อูเบอร์ภิวัฒน์ (uberization) โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ไม่ใช่ต้องการโฆษณาให้บริการอูเบอร์เขาฟรีๆ หรอกครับ แต่คำว่า “การทำให้เป็นอูเบอร์ หรือ uberization” กลายเป็นคำศัพท์ใหม่ในโลกไปแล้ว และเริ่มมีผลสำคัญทั้งในแง่การเปลี่ยนแปลงจริงที่เกิดขึ้นในโลก และในแง่ของการเปลี่ยนแปลงในเชิงวิธีคิดที่มีในโลกมากขึ้น โดยเฉพาะที่เรามองว่าโลกนี้เป็นสังคมเครือข่ายขนาดใหญ่

พูดไปแล้วจะเรียกว่าอูเบอร์อย่างเดียวคงจะยาก อาจจะต้องเรียกว่า Grab ด้วย เพราะบริการสองยี่ห้อนี้เขาดังทั้งคู่ แต่อูเบอร์นั้นเป็นสิ่งที่คนในโลกเขาพูดกันอย่างติดปากมากกว่า

ผมขออนุญาตอ้างอิงแบบสั้นๆ ก่อนว่า เรื่องราวมันคืออะไร แล้วจะตามมาด้วยการย้อนความให้เห็นที่มาที่ไป และวิเคราะห์ในประเด็นเรื่องของความเป็นอูเบอร์ของโลกในตอนนี้

เอาง่ายๆ ก่อนว่า ในช่วงเวลาไม่นานมานี้ มีข่าวที่ออกจะฮือฮา อย่างน้อยในกรุงเทพมหานครอยู่ข่าวหนึ่ง นั่นก็คือการประกาศของกรมการขนส่งทางบกที่ว่า บริการ GrabBike และอูเบอร์นั้นเป็นบริการที่ผิดกฎหมาย มีโทษปรับ เพราะใช้รถผิดประเภท และอาจไม่ได้มาตรฐาน โทษก็ประมาณสองพันบาท และสั่งให้ยกเลิกบริการเสีย

Advertisement

ข่าวที่คนไม่ค่อยได้เล่นกันก็คือ การออกมาทำท่าทีขึงขังขนาดนี้ ผู้ให้บริการของทั้งสองยี่ห้อก็ไม่ได้ไปพบเจ้าหน้าที่ และที่สำคัญไม่ได้ก่อให้เกิดกระแสดราม่าที่คนเลิกใช้บริการแต่อย่างใด ในบางรายการในทีวี ยังมีการให้พูดถึงทรรศนะของผู้ใช้ไปในทำนองที่มองว่ารัฐบาลเข้ามาวุ่นวายทำไมในเรื่องนี้ ทำไมไม่ทำให้บริการที่มีอยู่เดิมคือแท็กซี่และมอเตอร์ไซค์รับจ้างมันดีเสียก่อน

เรียกว่างานนี้นอกจากไม่ได้รับดอกไม้แล้ว ยังได้รับก้อนหินและถูกจุดธูปไล่เข้าไปเสียอีก ทั้งที่ถ้ามองในแง่ของผู้ที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายแล้วก็น่าเห็นใจเช่นกันว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมันขัดกับกฎหมายอยู่เห็นๆ จะไม่ทำอะไรเลยก็จะถูกตั้งคำถามเช่นเดียวกันไหม?

บริการอูเบอร์นั้นคืออะไร? ตอบสั้นๆ ก็คือ มันเป็นบริการแบบหนึ่ง ที่ทำให้ผู้ที่ต้องการใช้แท็กซี่กับผู้ขับแท็กซี่ได้เชื่อมโยงกันได้ พูดง่ายๆ ก็คือ บริการเรียกแท็กซี่แบบเครือข่าย ซึ่งเป็นยุคที่ใหม่กว่าบริการเรียกแท็กซี่แบบศูนย์แท็กซี่

