บิทคอยน์เป็นเงินตรา? : โดย วีรพงษ์ รามางกูร

ข้อถกเถียงที่สำคัญในวงการเศรษฐศาสตร์การเงินในปี 2561 นี้คงหนีไม่พ้นข้อถกเถียงที่ว่า “รหัสในคอมพิวเตอร์” หรือ crypto currency จะถือเป็นเงินตราหรือไม่ ในอนาคตข้างหน้าที่จะถึงนี้ ในเมื่อทางการจีนประกาศห้ามการซื้อขายหรือใช้หรือรับบิทคอยน์ในประเทศจีน ในขณะที่หลายประเทศยังไม่กล้าไปไกลขนาดนั้น แต่ก็ไม่ถือว่าบิทคอยน์เป็นเงินที่ชำระหนี้ ได้ตามกฎหมายหรือ legal tender นำเอาไปฟ้องร้องขึ้นโรงศาลไม่ได้ บางแห่ง เช่น อิสราเอล ญี่ปุ่นทางการยอมรับว่าบิทคอยน์ใช้ชำระหนี้กันได้ถ้าทั้ง 2 ฝ่ายยอมรับ และเมื่อเร็วๆ นี้ธนาคารธนกิจโกลด์แมน แซคส์ ได้ประกาศจะเป็นธนาคารวาณิชธนกิจที่รับฝากและหักบัญชีด้วยบิทคอยน์ให้ลูกค้า บิทคอยน์จึงมีลักษณะเข้าใกล้ความเป็น “เงินตรา” หรือ “money” เช่นเดียวกับเหรียญกษาปณ์เข้าไปทุกที เพราะเหรียญกษาปณ์ปัจจุบันหลายประเทศ เช่น ประเทศไทย มิใช่เงินที่สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย เจ้าหนี้อาจปฏิเสธไม่ยอมรับชำระหนี้ก็ได้ ไม่เหมือนธนบัตรที่กฎหมายกำหนดให้เป็นเงินที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายเจ้าหนี้ปฏิเสธไม่ยอมรับไม่ได้

เงินเกิดขึ้นเมื่อใดไม่มีใครทราบ แต่เกิดขึ้นเมื่อมนุษย์รู้จักการแลกเปลี่ยนสินค้ากัน เพราะมนุษย์ไม่สามารถผลิตสิ่งของทุกอย่างที่ตนต้องการใช้ได้ มนุษย์คงเริ่มจากการแลกเปลี่ยนสินค้ากันตรงๆ หรือที่เรียกว่า barter โดยการตกลงจำนวนและปริมาณที่จะแลกเปลี่ยนกันและเวลา คาร์ล มากซ์ อธิบายว่า มูลค่าของสินค้าที่ใช้แลกเปลี่ยนกันนั้นขึ้นอยู่กับจำนวนแรงงานที่ใช้ในการผลิตหรือการหาสินค้านั้นๆ แต่ในตลาดเสรีมูลค่าของสินค้าหรือแม้แต่แรงงานย่อมขึ้นอยู่กับความยากง่ายหรือความจำกัดของสินค้าหรือแรงงาน เมื่อเทียบกับความต้องการสินค้าหรือแรงงาน ณ ราคาหนึ่งๆ หรืออุปทานและอุปสงค์ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง

ต่อมามนุษย์ก็ใช้สินค้าที่หายากในท้องถิ่นนั้นๆ และสามารถเก็บสินค้าไว้ได้นาน ไม่เน่าเปื่อย เช่น เกลือ ฝิ่น เมล็ดพันธุ์พืช กระดูกสัตว์ เช่น งาช้าง ฟันวาฬ ก่อนที่จะใช้โลหะมีค่า เช่น แพลทินัม ทองคำ เงิน สัมฤทธิ์ ทองเหลือง หรือโลหะ หรือหินมีค่าเช่นหยก หรืออื่นๆ เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนได้ โลหะเหล่านี้ง่ายต่อการเก็บรักษาไม่เน่าเปื่อย และสามารถตัดแบ่งย่อยลงไปได้ตามน้ำหนักถ้าต้องการ จากการใช้โลหะเป็นแท่งหรือเป็นเม็ดหรือเป็นรางที่เรียกว่าเงินพดด้วงหรือเงินฮางในอาณาจักรล้านช้างและล้านนา ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นเหรียญกษาปณ์ ซึ่งเริ่มมีใช้ครั้งแรกในรัชกาลที่ 4 ที่มีทั้งเหรียญทองคำและเหรียญเงินที่ใช้น้ำหนัก 15.2 กรัมหรือ 1 บาท เป็นมาตรฐาน ต่อมาเมื่อการค้าขายเจริญมากขึ้น พ่อค้า ข้าราชการและผู้คนมีรายได้มากกว่ารายจ่ายจึงนิยมเอาส่วนที่เกินไปฝากพ่อค้าที่ตนไว้วางใจและมีฐานะดี สามารถสร้างห้องมั่นคงให้รับฝากโดยมีความปลอดภัยได้ โดยจ่ายเงินเป็นค่าฝาก

พ่อค้าใหญ่เหล่านั้นสังเกตได้ว่าผู้ที่นำเงินทั้งที่เป็นแท่งโลหะหรือเหรียญนั้น ทุกๆ เดือนหรือทุกๆ ปีจะมีจำนวนเงินที่มาฝากสูงกว่าจำนวนเงินที่มาถอนออกไป ทำให้มีเงินจำนวนมากเหลืออยู่กับตน จึงเอาส่วนที่ผู้ฝากยังไม่ได้ถอนไปปล่อยให้ผู้ต้องการเงินไปลงทุนหรือทำการค้ากู้ไปใช้ โดยการคิดดอกเบี้ยเงินกู้ แล้วเอาส่วนหนึ่งของดอกเบี้ยเงินกู้ไปจ่ายให้กับผู้ฝาก เพื่อเป็นแรงจูงใจให้มีการฝากมากขึ้น เรียกผู้รับฝากกับผู้ให้กู้ว่าธนาคารหรือ bank

Advertisement

ต่อมาเมื่อปริมาณเงินที่ต้องใช้มีมากขึ้นๆ การขนออกขนเข้าจากธนาคารก็ไม่สะดวก ธนาคารจึงออกใบรับฝากโลหะเงินให้แทนและสามารถนำใบรับฝากโลหะมาแลกเป็นเงินโลหะได้เมื่อต้องการ ใบรับฝากเงินโลหะต่อมาก็อาจจะสลักหลังเพื่อโอนให้เจ้าหนี้ไปขึ้นเงินสดแทนได้ ต่อมาก็พัฒนาเป็นบัตรธนาคาร หรือ “bank note” ที่ไม่ต้องระบุชื่อเจ้าของเงินและไม่ต้องสลักหลังโอน โดยธนาคารออกเป็นบัตรธนาคารให้ลูกค้าถือหรือใช้ชำระหนี้ได้เลยและสามารถนำมาฝากธนาคารได้ในชื่อของตน เมื่อมีธนาคารหลายแห่งที่ลูกค้าสั่งจ่ายได้โดยตรง เอกสารสั่งจ่ายเช่นว่าถูกเรียกว่าเช็ค ซึ่งสามารถสลักหลังสั่งจ่ายต่อไปได้หากไม่ต้องการขึ้นเป็นเงินสดหรือบัตรธนาคาร มีการตกลงกันให้ธนาคารใดธนาคารหนึ่งที่ทุกธนาคารเชื่อถือเป็นธนาคารกลาง ทำหน้าที่เป็นผู้ออกบัตรธนาคารแต่แห่งเดียว ธนาคารดังกล่าวก็กลายเป็นธนาคารกลาง ใช้ชื่อประเทศเป็นชื่อธนาคาร เช่น ธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีน เป็นต้น

