โศกนาฏกรรมของการปฏิรูปทางการเมืองในพม่า โดย : ลลิตา หาญวงษ์

คอลัมน์ “ไทยพบพม่า” ได้มาพบกับท่านเกือบ 1 ปีเต็มแล้วในเดือนมกราคมที่จะถึงนี้ ในขวบเดือนแรกๆ ของคอลัมน์นี้ ผู้เขียนตั้งใจให้คอลัมน์เป็นที่รวบรวมเกร็ดทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของพม่าบางส่วน แต่เมื่อเวลาผ่านไป พร้อมกับความผันแปรของการเมืองภายในพม่า ผู้เขียนจึงอดมิได้ที่จะหยิบเรื่องการเมืองของพม่ามาพูด (และบ่น) ถึงอยู่เนืองๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าความพยายามปฏิรูปทางการเมืองในยุคนี้ได้เปิดให้เห็นความฟอนเฟะของระบบราชการ ระบบอุปถัมภ์ ลัทธิคลั่งชาติ และอำนาจบารมีของกองทัพ ที่หมักหมมมายาวนานหลายสิบปี การเข้าใจจุดอ่อนของการเมืองและสังคมพม่าอาจทำให้เรามองพม่าด้วยสายตาเป็นกลาง และไม่ “โลกสวย” จนเกินไป ต้องออกตัวก่อนว่าผู้เขียนมิได้มองสังคมและการเมืองพม่าในแง่ลบทั้งหมด แต่ผู้ที่ติดตามและเอาใจช่วยรัฐบาลพม่าของออง ซาน ซูจี มาโดยตลอดก็คงจะเล็งเห็นสิ่งหนึ่งเหมือนกันว่าความเปลี่ยนแปลงในพม่าช่างเกิดขึ้นช้าเหลือเกิน และเหมือนกับว่าจะเต็มไปด้วยอุปสรรคนานัปการ

ในโอกาสนี้ ผู้เขียนอยากจะขอสรุปบทเรียนของพม่าในรอบปีออกเป็น 3 ประเด็นใหญ่ ทั้งหมดนี้เป็นประเด็นที่ครอบงำรัฐพม่าร่วมสมัยและเป็นสิ่งที่ผู้เขียนมองว่าเป็นอุปสรรคของการพัฒนา ยังคงต้องจับตาดูกันต่อไปในปีหน้า และจะยังเป็นอุปสรรคต่อการสร้างระบอบประชาธิปไตยไปอีกเนิ่นนาน

อุปสรรคแรกคือนิยามของ “ประชาธิปไตย” ที่แม้จะเคยมีผู้นิยามไว้ แต่เช่นเดียวกับสังคมอีกหลายแห่งทั่วโลก สังคมพม่ามองว่าประชาธิปไตยเป็นเรื่องเสรีภาพทางการเมือง กล่าวคือหมายถึงการเข้ามารับตำแหน่งของรัฐบาลพลเรือน มีการเลือกตั้ง และมีการจำกัดอำนาจของกองทัพ แต่ในความเป็นจริงประชาธิปไตยมีความหมายใกล้เคียงกับเสรีภาพและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนทุกคนในประเทศ เมื่อมีวิกฤตโรฮีนจาเกิดขึ้นตั้งแต่หลายปีก่อน และรุนแรงขึ้นจนทั่วโลกมองว่าเป็น “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ในพม่า สังคมพม่ากลับมองว่าชาวโรฮีนจาเป็นผู้อพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย และพยายามผลักดันชาวโรฮีนจาออกไป เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือสิทธิมนุษยชนกลายเป็นเรื่องต้องห้ามที่สังคมพม่าพยายามหลีกเลี่ยงไม่พูดถึง หรือหากแม้นมีผู้กล้าพูดถึงประเด็นต้องห้ามเหล่านี้ ก็มักจะถูกมองด้วยสายตาเหยียดหยาม บ้างถูกมองว่าเป็นเหยื่อของสำนักข่าวต่างประเทศที่มุ่งนำเสนอข้อมูลเท็จเกี่ยวกับรัฐบาลพม่าและชาวโรฮีนจา ทั้งชาวพม่าและชาวต่างประเทศในพม่าที่หยิบยกเรื่องสิทธิมนุษยชนขึ้นมาพูดถึงและแสดงความเห็นอกเห็นใจชาวโรฮีนจาจะถูกแขวนป้ายว่า “ไม่มีความเข้าใจสังคมพม่าดีพอ” หรือที่แย่ไปกว่านั้นคือถูกไล่ให้ไปอยู่ที่อื่น

