เสรีภาพในอุ้งมือ กับความหวังดีภาคบังคับ โดย : กล้า สมุทวณิช

ข่าวที่บริษัท Apple Computer ออกมายอมรับอย่างเป็นทางการว่าได้ปรับลดความเร็วของโทรศัพท์ iPhone รุ่นเก่าลงไปประมาณ 50% จริง โดยอ้างเหตุผลว่า เพื่อป้องกันเครื่องมีปัญหาในการใช้งานในกรณีที่แบตเตอรี่เสื่อมสภาพลงตามอายุขัย กลายเป็นข่าวใหญ่ในวงการ Gadgets ส่งท้ายปี

การออกมายอมรับของบริษัทผู้ผลิตครั้งนี้ เป็นการตอบคำถามที่ผู้ใช้งาน iPhone ส่วนใหญ่คาใจกันมานานแล้ว ว่าทำไมเมื่อมีข่าวการเปิดตัวโทรศัพท์ยี่ห้อนี้รุ่นใหม่ทีไร ก็พบว่าโทรศัพท์ในมือของตัวเองมีอันช้าลงและเรรวนขึ้นมาเฉยๆ ซึ่งบางคนก็คิดว่าเป็น “อุปาทาน” ตามปกติที่เราจะรู้สึกว่าข้าวของเครื่องใช้ของเราเก่าลงหรือมีข้อตำหนิขึ้นมาทันที เมื่อเห็นว่ามีของรุ่นใหม่ที่น่าสนใจกว่าปรากฏขึ้นมาต่อหน้า

กระนั้นก็มีบ้างที่อาจจะคิดแบบมีเหตุมีผลว่า ความที่โทรศัพท์รุ่นเก่านั้นช้าลง ก็เพราะการตามอัพเดต Software ระบบปฏิบัติการเวอร์ชั่นใหม่ที่ออกแบบไว้เพื่อรองรับ Hardware เครื่องรุ่นใหม่ซึ่งมีการประมวลผลที่รวดเร็วกว่า ส่วนเครื่องรุ่นเก่านั้นก็ไม่สามารถทำงานกับระบบปฏิบัติการใหม่ได้เต็มที่ก็เลยสัมผัสได้ถึงความเร็วที่ลดลง เช่นนี้ผู้ใช้ที่มีประสบการณ์ก็มักจะไม่ค่อยอัพเดตระบบปฏิบัติการเพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว

แต่ไม่ว่าจะเคยสันนิษฐานไว้อย่างใด คงมีน้อยคนนักที่จะคาดคิดไว้ว่า ทางบริษัทผู้ผลิตจะใช้วิธีการลดความเร็วของตัวประมวลผลซึ่งเท่ากับเป็นการลดประสิทธิภาพของ Hardware กันดื้อๆ เช่นนี้

Advertisement

ความจริงเรื่องนี้ส่งผลสะเทือนและสร้างความรู้สึกโกรธเคือง หรือเสื่อมศรัทธาอย่างยิ่งต่อผู้ใช้ iPhone ทั่วโลก เพราะมันไม่ใช่ว่าด้วยการใช้งานของผู้ใช้เองที่ทำให้โทรศัพท์ต้องเสื่อมถอยหรือสึกหรอไปตามสภาพ แต่เป็นเพราะบริษัทผู้ผลิตเป็นผู้กำหนดให้โทรศัพท์ในมือเรา “ลด” ประสิทธิภาพ หรือเสื่อมค่าไป

แม้ว่าทางบริษัทผู้ผลิตจะให้เหตุผลว่า การลดความเร็วการประมวลผลของเครื่องรุ่นเก่าลงนี้ เป็นไปเพื่อป้องกันกรณีเครื่องดับหรือค้าง เนื่องจากแบตเตอรี่ภายในเครื่องเสื่อมสภาพลงตามอายุการใช้งาน ซึ่งจะมองว่าเป็น “ความหวังดี” ไม่อยากให้ผู้ใช้งานมีประสบการณ์ที่ไม่ดี คืออยู่ดีๆ โทรศัพท์ที่กำลังใช้งานอยู่ดับไปเฉยๆ ซึ่งอาจจะทำให้งานการหรือข้อมูลสำคัญเสียหาย ดังนั้นการที่เครื่องทำงานช้าลงหน่อย ดีกว่าดับไปเฉยๆ น่าจะดีกว่ามิใช่หรือ