ในสมัยก่อนเราต้องยืนโบกรถริมทาง ยิ่งสมัยไม่มีมิเตอร์ เราก็ต้องต่อรองราคากับแท็กซี่ว่าจะไปไหม ต่อมาก็มีบริการเรียกแท็กซี่ผ่านศูนย์แท็กซี่คือเราโทรไปที่ศูนย์ ศูนย์จะกระจายข่าวไปให้แท็กซี่ที่ละทะเบียนกับศูนย์ แล้วจากนั้นแท็กซี่ก็จะตอบกลับมาที่ศูนย์ ศูนย์ก็จะโทรมาบอกเราว่าเดี๋ยวแท็กซี่จะมารับ คิดค่าบริการเพิ่มจากเราสักยี่สิบบาท ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายที่มีอยู่

ในวันนี้ระบบ GrabTaxi เข้ามาแทน คือเราใช้โทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน ที่จิ้มๆ ได้ แล้วมันมีแอพพลิเคชั่นหนึ่งที่เราไปโหลดมาใช้ โดยไปลงทะเบียน ใส่เบอร์มือถือเรา เปิดระบบติดตามดาวเทียม แล้วก็ระบุว่าเราอยู่ตรงไหน (ระบบจะค้นหาที่อยู่ของเราได้ด้วย) และเราจะไปไหน จากนั้นเราก็เรียกใช้บริการแท็กซี่ แท็กซี่ที่ลงทะเบียนในระบบนี้เขาจะแย่งกันกดรับงาน เมื่อมีคนที่ได้รับงานทางระบบก็จะแจ้งชื่อ ทะเบียน และระบุตำแหน่งรถในแผนที่ของโปรแกรม/แอพพลิเคชั่นนั้น ทำให้เราเห็นว่าแท็กซี่จะมาถึงเราในกี่นาที ทั้งหมดนี้เกิดได้จะมีฐานข้อมูลและระบบจีพีเอส (นำทางด้วยดาวเทียม)

ที่ดีกว่านั้นก็คือ เราสามารถส่งรายละเอียดการเดินทางนี้ไปให้เพื่อนเราได้ ดังนั้นเขาจะรู้ว่าเราอยู่บนรถคันไหน กำลังมุ่งหน้าไปไหน แถมถ้ามีปัญหา เราสามารถจะโทรไปร้องเรียน ถ้าคนขับไม่ดีจริงเขาจะถูกให้ออกจากระบบเครือข่ายนี้รับงานต่อไปไม่ได้ ทั้งนี้สนนราคาค่าเรียกเท่ากัน แถมยังสามารถจ่ายเงินทางบัตรเครดิตได้ ไม่ต้องพกเงินและหาเงินทอน และไม่ต้องทิป

ระบบ GrabTaxi นั้นไม่น่าจะผิดกฎหมายเท่าที่ตามข่าว เพราะช่วยเป็นสื่อกลางระหว่างเรากับแท็กซี่ที่มีอยู่ได้ดีขึ้น แต่ระบบอูเบอร์ที่เป็นต้นธารนั้นมีปัญหาในทางกฎหมาย เพราะรถที่เอามาวิ่งนั้นอาจเป็นรถบ้าน หรือมอเตอร์ไซค์ที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นรถรับจ้าง รวมทั้ง GrabBike GrabCar ก็เช่นกัน นอกจากนี้ยังขู่ว่าหากเกิดอะไรขึ้นอาจไม่มีการคุ้มครองโดยระบบประกันภัยเหมือนรถรับจ้างสาธารณะทั่วไป

ข้ออ้างของรัฐนั้นอยู่ที่ว่ามันไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีการสอบใบขับขี่รับจ้าง แต่ในความเป็นจริงผู้โดยสารส่วนมากกลับพอใจ เพราะอาจได้รถบริการที่ดีกว่า สะอาดกว่า คนขับมารยาทดีกว่า ค่าบริการก็ไม่แพงกว่ามาก มีให้เลือกได้ จุดที่เด่นมากๆ ก็คือ มีการให้คะแนนคนขับได้ และในกรณีของอูเบอร์นั้นคนขับก็ให้คะแนนคนนั่งได้เช่นกันว่าลูกค้ารายนี้เป็นยังไง

