อารมณ์ การเมือง ภายใน ‘ประชาธิปัตย์’ อ่อนไหว ประณีต

อาการขวัญเสียของพรรคประชาธิปัตย์อย่างที่ นายจุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรค ออกมายอมรับและปลอบประโลมดำเนินไปในลักษณะ 2 ด้าน

ด้าน 1 มาจากผลสะเทือนของคำคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560

ขณะเดียวกัน ด้าน 1 ผลสะเทือนในลักษณะเช่นนี้เมื่อผ่านการทำความเข้าใจตามความเป็นจริงน่าจะส่งผลดี มากกว่าผลเสีย

นั่นก็คือ รู้ว่าใครเป็น “มิตร” ใครเป็น “ศัตรู”

Advertisement

นั่นก็คือ รู้ด้วยว่ามิตรที่อยู่ภายใน แสดงว่าเป็นพวกเดียวกัน นั่นแหละมีโอกาสแปรเปลี่ยนและกลับกลายเป็นศัตรูที่ร้ายกาจ เลือดเย็นอย่างที่สุด

ใครกันเล่าที่เสนอแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง

ใครกันเล่าที่มีอิทธิพลอย่างเป็นจริง กระทั่งไม่จำเป็นต้องแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง หากแต่ออกมาเป็นคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560

Advertisement

กระเทือนถึง 2.8 ล้านคนโดยพลัน

ไม่เพียงแต่จะต้องทบทวนจากคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 เท่านั้นหรอก หากแต่จำเป็นต้องย้อนไปยังก่อนสถานการณ์รัฐประหารเดือนกันยายน 2549 ด้วยซ้ำ

ตอนนั้น บทบาทพรรคประชาธิปัตย์อาจยังไม่โดดเด่น

เพราะด้านหลักก็ยังเป็นการร่วมกับพันธมิตรในแนวร่วมบางพรรคการเมืองเพื่อร่วมกัน “บอยคอต” การเลือกตั้ง

กับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็เพียงแตะเบาๆ

การจัดวางบทบาทของพรรคประชาธิปัตย์ก่อนและหลังรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 อาจส่งผลให้ได้เป็นรัฐบาลหลังพรรคพลังประชาชนระส่ำระสายนับแต่เดือนพฤศจิกายน 2551

แต่ก็ต้องประสบเข้ากับความพ่ายแพ้ในเดือนกรกฎาคม 2554 อีก

สถานการณ์นี้ผลักรุนให้ภายในพรรคประชาธิปัตย์เลือกที่จะเล่นบทเหมือนกับที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเล่นผ่าน “กปปส.”

และนำไปสู่รัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 ในที่สุด

หากเปรียบเทียบระหว่างรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 กับ รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ต่อพรรคประชาธิปัตย์

เหมือนกับเมื่อเดือนกันยายน 2549 จะเป็นคุณ

อย่างน้อยก็ส่งผลให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นรองนายกรัฐมนตรี

แต่พอมาถึงรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557

รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อาจเข้าข่ายเป็น “รัฐบาลของเรา” ตามการนิยามของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ

แต่ก็ไม่แน่ว่าจะเป็นรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์

ยิ่งเมื่อคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 53/2560 ประกาศและบังคับใช้ ยิ่งแจ่มชัดว่าพรรคประชาธิปัตย์ถูกกวาดไปรวมอยู่กับพรรคเพื่อไทยแล้วอย่างบริบูรณ์

นั่นก็คือ เป็นเป้าหมายที่จะต้องถูก “จัดระบบ”

ผลสะเทือนจะทำให้จำนวนสมาชิกพรรค 2.8 ล้านคน อันสะสมมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2489 แตกกระจายหรือไม่น่าพิจารณาอย่างจริงจัง

สถานการณ์เช่นนี้ไม่เพียงแต่พรรคประชาธิปัตย์จำเป็นต้องปลอบขวัญสมาชิกของตน หากแต่ข้อเสนอของอดีตหัวหน้าพรรคท่านหนึ่งก็ดังก้องขึ้น

รู้แล้วหรือยังว่าใครเป็นมิตร ใครเป็นศัตรู

รู้แล้วหรือยังว่าใครขยายผลแห่งความขัดแย้ง แตกแยกในสังคม และอาศัยความขัดแย้ง แตกแยกนั้นมาเป็นภักษาหารอันโอชะ

หากป่านนี้ยังตอบไม่ได้ก็เหนื่อยเป็นอย่างยิ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image