เส้นทาง วิบาก นายกฯ คนนอก เลือกตั้ง 2561

2561

จะมีการเลือกตั้งหรือไม่เลือกตั้งตามสัญญาก็ตามที

แต่เป็นที่เชื่อได้ว่า การเลือกตั้งทั่วไปจะเป็นหัวข้อที่ถูกจับตา

ถูกวิพากษ์วิจารณ์

Advertisement

ไม่ว่าจะในแง่ลบหรือบวก

ไม่ว่าจะจากในหรือต่างประเทศ

ขอให้รัฐบาลและ คสช.เตรียมใจไว้แต่เนิ่นๆ

Advertisement

1มกราคม วันเริ่มต้นปีใหม่

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในประเด็นว่าภูมิทัศน์การเมืองจะเป็นอย่างไร หากมีการเลือกตั้งในปี 2561

อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯ ผู้เคยมีผลงานวิจัยเรื่องการเลือกตั้งจำนวนมาก ระบุว่า

การเลือกตั้งครั้งต่อไป จะทำให้เกิดระบอบที่อยู่ในสภาวะกึ่งกลางของระหว่างอำนาจนิยมกับประชาธิปไตย

ไม่มีใครมีอำนาจบริหารประเทศอย่างเด็ดขาดเสรี

เป็นสภาวะ hybrid หรือลูกครึ่ง

“ประเทศไทยอยู่ในสภาวะแบบนี้ส่วนมากตั้งแต่ 80 ปีที่ผ่านมา และเกิดขึ้นมาโดยกระบวนการมากกว่า

แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่รัฐธรรมนูญตั้งใจเขียนเพื่อให้ระบอบนี้เป็นสถาบันจริงๆ

รองรับระบอบนี้อย่างเป็นทางการ

แต่ในขณะเดียวกันระบบการเลือกตั้งกับพรรคการเมืองมีอะไรที่ย้อนแย้ง และยากต่อการจัดการ

ก็อาจจะไม่ง่ายตามที่ชนชั้นนำต้องการ”

ทําไมถึงว่ายาก

เพราะ

“เรื่องพรรคการเมือง มีความพยายามอยากให้เป็นสถาบันสูง ลดความผูกขาดโดยชนชั้นนำ

เช่น การกำหนดไพรมารีโหวต นักการเมืองต้องสังกัดพรรค มี ส.ส.อิสระไม่ได้

พยายามจะลดอิทธิพลของพรรคเพื่อไทย

แต่เหมือนกับจุดอ่อนในตัวมันเอง

สิ่งที่ต้องการตอนนี้คือ ตั้งพรรคมาแข่งกับพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์

ซึ่งทำไม่ได้

เพราะพรรคใหม่ไม่สามารถหาสมาชิกพรรคมาสังกัดพรรคได้

ผลของมันจะยิ่งทำให้พรรคเพื่อไทยแข็งแกร่งขึ้น

ในที่สุดแล้วกลายเป็นรั้วหนามที่จะมากั้นไม่ให้พรรคที่จะสนับสนุนพรรคทหารเกิดขึ้นได้

จะเห็นความพยายามให้รีเซตสมาชิกพรรค

ใช้มาตรา 44 ยกเลิก พ.ร.บ.พรรคการเมือง”

กระนั้นก็ยังไม่ง่ายอีก

ทำไม?

“ที่ผ่านมา พรรคอันดับหนึ่งอันดับสอง (เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์) ได้เสียงรวมกัน 78 เปอร์เซ็นต์

เลือกตั้งครั้งหน้าอาจจะลดลงมานิดหนึ่ง แต่ไม่น่าจะต่ำกว่า 70 เปอร์เซ็นต์

ดังนั้น พรรคที่เหลือได้ 30 เปอร์เซ็นต์

ถามว่า 30 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือจะเอาเสียงไปรวมกับ ส.ว. 250 เสียงในการเลือกนายกฯคนนอก พอไหม

มันจะปริ่มมาก

เพราะเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคที่เหลือได้ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ คือ 100 เสียง

บวกกับ ส.ว. 250 เสียง เป็น 350 เสียง

ไม่พอที่จะโหวตเลือกนายกฯ ที่ต้องใช้ 375 เสียงขึ้นไป

เชื่อว่าพรรคเพื่อไทยจะมาเป็นอันดับหนึ่ง และคิดว่าคงไม่ไปร่วมกับทหาร

เว้นแต่รีเซตพรรคแล้ว พรรคแตก

คำถามคือพรรคประชาธิปัตย์ต่างหากจะไปร่วมกับทหารหรือเปล่า

ถ้าประชาธิปัตย์ไม่ร่วม และเพื่อไทยไม่ร่วม

พรรคอื่นๆ จะมีคะแนนมากพอที่จะร่วมกับ ส.ว. เพื่อจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่”

และจะไม่เหมือนกับยุคของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ผู้เป็นนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

เพราะ

“เสียงสนับสนุน พล.อ.เปรมเป็นเสียงที่เกินครึ่งของสภา

คือจัดตั้งรัฐบาลผสมเสียงข้างมากในสภา 5 พรรค 7 พรรค

แต่ครั้งนี้ถ้านายกฯมาจากพรรคเล็ก ไม่ใช่เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ เสียงสนับสนุนก็ได้ไม่ถึงครึ่ง

และครั้งนี้มีพรรคการเมืองชัดเจน เป็นระบบ 2 พรรคใหญ่มานาน

ผ่านการเลือกตั้ง 4 ครั้ง เป็นรากที่ฝังไปแล้ว

ไม่เหมือนสมัยก่อนที่พรรคการเมืองเป็นเบี้ยหัวแตก

นี่คือเงื่อนไขที่ต่างกัน”

โบราณว่า จะก้าวขาลงจากเรือน จิ้งจกทักยังต้องฟัง

นี่งานใหญ่ขนาดการเลือกตั้งระดับชาติ

และคนทักเป็นอาจารย์-นักวิชาการผู้หนักแน่นด้วยข้อมูลการเมือง

รัฐบาล-คสช.จะฟังหรือไม่

ฟังแล้วจะรับไปปรับปรุงแก้ไขอะไรหรือไม่

และเตรียมรับข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ปรากฏด้วยหรือไม่

ว่าถ้าเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐบาลที่ปราศจาก ม.44

จะอยู่หรือทำงานอย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image