เด็ก : อนาคตของชาติ… : โดย เฉลิมพล พลมุข

คุณภาพชีวิตของคนในประเทศหรือในชาตินั้นเป็นเช่นไรต้องเริ่มตั้งแต่เด็กหรือเยาวชนที่ผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองได้กำหนดนโยบายในการบริหารจัดการชีวิตของเขาทั้งระบบการศึกษา สาธารณสุข สภาพแวดล้อม ความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตอาจจะรวมไปถึงระบบเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของผู้ปกครองเป็นผู้ออกแบบให้เขาได้เป็นคนหรือบุคลากรที่มีคุณภาพของประเทศชาติ

เด็กในวันนี้ก็คือผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า เป็นสิ่งที่เราท่านมิอาจจะปฏิเสธได้เนื่องด้วยชีวิตของเราท่านทั้งหลายก็ล้วนแล้วแต่ได้ผ่านชีวิตในวัยเด็กเยาวชน หรือวัยแห่งการเรียนรู้ชีวิตและได้รับการศึกษาเล่าเรียนในระบบการศึกษามาแล้วในระดับหนึ่ง ชีวิตของเด็กบางคนที่ได้ผ่านชีวิตเข้าสู่วัยทำงานและวัยผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีและการตายดี

เมืองไทยเราได้มีการจัดงานวันเด็กแห่งชาติเป็นครั้งแรกมาตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2498 เนื่องด้วยองค์การสหประชาชาติได้ให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี โดยมีปฏิญญาสากลที่ว่าด้วยสิทธิของเด็กโดยเริ่มแรกได้กำหนดให้เป็นวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม จนกระทั่งมาในปี พ.ศ.2506 ได้มีการเปลี่ยนแปลงให้จัดในวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

คำขวัญวันเด็กไทยมีขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2499 ในสมัยของจอมพลแปลก พิบูลสงคราม มีคำขวัญที่ว่า “จงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวม” เมื่อมาถึง พ.ศ.2504 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีคำขวัญว่า “ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่อยู่ในระเบียบวินัย” สมัยของ จอมพลถนอม กิตติขจร ในปี พ.ศ.2511 มีคำขวัญว่า “ความเจริญและความมั่นคงของชาติไทยในอนาคตขึ้นอยู่กับเด็กที่มีวินัย มีความเฉลียวฉลาดและรักชาติยิ่ง” ในปี พ.ศ.2525 สมัยของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ มีคำขวัญว่า “ขยันศึกษา ใฝ่หาความรู้ เชิดชูชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นคุณสมบัติของเด็กไทย”

Advertisement

สมัยของนายอานันท์ ปันยารชุน ในปี พ.ศ.2535 มีคำขวัญว่า “สามัคคี มีวินัย ใฝ่ศึกษา จรรยางาม” ในสมัยของนายชวน หลีกภัย ในปี พ.ศ.2541 มีคำขวัญว่า “ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย” ในสมัยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในปี พ.ศ.2548 มีคำขวัญว่า “เด็กรุ่นใหม่ ต้องขยันอ่าน ขยันเรียน กล้าคิด กล้าพูด” ในสมัยของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในปี พ.ศ.2554 มีคำขวัญว่า “รอบคอบ รู้คิด มีจิตสาธารณะ” และสมัยของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พ.ศ.2558 มีคำขวัญว่า “ความรู้คู่คุณธรรม นำสู่อนาคต” ปี พ.ศ.2559 มีคำขวัญว่า “เด็กดี หมั่นเพียร เรียนรู้ สู่อนาคต” ปี พ.ศ.2560 มีคำขวัญว่า “เด็กไทยใส่ใจศึกษา พาชาติมั่นคง” และในปี พ.ศ.2561 มีคำขวัญที่ว่า “รู้คิด รู้เท่าทัน สร้างสรรค์เทคโนโลยี”