อุปสรรคประการที่สองคือกองทัพพม่า ที่แม้รัฐธรรมนูญจะลดทอนสิทธิของกองทัพลงไป แต่ในทางปฏิบัติ ลัทธิทหารยังครอบงำพม่าอยู่ไม่เสื่อมคลาย โรงเรียนนายร้อยเป็นความฝันของหนุ่มพม่าจำนวนมาก และอาชีพรับราชการทหารก็ยังเป็นอาชีพรับราชการที่คนหนุ่มพม่าใฝ่ฝันมากที่สุด ผู้เขียนเคยสอบถามเพื่อนๆ ชาวพม่าหลายครั้งว่าเหตุใดชาวพม่าจึงมีค่านิยมอยากส่งบุตรหลานเข้าไปเป็นทหาร ทั้งๆ ที่ประชาชนส่วนมากรู้สึกเอือมระอากองทัพ หรือ “ตั๊ดม่ะด่อ” ที่ผูกขาดอำนาจบริหารยาวนานตั้งแต่ปี 1962-2010 (พ.ศ.2505-2553) นับเป็นเวลาเกือบ 5 ทศวรรษ คำตอบที่ได้มักเป็นคำตอบเดิมๆ ที่ว่าผู้ปกครองย่อมอยากให้ลูกหลานมีอาชีพที่มั่นคงและเป็นที่นับหน้าถือตาของคนในสังคม นั่นหมายความว่าแท้ที่จริงแล้วสังคมพม่ามิได้รังเกียจทหาร เพียงแต่ชิงชังผู้นำกองทัพและนายทหารระดับสูงอีกจำนวนหนึ่ง ที่ทำให้เศรษฐกิจของพม่าล่มจม และทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของตนยากแค้น แต่สังคมพม่าไม่ได้รังเกียจ “กองทัพ” และยิ่งไม่ได้รังเกียจอาชีพรับราชการทหาร ลัทธิทหารที่อยู่คู่กับพม่ามานานทำให้ประชาชนชาชินกับการใช้อำนาจและระบบอุปถัมภ์ที่มีให้เห็นทั่วไปตั้งแต่ระดับสูงสุดจนถึงต่ำสุด และก็ไม่น่าแปลกใจที่เมื่อมีวิกฤตโรฮีนจาเกิดขึ้น และการประณามของนานาชาติ ชาวพม่าบางส่วนจะกลับไปซบอกกองทัพ เรียกร้องให้กองทัพจัดการชาวโรฮีนจาขั้นเด็ดขาด โทษฐานที่ทำให้ประเทศของตนเสื่อมเสียชื่อเสียง ถึงกับมีการรวมตัวกันของชาวพม่านับพันคนเดินขบวนเพื่อสนับสนุนกองทัพพม่าเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

Advertisement

อุปสรรคประการที่สามคือการผูกขาดประชาธิปไตยของพรรคเอ็นแอลดี ที่ชื่อก็บอกแล้วว่าเป็น “พรรคสันนิบาตเพื่อประชาธิปไตยแห่งชาติ” ในปลายทศวรรษ 1980 หรือราว พ.ศ.2531 เมื่อพรรคเอ็นแอลดีถือกำเนิดขึ้น บรรยากาศทางการเมืองในพม่าตึงเครียดอย่างยิ่ง ด้วยปัญหาทางเศรษฐกิจที่เรื้อรังอันเกิดจากการปิดประเทศมาหลายสิบปี การผูกขาดอำนาจของกองทัพภายใต้นายพลเน วิน และกระแสประชาธิปไตยที่กำลังมาแรงทั่วโลก (เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับการปฏิรูปของจีน เวียดนาม และเป็นช่วงก่อนการล่มสลายของสหภาพโซเวียต) ทำให้นิสิต-นักศึกษาและประชาชนพม่าออกมาเดินขบวนประท้วง การประท้วงตลอดปี 1988 เริ่มเป็นรูปเป็นร่างและมีจุดหมายเมื่อออง ซาน ซูจี ปรากฏตนขึ้นท่ามกลางผู้ชุมนุมหลายแสนคน ณ เจดีย์ชเวดากอง เธอก้าวเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรค และกลายเป็นสัญลักษณ์ของการเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า ด้วยความที่เธอถูกควบคุมตัวทั้งในบ้านพักและในเรือนจำอยู่รวมๆ กันเกือบ 15 ปี เธอจึงกลายเป็นวีรสตรีผู้มุ่งมั่นต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และยังเตือนให้ชาวพม่ารำลึกถึงนายพล
ออง ซาน บิดาของเธอด้วย

คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่าออง ซาน ซูจี ถูก “สร้าง” ขึ้นมาจากความไม่มั่นคงทางการเมืองของพม่าในทศวรรษ 1980 และ 1990 สังคมพม่ากำลังขาดวีรบุรุษหรือวีรสตรี เพราะภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร นายพลออง ซาน ถูกกันออกไป และถูกหลงลืมไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หน้าของออง ซาน ไม่ปรากฏอยู่บนธนบัตรพม่าตลอดยุคเผด็จการทหาร การประกอบสร้างออง ซาน ซูจี ขึ้นมาจึงมีความหมายอย่างยิ่งกับการเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า เท่ากับว่าขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยที่เดิมเป็นขบวนการนักศึกษา ได้กลายเป็นขบวนการของประชาชนในชาติแล้ว สำหรับชาวพม่าส่วนใหญ่ ประชาธิปไตยจึงหมายถึงการเลือกตั้งอย่างเป็นธรรม และการตั้งรัฐบาลพลเรือนภายใต้การนำของออง ซาน ซูจี เท่านั้น มิตรสหายในแวดวงการเมืองพม่าคนหนึ่งเคยเปรยกับผู้เขียนว่าประชาชนพม่าจะตัดสินใจเลือกพรรคเล็กพรรคน้อย (นอกเหนือจากพรรคของกลุ่มชาติพันธุ์) ก็ต่อเมื่อออง ซาน ซูจี ไปนั่งเป็นหัวหน้าพรรคเท่านั้น ความมีชื่อเสียงและการเป็นศูนย์กลางจักรวาลของประชาธิปไตยในพม่าทำให้เธอเปรียบประหนึ่ง “เจ้าแม่” การตัดสินใจทุกอย่างในพรรคเอ็นแอลดีต้องผ่านความเห็นชอบจากเธอก่อน

หากสรุปจากอุปสรรค 3 ชุดที่กล่าวมา อาจสรุปเป็นประโยคสั้นๆ ได้ว่าการเมืองพม่าพัฒนาไปได้อย่างเนิบช้าเพราะขาดพลวัต กล่าวคือ สังคมและการเมืองในพม่าถูกผูกขาดโดยคนเพียงไม่กี่กลุ่ม อำนาจเหนือรัฐธรรมนูญที่แท้จริงอยู่ในมือของกองทัพ ในขณะที่อำนาจที่จะตรึงฝ่ายประชาธิปไตยไว้ได้อยู่ที่ออง ซาน ซูจี เพียงผู้เดียว ดังนั้น หากพม่าจะพัฒนาต่อไป จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างพลวัต และตัวละครเหล่านี้ต้องคลายอำนาจที่ตนกุมไว้มาโดยตลอด ตัวละครที่สำคัญมากอีกกลุ่มหนึ่งคือชนกลุ่มน้อย ผู้เขียนมิได้กล่าวถึงชนกลุ่มน้อยในสัปดาห์นี้เพราะเห็นว่าเป็นประเด็นที่ใหญ่เกินไป แต่จะกล่าวถึงในสัปดาห์ต่อไป

Advertisement

เนื่องในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ 2561 ผู้เขียนขอให้ผู้อ่านทุกท่านมีความสุขทั้งกายและใจ และสำคัญที่สุดคือมีสุขภาพที่แข็งแรงกันทุกท่าน และขอสวัสดีปีใหม่เป็นภาษาพม่า “นิด ติ๊ด หม่า ปยอ ชวิน บ่า เซ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image