แต่ปัญหาที่ทำให้ผู้ใช้ส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นข้อแก้ตัวที่ฟังไม่ขึ้น ก็เพราะ Apple ไม่เคยบอกกลไกการทำงานนี้ให้ผู้ใช้ทราบล่วงหน้า ว่าสาเหตุของการที่เครื่อง iPhone ช้าลงนี้เกิดจากระบบป้องกันความเสียหายจากการเสื่อมถอยของแบตเตอรี่ ซึ่งถ้าเอาไปเปลี่ยนเฉพาะแบตเตอรี่ ปัญหานี้ก็จะหายไป ข้อมูลนี้ไม่เคยได้รับการเปิดเผย ดังนั้นผู้ใช้ที่อดรนทนไม่ได้กับการที่โทรศัพท์ในมือนั้นทำงานช้าไม่ทันใจ ก็ต้องแก้ไขด้วยการซื้อเครื่องใหม่

Advertisement

เช่นนี้กลไกการ “รักษาประสบการณ์การใช้งาน” ด้วยการปรับลดความเร็วของการประมวลผลลงนี้ จึงถูกมองว่าเป็นไปเพื่อการบีบให้ผู้ใช้งานต้องเปลี่ยนเครื่องด้วยการซื้อใหม่ (ซึ่งมีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยรุ่นล่าสุดคือ iPhone X มีราคาเริ่มต้นที่ประมาณสี่หมื่นบาทไทย) โดยไม่ทราบว่ามีทางเลือกอื่นที่จะใช้งานอุปกรณ์ของตนต่อไปได้ โดยอาจจะจ่ายเงินน้อยกว่า

ที่สำคัญที่สุด คือการไม่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานสามารถเลือกได้ว่า ในกรณีที่แบตเตอรี่เริ่มเสื่อมลงแล้ว ท่านจะเลือกวิธีใด ระหว่างใช้ไปแบบช้าๆ ประสิทธิภาพการทำงานลดลง หรือทำงานด้วยความสามารถและความเร็วเท่าเดิม แต่เสี่ยงว่าเครื่องอาจจะค้างหรือดับได้ถ้าระบบการจ่ายไฟมีปัญหา

อันที่จริงก่อนหน้านี้ก็เคยมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนอะไหล่ของโทรศัพท์สมาร์ทโฟนยี่ห้อนี้เป็นประเด็นขึ้นมาแล้ว เมื่อมีรายงานจากผู้ใช้งานทั่วโลกว่า เมื่อนำ iPhone ไปซ่อมด้วยการเปลี่ยนอะไหล่ที่ไม่ได้เป็นของทางบริษัทผู้ผลิตแล้ว หากมีการอัพเดตระบบปฏิบัติการ จะพบว่าเครื่องไม่สามารถใช้งานต่อไปได้ ซึ่งเท่ากับเป็นการบีบให้ลูกค้าจะต้องนำเครื่องเข้าซ่อมกับตัวแทนของบริษัทผู้ผลิตที่ใช้อะไหล่แท้เท่านั้น (ซึ่งในหลายกรณี ค่าเปลี่ยนอะไหล่แท้ก็สูงพอที่จะชวนให้ลังเลว่าจะซ่อมหรือซื้อเครื่องใหม่ดี) แต่เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ “ว่าได้ยาก” เพราะยังพอมีความชอบธรรมของผู้ผลิตในการหวงกันให้ใช้แต่อะไหล่แท้ในการซ่อมเครื่องของตัวเองอยู่

ด้วยเหตุนี้ หลังจากการออกมายอมรับเรื่องการปรับลดความเร็วของเครื่องรุ่นเก่าดังกล่าว จึงมีข่าวว่าผู้ใช้งาน iPhone ในสหรัฐอเมริกา เตรียมตัวรวมกันฟ้องบริษัท Apple ด้วยการดำเนินคดีแบบกลุ่มกันแล้ว ซึ่งผลของการดำเนินคดีน่าจะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้งานโทรศัพท์สมาร์ทโฟนยี่ห้อนี้ทั้งโลกด้วยในอนาคต

ข่าว “ดราม่า” เรื่อง iPhone ที่เล่าไปทั้งหมดนี้ เป็นตัวอย่างเล็กๆ ที่ทำให้เราได้เห็นถึงสิทธิและเสรีภาพสำคัญของเรื่องที่ใหญ่กว่า คือสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และเสรีภาพในการเลือก