โดยประสบการณ์ของผม ผมก็คิดว่ามีข้อดีมากกว่าข้อเสีย ยิ่งในกรณีที่ระบบการดูแลแท็กซี่บ้านเราไม่ได้เรื่อง และแท็กซี่จำนวนหนึ่งก็ไม่ได้เรื่อง ระบบ Grab และอูเบอร์ก็ย่อมเป็นทางเลือกได้ดี ตัวอย่างเช่นการที่เราเรียกแท็กซี่แล้วไม่ยอมไปคันแล้วคันเล่า การใช้บริการแบบใหม่นี้ ยิ่งกรณีอูเบอร์นั้นเขาเลือกผู้โดยสารไม่ได้ หรือ Grab นั้นอย่างน้อยถ้าเขาไม่อยากไปเขาก็ไม่ต้องกดรับ

การเลือกผู้โดยสารนั้นเป็นปัญหาใหญ่ บางคนมองว่าไม่เป็นปัญหา ทั้งที่ควรพิจารณาว่า รถรับจ้างสาธารณะนั้นใช้พื้นถนนของทุกคนมาทำมาหากิน ดังนั้นการปฏิเสธการให้บริการก็ไม่ควรจะเป็นสิ่งรับได้ ถ้าอยากปฏิเสธได้ก็ควรเป็นแท็กซี่ที่ห้ามวิ่งรถเปล่าบนถนนเสีย ควรจอดตามซอกหลืบแล้วรอให้มีคนโทรเรียกจะดีกว่า ยิ่งเราไม่มีการจำกัดจำนวนแท็กซี่ด้วยแล้ว ยิ่งทำให้รถติดในหลายกรณี (แต่ถ้าจำกัดจำนวนจริงๆ แล้ววิ่งห่วยๆ ด้วยก็จะยิ่งฝันร้ายเหมือนในอดีต) และการดำเนินคดีการไม่รับผู้โดยสารนั้นก็ยุ่งยาก ใครจะไปวุ่นวายเรื่องนี้ท่ามกลางความเร่งรีบ

ผมเคยใช้บริการในบางเมืองของสหรัฐที่ค่าแท็กซี่แพงมาก แท็กซี่หายาก บริการแย่ นัดแล้วชอบเบี้ยว ก็ได้อูเบอร์นี่แหละครับที่ช่วยให้รอดไปได้ เดินไปไหนจะกลับที่พักก็ให้เขามารับ หรือจะไปสนามบินตอนดึกๆ ก็สะดวกไม่ต้องออกมาเรียกแท็กซี่ให้วุ่นวาย

ในกรณีรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ความจริงคือราคาแพง ไม่มีสิทธิเลือก เพราะแต่ละวินนั้นครองพื้นที่แล้ว และถ้าเราอยู่ในซอยลึก หรือวินเลิกไปแล้วก็หาวินได้ยาก มิหนำซ้ำรถที่เกิน 135 ซีซี ก็จดทะเบียนไม่ได้ (พี่มอเตอร์ไซค์บอกมา)

บางครั้งผมก็เรียกแท็กซี่ให้คุณแม่นั่งไปธุระ ผมก็ทราบว่าแท็กซี่ส่งแม่ผมที่ไหน กี่โมง หรือคุณแม่ผมยังนั่งบนแท็กซี่อยู่ หรือคุณแม่ก็ไม่จำเป็นต้องถือเงินไปด้วยในการจ่ายค่ารถ

อีกเรื่องที่สำคัญ คือเศรษฐกิจแบบอูเบอร์นี้มันช่วยในการหารายได้เสริม ทั้งในเมืองไทย และในต่างประเทศที่ผมเคยใช้ บางคนทำอูเบอร์เพิ่มในช่วงนอกเวลาทำงาน หาค่าขนมกลับบ้าน นักศึกษาทำงานในช่วงเวลาที่ไม่ไปเรียน

