ความสันโดษ คือ สิ่งที่กฎหมายคุ้มครอง มิให้มีพฤติการณ์ที่เป็นการล่วงละเมิด : โดย กนกศักดิ์ พ่วงลาภ

ความสันโดษ เป็นสภาพอย่างหนึ่งที่บุคคลพึงมีได้โดยธรรมชาติ และบุคคลอื่นไม่สามารถมาล่วงละเมิดได้ ในทางกฎหมายเรียกว่าสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว ซึ่งรองรับโดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 32

สิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว คือ สิทธิที่บุคคลคนหนึ่งจะใช้ชีวิตอย่างสันโดษปราศจากการติดตามล่วงล้ำของคนอื่น สังคม และรัฐตราบเท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมายและสิทธิของบุคคลอื่น เพื่อความเป็นรูปธรรมจึงต้องยกตัวอย่างของการใช้สิทธิประเภทนี้ เช่น บุคคลมีสิทธิที่จะใช้ชีวิตอยู่ในบริเวณบ้านของตนเอง โดยไม่มีใครมาเฝ้ามอง โดยไม่มีใครเอากล้องส่องทางไกลมาส่องดู กล่าวคือบุคคลมีสิทธิที่จะใช้ชีวิตประจำวันอย่างส่วนตัว โดยไม่มีใครมาตามเฝ้าดู หรือเฝ้าติดตาม เฝ้าสังเกต

หรืออีกตัวอย่างเช่น บุคคลมีสิทธิที่จะเดินไปตามถนนหนทางโดยที่ไม่มีใครมาเดินตามโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ดังนั้น การสืบสวนติดตามบุคคลโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ต้องพึงระวังเป็นอย่างมากเจ้าหน้าที่จะทำได้ก็ต่อเมื่อมีเหตุอันสมควรเท่านั้น เหตุเหล่านั้นได้แก่ ในทางสืบสวนเบื้องต้นหรือที่ผ่านมาพบความเป็นไปได้ที่บุคคลที่เป็นเป้าหมายการติดตามอาจเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดอาญาฐานใดฐานหนึ่ง หรือเจ้าหน้าที่พบว่าบุคคลหนึ่งกระทำความผิดซึ่งหน้าแล้ว เจ้าหน้าที่ย่อมมีอำนาจติดตามเพื่อจับกุมบุคคลผู้นั้น อย่างนี้ เจ้าหน้าที่สามารถกระทำได้โดยไม่เป็นการละเมิดต่อสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวของปัจเจกบุคคล

สิทธิเหล่านี้คนเราโดยทั่วไปมักจะไม่รู้ว่าตนเองมีสิทธินี้อยู่ในฐานะสิทธิมนุษยชนประเภทหนึ่ง และมีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ฉบับปัจจุบัน

Advertisement

สิทธินี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ตอบได้ว่าในสังคมเสรีประชาธิปไตยเคารพในความแตกต่างของความเป็นมนุษย์ที่จะมีอิสระเสรีในการใช้ชีวิตในแบบของตนเองตราบเท่าที่ไม่ขัดต่อการใช้สิทธิของบุคคลอื่นและความสงบเรียบร้อยของสังคม แดนแห่งความเป็นอิสระส่วนตัวนี้เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการใช้ชีวิตของมนุษย์ในสังคมเสรีประชาธิปไตย

ที่กล่าวอย่างนี้ ต้องทำความเข้าใจว่า สังคมเสรีประชาธิปไตยนั้นก็ซ้อนกันอยู่กับเศรษฐกิจทุนนิยมเสรี แต่ก็เป็นคนละอย่างกัน เพียงแต่ว่าสังคมเสรีประชาธิปไตยนั้นส่งเสริมหรืออย่างน้อยก็ไม่คัดค้านระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเสรี เอาเป็นว่าในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะสังคมเสรีประชาธิปไตยในมุมมองด้านกฎหมาย

