เมื่อสังคมสลาย โดย วสิษฐ เดชกุญชร

แฟ้มภาพ

เมื่อวันที่ 13 มีนาคมปีนี้ บนทางด่วนในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา รถยนต์นั่งยี่ห้อเมอร์เซเดส-เบนซ์ซึ่งผู้ขับขับด้วยความเร็วสูง ชนไม้กั้นด่านเก็บเงินทางด่วน แล้วแล่นตะบึงต่อไปชนเอาท้ายรถยนต์นั่งยี่ห้อฟอร์ดคันหนึ่ง เป็นเหตุให้ไฟลุกไหม้รถยนต์ยี่ห้อฟอร์ดคันนั้น และไฟคลอกผู้ขับและผู้โดยสารในรถจนถึงแก่ความตายทั้งสองคน

เหตุร้ายน่าสลดใจที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นความวิปริตของทั้งสังคมและกระบวนการยุติธรรม เพราะปรากฏว่านายเจนภพ วีรพร ผู้ขับรถเบนซ์ซึ่งได้รับบาดเจ็บแต่ไม่ถึงเสียชีวิตเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทนำเข้ารถยนต์ราคาแพง ครอบครัวทำธุรกิจและมีฐานะดีเข้าขั้นมหาเศรษฐี หลังเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งข้อหากับนายเจนภพว่าขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและทรัพย์สินเสียหาย นายเจนภพไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่ตรวจร่างกายเพื่อหายาเสพติดและวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด และเจ้าหน้าที่ตรวจพบยารักษาโรคซึมเศร้าในรถยนต์คันที่เขาขับ

ปรากฏตามคำบอกเล่าของพนักงานบริษัทประกันภัยว่า นายเจนภพเคยขับรถยนต์และเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุมาก่อนหน้านั้นแล้วหลายครั้ง

พฤติการณ์ของนายเจนภพมีลักษณะเป็นของผู้ที่มีการศึกษาและครอบครัวมีฐานะดี แต่สุรุ่ยสุร่าย คึกคะนอง ไม่รู้จักควบคุมตัวเอง และไม่เคารพกฎหมาย เมื่อกระทำความผิดแล้วก็ใช้ความร่ำรวยของตนชดใช้ผู้เสียหายโดยไม่สำนึกในความร้ายแรงของการกระทำความผิดของตน น่าสังเกตว่ากรณีเช่นนี้เกิดแล้วเกิดอีกอย่างซ้ำซากในสังคมไทย และผู้กระทำความผิดทั้งชายและหญิงมีประวัติพฤติการณ์ไม่ต่างจากนายเจนภพ

Advertisement

3333

การทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในกรณีนี้ก็แสดงให้เห็นความบกพร่องด้วย จะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม ปรากฏตามรายงานข่าวของสื่อว่าการตรวจสถานที่เกิดเหตุเป็นไปอย่างหละหลวม นายตำรวจผู้เป็นพนักงานสอบสวนเมื่อไปถึงที่เกิดเหตุแล้วละเลยหรือมองข้ามพยานหลักฐาน แม้นายเจนภพจะมิได้รับบาดเจ็บสาหัส แต่ตำรวจก็มิได้ทำสิ่งที่ควรจะทำ เช่น ตรวจสภาพร่างกายของนายเจนภพว่าเมาสุราหรือเสพยาเสพติดมาหรือไม่ นายตำรวจพนักงานสอบสวนระดับรองผู้กำกับการสรุปเอาง่ายๆ ว่า นายเจนภพไม่ได้เมาสุราเพราะไม่มีกลิ่นสุราจากผู้ต้องหา

ในที่สุดผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติต้องส่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไปควบคุมการสอบสวน และสั่งย้ายนายตำรวจผู้ทำสำนวนการสอบสวนออกไปทั้งชุด แล้วตั้งชุดใหม่ไปทำหน้าที่แทน รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติรับกับญาติของผู้ตายว่าพนักงานสอบสวนทำงานผิดพลาด

Advertisement

มาตรการแก้ไขของสำนักงานตำรวจแห่งชาติคงเป็นไปที่ปลายเหตุและพอเป็นพิธีเช่นเคย คือตั้งกรรมการสอบสวนเจ้าหน้าที่ผู้ทำงานบกพร่องหรือผิดพลาด หากปรากฏว่าเป็นความจริง เจ้าหน้าที่ก็จะได้รับโทษทางวินัยและหรือทางอาญาตามระเบียบและกฎหมาย

ส่วนต้นเหตุคือคุณสมบัติที่ต่ำกว่ามาตรฐานของนายตำรวจโดยเฉพาะที่เป็นพนักงานสอบสวนนั้นก็คงจะยังไม่ได้รับการแก้ไขหรือพัฒนาเช่นเดิม ในขณะเดียวกันปัญหาอื่นๆ ที่กระทบกระเทือนถึงคุณภาพของพนักงานสอบสวนก็คงจะยังไม่มีใครสนใจที่จะแก้ไข โดยเฉพาะปัญหาค่าตอบแทนที่ต่ำ ไม่ได้ส่วนกับปริมาณงานที่ล้นมือ และความหนักหนาของภารกิจของพนักงานสอบสวน

การบริหารราชการตำรวจทุกวันนี้เป็นแบบวันต่อวันและขอไปที วิสัยทัศน์ของตำรวจที่ว่า “เป็นตำรวจมืออาชีพ เพื่อความผาสุกของประชาชน”? และ “เป็นข้าราชการตำรวจที่มีความรู้ ความสามารถ รู้ลึก รู้รอบ รู้จริง ในงานที่ทำและต้องเป็นคนดีมีคุณธรรม ซื่อสัตย์ ซื่อตรง อดทน เสียสละ ต้องขยัน และมีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง” และพันธกิจของตำรวจ โดยเฉพาะในข้อ 5 ที่ว่า “พัฒนาบุคลากรให้มีความเป็นมืออาชีพเพื่อสร้างความเข้มแข็งขององค์การ” นั้น เป็นแต่เพียงข้อความที่เขียนไว้ให้แลดูโก้ๆ

ความวิปริตของพฤติกรรมของคนในสังคมผสมกับความบกพร่องไม่สมบูรณ์และไร้สมรรถภาพของกระบวนการยุติธรรมเป็นสัญญาณส่อว่า สังคมไทยกำลังบ่ายหน้าไปสู่ความล่มสลาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image