พลโท ดร.พงศกร รอดชมภู : ภัยใกล้ตัว : คิดถึงเรื่องความขัดแย้ง3จังหวัดชายแดนภาคใต้

หลังเกิดเหตุผู้ใช้อาวุธบุกเข้าโรงพยาบาลและโจมตีหน่วยทหารพรานจากนั้นหายตัวหมด จนต้องมีการตามล่าปรากฏเป็นข่าวไปแล้ว ไม่ว่าจะตามทันหรือไม่ก็ตาม ก็ถือว่าเป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่จะปฏิเสธไม่ได้ว่า มีกลุ่มบุคคลที่มีความสามารถในการใช้ความรุนแรงได้อย่างมีประสิทธิภาพในพื้นที่นี้

ส่วนที่เป็นข่าวทางหนึ่งว่าเกิดจากกลุ่มบีอาร์เอ็นที่ยังเคลื่อนไหวต่อสู้อยู่โดยเราอาจจำได้ถึงผู้นำชื่อฮัสซัน ตอยิบที่สมัยก่อนออกข่าวเป็นประจำ หรือโยนไปว่าเป็นกลุ่มกองกำลังในพื้นที่ซึ่งเป็นอิสระปฏิบัติการเองที่รู้จักกันในนาม อาร์เคเค ไม่ขึ้นอยู่กับใคร ที่ร้ายไปกว่านั้นคือบอกว่าเป็นการดิสเครดิตรัฐบาลโดยกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงกันข้าม

แต่ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม จะมีแรงจูงใจอะไรก็ตาม ผลคือเกิดการปฏิบัติการได้อย่างเป็นระบบ ระเบียบเหมือนผ่านการฝึกมาอย่างดี คงไม่ใช่โจรกระจอกที่เคยพูดกัน ภายหลังจากที่มีการพบระเบิดจากรถยนต์หรือคาร์บอมบ์เป็นครั้งแรก

ยุทธศาสตร์ของการก่อเหตุรุนแรงนั้นมีแนวโน้มที่จะบอกว่ารัฐไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้หรือไม่ สมควรที่สหประชาชาติหรือนานาชาติจะเข้ามาดูแลหรือไม่ หรือเข้าองค์ประกอบว่ามีกองกำลังทหารสองฝ่ายกำลังสู้กัน สิ่งเหล่านี้ทำให้มีโอกาสในการขอแยกตัวได้ หรือในอนาคตถ้า IS ปักหลักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ การประกาศเข้าร่วมกับ IS เพื่อภารกิจทางศาสนาก็ไม่ใช่เรื่องยาก และหากเกิดสภาวะรัฐล้มเหลวขึ้นเมื่อไหร่การฉวยโอกาสก็จะเกิดขึ้นได้ง่าย

Advertisement

ทั้งยุทธศาสตร์และยุทธวิธีของผู้ก่อเหตุมีความเป็นระบบ คงเส้น คงวาและต่อเนื่องมายาวนานแล้ว ด้วยการดำรงความมุ่งหมายอย่างแน่วแน่ และมีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปในแนวทางที่ได้ประโยชน์ทั้งสิ้น การจะจัดการปัญหานี้จึงต้องใช้การเมืองนำการทหาร แต่การเมืองนี้มิใช่การยอมหรือการขอเจรจาต่อรอง หากแต่เป็นการช่วงชิงประชาชนให้กลับมาเป็นฝ่ายรัฐเสียก่อนนั่นเอง

การจะแก้ไขปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ควรรู้วิธีการที่ฝ่ายผู้ก่อการร้ายใช้เป็นประเด็นในการต่อสู้ว่า ประการแรก ขอแยกตัวเป็นอิสระด้วยหลักคิดการกำหนดใจตนเองของสหประชาชาติ ตัวอย่างคือประเทศอาณานิคมทั้งหลายได้รับการรับรองจากสหประชาชาติให้แยกตัวจากเจ้าอาณานิคม เช่นกรณี พม่า มาเลย์เซีย หรืออินเดีย เงื่อนไขคือฝ่ายรัฐเดิมกดขี่ ละเมิดสิทธิมนุษยชนเพราะเหตุต่างๆเช่นเรื่องชาติพันธุ์ ศาสนา มีการต่อสู้ด้วยกำลังทหารทั้งสองฝ่าย มีพื้นที่ของฝ่ายขอแยกตัวชัดเจน ฝ่ายขอแยกตัวมีองค์กรหรือรัฐบาลเกิดขึ้น ดังนั้นเราจะได้ยินเสมอถึงหัวข้อโฆษณาว่าไทยหรือสยามเป็นเจ้าอาณานิคม รัฐบาลไม่ดูแลประชาชน กดขี่ ทำให้ปฏิบัติศาสนกิจไม่ได้ เป็นต้น แถมด้วยความพยายามปฏิบัติการต่างๆเพื่อให้เห็นว่ามีกองกำลังติดอาวุธที่แข็งแรง มีการต่อรองให้รับรองสถานะการเป็นรัฐอย่างใดอย่างหนึ่ง