Advertisement

แต่ถึงอย่างไร แม้จะพยายามให้คำจำกัดความอย่างไร ความหมายของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ก็หาความหมายได้ยากจนน่าเวียนหัวอยู่แล้ว เพราะประชาธิปไตยของแต่ละประเทศมีรายละเอียดแตกต่างกันไม่มากก็น้อย ต้องมีอยู่เสมอ ในบางประเทศมีหลักและมีข้อยกเว้น บางประเทศมีข้อยกเว้นมากหน่อย อย่างนี้เป็นประชาธิปไตยไหม ตอบได้ยาก บางประเทศคนในประเทศตนเข้าใจว่าเป็นประชาธิปไตยแต่ประเทศอื่นเขาอาจไม่เห็นอย่างนั้นก็ได้ และก็ยังไม่มีใครรู้จริงๆ หรือกำหนดค่ากลางลงไปได้ว่าอะไรคือประชาธิปไตย ใครจะคิดว่าแนวคิดเรื่องระบอบการปกครองต่างๆ เป็นองค์ความรู้ที่สมบูรณ์แบบแล้ว นิ่งแล้ว แต่สำหรับผู้เขียนมีความเห็นส่วนตัวว่ายังไม่นิ่ง กลับเข้าเรื่องเดิม ปัญหาคือ จะใช้สิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวอย่างไรได้บ้าง

ใช้เต็มที่ได้แค่ไหน แสดงออกได้แค่ไหน

สมมุติว่าคนคนหนึ่ง เขียนข้อความในเสื้อที่เขาใส่อยู่ มีข้อความที่ต่อต้านแนวคิดอะไรสักอย่างหนึ่ง แล้วไปนั่งกลางสวนสาธารณะนั่งอยู่เฉยๆ อย่างนั้น ตราบใดที่ข้อความนั้นไม่เป็นการหมิ่นประมาท ไม่ละเมิดต่อกฎหมายอาญา และกฎหมายอื่นๆ แล้ว ใครก็ไปทำอะไรเขาไม่ได้ รัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐก็ทำอะไรเขาไม่ได้ เพราะเป็นสิทธิที่เขาได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ

กรณีตามที่ยกตัวอย่างนี้ สิ่งที่จะต้องระวังก็คือ ถ้อยคำที่เขียนในเสื้อนั้น จะไปละเมิดต่อกฎหมายอื่นหรือไม่ เช่น กฎหมายที่มีลักษณะที่เป็นนามธรรมมากๆ เช่น กฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย เพราะว่าการกระทำที่จัดว่าเป็นความสงบเรียบร้อยในมุมมองของรัฐ กับของปัจเจกบุคคลอาจจะแตกต่างกันได้ ที่สำคัญก็คือ เจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้ตีความคำว่า สงบเรียบร้อย มิใช่ให้ปัจเจกบุคคลตีความ เพราะฉะนั้นใครคิดที่จะใช้สิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวในลักษณะแบบนี้ควรต้องระวังไว้บ้าง (เพราะไม่อาจเดาใจได้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะตีความอย่างไร)

อีกตัวอย่างหนึ่ง ยกตัวอย่างคล้ายๆ กับตัวอย่างแรก สมมุติว่ามีคนคนหนึ่ง อยู่ๆ ก็มานั่งนิ่งแบบนั่งสมาธิบนสนามหญ้าในสวนสาธารณะ นั่งนิ่งอยู่อย่างนั้น เสื้อที่ใส่อยู่ก็ไม่ได้เขียนข้อความอะไร ไม่มีการแสดงออกอะไรที่เป็นลายลักษณ์อักษร และไม่ได้ชวนใครมานั่งด้วย อย่างนี้ไม่มีใครทำอะไรเขาได้เพราะเป็นการใช้สิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวล้วนๆ ในความหมายอย่างแคบและตรงที่สุด แต่พอมีคนอื่นเห็นนั่งอยู่นานเข้าไปถามเขาว่ามานั่งเพราะเหตุใด เขาจึงตอบว่ามานั่งเพื่อแสดงออกว่าเขาไม่เห็นด้วยกับแนวคิดทางการเมือง หรือระบบใดๆ ก็ตามที่กระทบต่อตัวเขา อย่างนี้ทำได้หรือไม่

ถ้าตอบตามทฤษฎีแล้ว อาจจะทำได้เพราะเป็นการใช้สิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวโดยแท้ที่ไม่เจือด้วยการกระทำอื่นที่อาจจะเป็นการกระทำผิดฐานอื่นๆ ในทางอาญา หรือทางแพ่ง ตราบใดที่คนคนนี้ไม่พูดอะไรที่ละเมิดต่อกฎหมาย (เช่น ไม่เป็นหมิ่นประมาท ดูหมิ่นซึ่งหน้า ฯลฯ) เพราะว่าตอนที่นั่งอยู่เฉยๆ นั้นไม่มีการกระทำใดๆ ในทางกฎหมาย เป็นการใช้สิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวโดยแท้ที่กฎหมายรับรอง (หมายถึงกฎหมายที่เป็นสากล ในเรื่องสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว อนุญาตให้ทำได้ แต่กฎหมายบ้านเมืองของรัฐใดรัฐหนึ่ง หรือการตีความกฎหมายของแต่ละรัฐ หรือเจ้าหน้าที่แต่ละคนอาจแตกต่างไปได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่คนในรัฐต้องระวังตัวกันเอาเอง หรือต้องยอมรับความเสี่ยง ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับการใช้กฎหมายของทุกประเทศ เพราะกฎหมายมาคู่กับการตีความเสมอ เป็นหลักที่อาจจะต้องยอมรับเป็นการทั่วไปว่า การตีความกฎหมายนั้นอาจมีความแตกต่างกันได้ไม่มากก็น้อย)

