จริยธรรมในวิชาชีพทหาร อีกหนึ่งมาตรการสำคัญของข้าราชการทหารไทย : โดย พลโท ทวี แจ่มจำรัส

ตั้งแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 77 ที่กำหนดให้รัฐต้องจัดทำมาตรฐานทางคุณธรรมและจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ และพนักงานหรือลูกจ้างอื่นของรัฐเพื่อป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบและเสริมสร้างประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ และตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 279 วรรคสองได้กำหนดว่าในการจัดทำประมวลจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่ละประเภทนั้น จะต้องมีกลไกและระบบในการดำเนินงานเพื่อให้การบังคับใช้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งกำหนดขั้นตอนการลงโทษตามความร้ายแรงแห่งการกระทำ และในวรรคสาม ก็ให้ถือว่าการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมเป็นการกระทำผิดทางวินัยด้วย

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญยังได้กำหนดให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน (OMBUDSMAN) มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยตรง เสนอแนะหรือให้คำแนะนำในการจัดทำหรือปรับปรุงประมวลจริยธรรมและส่งเสริมให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐมีจิตสำนึกในด้านจริยธรรมอีกด้วย

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับล่าสุดที่ผ่านการลงประชามติไปแล้วก็ได้บัญญัติในแนวนโยบายแห่งรัฐ วรรคแรก รัฐพึงพัฒนาระบบบริหารราชการแผ่นดินทั้งราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่นและงานของรัฐอย่างอื่นให้เป็นไปตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี…รวมตลอดทั้งพัฒนาเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีความซื่อสัตย์สุจริตและมีทัศนคติเป็นผู้ให้บริการประชาชนให้เกิดความสะดวกรวดเร็วไม่เลือกปฏิบัติและปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ และในวรรคสาม รัฐพึงจัดให้มีมาตรฐานทางจริยธรรมเพื่อให้หน่วยงานของรัฐใช้เป็นหลักในการกำหนดประมวลจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานนั้นๆ

ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ให้ความหมายคำว่า “คุณธรรม” ว่า “สภาพคุณงามความดี” และให้ความหมายคำว่า “จริยธรรม” ว่าหมายถึง “ธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติ ศีลธรรม และกฎศีลธรรมในความเห็นของท่านศาสตราจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร หัวใจของคุณธรรมและจริยธรรมก็คือ การยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรมหรือ “INTEGRITY” ซึ่งมีความหมายลึกซึ้งและกว้างขวางมาก เพราะเป็นที่รวมของความถูกต้องทั้งหลายทั้งปวง และหากผู้ใดเป็นผู้ที่ยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรมแล้วก็ย่อมจะต้องประพฤติตนอยู่ในกรอบของคุณงามความดี กฎหมายและศีลธรรมเสมอ

Advertisement

ในประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีความเจริญเพราะประชาชนมีวินัยมาก มีวิชาหนึ่งชื่อว่าทางสู่จริยธรรมเพื่อเผชิญชีวิตในอนาคตในชั้นประถมปีที่หนึ่งถึงหก เยาวชนญี่ปุ่นจึงซึมซับเรื่องจริยธรรมตั้งแต่อายุยังน้อย

ผู้เขียนได้รับทราบว่าสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นหน่วยสนับสนุนทุนวิจัยหลักแห่งหนึ่งของประเทศไทย ได้ตระหนักดีว่าประเทศชาติมิอาจพัฒนาไปได้หากปัญหาด้านคุณธรรมและจริยธรรมของคนในสังคมไม่ได้รับการฟื้นฟูแก้ไข โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ผู้ประกอบอาชีพซึ่งเรียกได้ว่าเป็นบุคคลชั้นนำในสังคมประกอบวิชาชีพ โดยไม่เข้าใจหลักจริยธรรมในวิชาชีพของตนอย่างเพียงพอ อาจเกิดความเสียหายในวิชาชีพและกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางการพัฒนาประเทศได้ จึงสนับสนุนทุนวิจัยชุด “จริยธรรมในวิชาชีพ” 11 วิชาชีพสำคัญได้แก่ 1) วิชาชีพกฎหมาย 2) วิชาชีพนักธุรกิจ 3) วิชาชีพทหาร 4) วิชาชีพนักการเมือง 5) วิชาชีพข้าราชการพลเรือน 6) วิชาชีพตำรวจ 7) วิชาชีพแพทย์ 8) วิชาชีพพยาบาล 9) วิชาชีพสื่อมวลชน 10) วิชาชีพครู และ 11) วิชาชีพอาจารย์