แต่ใช่ว่าบริการนี้จะดีทั้งหมด เพราะผมก็เคยเจอปัญหาอย่างกรณีที่แท็กซี่รีบกดรับผมแล้วก็ชิ่ง คือยกเลิกไม่มารับ แต่ในกรณี GrabTaxi เราก็สามารถโทรไปร้องเรียนได้ ส่วน GrabBike นั้นก็เกิดปัญหาได้เช่นความสามารถในการขับขี่ หรือสภาพรถ แต่อย่างน้อยทั้งหมดคือเราก็โทรไปร้องเรียนได้

ส่วนอูเบอร์นั้น ปัญหาที่เคยเจอที่โหดที่สุดคือ ระบบล่มระหว่างเดินทาง ทำให้ไม่สามารถสิ้นสุดการบริการได้ มิเตอร์ก็จะขึ้นไปเรื่อยๆ และเดือดร้อนคนขับด้วย ที่ว่าเขาก็รับงานต่อไม่ได้ ทีนี้ปัญหาใหญ่คือ เขาไม่มีเบอร์โทรให้โทรไปร้องเรียน มีแต่อีเมล์ คำถามก็คือเราจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของการที่ระบบล่มได้อย่างไรที่เราไม่ถูกเก็บเงินไปเรื่อยๆ และคนให้บริการก็ต้องทำมาหากินต่อไป (ต่อมามีการปรับราคาและตรวจสอบกันอีก แต่หลังจากที่ผมกดยกเลิกให้บริการไปแล้ว และมีการคำนวณใหม่)

ปัญหาต่อมาก็คือ ราคาค่าโดยสารของอูเบอร์นั้นไม่เหมือนกับ GrabTaxi ที่ใช้ระบบมิเตอร์ปกติที่ติดรถ แต่ GrabBike GrabCar และอูเบอร์นั้นคิดด้วยระบบนำทางดาวเทียม และอูเบอร์นั้นมีการเพิ่มราคาในบางช่วงเวลาในกรณีที่เป็นช่วงรถติดและหากมีรถให้บริการน้อย หรือเรียกจากบางพื้นที่เช่นพื้นที่ธุรกิจ

ส่วนเรื่องการที่รัฐบาลไทยพยายามเล่นงานอูเบอร์กับ Grab นั้นก็คงเป็นเรื่องขำๆ ไปเรื่อยๆ ในช่วงนี้ เพราะพลันที่มีการประกาศอย่างครึกโครมเรื่องการห้ามให้บริการ บริการเหล่านี้ก็ยังมีตามปกติ ผู้ให้บริการรายหนึ่งบอกผมว่าบริษัทที่ให้บริการบอกเขาว่า ถ้าโดนจับก็ให้มาเอาค่าปรับที่ทางบริษัทได้อีกต่างหาก

พี่คนขับรายหนึ่งยังถามว่า ถ้าบริษัทนี้เขาจดทะเบียนอยู่ที่ต่างประเทศ แล้วไม่มีเบอร์โทรศัทพ์หรือสำนักงานในประเทศ แล้วคนขับไม่ได้รับเงินจากคนโดยสาร (เพราะจ่ายผ่านบัตรเครดิตไปที่บริษัทแม่ แล้วคนขับไปรับเงินอีกที) จะดำเนินคดีได้ยังไง อะไรคือหลักฐานในการดำเนินคดี (บางทีก็คล้ายๆ กับการล่อซื้อในสถานบริการที่ออกจะซับซ้อนถ้าไม่ได้จ่ายเงินตรงกับผู้ขายบริการแต่ให้กับบริษัทแทน)

เมื่อปีที่แล้ว มีการพยายามในอเมริกาที่จะทำให้เกิดระบบอูเบอร์กับเรื่องอื่น เช่นสั่งอาหารกินได้เช่นกัน แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะได้รับความนิยม