บัญชีเงินฝากเผื่อเรียกนี้สามารถสั่งจ่ายโดยเช็คได้ ต่อมาก็พัฒนาเป็นการสั่งจ่ายโดยบัตรเครดิต หรือบัตรโอนเงินอัตโนมัติโดยตู้โอนเงินอัตโนมัติซึ่งเกิดเงินพลาสติกขึ้น ต่อมาก็พัฒนาเป็นการสั่งจ่ายโดยโทรศัพท์มือถือที่มีรหัสและมีโค้ดที่พิมพ์รหัสไว้ในตัวสินค้า แล้วหักบัญชีที่ธนาคารโดยอัตโนมัติโดยไม่ต้องใช้ธนบัตรไม่ต้องใช้แม้แต่บัตรพลาสติก บัตรเครดิต บัตรโอนเงินอัตโนมัติ หรืออื่นๆ สำหรับประเทศไทยธนบัตรไม่ได้ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทยแต่ออกโดยรัฐบาลไทย แต่ฝากฝ่ายออกบัตรรัฐบาลไทยไว้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย กรณีของเราจึงไม่ใช่ bank note แต่เป็น government note

มีเงินอีกประเทศหนึ่งที่กฎหมายไม่ได้รับรองว่าเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ถ้าเจ้าหนี้ปฏิเสธไม่ยอมรับก็ได้ คือเหรียญกษาปณ์ที่ออกโดยกระทรวงการคลัง ที่ทำด้วยโลหะทองแดง นิเคิล ราคา 10, 25, 50 สตางค์ 1, 2, 5, 10 บาท และเหรียญที่ระลึกที่ออกในวาระมงคลต่างๆ ที่สามารถใช้เป็นเงินได้ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับ เหรียญกษาปณ์เหล่านี้กฎหมายไม่อนุญาตให้ผู้ใดออกได้ยกเว้นกระทรวงการคลัง กรณีของประเทศไทยมีทุนสำรองเงินตราซึ่งประกอบด้วยทองคำและเงินตราสกุลหลัก อันได้แก่เงินดอลลาร์สหรัฐหนุนหลัง เมื่อมีการลดค่าเงินบาทมูลค่าทุนสำรองเงินตรามีสูงกว่ามูลค่าธนบัตรที่ออกหมุนเวียนในท้องตลาด แต่ธนบัตรหรือบัตรธนาคารของประเทศอื่นๆ ไม่ต้องมีอะไรหนุนหลัง แต่เป็นกระดาษหรือ fiat money

Advertisement

สําหรับบิทคอยน์นั้นเกิดขึ้นโดยไม่มีผู้ใดหรือธนาคารกลางประเทศใดเป็นคนออก แต่เป็นโปรแกรมทางคอมพิวเตอร์ โดยผู้ที่ต้องการได้บิทคอยน์ต้องใช้เงินตราสกุลหลักเข้าไปซื้อหรือขุดเหมือง mining หาเอาจากคอมพิวเตอร์โดยการเปิดบัญชีเริ่มต้นแต่ยากขึ้นทุกทีและค่าใช้จ่ายในการ “ขุดเหมือง” สูงมาก หลังจากนั้นจะไม่มีใครทราบว่าใครถือบิทคอยน์เท่าใด นอกจากเจ้าของบัญชีที่ถือ โดยไม่อยู่ภายใต้การควบคุมหรือแทรกแซงจากสถาบันใดหรือรัฐบาลใด แต่มีการบันทึกการซื้อขายแลกเปลี่ยน บิทคอยน์จึงมีลักษณะเข้าใกล้เงินตราอีกสกุลหนึ่ง

