ชัดแจ้ง-คลุมเครือ เส้นทาง”บิ๊กตู่” บนวิถีการเมือง

ตั้งแต่ต้นปีใหม่ 2561 การเมืองก็เริ่มมีสีสัน

สีสันที่เกิดขึ้นจากวาทะของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

วาทะแรก เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 มกราคม ตอบคำถามกรณีนายพิชัย รัตตกุล พาดพิงถึงรัฐบาลทหาร

“เคยบอกแล้วว่ารัฐบาลไม่ใช่ทหาร ถึงจะมาจากทหาร ก็ไม่ใช่ทหาร เพราะออกจากทหารมา 3 ปีแล้ว อย่าไปมองว่าอะไรก็ทหาร ต้องไปดูว่าเป็นการสร้างความเกลียดชังให้กับทหารหรือไม่ 

Advertisement

แล้วรัฐบาลนี้ก็ไม่ใช่ทหารทั้งหมด มีนักวิชาการ เรื่องใครจะไปจับมือใครเป็นสิทธิส่วนบุคคล ทุกพรรคการเมืองมีอุดมการณ์ที่ประชาชนยอมรับ มีสมาชิกพรรคที่ครบถ้วนถูกต้องก็จบสังคมรับได้ ไม่ว่าจะเป็นพรรคไหน”

และตบท้ายด้วยถ้อยคำที่น่าสนใจ

วันนี้ผมต้องเปลี่ยนแปลงเพราะผมไม่ใช่ทหาร เข้าใจไหม

Advertisement

ผมเป็นนักการเมืองที่เคยเป็นทหาร

วาทะที่สอง เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 มกราคม เกิดขึ้นระหว่างงานเลี้ยงสรรค์วันปีใหม่กับสื่อมวลชนทำเนียบรัฐบาล

เป็นถ้อยคำที่ตอบคำถามเมื่อสื่อมวลชนขอความชัดเจนเรื่องการกลับมาเป็นนายกฯอีกครั้ง

“สื่อย่อมรู้คำตอบดีว่าพูดไปก็จะเป็นการตัดทาง เพราะไม่รู้ว่าวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร แต่การเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอกก็ถือว่าตามระบบ ซึ่งรัฐธรรมนูญได้ระบุไว้” 

หากพรรคการเมืองไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีกันเองได้ในสภา รัฐธรรมนูญก็เปิดช่องทางให้เสนอนายกรัฐมนตรีคนนอกได้ เพื่อเป็นการตัดเรื่องการปฏิวัติ

ต่อไปนี้จะไม่มีการปฏิวัติแล้ว เพราะนายกรัฐมนตรีคนนอกก็เลือกกันในรัฐสภา

แต่ตอนนี้ยังไม่มีใครเสนอตนเองให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนนอก

ตีความได้ว่า “ไม่ปิดหนทางเป็นนายกฯคนนอก” 

แค่ 2 วาทะ 2 วันก็ทำให้ภาพของ พล.อ.ประยุทธ์บนเส้นทางการเมืองชัดเจนขึ้น

แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะบ่นเบื่อการใช้อำนาจ แต่ก็ไม่ปฏิเสธหากจะกลับมาบริหารประเทศหลังเลือกตั้งในรูปแบบของ “นายกฯคนนอก”

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยังยอมรับเป็นครั้งแรกว่า ได้ก้าวเข้าสู่สถานะของ “นักการเมือง” มาแล้ว

การกำหนดสถานะตัวเองเช่นนี้ ย่อมแตกต่างจากที่เคยได้ยิน พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

โดยเฉพาะการให้สัมภาษณ์กล่าวหาว่าปัญหาของประเทศเกิดขึ้นเพราะนักการเมือง

เคยให้สัมภาษณ์ปัญหาเหล่านั้น ทำให้ทหารต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง

ทหารต้องยึดอำนาจ !

ขณะเดียวกัน วาทะรับปีใหม่ของ พล.อ.ประยุทธ์ ยังสอดรับกับความเคลื่อนไหวของ พล.อ.ประยุทธ์ในระยะหลัง

ประการแรก เป็นความเคลื่อนไหวในนามของคณะรัฐมนตรีที่ออกไปสัญจรต่างจังหวัด

ไปจัดประชุม ตระเตรียมยุทธศาสตร์ และอนุมัติงบประมาณ

ประการที่สอง เป็นความเคลื่อนไหวที่เผยแพร่ออกมาเป็นภาพข่าว

เป็นภาพ พล.อ.ประยุทธ์พบปะกับอดีต ส.ส. ซึ่งมีบารมีอยู่ในภูมิภาคต่างๆ

เมื่อตอนไปสุพรรณบุรี ถิ่นของพรรคชาติไทยพัฒนา นายวราวุธ ศิลปอาชา แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา และคณะออกไปต้อนรับ

เมื่อตอนที่ไปจังหวัดสุโขทัย พล.อ.ประยุทธ์พบปะพูดคุยกับนายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มมัชฌิมาและคณะ