ข้อเท็จจริงหนึ่งสำหรับเด็กและเยาวชนไทยเราที่มีตัวเลขของการเกิดหรือเพิ่มประชากรลดลงอย่างเป็นนัยยะสำคัญมาหลายปีติดต่อกันเด็กไทยเกิดปีละเจ็ดแสนคน ขณะเดียวกัน คนไทยมีการตายอยู่ประมาณสี่แสนคนต่อปี ในตัวเลขดังกล่าวได้สะท้อนภาวะวิกฤตบางอย่าง อาทิ เด็กนักเรียนชั้นปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษา มหาวิทยาลัยมีจำนวนตัวเลขการเข้าเรียนน้อยลงตามลำดับ กำลังแรงงานสำคัญในองค์กร โรงงานบริษัทต่างๆ ต้องใช้แรงงานข้ามชาติดั่งที่เราท่านรับรู้มาโดยตลอด จำนวนผู้สูงอายุ คนแก่ชราเพิ่มขึ้นในตัวเลขที่รัฐรับทราบเป็นอย่างดี

ผู้เขียนอาจจะรวมกับท่านผู้อ่านบางท่านที่อาจจะไม่สบายใจมากนักที่เราท่านได้รับรู้ถึงตัวเลขและคุณภาพของชีวิตเด็กเยาวชนไทยที่มีรายงานจากสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) เมื่อเร็ววันมานี้พบว่า มีเด็กยากจนพิเศษ มีจำนวน 467,000 คน ลูกแรงงานต่างด้าว จำนวน 250,000 คน เด็กไร้สัญชาติ 200,000-300,000 คน เด็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล 160,000 คน แม่วัยรุ่น (อายุ 10-19) 104,289 คน เด็กกำพร้าถูกทอดทิ้ง 88,730 คน เด็กเร่ร่อน 50,000 คน เด็กติดเชื้อเอชไอวี 50,000 คน เด็กเยาวชนถูกดำเนินคดี 33,121 คน เด็กถูกบังคับให้ค้าประเวณี 25,000 คน เด็กถูกบังคับใช้แรงงาน 25,000 คน และเด็กที่ได้รับผลกระทบจากชายแดนภาคใต้ 6,094 คน…

Advertisement

ในตัวเลขและข้อมูลดังกล่าวเราท่านจะเห็นได้ว่าปัญหาของเด็กเยาวชนไทยในข้อเท็จจริงทุกวันนี้มีสภาพปัญหาต่างๆ รุมเร้าอยู่รอบด้านท่ามกลางโลกแห่งทุนนิยม บริโภคนิยม วัตถุนิยม และเงินนิยม เด็กและเยาวชนคือความหวังของชาติในอนาคต จุดเริ่มแรกของชีวิตได้พบสภาพปัญหาซึ่งอยู่รายล้อมเขา ศักยภาพ ความรู้ความสามารถของเขาในการพึ่งพาตนเองให้อยู่รอดเพื่อชีวิตที่ดีในวันข้างหน้า รัฐและผู้นำของประเทศได้ให้ความสำคัญกับเขาอย่างแท้จริงหรือไม่…

พฤติกรรมหนึ่งที่ระบาดไปทั้งประเทศในขณะนี้ก็คือ เด็กเล็กๆ ระดับอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษาไปจนกระทั่งถึงระดับมหาวิทยาลัย เขาเหล่านั้นหลายคนต้องเผชิญกับสภาพปัญหาทั้งครอบครัว เศรษฐกิจ การศึกษา สภาพความพร้อมของร่างกาย จิตใจ วุฒิภาวะทางอารมณ์ เด็กเยาวชนส่วนหนึ่งติดเกม ติดโทรศัพท์มือถือ เป็นเด็กแว้น ติดยาเสพติด การพนัน เป็นคุณแม่วัยใส และต้องออกจากระบบการศึกษา (Drop Out) มากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ คำถามหนึ่งก็คือ เขาเหล่านั้นมีชีวิตอยู่ในสถานที่ใดและคุณภาพชีวิตเขาเหล่านั้นมีความเป็นอยู่ อย่างไร…

ขณะเดียวกัน ยังมีเด็กและเยาวชนไทยบางส่วนที่ได้สร้างชื่อเสียงให้ทั้งกับตนเอง ครอบครัวและประเทศชาติทั้งใฝ่รู้ใฝ่เรียน กระทำตนให้เป็นประโยชน์แก่ครอบครัวตั้งใจเรียนจบแล้วก็ทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตดั่งคำขวัญในวันเด็กของแต่ละปี นอกจากนี้ ยังมีเด็ก เยาวชนไทยส่วนหนึ่งที่เข้าสู่การบรรพชา (บวชเป็นสามเณร) และได้ศึกษาเล่าเรียนบางรูปจบเปรียญธรรมระดับสูงสุด จบการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาเป็นกำลังของประเทศชาติและพระศาสนา ซึ่งอาจจะช่วยกู้ภาพลักษณ์ของพระศาสนาจากวิกฤตที่รุมเร้าที่ผ่านมาได้บ้าง