นี่คือสิ่งที่ดำรงอยู่ แต่ถ้ารัฐไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ข่มเหงประชาชน มีระบบรักษาความปลอดภัยที่ดี ไม่เอากำลังทหารออกปฏิบัติการจนเป็นเหมือนพื้นที่ทำสงครามแล้ว ก็ยากที่จะขอแยกตัวได้ แต่ก็ยังมีกรณีที่สองคือ การประกาศเข้าร่วมกับกลุ่ม IS เมื่อพื้นที่รอบๆสถาปนาเป็นรัฐอิสลามแล้ว ซึ่งยังต้องใช้เวลาพัฒนาการต่อไป

เมื่อรู้เป้าหมายของการก่อเหตุรุนแรงใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว ก็เพียงจำกัดไม่ให้เงื่อนไขกรณีแรกเกิดขึ้น และป้องกันผู้ไปเข้าร่วมกับ IS แล้วกลับมาบ่มเพาะสร้างกำลังตามกรณีที่สอง การกำจัดเงื่อนไขไม่ว่ากรณีใด สิ่งที่สำคัญที่สุดเรื่องเดียวคือ ขีดความสามารถในการควบคุมพื้นที่ ไม่ให้ฝ่ายก่อเหตุมีเสรีในการเคลื่อนไหวมากเกินไป สรุปง่ายๆคือ ใครก่อเหตุเมื่อไหร่ ต้องจับได้ และจับถูกตัวด้วยเสมอ ถ้าทำได้ ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องการแยกตัวหรือการไปเข้ากับ IS อีกต่อไป ดังนั้น การแก้ปัญหาในพื้นที่ไม่ใช่เรื่องของฝ่ายก่อเหตุหรือก่อความไม่สงบ ที่มีหน้าที่ทำร้ายเจ้าหน้าที่และประชาชนอยู่แล้ว ฝ่ายรัฐมีหน้าที่เพียงสองประการคือ ไม่สร้างเงื่อนไขด้านละเมิดสิทธิมนุษยชนและมีขีดความสามารถในการควบคุมพื้นที่ให้ได้

การไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนจะทำได้ ก็ต้องเกิดจากการใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์เท่านั้นในการบังคับใช้กฎหมายและให้ตำรวจมีอำนาจเต็มในการดำเนินการ ในที่นี้คงไม่พูดถึงเรื่องการปฏิบัติการทางยุทธวิธีที่สมควร แต่แนะนำให้นำหลักยุทธวิธีของซุนวู ซุนปิง และเหมา เจ๋อ ตุง มาศึกษา เพราะฝ่ายก่อความไม่สงบยึดแนวทางตามนี้มาโดยตลอดและชำนาญขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อควบคุมการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้แล้ว ที่เหลือจะเป็นเรื่องการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินล้วนๆ และต้องให้ตำรวจเป็นผู้ออกหน้าดำเนินการเพื่อที่จะปิดเงื่อนไขการเป็นพื้นที่สงครามลงให้ได้ แนวทางก็คือการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยอย่างเต็มรูปแบบ พื้นที่แค่ ๓ จังหวัดประชากรเพียง ๒ ล้านคนเศษๆเท่านั้นไม่ได้มากหรือกว้างใหญ่ไพศาลเกินไป โดยมีแนวทางดังนี้

