โรดแมป เลือกตั้ง สถานการณ์ ความสงบ อำนาจ ‘คสช.’

ความไม่แน่นอนของ “โรดแมป” ปรากฏขึ้นอีก พลันที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมาสำทับ

“ผมประกาศไว้เลย สถานการณ์ถ้ายังมีความขัดแย้งสูง การเลือกตั้งได้หรือเปล่าผมไม่รู้ เพราะฉะนั้น อย่าทำให้มันเกิดขึ้น”

เด่นชัดว่า “จำเลย” ในเรื่องนี้ เป็น “คนอื่น”

คนอื่นในที่นี้เด่นชัดอย่างยิ่งว่า นั่นก็คือ ความขัดแย้งระหว่าง 2 พรรคการเมืองใหญ่ 1 พรรคประชาธิปัตย์ 1 พรรคเพื่อไทย

Advertisement

“ผมไม่ได้เป็นคนทำ”

คำยืนยันนี้มาจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อันเท่ากับเป็นการลอยตัวอยู่เหนือความขัดแย้งไม่ว่ากับพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่ากับพรรคเพื่อไทย

ความไม่มั่นใจต่อโรดแมป “จึงทะยานขึ้นสูง”

Advertisement

ในความเป็นจริง มีความไม่มั่นใจอยู่แล้วว่า โรดแมปที่ว่าจะมีการเลือกตั้งภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 แม้จะออกมาจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

แต่ก็มีความมั่นใจน้อยลงเป็นลำดับ

หากจับกระบวนท่าของ “แม่น้ำ 5 สาย” ก็จะสัมผัสได้ถึงลักษณะของ “ปฏิบัติการด้านการข่าว” หรือ IO ที่นำความจัดเจนทางการทหารมาประยุกต์

นั่นก็คือ เริ่มจากมีผู้ “นำร่อง” แล้ว คสช.ก็เดินตาม

เห็นได้จากการออกมาเคลื่อนไหวของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. การออกมาเคลื่อนไหวของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานเครือข่ายประชาชนปฏิรูป ต้องการแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง

แล้วก็มีคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 53/2560 ออกมา

นั่นก็คือ การรีเซตสมาชิกพรรคการเมือง นั่นก็คือ การสร้างความยุ่งยากและมีผลทำให้กำหนดเวลาของโรดแมปต้องเลื่อนเพื่อความพร้อมของ “พรรคทหาร”

ในที่สุด ก็มีผลสะท้อนไปยัง “การเลือกตั้ง”

แม้ว่า คสช.จะเป็นฝ่ายกระทำ เป็นฝ่ายรุก ในหลายมาตรการ แต่ก็น่าสังเกตว่ายุทธศาสตร์การรุกของ คสช.กลับไม่สามารถบรรลุตามเป้าหมายได้โดยราบรื่น

แทนที่จะ “สยบ” ฝ่ายตรงกันข้าม ในลักษณะหมอบราบคาบแก้ว

ตรงกันข้าม กระบวนการรุกของ คสช.ไม่ว่าจะผ่านคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 53/2560 ไม่ว่าจะเป็นการออกมา “ปราม” ล่าสุดเพื่อแสดงว่าใครทรงอำนาจ ใครเป็นฝ่ายกระทำ

กลับกลายเป็น “ปัญหา” ให้กับ คสช.ให้กับรัฐบาล

เป็นปัญหาเหมือนที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ออกมาส่ง ส.ค.ส.ในเรื่อง “กองหนุน” ที่ถดถอยและร่อยหรอลงเป็นลำดับ

แสดงให้เห็นว่า กระบวนการทาง “ยุทธศาสตร์” อาจมีปัญหาในทาง “ยุทธวิธี”

แม้เป้าหมายแท้จริงต้องการรุก ต้องการแสดงบทเป็นฝ่ายกระทำ แต่สภาพกลับกลายเป็นการตั้งรับอีกฝ่ายกลับรุกคืนและส่งผลให้เกิดการแตกสลายภายใน “กองหนุน” มากยิ่งขึ้น

แม้กระทั่งพรรคประชาธิปัตย์อันเคยเป็น “กองหนุน” ก็แตกตัวออกมา ทั้งนี้แทบไม่ต้องกล่าวถึงบางส่วนในพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย บางส่วนใน กปปส.

เผลอๆ อาจเหลือเพียง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ คนเดียว

ความจริง บทสรุปของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่ระบุว่า “กองหนุน” ร่อยหรอ คงเหลือน้อยลงเป็นลำดับเท่ากับชี้ว่าเป็น “ขาลง” ของ คสช.และของรัฐบาล

แต่ดูเหมือนว่า คสช.และรัฐบาลจะไม่ยอมรับ

การออกมา “ปราม” และเน้นย้ำในเรื่องความไม่สงบเรียบร้อย ทั้งๆ ที่อำนาจอยู่ในมือ คสช.ต่อเนื่องมา 3 ปีกว่านับแต่เดือนพฤษภาคม 2557

คือ รูปธรรม 1 ของยุทธวิธีที่อาจเป็นปัญหา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image