เมืองไทยเรายังมีเด็กและเยาวชนส่วนหนึ่งที่ได้ไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ ได้นำเอาความรู้ ประเพณีวัฒนธรรม อาหารการกิน แหล่งท่องเที่ยว ศาสนา ลักษณะนิสัยใจคอการยิ้มสยาม ความมีน้ำใจบางคนถึงกับสร้างบ้านและครอบครัวอยู่ในต่างประเทศก็มีจำนวนไม่น้อย ผู้เขียนไม่ค่อยแน่ใจในข้อมูลเชิงประจักษ์ของหน่วยงานของรัฐมากนักที่มิได้เปิดเผยถึงคุณภาพของชีวิตในเด็กและเยาวชนไทยที่ประสบความสำเร็จทั้งการศึกษาเล่าเรียน และการช่วยกู้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยเราในมุมมองต่างๆ

ข้อมูลหนึ่งจากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดย น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต พบว่า ปัจจุบันวัยรุ่นไทยอายุ 10-19 ปี มีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าร้อยละ 44 หรือประมาณ 3 ล้านคน จากวัยรุ่นทั้งประเทศจำนวนแปดล้านคน และพบว่าวัยรุ่นกว่าหนึ่งล้านคนที่ป่วยด้วยโรคซึมเศร้ามิได้เข้าสู่การรักษาพยาบาล ซึ่งมีจำนวนกว่าหนึ่งล้านคน ซึ่งพบในครอบครัวที่เป็นโรคจิตเวช โรคอารมณ์สองขั้ว โรควิตกกังวล สมาธิสั้น บางคนมีความเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็ง โรคไต โรคที่ทำให้ร่างกายผิดรูป และยังพบในผู้ที่มีปัญหาในชีวิต อาทิ อกหัก ใช้ยาเสพติด โดนรังแก มีปัญหาด้านการเรียน ครอบครัวที่ใช้ความรุนแรง ครอบครัวไม่อบอุ่น ไปถึงปัญหาเรื่องวุฒิภาวะทางอารมณ์ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหาทางป้องกันและดูแลรักษาอย่างถูกวิธี…(มติชนรายวัน 26 ธันวาคม 2560 หน้า 5)

สังคมไทยเราได้มีพระราชบัญญัติ ที่ว่าด้วยการส่งเสริมพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) ซึ่งได้ประกาศไว้ในรัชกาลปัจจุบันเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ.2560 ในมาตรา 4 (1) ให้เด็กและเยาวชนมีความผูกพันต่อครอบครัว ภาคภูมิใจในความเป็นไทย มีวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตย (2) ให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปลอดภัย รู้จักเคารพสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น รวมทั้งกฎหมาย กฎเกณฑ์ และกติกาในสังคม (3) ให้การสนับสนุนและส่งเสริมความร่วมมือทางการศึกษาทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศ เพื่อให้เด็กและเยาวชนทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเหมาะสม…

วิถีชีวิตของความเป็นคนไทยเราในยามที่บ้านเมืองวิกฤต ทุกๆ คนให้ความร่วมมือในการช่วยเหลือในวิกฤตนั้นๆ อาทิ ปัญหาน้ำท่วมภาคกลางในปี พ.ศ.2554 หรือการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของคนไทยคือการสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 แม้กระทั่งปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ ทำให้มีการวิ่งก้าวคนละก้าวเพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศที่ประสบความสำเร็จของตูน บอดี้สแลม ที่มีผู้ร่วมบริจาคช่วยเหลือผู้ป่วยมากกว่าพันล้านบาทเศษ คนไทยส่วนใหญ่พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือและร่วมมือ สิ่งเหล่านี้ได้ส่งต่อให้บุตรหลานเราท่านทั้งหลายได้ซึมซับความดีงามไว้ในหัวใจของทุกๆ คนไว้อย่างดีแล้วหรือไม่