และสิทธิในการได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารนั้นก็ผูกพันกับเสรีภาพในการเลือกอย่างเกื้อหนุนกัน เพราะการที่เราจะได้ “เลือก” อะไรสักอย่างนั้น เราควรได้รู้ถึงข้อดีข้อเสียของตัวเลือกแต่ละทางอย่างถ่องแท้กว้างขวางที่สุด เพื่อที่เราจะได้ตัดสินใจได้ เพราะเมื่อเราตัดสินใจไปในทางใดแล้ว เราต้องยอมรับในผลของการตัดสินใจอันคาดหมายได้จากการได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารนั้น

การที่ใครสักคนอ้างความ “หวังดี” ต่อเรา ด้วยการ “จัดแจง” ทำอะไรสักอย่างให้เราโดยไม่บอกข้อมูล หรือไม่ให้เหตุผลใด โดยอ้างว่าการจัดการของเขา และการตัดสินใจของเขานั้น “ดีที่สุด” หรือ “เหมาะสมที่สุด” สำหรับเราแล้ว จึงไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ยอมรับได้

การปิดโอกาสการตัดสินใจของเราโดยคิดแทนไปว่าจะมีประโยชน์ต่อเราที่สุดนั้น ที่แท้แล้วผู้ที่ตัดสินใจไปเช่นนั้นจะรู้ได้อย่างไรว่า ที่แท้แล้วทางใดหรือประโยชน์แบบใดกันแน่ที่เราต้องการ และยิ่งกว่านั้น การปกปิดข้อมูลที่อยู่เบื้องหลังกลไกนั้นก็ทำให้เราไม่สามารถที่จะตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง และหลงคิดไปว่า ทางที่เขาเลือกมาให้เรานั้นอาจจะเป็นทางเลือกที่ถูกต้องแล้วก็ได้

และเราเองก็ไม่อาจจะแน่ใจได้เลยว่า การที่เขาเข้ามา “คิดแทน” เรา โดยไม่ให้เราได้รับรู้ข้อมูลใดๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจนั้น เป็นไปเพื่อ “ประโยชน์” ของเรา หรือ “ประโยชน์” ของผู้ที่มาคิดแทนเราหรือไม่

การได้เลือก หรือการตัดสินใจในชะตากรรมของตัวเอง โดยการได้รู้ข้อมูลที่จำเป็นต่อการตัดสินใจทุกทางนั้น จึงถือเป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ ที่ไม่ควรที่จะถูกจำกัดลิดรอนไป

เช่นนี้ ระบอบการปกครองที่สอดคล้องกับหลักการที่เปิดโอกาสให้เราได้ “เลือก” ชะตากรรมของเราเอง ก็คือการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่ไม่ใช่แต่เฉพาะการกำหนดทางเลือกของตัวเราเองผ่านการออกเสียงเลือกตั้งหรือประชามติตลอดจนกิจกรรมทางการเมืองต่างๆ เท่านั้น แต่ระบอบประชาธิปไตยที่จะทำงานได้อย่างเต็มรูปแบบนั้น จะต้องเปิดโอกาสให้เราได้รับรู้ข้อมูล “ทางเลือก” ทั้งหมดที่เรามี

และสามารถอภิปรายถึงตัวเลือกทั้งหลายเหล่านั้นได้อย่างเสรีทุกแง่มุม เพื่อที่จะประมวลผลได้ในที่สุดว่า ทางเลือกนั้นจะพาเราไปสู่ผลอย่างไรในอนาคต

ในทางกลับกัน ระบอบการปกครองที่ตรงข้ามกับประชาธิปไตย จึงเป็นระบอบการปกครองที่ลดและจำกัดเสรีภาพในการเลือกของผู้คนให้เหลือน้อยที่สุดหรือจนถึงขนาดที่ไม่มีเลย โดยผู้ปกครองนั้นตัดสินใจเบ็ดเสร็จ อ้างว่าการตัดสินใจของคณะผู้ปกครองนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดแล้ว ไม่ต้องคิดถึงหรือจำเป็นต้องหาทางเลือกอื่น

นอกจากนั้นในระบอบดังกล่าวก็จะลิดรอนสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของผู้คน ตลอดจนจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างเคร่งครัด เพราะถ้าผู้คนมี “ข้อมูล” มากเท่าไร และสามารถอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึง “ทางเลือก” ได้หลากหลายแง่มุมมากขึ้นเพียงใด ย่อมจะเกิดคำถามว่าสิ่งที่ผู้ปกครองเลือกมาให้นั้น เหมาะสมแล้วหรือมีทางเลือกอื่นๆ ที่ดีกว่าหรือไม่

