คำเตือนที่’ป๋า’ยังไม่ได้บอก โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

แฟ้มภาพ

“คำพูด” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ช่วงปีใหม่ หลายประโยคสำคัญต้องบันทึกไว้

อาทิ “ผมเป็นนักการเมือง”

และ “นายกฯคนนอกจะช่วยหยุดปฏิวัติ”

คงทำความเข้าใจได้ไม่ยากว่า ไฉน พล.อ.ประยุทธ์ จึงพูดสิ่งเหล่านี้ออกมา

Advertisement

ที่ชัดเจนหนึ่ง คือความพยายามแยก “ทหาร” จาก “การเมือง”

โดย พล.อ.ประยุทธ์อาจเชื่อว่า จุดอ่อนที่สุดของคณะรักษาความสงบแห่งชาติและรัฐบาล ก็คือถูกมอง การเป็นทหารการเมือง

เมื่อเป็นทหารการเมือง การจะสืบทอดอำนาจได้ก็ต้องมีพรรคการเมืองของตนเอง

Advertisement

ที่มัดเอา “สถาบันทหาร” ไปถูลู่ถูกังด้วย

ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ดี ต่อสถาบันหลักของชาตินัก

พล.อ.ประยุทธ์ จึงอาจพยายามทำให้เรื่องนี้ชัดเจน

ส่วนใครจะเชื่อ หรือคล้อยตาม ก็เป็นสิทธิของแต่ละคน

แต่กระนั้น ต้องไม่ลืมว่า กว่าที่ พล.อ.ประยุทธ์จะเอ่ยถ้อยคำเหล่านี้ออกมาได้

มีการ “เซต” ระบบ “กองหนุน” ซึ่งก็คือ ทหาร หรือกองทัพ เอาไว้หนุนตนเองและพวกแล้ว

เซตผ่านทั้ง “รัฐธรรมนูญ” คำสั่ง คสช.ที่ 44 รวมไปถึงกฎหมายและคำสั่งหน่วยราชการจำนวนมหาศาล

อย่างเรื่อง “พรรคทหาร”

แน่นอนที่สุดเราจะไม่เห็นทหารเข้ามาจัดตั้งองค์กรการเมือง หรือเข้าไปเป็นสมาชิกพรรคโดยเปิดเผย

จะรับรู้กันเพียงแค่ พรรค “สนับสนุน” (อดีต) ทหารเท่านั้น

และจะรับรู้เพียงแค่มีสมาชิกวุฒิสภา “แต่งตั้ง” จำนวน 250 คน ที่ระยะเริ่มแรกจะให้ คสช.เป็นผู้แต่งตั้งเกือบทั้งหมด

ที่สำคัญยิ่ง ยังมี ส.ว.โดยตำแหน่ง 6 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

องค์ประกอบเช่นนี้ แม้จะปฏิเสธว่าไม่ใช่ “พรรคทหาร” แต่คนโดยทั่วไปก็รับรู้ว่าอะไรคืออะไร

นอกจากนี้ ในด้านบริหาร มีการใช้คำสั่งตามมาตรา 44 ตั้งซุปเปอร์ กอ.รมน.ขึ้นมาอย่างเงียบๆ

ผ่านคำสั่งของหัวหน้า คสช.ที่ 51/2560 “การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร”

สาระของกฎหมายฉบับนี้ เปิดทางให้ทหารเข้าไปมีบทบาทแทรกแซงการบริหารงานของหน่วยราชการในประเทศนี้ได้ทุกหน่วย

ภายใต้กรอบ “การปฏิบัติการด้านความมั่นคงและการป้องกันบรรเทาสาธารณภัย”

กำหนดให้ตนเองเป็นสภาความมั่นคงแห่งชาติอีกแบบคู่ขนานกับสภาความมั่นคงแห่งชาติที่มีอยู่แต่เดิม

ถือเป็นการ “เซต” ให้ทหารเข้าไปมีบทบาทในทุกองคาพยพของชาติ

ซึ่งนี่ก็เป็นตัวอย่างเพียงไม่กี่ตัวอย่าง ที่ทำให้คนที่คิดจะอยู่ในอำนาจต่อไป มั่นใจว่าตนเองและพวกมี “เสถียรภาพ” ที่มั่นคง โดยไม่จำเป็นต้องมีพรรคทหารมาสนับสนุน

ยิ่งกว่านั้น ช่องทางที่จะเข้าสู่อำนาจภายใต้เสื้อคลุม “นายกรัฐมนตรีคนนอก” ก็ถูกระบุ (โดยเนติบริกรของตนเอง) เอาไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างถูกต้อง

นี่จึงเป็นความมั่นใจว่าการสืบอำนาจของตนเองและพวก จะเป็นไปอย่างราบรื่น ถูกต้อง ชอบธรรม ตามกฎหมายทุกประการ

อย่างไรก็ตาม ที่น่าตั้งคำถามก็คือ การที่ต้องหลุด “คำพูด” สำคัญๆ ต่างๆ ออกมานั้น

ฝ่ายตนเป็นผู้กำหนด

หรือสถานการณ์อันไม่คาดหมายต่างๆ เกิดขึ้น และ “บีบ” ให้ต้องพูดออกมา

จึงมิใช่การรุก หากแต่เป็นการรับเสียมากกว่า

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เพิ่งมาเตือนเรื่อง “กองหนุน” ไปหมาดๆ

ทำให้ยังไม่ได้เตือน “ในฐานะ” นายกฯคนนอก “ต้นแบบ” อีกประการหนึ่ง

นั่นคือ ถึงจะบีบ ถูกรุก อย่างไร

พล.อ.เปรมไม่เคยกระโดดเข้าไปคลุกโคลนด้วยการบอกว่าตนเองเป็น “นักการเมือง”

มีแต่พยายาม “ลอยตัว” ให้ “เหนือกว่า” 

จึงอยู่ในอำนาจยาว 8 ปี

………………….

สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image