ผู้เขียนเองและท่านผู้อ่านบางท่านที่ได้มีโอกาสได้ไปต่างประเทศหลายๆ เมือง ได้พบเห็นเด็กและเยาวชนในประเทศนั้นๆ บางประเทศไม่มีเด็กแว้น เด็กวัยรุ่นไล่ตีกัน ทำร้ายร่างกาย ฆ่ากันในช่วงเปิดเทอม เป็นคุณแม่วัยใส ถูกดำเนินคดีทางกฎหมายมียุวอาชญากรรมอยู่ในทัณฑสถาน สถานพินิจทั่วเมืองไทยเป็นจำนวนมาก อาจจะมีบางคำถามที่ถามไปยังผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบในคุณภาพชีวิตเขาโดยตรงและวัยรุ่น วัยเรียนเหล่านี้ว่า ปัญหาชาติบ้านเมืองเราในวันข้างหน้าต้องพบเจออะไรอีกมากมาย

เขาเหล่านั้นสามารถนำพาชาติบ้านเมืองไปสู่ความเป็นอารยประเทศชาติได้หรือไม่

ปัญหาหนึ่งที่เราท่านได้พบเห็นในสังคมไทยก็คือชีวิตความเป็นอยู่ระหว่างคนที่เป็นผู้สูงอายุ ปู่ย่า ตายาย พี่ป้าน้าอาที่อยู่ร่วมกับคนรุ่นลูก หลาน ซึ่งมีช่องว่างระหว่างวัยทั้งความรู้ ความคิดและความเชื่อที่มีความแตกต่างกันผู้ที่บริหารชาติบ้านเมืองไทยขณะนี้ล้วนแล้วแต่จะอยู่ในช่วงวัย Baby Boomer คือช่วงอายุ 53-71 ปี หรือวัยผู้สูงอายุที่มีจำนวนประชากรประมาณ 15 ล้านคน เขาเหล่านั้นบางคนผ่านชีวิตที่ลำบากต้องต่อสู้อดทนในการสร้างชีวิต วัย Gen X คือช่วงอายุ 38-52 ปี มีจำนวนประชากรประมาณ 16.6 ล้านคน เขาเหล่านั้นล้วนเป็นพ่อแม่ของเด็ก เยาวชนวัยรุ่นไทยยุคนี้ Gen Y คือคนอายุ 20-37 ปี ที่เพิ่งจบการศึกษาเริ่มสร้างเนื้อสร้างตัว และ Gen Z คือเด็ก เยาวชนไทยวัยรุ่นสมัยนี้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ที่มีจำนวนประชากรมากกว่า 10.6 ล้านคนทั้งประเทศ…

ชีวิตประจำวันของเด็ก เยาวชนไทยบางคนในสมัยนี้เราท่านได้พบเห็นพฤติกรรมในการใช้อินเตอร์เน็ตวันละหลายชั่วโมง ดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกมออนไลน์ ชีวิตอยู่กับสังคมก้มหน้า นิยมกินอาหารฟาสต์ฟู้ด ดื่มน้ำอัดลม บางคนไม่สามารถรับประทานผักต้ม ผัดผัก แกง ขนมที่ปู่ย่าตายายทำไว้ได้ นิยมตบแต่งเสริมสวยใบหน้า ร่างกายด้วยเครื่องสำอางที่มีราคา วัยรุ่นหลายคนป่วยด้วยโรคอ้วน เบาหวาน สายตา ภูมิแพ้ พิการ มะเร็ง และเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี

วันเด็ก คงมิใช่แค่สัปดาห์ที่สองของเดือนมกราคมเท่านั้นและวันเด็กก็คงมิใช่เพียงคำขวัญจากผู้นำประเทศที่ได้ให้ไว้ตามธรรมเนียมหรือวิถีปฏิบัติที่สืบทอดกันมาในรอบปีมีเพียงหนึ่งครั้ง แต่วันเด็กต้องเป็นวันของเด็กเยาวชน วัยรุ่นตลอดชีวิต เพื่อให้เขาเหล่านั้นได้มีแบบที่พึงประสงค์ซึ่งมีอยู่ในความเป็นไทยที่จะส่งต่อให้เป็นผู้ใหญ่ในวันหน้าเป็นมนุษย์ที่มีคุณภาพของประเทศชาติบ้านเมือง

ผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองหลายท่านคงจะรับมิได้หากรุ่นลูกหลานได้กล่าวตำหนิติเตียนในพฤติกรรมความหลังครั้งอดีตที่ผ่านมา เราท่านจะเลือกรับสิ่งใดแล…

เฉลิมพล พลมุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image