จากเอกสารการสอน วิชาผู้นำของโรงเรียนเสนาธิการทหารบก พ.ศ.2558 ได้ให้คำจำกัดความวิชาชีพทหารหรือทหารอาชีพ (Military Professional) คือทหารที่มีความรู้ความชำนาญในวิชาชีพของตน พร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่ มีความรับผิดชอบในสิ่งที่ตนกระทำ ต้องมีหลักความประพฤติในสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมกับที่ประชาชนไว้วางใจ มีหน้าที่ป้องกันประเทศเป็นหลัก ต้องได้รับการฝึกฝนเรื่องการรบมาโดยตรงเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในการสงคราม คุณลักษณะของทหารอาชีพมี 4 ประการคือ 1) มีความสำนึกในการเป็นทหาร 2) ฝึกฝนตนเองให้มีความสามารถอย่างแท้จริง 3) มีความซื่อสัตย์สุจริต และ 4) มีความกล้าหาญ ทหารที่ไม่ถือว่าเป็นทหารอาชีพโดยไม่มีความสนใจและใส่ใจในการศึกษาและพัฒนาวิชาทหาร เรียกทหารเหล่านี้ว่า “อาชีพทหาร” (Military Occupation)

Advertisement

สำหรับทหารอาชีพนั้นจะเห็นแก่ชาติบ้านเมืองก่อนตัวเองและมีความระลึกอยู่เสมอว่าความรับผิดชอบของตนไม่สามารถจะทดแทนด้วยรางวัลอื่นใด เขาเหล่านั้นมีแรงจูงใจภายในที่จะทำเพื่อชาติและประชาชนด้วยการเสียสละชีวิตเมื่อจำเป็นได้

วิชาชีพทหารนั้นนอกจากเป็นบุคคลผู้ถืออาวุธในการป้องกันประเทศและรักษาความสงบเรียบร้อยให้เกิดขึ้นภายในชาติบ้านเมืองแล้ว ยังต้องช่วยพัฒนาประเทศและช่วยเหลือประชาชน หากข้าราชการทหารขาดหลักจริยธรรมในการปฏิบัติหน้าที่แล้วก็อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติรวมทั้งความปลอดภัยของประชาชนในชาติด้วย สังคมที่มีคนขาดจริยธรรมมากๆ ย่อมเป็นสังคมที่วุ่นวายไร้ความสงบสุข โดยกระทรวงกลาโหมได้กำหนดให้มีประมวลจริยธรรม เพื่อเป็นมาตรฐานความประพฤติและเป็นหลักปฏิบัติให้การปฏิบัติงานเป็นไปตามหลักคุณธรรม จริยธรรมตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ โดยได้ประกาศใช้ระเบียบกระทรวงกลาโหมว่าด้วยประมวล จริยธรรม พ.ศ.2551 ไว้แล้ว ที่สังคมควรรับทราบ และทวนความทรงจำให้แก่เพื่อนข้าราชการทหารอีกครั้ง เรียกว่าจริยธรรมในวิชาชีพทหาร (Ethics of Military Professional) สรุปได้คือ

1.ส่วนราชการ หมายความว่า ส่วนราชการขึ้นตรงต่อกระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ

2.ข้าราชการกระทรวงกลาโหม หมายความว่า ข้าราชการทหารตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบราชการทหารและหมายรวมถึงข้าราชการพลเรือนกลาโหม ทหารกองประจำการ นักเรียนในสังกัดกระทรวงกลาโหม เจ้าหน้าที่ทางทหาร พนักงานราชการ ลูกจ้างในสังกัดกระทรวงกลาโหม และบุคคลที่ทำหน้าที่ทหารตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด

3.ข้าราชการกระทรวงกลาโหมจักต้องยึดถือและปฏิบัติตามค่านิยมหลักของมาตรฐานจริยธรรม 14 ประการ ดังนี้

3.1 การเชิดชูและรักษาไว้ซึ่งพระบรมเดชานุภาพแห่งพระมหากษัตริย์เจ้า

3.2 การพิทักษ์รักษาปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์

3.3 การรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

3.4 การพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งเอกราช อธิปไตย และบูรณภาพแห่งเขตอำนาจรัฐ

3.5 การพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของชาติ ยึดถือประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน

3.6 การยืนหยัดทำในสิ่งที่ถูกต้องเป็นธรรมและถูกกฎหมาย

3.7 การให้การช่วยเหลือแก่ประชาชนด้วยความรวดเร็ว มีอัธยาศัย และไม่เลือกปฏิบัติ

3.8 การให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชน โดยไม่บิดเบือนข้อเท็จจริงภายใต้กรอบของกฎหมาย

3.9 การยึดมั่นในคุณธรรมและจริยธรรม

3.10 การมีจิตสำนึกที่ดี ซื่อสัตย์สุจริต และรับผิดชอบ

3.11 การมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ของงาน รักษามาตรฐาน และมีคุณภาพโปร่งใส ตรวจสอบได้

3.12 การยึดมั่นในระเบียบ คำสั่ง ข้อบังคับ และแบบธรรมเนียมของทหารอย่างเคร่งครัด

3.13 การเชิดชูและรักษาไว้ซึ่งเกียรติยศ เกียรติศักดิ์ของทหาร

3.14 การเชื่อถือผู้บังคับบัญชาและการปฏิบัติตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด ทั้งการปกครองผู้ใต้บังคับบัญชาด้วยความยุติธรรม

4.ผู้บังคับบัญชามีหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนเผยแพร่และปลูกฝังให้ข้าราชการกระทรวงกลาโหมที่ปกครองอยู่นั้นรับทราบ และยึดถือปฏิบัติตามค่านิยมหลักของมาตรฐานจริยธรรมอย่างเคร่งครัด

5.การฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามค่านิยมหลักของมาตรฐานทางจริยธรรมในระเบียบกระทรวงกลาโหมว่าด้วยประมวลจริยธรรม พ.ศ.2551 ถือเป็นการกระทำผิดวินัย จักต้องรับโทษหรือทัณฑ์ตามกฎหมายว่าด้วยวินัยทหารหรือแบบธรรมเนียมของข้าราชการทหารกระทรวงกลาโหมประเภทนั้นๆ

6.หากข้าราชการกระทรวงกลาโหมที่ถูกลงโทษหรือทัณฑ์ด้วยเหตุแห่งการฝ่าฝืนค่านิยมหลักของมาตรฐานจริยธรรมเห็นว่าไม่เป็นไปด้วยความเหมาะสมเป็นธรรม สามารถร้องทุกข์หรืออุทธรณ์ได้ตามกฎหมายว่าด้วยวินัยทหารแบบธรรมเนียมหรือวิธีการที่กระทรวงกลาโหมกำหนด

ในสภาพสังคมปัจจุบันทหารอาชีพทุกหน่วยและทุกคนได้ปฏิบัติหน้าที่หลายๆ อย่าง เพื่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ซึ่งตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติมให้ถือว่าเป็นหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ สังกัดอยู่ในฝ่ายบริหารต้องพึงระลึกไว้เสมอว่า จะกระทำการใดๆ ต้องมีฐานของกฎหมายให้อำนาจไว้ และต้องใช้อำนาจด้วยความเป็นธรรม โดยมีประมวลจริยธรรมในวิชาชีพทหารเป็นแนวทางในการปฏิบัติราชการถือเป็นมาตรฐานสากลที่สำคัญยิ่งของวิชาชีพทหาร

ทั้งนี้ เพื่อเป็นกำลังหลักที่สำคัญของชาติสืบต่อไปในอนาคตตราบนานเท่านาน

พลโท ทวี แจ่มจำรัส
ข้าราชการบำนาญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image