม่พอ) หรือนอนมากเกินไป การนอนตื่นสาย เช่น ในวันหยุดสุดสัปดาห์

⦁การอดข้าว กินข้าวผิดเวลา หรือกินอิ่มจัด เชื่อว่าเกี่ยวกับภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) ซึ่งกระตุ้นให้ปวดศีรษะได้ บางครั้งพบว่าผู้ป่วยไมเกรนเมื่อเป็นโรคเบาหวาน (มีน้ำตาลในเลือดสูง) อาการปวดจะหายไป

⦁ การนั่งรถ นั่งเรือ หรือนั่งเครื่องบิน ⦁ อาการเจ็บปวดตามส่วนต่างๆ ของร่ายกาย ⦁ การเป็นไข้ เช่น ตัวร้อนจากไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ⦁การออกกำลังกายจนเหนื่อยเกินไป: ⦁ ร่างกายเหนื่อยล้า ⦁ การถูกกระแทกแรงๆ ที่ศีรษะ เช่น การใช้ศีรษะโหม่งฟุตบอลก็อาจทำให้ปวดศีรษะทันที

⦁ อิทธิพลของฮอร์โมนเพศ สำหรับผู้หญิงมีผลต่อการเกิดอาการไมเกรนอย่างมาก เช่น บางรายมีอาการปวดเฉพาะเวลาใกล้จะมีหรือมีประจำเดือน และมีไม่น้อยที่หายปวดไมเกรนขณะอุ้มท้อง 9 เดือน มีฮอร์โมนโพรเจสเตอโรนสูง บางรายกินยาคุมกำเนิด มีฮอร์โมนเอส
โตรเจน ทำให้ปวดบ่อยขึ้น พอกินยาก็ดีขึ้น
อาการมักมีอาการเป็นครั้งเป็นคราว ด้วยอาการปวดที่ขมับหรือเข้าตาซีกใดซีกหนึ่ง ปวดแบบตุบๆ เข้ากับจังหวะการเต้นของหัวใจ แต่บางครั้งก็อาจจะปวดแบบตื้อๆ ก็ได้ อาจปวดสลับข้างในแต่ละครั้ง หรือปวดพร้อมกันทั้งสองข้าง บางรายอาจปวดทั้งศีรษะ มักปวดนานเป็นชั่วโมงๆ หรือเป็นวันๆ แต่มักไม่เกิน 72 ชั่วโมง

⦁ บางรายก่อนปวดหรือขณะปวดอาจมีอาการตาพร่า ตาลาย ตาเห็นแสงวิบวับ หรือตามืดมัวไปครึ่งซีก อาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นก่อนปวดศีรษะประมาณ 15-20 นาที (มีสัญญาณเตือนมาล่วงหน้าก่อนปวดศีรษะข้างเดียว)

⦁ อาการปวดศีรษะถึงแม้ไม่ได้กินยาก็มักจะหายได้เอง ⦁ การกินยาแก้ปวดหรือนอนหลับสักพัก ตั้งแต่ระยะเริ่มมีอาการอาจช่วยให้ทุเลาได้ แต่ถ้าปล่อยให้ปวดเป็นชั่วโมงแล้วค่อยกินยา มักจะไม่ได้ผล ⦁ บางรายที่เป็นรุนแรง อาจมีอาการหน้าชา ริมฝีปากชา มือชา วิงเวียน ตาเห็นภาพซ้อน อ่อนเพลีย หรือแขนขาไม่มีแรงร่วมด้วย แต่พบได้น้อยมาก และมักเป็นเพียงชั่วขณะแล้วหายได้เอง

สิ่งตรวจพบ : พวกเป็นไมเกรน มักตรวจร่างกายไม่พบสิ่งผิดปกติ บางครั้งขณะที่อาการปวด อาจคลำได้หลอดเลือดที่บริเวณขมับ มีลักษณะโป่งพองและเต้นตุบๆ หรืออาจพบอาการปวดเสียวของหนังศีรษะเวลาสัมผัสถูก
การรักษา : 1.เมื่อเริ่มรู้สึกมีอาการปวดศีรษะให้นั่งหรือนอนพักในห้องมืดและเงียบๆ กินยาแก้ปวด 1-2 เม็ด หรือนาโปรเซน (Naproxen) 3 เม็ด ถ้าเครียดให้กินยากล่อมประสาทไดอะซีแพม ขนาด 2 มก. 1-2 เม็ด ควบด้วย ถ้าเป็นไปได้ควรนอนพักสักครู่จะดีขึ้น