รวมถึงอาจจะตั้งคำถามว่า ที่แท้แล้ว “ทางเลือก” ภาคบังคับนั้น จะเป็นประโยชน์ต่อใครกันแน่ ระหว่างผู้ที่เลือก หรือผู้ต้องรับชะตากรรมจากการเลือกนั้น

แน่นอนว่ายังมีคนจำนวนหนึ่งที่อาจจะชื่นชอบกับการที่ไม่ต้องเลือก หรือเชื่อมั่นในสิ่งที่มีผู้เลือกมาให้ และก็ยินดีที่จะอยู่ใต้การปกครองในรูปแบบเช่นนั้น ส่วนหนึ่งเพราะพวกเขานั้นอาจจะได้ประโยชน์ไปกับสิ่งที่ “ถูกเลือก” มาให้นั้น หรืออย่างน้อยก็อาจจะไม่เสียประโยชน์จากทางเลือกนั้น เช่นนี้คนเหล่านั้นก็จะไม่เห็นคุณค่าของการ “มีสิทธิเลือก” จนกว่าจะเป็นฝ่ายเสียประโยชน์

ก็เหมือนกับผู้ใช้งานส่วนหนึ่ง ที่แม้จะรู้ว่าบริษัทผู้ผลิตนั้นใช้วิธีการลดความเร็วของเครื่องรุ่นเก่าลง ก็อาจจะไม่รู้สึกอะไร บางคนก็อาจจะเพราะไม่ได้คิดจะอัพเดตระบบปฏิบัติการอยู่แล้ว หรือไม่ก็มีโทรศัพท์สมาร์ทโฟนไว้แค่ส่งข้อความอวยพรยามเช้ากับญาติมิตร เช่นนี้เครื่องจะทำงานช้าลงบ้างก็อาจจะไม่รู้สึกเดือดร้อนอะไร รวมถึงบางคนก็อาจจะยักไหล่แล้วบอกว่า นี่ไม่ใช่ปัญหาเลย เครื่องทำงานช้าลง ฉันก็ซื้อเครื่องใหม่เท่านั้น จะราคาเท่าไรก็มีเงินจ่าย

และก็มีกรณีของ “ผู้จงรักภักดี” ที่เหนียวแน่น แม้จะได้รู้ข้อมูลเช่นนั้นแล้ว และแม้ว่าจะมีปัญหาอุปกรณ์ของตนใช้งานได้ช้าหรือไม่เต็มประสิทธิภาพ โดยที่ไม่มีเงินขนาดจะซื้อเครื่องใหม่ได้เร็ววัน แต่ด้วยว่าตัวเองนั้นเป็น “สาวก” ค่ายนี้เสียแล้วก็ไม่กล้าบ่นว่าอะไร เชื่อว่าบริษัทเขาเลือกทางที่ดีที่สุดให้แล้ว ก็เก็บหอมรอมริบกันไปให้สักวันถ้ามีเงินพอซื้อเครื่องใหม่ได้เมื่อไร ก็จะพ้นจากปัญหานี้ได้เฉพาะตน

คนทั้งสามกลุ่มที่กล่าวมานี้คงยังไม่รู้ว่าความหวังดีภาคบังคับเป็นปัญหา จนกว่าจะถึงวันที่ตัวเองเสียประโยชน์จากระบบนั้น

แต่อย่างไรก็ตาม ลำพังถ้าเป็นเรื่องของเสรีภาพในการเลือกของโทรศัพท์สมาร์ทโฟนนั้นคงไม่มีปัญหาเท่าใดนัก เพราะในที่สุดแล้ว เรายังมีสิทธิเลือกได้อยู่ดี ว่าเราจะใช้ iPhone และอยู่ใต้ระบบที่กำหนดโดยบริษัท Apple นี้ต่อไป หรือจะเปิดใจไปสู่โลก Android ที่มีอีกหลายยี่ห้อให้เราเลือกได้อยู่

แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ใหญ่กว่านั้น อย่างถ้าไม่พอใจระบอบการปกครองแบบ “คุณพ่อรู้ดี-คุณพี่เลือกให้” เสียแล้ว ทางเลือกที่ยังเหลือก็อาจจะถึงกับต้องหาประเทศใหม่อยู่ ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนเปลี่ยนค่ายสมาร์ทโฟนแน่ๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image