ใช้เครื่องตรวจจับความร้อนและกล้องประจำอยู่ทุกชุมชน ตลาด อำเภอ ติดอยู่กับบอลลูนขนาดเล็ก เมื่อเกิดเหตุ ซึ่งมักเกิดในเขตชุมชนอยู่แล้ว ก็จะสามารถติดตามการเข้าทำการของคนร้ายได้ จากนั้นโดรนติดกล้องที่ควรมีประจำอยู่ทุกสถานีตำรวจก็จะบินขึ้นเพื่อรับมอบพื้นที่ต่อจากกล้องประจำบอลลูน เพื่อติดตามไล่ล่าผู้กระทำความผิดซึ่งทำได้ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน อาจมีข้อแย้งว่าใน ๓ จังหวัดลมแรง ก็ขอให้ใช้โดรนที่ตัวใหญ่ แข็งแรงหน่อย เพราะในเขตทะเลทรายที่ร้อนและลมพัดแรงก็ยังใช้งานได้ดี ในพื้นที่เขตเมืองหรือเขตชุมชนนั้นไม่น่าเป็นการยากเกินไป ยิ่งไปกว่านั้นหากมีการยิงเกิดขึ้น ปกติจะสามารถบอกทิศทางและระยะได้ จากนั้นกล้องวงจรปิดในพื้นที่ซึ่งต้องเปลี่ยนระบบใหม่เป็นดิจิตอลทั้งหมด ต้องสามารถหันไปยังทิศที่มีปืนอยู่โดยอัตโนมัติไม่ต้องคอยคนบังคับ จากนั้นก็จะไล่ล่าได้

ในท้องถนนปกติจะพบระเบิดฝังอยู่ตั้งแต่เวลากลางคืน ก็ใช้โดรนบินเงียบเวลากลางคืน มีการกำหนดเส้นอันตรายไว้ทั้งที่ในเมืองและนอกเมืองว่าหากมีใครมาทำกิจกรรมอยู่ที่เดิมก็ให้แจ้งเตือน หรือมีการนำรถมาทิ้งไว้โดยไม่ใช่ทะเบียนที่คุ้นเคย ก็มีการแจ้งเตือน หรือหากใครหยิบอาวุธ ระเบิดขึ้นมากล้องต้องแจ้งเตือนพร้อมระบุชนิด ประเภทของอาวุธนั้นได้ ปัจจุบันนี้ใช้คนนั่งเฝ้าจอ CCTV ซึ่งคงเหนื่อยล้า และเมื่อเกิดเหตุก็ไม่มีการไล่ติดตามเพราะกลัวกับดัก รอจนเช้าแล้วจึงเอาเทปออกมาดู ซึ่งทุกอย่างสายไปแล้ว ทั้งๆที่สามารถใช้ประโยชน์จากกล้องทั้งหลายในการติดตามตั้งแต่เวลากลางคืนด้วยโดรนผสมกับกล้องประจำที่แล้ว

เมื่อสามารถไล่ติดตามในเมืองได้ทุกครั้ง ต่อไปผู้ก่อเหตุก็จะอยู่แต่ในหมู่บ้าน คราวนี้ ก็ใช้การเข้าหาประชาชนแล้วทำการตรวจเขม่าดินปืน หรือ สารระเบิด ก็จะพบตัวได้ง่าย ทำให้คนร้ายไม่กล้าปฏิบัติการมากขึ้น ครั้นจะหลบทำกลางคืนโดรนที่บินลาดตระเวนเงียบๆก็จะจับพิรุธได้เช่นกัน

เมื่อไม่สร้างเงื่อนไขใหม่จากการละเมิดสิทธิมนุษยชน เมื่อสามารถกดดันไม่ให้สามารถปฏิบัติการก่อเหตุร้ายได้ง่ายๆ บุกเข้าไปถึงในหมู่บ้านพิสูจน์ทราบการใช้เขม่าดินปืน จากนั้นเปิดช่องให้มอบตัวโดยเป็นเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางไม่ใช่ตำรวจหรือทหารคู่กรณี ขั้นต้นอาจตกลงกับประเทศเพื่อนบ้านให้คนกลับใจไปพักแรม เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบคดีความเพื่อให้ทราบว่าโดนกลั่นแกล้ง ใส่ความมาหรือไม่หรือตกใจหนีกันมาเองโดยไม่มีคดี ดึงเอาคนเหล่านี้ออกมาก่อน จากนั้นจึงค่อยๆคืบคลานไปหาผู้ก่อเหตุรุนแรงโดยความสมัครใจ ก็จะทำให้เป้าหมายผู้เป็นศัตรูลดน้อยลง เหลือเฉพาะแกนกลางสำคัญๆ และอาจมีข้อตกลงบางอย่างเพื่อยุติปัญหาลงง่ายๆก็ได้ แต่ต้องคำนึงเสมอว่าต้องเป็นตัวจริงที่ปฏิบัติการในพื้นที่เท่านั้น นักการเมือง นักต่อรองควรตัดออกไป ไม่ช้าความสงบก็จะมาถึงเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image