ที่กล่าวมาทั้งหมดคือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริง แต่สิ่งที่จะพูดต่อไปก็คือ บริการที่เกิดขึ้นนำไปสู่การตีความ การเข้าใจโลก และการใช้ชีวิตในโลกแบบใหม่ ที่เรียกว่าอูเบอร์ภิวัฒน์ ซึ่งสามารถสรุปง่ายๆ นอกไปจากการตื่นตาตื่นใจกับตัวบริการหรือโปรแกรมอูเบอร์ที่เราใช้กันทุกวัน

กล่าวคือ อูเบอร์ภิวัฒน์คือการเปลี่ยนระบบการติดต่อกันโดยการลดความเป็นตัวกลางแบบเดิมลง และสร้างความเป็นตัวกลางแบบใหม่แทน

เราคงไม่สามารถอธิบายง่ายๆ ว่า อูเบอร์นั้นทำให้เกิดการยกเลิกตัวกลางไปเสียหมด แต่ว่าการเป็นตัวกลางมันเปลี่ยนรูปไปจากแบบที่ผูกขาดจากเบื้องบน เป็นการเชื่อมประสานในแนวระนาบมากขึ้น และทำให้เราเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น และติดต่อระหว่างกันได้เองมากขึ้น

ในอีกด้านหนึ่ง อูเบอร์ภิวัฒน์ยังสร้างความเป็นไปได้ในเรื่องของการคำนวณราคาในแบบใหม่ ที่ทำให้เกิดการเชื่อมโยงกันระหว่างเครือข่ายผู้ใช้งานและผู้ให้บริการ เข้ากับฐานข้อมูลเรื่องความต้องการ ตำแหน่งในแผนที่/การนำทางและราคา ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า หากเรียกรถในย่านธุรกิจราคาจะแพง (เว้นแต่มีโปรโมชั่น) หรือถ้าจำนวนรถบริการมีน้อย ราคาก็จะขึ้น ขณะที่มิเตอร์ของทางการไม่สามารถสร้างความยืดหยุ่นด้านราคาได้ดีเท่า สิ่งนี้ถ้าคิดคำนวณในแบบตัวแบบบริสุทธิ์ของสภาวะตลาดแบบที่เคยเรียนกันในตำราเศรษฐศาสตร์จุลภาคแล้ว ก็จะเห็นความมหัศจรรย์ของตลาดได้อย่างทันตา

ประเด็นท้าทายก็คือ เราจะสร้างอูเบอร์ภิวัฒน์ให้กับเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองได้เพิ่มมากขึ้นแค่ไหน มีเศรษฐกิจอะไรที่สามารถสร้างเครือข่ายผู้ซื้อผู้ขายได้อีก เราจะสั่งผัดไทยปากซอยในระบบแบบนี้แล้วให้เขามาส่งบ้านได้ง่ายกว่าระบบซื้อของออนไลน์แบบเดิมได้ไหม หรือจะสั่งของโอท็อปได้ง่ายขึ้นไหมจากเครือข่ายเหล่านี้ หรือสินค้าบริการอื่นๆ

ระบบเดิมที่ต้องใช้นายหน้า เช่นการซื้อหุ้น ซื้อบ้าน ซื้อสินค้าต่างๆ จะง่ายขึ้นกว่าเดิมไหม

ทีนี้ในประเด็นของรัฐเอง คำถามคือ เราจะมองว่ารัฐต้องทำหน้าที่ในการคุ้มครองเรา หรือเราสามารถสร้างระบบคุ้มครองแบบใหม่ในแนวระนาบได้เพิ่มขึ้นไหม จำเป็นไหมที่ต้องมองว่ารัฐนั้นเป็นผู้เดียวที่ผูกขาดอำนาจในการให้คุณให้โทษหรือ เรากำลังเริ่มมองว่าระบบการให้ข้อมูลที่เปิดกว้างจากเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมากกว่า อย่างบริการที่สำคัญเช่น Yelp ที่ทำให้เราค้นหาร้านอาหารแล้วเห็นว่าคนที่ไปใช้บริการให้คะแนนเท่าไหร่ แล้วเราก็มีสิทธิให้คะแนนมากขึ้น ทำให้เราต้องรู้สึกสร้างชุมชนในการดูแลซึ่งกันและกันมากขึ้น แทนที่เราจะเชื่อว่ารัฐนั้นทำได้ทุกเรื่อง