ดังนั้น อาจจะกล่าวได้ว่าสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวนั้นแม้เป็นสิทธิที่กว้างขวางก็จริงการใช้สิทธิก็ทำได้กว้างขวางก็จริง แต่การบังคับตามสิทธินั้นยังไม่ชัดเจนเท่าใดนัก ในทางปฏิบัติน่าจะมีปัญหาอยู่อีกมาก

สิ่งที่พอจะเข้าใจได้ง่าย คือ สิ่งเหล่านี้ถูกละเมิดในสถานการณ์อย่างไร

สถานการณ์เหล่านี้เป็นการละเมิดสิทธิในความสันโดษ หรือสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เช่น

1.บุคคลสื่อสารกันทางโทรศัพท์ แล้วถูกดักฟัง โดยผู้ดักฟังไม่มีอำนาจตามกฎหมาย

2.การที่บุคคลถูกถ่ายภาพในสถานที่ส่วนตัวของเขาโดยเขาไม่ได้ยินยอม เช่น บุคคลถูกถ่ายรูปในบ้านของเขา เขากำลังรดน้ำต้นไม้อยู่ในรั้วบ้านของเขาแล้วมีใครไปถ่ายรูปเขา

3.การที่บุคคลอยู่ภายในบ้านแล้วถูกคนอื่นส่องกล้องส่องทางไกลดู

4.บุคคลที่เดินอยู่บนทางสาธารณะแล้วถูกคนอื่นเดินติดตามสะกดรอย โดยไม่มีเหตุผลสมควร

5.พนักงานในสำนักงานที่ถูกกล้องจับภาพดูการทำงานอยู่ตลอดเวลา ซึ่งก็แน่นอนว่านอกจากจะจับภาพการทำงานแล้ว การจับภาพนั้นอาจจับภาพอื่นๆ ของบุคคลที่นอกเหนือจากงานในหน้าที่ด้วย เว้นแต่พนักงานจะให้ความยินยอมโดยตรง หรือโดยปริยาย

6.การบุกรุกเข้าไปในสถานที่ส่วนตัวของบุคคลโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือโดยไม่มีเหตุอันสมควร ซึ่งกรณีนี้นอกจากจะละเมิดสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวแล้วยังจะเป็นความผิดฐานบุกรุก อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาด้วย

7.การใช้เครื่องบินติดกล้องถ่ายภาพ หรือโดรน บินไปถ่ายภาพในสถานที่ส่วนบุคคลหรือสถานที่ หรือพื้นที่ หรือเขตหวงห้ามต่างๆ โดยไม่มีอำนาจตามกฎหมาย

8.การส่งต่อข้อมูลของลูกค้าในทางธุรกิจไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากลูกค้าผู้เป็นเจ้าของข้อมูล เช่น เบอร์โทรศัพท์ เครดิตทางการเงิน

9.การเอาเรื่องราวในชีวิตของผู้อื่นมาเผยแพร่ หรือเอามาเปิดเผยโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือโดยไม่มีอำนาจตามกฎหมาย

10.การที่หน่วยงานใดๆ เก็บข้อมูลของบุคคลมากเกินความจำเป็นแก่การทำงานในหน้าที่ เช่น เก็บข้อมูล เอกลักษณ์บุคคล เช่น ดีเอ็นเอ ภาพสแกนม่านตา ฯลฯ

สิ่งเหล่านี้อาจเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันขึ้นโดยที่คนเราไม่รู้ตัวว่าถูกละเมิด แต่หากว่าบุคคลเจ้าของข้อมูลเขายินยอมก็สามารถทำได้ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถทำได้ในบางกรณีที่มีกฎหมายให้อำนาจ จึงบอกกล่าวไว้ เพื่อให้ท่านระวังรักษาสิทธิของตัวท่านเอง

กนกศักดิ์ พ่วงลาภ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image