บิทคอยน์นั้นมีจำนวนจำกัดตามความสามารถของขนาดของระบบคอมพิวเตอร์ทั่วโลก คือประมาณ 21 ล้านบิทคอยน์ ขณะนี้ ได้ขุดเอามาใช้แล้วประมาณ 17 ล้านบิทคอยน์ ยังเหลืออีกประมาณ 4 ล้านบิทคอยน์ การขุดค้นหรือ mining จะยากขึ้นทุกทีเมื่อเทียบกับความต้องการ ราคาบิทคอยน์จึงแพงขึ้นทุกที จากต้นปี 2560 มีราคา 750 ดอลลาร์สหรัฐหรือ 24,500 บาทต่อ 1 บิทคอยน์ มาเป็นเกือบ 20,000 ดอลลาร์ในขณะนี้ ราคาบิทคอยน์ขึ้นลงตามอุปทานและอุปสงค์ในตลาด แต่มีแนวโน้มมีราคาสูงขึ้นอยู่เรื่อยๆ ขณะนี้มีบิทคอยน์หมุนเวียนอยู่ในตลาดประมาณ 280,000 บิทคอยน์ มากกว่าปริมาณเงินให้กู้ของธนาคารใหญ่ที่สุดของโลก เช่น ธนาคาร เจ.ที.มอร์แกน คาดว่าราคาบิทคอยน์จะสูงขึ้นถึงบิทคอยน์ละ 40,000 ดอลลาร์ ในปีหน้า 2561 และอาจจะสูงถึง 1 ล้านเหรียญสหรัฐหรือ 35 ล้านบาท ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า

เนื่องจากบิทคอยน์ที่ใช้หมุนเวียนอยู่ในโลกไม่มีสถาบันใดเป็นเจ้าของ ไม่อยู่ใต้การควบคุมของรัฐบาลหรือสถาบันใด ตรวจสอบไม่ได้ จึงเหมาะสำหรับไว้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนและเป็นทุนสำรองของการค้าใต้ดิน การค้าหนีภาษี ยาเสพติด หรือการฟอกเงิน หรือแม้แต่กิจการที่เกี่ยวกับการซื้ออาวุธและการก่อการร้ายระหว่างประเทศ ไม่อยู่ภายใต้การตรวจสอบหรือการอายัดของรัฐบาล ธุรกรรมใต้ดินเหล่านี้มีขนาดใหญ่โตเพียงใดไม่มีใครตรวจสอบและทราบได้

ความเสี่ยงของการถือบิทคอยน์มีความเสี่ยงอยู่ไม่น้อย เพราะบิทคอยน์ดำรงมูลค่าอยู่ได้ก็ด้วย “ความเชื่อมั่น” ของตลาด ตราบใดที่ตลาดยังมีความเชื่อมั่นระหว่างผู้ถือทั้งผู้รับและผู้จ่าย แต่เมื่อใดความเชื่อมั่นเช่นว่านั้นหมดไป หรือทุกประเทศทั่วโลกออกกฎหมายห้ามการถือครองหรือการใช้บิทคอยน์ เช่น ประเทศจีน ที่ออกกฎหมายห้ามการถือครอง หรือการเปิดบัญชีบิทคอยน์ หรือตลาดหมดความเชื่อมั่นปฏิเสธจะรับบิทคอยน์ ตลาดบิทคอยน์ก็จะล่มสลายไป แต่ก็คงจะไม่เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้เพราะประเทศส่วนใหญ่ยังไม่ห้าม เพียงแต่ออกประกาศเตือนให้ผู้คนของประเทศตนระมัดระวังต่อความเสี่ยงดังกล่าว แต่บางประเทศก็ประกาศรับรองการชำระหนี้ด้วยบิทคอยน์ด้วยซ้ำไป เช่น ประเทศอิสราเอล เป็นต้น บิทคอยน์จึงกลายเป็นคู่แข่งของเงินตราสกุลหลักเช่นดอลลาร์สหรัฐ ที่สามารถใช้ชำระหนี้ในหมู่ที่ยอมรับบิทคอยน์