บางครั้งเราก็จะเห็นว่า แทนที่รัฐจะทำหน้าที่เป็นตัวแทนพิทักษ์ผลประโยชน์เรา รัฐกลับจับมือกับคนที่ผูกขาดเศรษฐกิจที่มีอยู่เดิม ซึ่งไม่ได้สร้างประโยชน์ให้กับผู้บริโภคเป็นลำดับแรก เช่นรัฐจะจับอูเบอร์และ GrabBike เพื่อปกป้องบริการที่ประชาชนไม่พอใจแบบที่เป็นอยู่ต่อไปได้แค่ไหน แต่กรณีนี้เรายังไม่เห็นปัญหามากนัก เพราะคนขับแท็กซี่ก็ปรับตัวเข้าระบบใหม่ได้มากขึ้น และต้องแข่งขันให้ได้ สุดท้ายพวกเขาอาจจะไปต่อรองกับรัฐในเรื่องราคาและระเบียบเสียเอง เพราะเขาต้องสู้กับระบบใหม่ๆ มากขึ้น

ในหลายกรณีระบบการให้ข้อมูลที่ทุกคนสามารถให้ข้อมูลได้ ตรวจสอบกันได้ และระบบที่บริษัทนั้นสามารถสร้างมาตรฐานที่ให้หลักประกันได้ว่าเสียงของผู้ใช้นั้นสำคัญก็สามารถที่จะลดค่าบริการที่รัฐมาจัดเก็บในนามของการอ้างว่าทำเพื่อทุกคนได้มากขึ้น

เราเห็นว่าในวันนี้รัฐยังมองว่าสามารถที่จะสร้างความสงบและให้หลักประกันกับสังคมได้ หรือผูกขาดการจัดระเบียบต่างๆ ให้เป็นไปตามมุมมองของรัฐอยู่มาก ในบางเรื่องก็เชื่อว่ามันคือความสำเร็จ เช่นหวย 80 บาท หรือย้ายคนออกจากทางเท้า แต่ในอีกด้านหนึ่ง หากคิดขำๆ ว่า ไปบังคับขายเลขหวยเท่ากันหมด แต่ไม่เคยไปไล่จับคนใบ้หวยเลย แล้วราคาที่ระบุไว้มันจะไปหาเลขนั้นได้อย่างไร เลขอื่นราคาเท่ากันก็ขายไม่ได้อยู่ดี

หรือการไปไล่จัดระเบียบนั้นก็อาจจะทำให้คนนั้นหาซื้อของยากขึ้น ทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้น และสร้างกำไรให้คนที่เป็นเจ้าของที่ดินทั้งที่เขาควรจะพัฒนาระบบการดูแลพื้นที่ของเขาเองด้วย เรื่องเหล่านี้ก็คงต้องคิดว่าความเป็นตัวแทนและความเป็นตัวกลางในแบบเดิมๆ ยังใช้ได้ในโลกที่ถูกอูเบอร์ภิวัฒน์ไปแล้ว ได้แค่ไหน

แม้ว่าอูเบอร์ภิวัฒน์กับเสรีภาพมันไม่ใช่เรื่องเดียวกันพอดี แต่การเปิดให้มีการเคลื่อนไหวของข้อมูลข่าวสาร และความเชื่อว่าสังคมจะสามารถจัดการตัวเองได้และรับมือกับปัญหาต่างๆ ได้นั้น ก็ถือเป็นจุดสำคัญที่ทำให้อูเบอร์ภิวัฒน์นั้นทรงพลังในทุกวันนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image