ทุกข์ และปัญหา กฎหมาย พรรคการเมือง มาจาก ปัจจัยใด

บทบาทของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ซึ่งรับผิดชอบในการยกร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองกับบทบาทของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

กำลังอยู่ใน “สปอตไลต์”

พลันที่มีเสียงโวยจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และบรรดาพรรคการเมืองทั้งหลายที่ไม่สามารถปฏิบัติตามบทบัญญัติของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองได้

ทั้งๆ ที่ประกาศและบังคับใช้มาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560

Advertisement

ยิ่งมีการเคลื่อนไหวจาก 2 คนสำคัญ คือ 1 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. 1 นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานเครือข่ายประชาชนปฏิรูป

เรียกร้องให้แก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง

โดยมีเสียงขานรับจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.และหัวหน้ารัฐบาล อย่างอบอุ่นบนพื้นฐานความเสมอภาคระหว่างพรรคเก่า พรรคใหม่ พรรคใหญ่ พรรคเล็ก

สายตายิ่งมองไปยัง “กรธ.” และ “สนช.”

แน่นอน ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองเป็นผลงานของ กรธ. ขณะเดียวกัน กว่าที่ร่าง พ.ร.ป.จะพัฒนาและสามารถประกาศและบังคับใช้เป็นกฎหมายได้

ย่อมมาจาก 3 ส่วนประสานเข้าด้วยกัน

1 กรธ.อันเป็นต้นน้ำ 1 สนช.อันเป็นกลางน้ำด้วยการผ่านวาระหนึ่ง นำไปสู่การจัดตั้งคณะกรรมาธิการเข้าสู่วาระสอง และผ่านการเห็นชอบในวาระสาม

1 สนช.ส่งให้รัฐบาล

อาจกล่าวได้ว่าผลงานและความสำเร็จของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 เป็นเรื่องของ คสช.และของรัฐบาลอย่างแท้จริง

เพราะอยู่ในกระบวนการอย่างที่เรียกว่า “แม่น้ำ 5 สาย”

ความเห็น “ต่าง” อันสะท้อนมาจากพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองอาจเคยเกิดขึ้น มีขึ้น แต่การตัดสินใจล้วนเป็นเรื่องของ คสช.และรัฐบาล

หากเป็นปัญหาก็มาจาก 1 รัฐบาล 1 คสช.

ปรากฏการณ์อันนำไปสู่ความพยายามที่จะใช้อำนาจของ “มาตรา 44” เพื่อบริหารจัดการ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองจึงเป็นเรื่องของ คสช. จึงเป็นเรื่องของรัฐบาล

มิได้เป็นเรื่องจาก “ภายนอก”

หากยึดกุมตามหลักแห่งอริยสัจ 4 คือ ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการซึ่งเริ่มจาก ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

ก็จะต้องมองได้ว่า ตัว “ทุกข์” อันเป็น “ปัญหา” มาจากไหน

ถามว่าทำไม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองจึงมีปัญหาทางการปฏิบัติ คำตอบก็คือ เพราะติดกับคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 157/2557

ตรงนี้ต่างหากคือ “อุปสรรค”

แทนที่ คสช.จะยอมรับในอุปสรรค ยอมรับในทุกข์ ยอมรับในปัญหา ความพยายามกลับมุ่งไปที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง

แล้วที่สุดก็หันไปใช้ “มาตรา 44”

จึงแทนที่จะนำไปสู่การจัดการกับ “ปัญหา” เพื่อทำให้ “ตัวทุกข์” คลายหรือหมดสิ้นไป ในที่สุดก็จะเพิ่ม “ปัญหา” เพิ่ม “ตัวทุกข์” เข้ามาอีก

เบื้องหน้าตัวทุกข์ เบื้องหน้าปัญหาอันรุมเร้าอยู่โดยรอบ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง แทนที่ กรธ.และ สนช.จะมองออก อ่านทะลุ

สภาพกลับเหมือนกับ คสช. เหมือนกับรัฐบาล

ไม่เพียงแต่ไม่สามารถจัดความสำคัญระหว่าง 1 รัฐธรรมนูญ 1 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 1 คำสั่ง คสช.ว่ามีศักดิ์และสถานะต่างกันอย่างไร

หากอยู่ในภาวะมึนงง แยกจำแนกไม่ออก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image