นอกจากนั้นบริษัทวาณิชย์ธนกิจ โกลด์แมน แซคส์ ก็ประกาศรับเป็นสำนักงานซื้อขายบิทคอยน์เสียด้วยซ้ำไป ซึ่งก็เท่ากับมีสถาบันการเงินรับเป็นนายหน้าซื้อขายบิทคอยน์ระดับระหว่างประเทศอีกด้วย

สำหรับประเทศไทยเราที่มีการค้าใต้ดิน การค้าชายแดน การหนีภาษี การค้ายาเสพติดและกิจกรรมการก่อการร้ายในจังหวัดชายแดน มีขนาดใหญ่โตที่มีการประมาณการว่ามีขนาดกว่า 1 ใน 3 ของรายได้ประชาชาติ ซึ่งมีการค้นพบอยู่บ่อยๆ ว่ามีการขนย้ายธนบัตรจำนวนมากๆ ข้ามประเทศและภายในประเทศของพ่อค้าและนักการเมือง แม้จะมีความเข้มงวดก็ยังมีให้เห็นอยู่เสมอ ต่อไปถ้าธุรกรรมเหล่านี้เปลี่ยนมาใช้บิทคอยน์ก็จะไม่สามารถตรวจสอบอายัดได้เลย สมควรอย่างยิ่งที่จะตัดไฟเสียแต่เนิ่นๆ แม้ว่าขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานว่าบิทคอยน์สามารถเข้ามาถึงประเทศไทยเป็นจำนวนมาก หากจะพิจารณาออกกฎหมายห้ามการถือครองบิทคอยน์เช่นเดียวกับประเทศจีน แม้ว่าจะตรวจสอบไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ แต่ก็เป็นการส่งสัญญาณว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการผิดกฎหมาย แม้ว่าจะบังคับใช้ไม่ได้แต่การระบาดเข้ามาของบิทคอยน์ก็อาจจะเบาบางบ้าง

ในบ่อนการพนันทั้งที่ถูกกฎหมายและบ่อนเถื่อนก็นิยมให้แลกเป็นเบี้ยราคาต่างๆ เพื่อแทงพนัน สมัยก่อนใช้เบี้ยเป็นกระเบื้องมีอักษรจีนส่งมาจากเมืองจีน กระเบื้องที่ใช้เป็นเบี้ยในบ่อนก็สามารถใช้เป็นเงินตราซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและแรงงานรอบๆ บ่อนได้

เงินตราที่ไม่มีการพิมพ์เป็นเงินกระดาษและผลิตออกมาเป็นเหรียญกษาปณ์ มีเพียงการโอนบัญชีกันคล้ายๆ กับบิทคอยน์ก็คือ “สิทธิถอนเงินพิเศษ” ที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอมเอฟจัดสรรให้ประเทศ “ด้อยพัฒนา” หรือ LDC หรือที่เรียกว่า SDR หรือ Special Drawing Right ที่สามารถโอนกันระหว่างธนาคารกลางกับธนาคารกลางที่ประเทศสมาชิกยอมรับตามโควต้าและใช้เป็นส่วนหนึ่งของทุนสำรองระหว่างประเทศได้ มูลค่า เอส.ดี.อาร์. ตอนเริ่มต้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หนึ่ง เอส.ดี.อาร์.เท่ากับหนึ่งดอลลาร์ เนื่องจาก เอส.ดี.อาร์. ตรึงค่าไว้กับตะกร้าของทองคำและเงินสกุลหลักของโลกในขณะนั้น บัดนี้ เอส.ดี.อาร์. มีค่าสูงกว่าค่าเงินดอลลาร์ บิทคอยน์ก็คล้ายกับ เอส.ดี.อาร์.ตรงไม่มีธนบัตรหรือเหรียญกษาปณ์ แต่ไม่เหมือนกันกรณีไม่มีสถาบันใดทำหน้าที่หักบัญชีให้และไม่มีสถาบันใดควบคุม

การที่ ธปท.จะห้ามหรือเข้าควบคุมก็น่าจะถูกต้องแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image