วิธีดังกล่าวมักจะช่วยบรรเทาอาการได้ผลเป็นส่วนใหญ่ ในรายที่ใช้ไม่ได้ผลในการปวดครั้งต่อไปให้กินยา “คาเฟอร์กอต” (Cafergot) ทันทีที่เริ่มมีอาการครั้งแรกให้กิน 1 เม็ด ซึ่งมักจะได้ผล แต่ถ้าไม่หายอีก 1 ชม. ต่อมาให้ซ้ำได้อีก 1 เม็ด วันหนึ่งไม่ควรกินเกิน 2 เม็ด และไม่ควรกินติดต่อกันเกิน 3 วัน มิฉะนั้นอาจเกิดพิษต่อร่างกายได้

ข้อสำคัญ : การให้ยาบรรเทาปวด ต้องรีบและทำเมื่อเริ่มรู้สึกมีอาการทันที อย่าให้ปวดอยู่นานเกิน 30 นาที แล้วค่อยกินยามักไม่ค่อยได้ผล ถ้าอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมให้กินยาแก้อาเจียน เช่น เมโทโคลพราไมด์ร่วมด้วย

2.ถ้าปวดรุนแรง : หรือกินยา Cafergot แล้วไม่ดีขึ้น ควรแนะนำให้ไปโรงพยาบาล เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ใจ ถ้าเป็นไมเกรนจริงอาจต้องฉีดไดไฮโดเออร์โกตามิน (Dihydroergotamine) 1-2 มก. เข้าใต้ผิวหนัง หรือฉีด Dexamethasone 4-8 มก. เข้าหลอดเลือดดำหรือให้ Prednisolone กินตามแพทย์สั่ง : ยาต้านเหล่านี้ควรใช้ด้วยความระมัดระวังจึงควรให้แพทย์ตรวจและเป็นผู้สั่งให้เท่านั้นโดยเคร่งครัด

ข้อแนะนำ : การป้องกันสำคัญที่สุดสำหรับผู้ที่ปวดไมเกรนบ่อยๆ ให้พยายามค้นหาสิ่งที่กระตุ้นให้ปวด แล้วหลีกเลี่ยงเสีย เช่น กินยาคุมกำเนิดทำให้ปวดบ่อย ก็เลิกยานี้เสีย แล้วหันไปใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฉีดแทน ยานี้มีฮอร์โมนโพรเจสเตอโรน มีส่วนช่วยป้องกันไมเกรน ถ้ากินผงชูรสหรือดื่มเหล้าแล้วปวดหัวก็ควรงดเสีย ถ้าเข้าไปในสถานที่จอแจมีเสียงอึกทึก เช่น ตลาดนัด ผับ ไนต์คลับ แล้วปวดไมเกรนก็ต้องงดไป

ในฐานะหมอ ผู้เขียนขอแนะนำคนที่ปวดหัวจากความเครียดดูแลตนเองละวางสิ่งต่างๆ ที่เป็นต้นเหตุ หรือทำใจให้ได้คือ การให้อภัยหรือ “อุเบกขา” จะช่วยได้มาก แต่พวกที่ปวดด้วยไมเกรนน่าสงสารมัน เวลาปวดแล้วทรมาน หากเราทราบตัวต้นเหตุที่เป็นตัวกระตุ้น รู้แล้วหลีกเลี่ยง ไม่ข้องแวะกับสิ่งต่างๆ ที่กล่าวแล้ว ก็จะบรรเทาหรือไม่เกิดไมเกรนได้นานๆ หรือไม่เป็นเลย ส่วนพวกที่สุดวิสัยจริงๆ คือ ถ้าไม่ทราบสาเหตุจริงๆ ว่าอะไรเป็นสาเหตุกระตุ้น หรือทราบแต่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ หรือยังปวดอยู่บ่อยๆ จนเสียการงาน ควรให้กินยาป้องกันไม่ให้ปวดซึ่งมีอยู่หลายขนาน หลายยี่ห้อ โดยให้เลือกใช้ขนานใดขนาดหนึ่งเพียงขนาดเดียว และให้กินเป็นประจำทุกวันเป็นแรมเดือน หรือจนกว่าจะดีขึ้น แล้วลองหยุดยาดูถ้าปวดใหม่ก็ให้กินใหม่ ยาที่จะแนะนำ ผู้เขียนดูแล้วมี 8-10 ขนาน แต่ดีที่สุดฝากให้ผู้ที่เป็นไมเกรนไปพบหมอ กินยาและปฏิบัติตัวตามหมอสั่งโดยเคร่งครัด มีวินัย

หรือจะให้ดีก็หาท่าบริหารร่างกาย ผ่อนคลายก็จะมีโอกาสหายเองได้นะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image