และเมื่อตอนปลายปี 2560 ได้ปรากฏรูปภาพ พล.อ.ประยุทธ์ถ่ายร่วมกับตระกูล “สะสมทรัพย์” แห่งนครปฐม

แม้ทุกช็อต ทุกตอน จะยังไม่มีการยืนยันเรื่องเกี่ยวกับการเมือง

แต่สัญญาณที่ส่งออกมาจากความเคลื่อนไหว สะท้อนให้เห็นเช่นนั้น

ผนวกกับกฎกติการัฐธรรมนูญปี 2560 ที่มีข้อวิพากษ์วิจารณ์เรื่องขุมกำลังของ คสช. โดยเฉพาะ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งและยังมีกฎหมายลูกซึ่งเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่พรรคการเมืองร้องจ๊าก

โดยเฉพาะ พ.ร.ป.พรรคการเมืองที่กำหนดบทเฉพาะกาลเข้มงวด แต่ คสช.ไม่คลายกฎให้ปฏิบัติ จนผวาว่าจะกระทบต่อสิทธิทางการเมืองของพรรค

กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ใช้อำนาจตาม ม.44 แก้ปัญหา แต่ก็กลายเป็นปัญหาของพรรคเก่าที่โวยว่า โดนรีเซตสมาชิกพรรค

โวยว่ากฎระเบียบที่ออกเอื้อต่อพรรคใหม่ และทำให้พรรคเก่าเสียเปรียบ

เสียเปรียบทั้งในรูปแบบการเลือกตั้งที่ “ทุกคะแนน” มีความหมาย

และเสียงเปรียบเรื่องการบังคับให้จัดแถวสมาชิกพรรคกันใหม่

ข้อขัดแย้งดังกล่าวกำลังขยายกลายเป็นประเด็นที่ยื่นร้องศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความ

ผลการพิจารณาจะเป็นอย่างไรก็ต้องรอคำตอบ

จากปรากฏการณ์ทั้งหมดที่ปรากฏ สะท้อนให้เห็นความเตรียมพร้อมของฝ่าย คสช.

เตรียมพร้อมที่จะบริหารประเทศต่อไปหลังการเลือกตั้ง

ทั้งกฎระเบียบ ทั้งการลงพื้นที่ และการเชื่อมโยงกับเครือข่าย

รวมเข้ากับคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา

ทุกประการชี้ให้เห็นเป้าหมาย

เป้าหมายของ คสช. ที่มีความพยายามที่จะ “อยู่ต่อ”

ถ้าเป็นไปได้ คสช.ก็ต้องการอยู่บริหารต่อหลังการเลือกตั้งที่ให้สัญญากับชาวโลกและชาวไทยเอาไว้

เพราะระบบที่เป็นอยู่ เมื่อบริหารประเทศมา 3 ปี ปัญหาที่ คสช.และรัฐบาลประสบคือ “ขาดตัวเชื่อมกับประชาชน”

ระบบเลือกตั้งมี ส.ส.ที่ถูกบังคับให้ต้องไปรับฟังเสียงประชาชนและนำมาถ่ายทอดต่อรัฐบาล

ระบบเลือกตั้งทำให้ ส.ส.เอาคำตอบจากรัฐบาลไปสื่อสารต่อกับประชาชน

แต่ระบบที่เป็นอยู่ ทั้ง สนช. ทั้ง กรธ. ทั้ง ครม. ต่างไม่มีกลไกเชื่อมต่อกับประชาชน

เมื่อห่างหายจากประชาชนนานวัน ย่อมไม่เข้าใจประชาชนมากขึ้น

สุดท้ายรัฐบาลก็ตกอยู่ในสภาพ “เกาไม่ถูกที่คัน” อยู่เสมอ

ดังนั้น หากมีการเลือกตั้ง แล้วได้กลับไปบริหารประเทศอีก ย่อมดีกว่าปัจจุบัน

เพียงแต่จะมีการเลือกตั้งหรือไม่

เมื่อพิจารณาจากเป้าหมาย คือความต้องการบริหารประเทศต่อไปหลังการเลือกตั้ง คสช.ก็น่าจะเร่งให้มีการเลือกตั้งเร็ว

หรือรักษาโรดแมปการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561 เอาไว้

แต่เมื่อนำสถานการณ์ “ขาลง” ของรัฐบาล บวกกับผลโพลที่สำรวจความเห็นของประชาชนเป็นระยะๆ

ผลโพลที่ยังปรากฏความนิยมในพรรคเพื่อไทยคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ คสช.อาจไม่บรรลุเป้าหมาย

ผลที่สุด คสช.อาจจะ “เสียของ”

ทำให้บรรดานักวิเคราะห์การเมืองยังไม่แน่ใจในโรดแมป

ยังไม่มั่นใจว่าจะมีการเลือกตั้ง

ความแจ่มชัดในเวลานี้คือ พล.อ.ประยุทธ์พร้อมเล่นการเมือง พล.อ.ประยุทธ์ไม่ปฏิเสธนายกฯคนนอก

แต่สำหรับการเลือกตั้งนั้น ยังไม่แน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image