ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

แฟ้มภาพ


ไม่ว่าจะเป็นเพราะรู้สึกว่า “เศรษฐกิจดีขึ้น” เป็นแค่คำประกาศของคนในรัฐบาล ประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะคนทำมาหากินรู้สึกไปในทางตรงกันข้ามหรือไม่ก็ตาม แต่มีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ “รอคอยประชาธิปไตย”

แม้มีความพยายามที่จะสื่อสารให้เข้าใจไปในทางที่ว่า “ประชาธิปไตยไม่ใช่การเลือกตั้ง” แต่อารมณ์ของคนที่เฝ้ารอการกลับคืนมาของประชาธิปไตย มีหมุดหมายของการคอยอยู่ที่ “วันเลือกตั้ง”

เพราะดูจะมีแต่ “วันเลือกตั้ง” เท่านั้นที่จะทำให้สัมผัสถึงความรู้สึกที่ว่า “สิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ” กลับคืนมาเป็นของประชาชน

ถึงแม้ว่า “วันเลือกตั้ง” ที่ผู้มีอำนาจประกาศไว้แล้วว่าจะเป็นวันหนึ่งในเดือนพฤศจิกายนปลายปีนี้ แต่เสียงที่ก่อความรู้สึก “ยังไม่แน่” ยังได้ยินอยู่ทั่วไป ตลอดเวลา และทำท่าจะดังขึ้นเรื่อยๆ

Advertisement

ล่าสุดจากปาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นผู้ประกาศไว้เองว่าจะเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายน 2561

เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม วันส่งท้ายปี 2560 นี่เองที่ “พล.อ.ประยุทธ์” บอกว่า “ผมประกาศไว้เลย สถานการณ์ถ้ายังมีความขัดแย้งสูง การเลือกตั้งได้หรือเปล่าผมไม่รู้”

แม้ความปรารถนาของประชาชนที่ต้องอดทนกับปัญหาปากท้องมากมายด้วยกระแสของความไม่แน่นอน ก็ดูเหมือนว่ามีบางสิ่งที่ดึงดูดให้จับตา เพราะเป็นภาพสะท้อนว่าบางที “การเลือกตั้ง” ที่เป็นหนทางเดียวที่ประชาชนจะมีสิทธิในการแสดงออกทางการเมือง ก็ถูกขับเคลื่อน ผลักดันด้วยเรื่องราวเหล่านี้

เรื่องแรก วันที่ 28 ธันวาคม 2560 พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เปิดบ้านสี่เสาเทเวศร์ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ นำคณะรัฐมนตรีและผู้บัญชาการเหล่าทัพ เข้าอวยพรเนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่

ซึ่งหนึ่งในคำกล่าวตอบขอบคุณของ พล.อ.เปรมที่ว่า “ตู่ใช้กองหนุนไปเกือบหมดแล้ว แทบจะไม่มีกองหนุนเหลืออยู่แล้ว” ถูกวิพากษ์วิจารณ์ไปอย่างกว้างขวาง

แน่นอนเป็นเสียงวิจารณ์ที่มองย้อนมาถึงสถานะในปัจจุบันของ “ตู่” อันเป็นชื่อเล่นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ต่อมาวันที่ 2 มกราคม 2561 “นายพิชัย รัตตกุล” อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ชี้ทิศทางการเมืองปี 2561 ตอนหนึ่งว่า “ผมอยากเห็นพรรคการเมืองจับมือร่วมกันต่อสู้เพื่อเอาประชาธิปไตยคืนมา มากกว่าจะไปร่วมมือกับทหาร”

แม้ข้อเสนอของ พิชัย รัตตกุล จะแรงถึงขนาดให้ ชวน หลีกภัย ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์แทน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งหากเป็นก่อนหน้านั้น “พิชัย” คงถูกถอนหงอกจากคนรุ่นใหม่ในพรรคประชาธิปัตย์ แต่ครั้งนี้แรงขนาดนั้นทุกคนยังต้องนิ่งฟัง

แต่ที่สำคัญคือ หลังจากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ประกาศด้วยท่าทีที่ก่อความตื่นตัว ตื่นใจไปทั้งแวดวงการเมืองว่า “ผมเป็นนักการเมือง ที่อดีตเคยเป็นทหาร”

ซึ่งแน่นอนว่าย่อมถูกตีความไปในความหมาย “ผู้นำรัฐประหารกระโดดลงเวทีการเมืองเต็มตัวแล้ว”

การประกาศตัวเป็น “นักการเมือง” ชิ่งออกมาจากกองทัพ โดยบอกว่าเป็นแค่ “อดีตทหาร”

ก่อให้เกิดการตั้งข้อสังเกตมากมายถึงแรงผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

แน่นอนย่อมโยงไปสู่สถานการณ์ “ตู่ใช้กองหนุนไปเกือบหมดแล้ว แทบไม่มีกองหนุนเหลืออยู่แล้ว” จากปาก “พล.อ.เปรม”

และมีไม่น้อยที่โยงเข้าสู่เสียงร้องขอจาก พิชัย รัตตกุล ที่ให้ “พรรคการเมืองจับมือเพื่อสู้”

ซึ่งแม้จะไม่บอกว่าสู้กับใคร แต่แทบทุกคนย่อมมีคำตอบในใจแล้ว

และอาจบางทีคำตอบนั้นคือแรงผลักที่จะนำสู่ “การเลือกตั้ง”

ด้วยไม่ว่าจะมีเหตุผลที่จะพูดถึงความไม่พร้อมมากมายเพียงใด

ทว่า “กองหนุน” ที่จะต้านทานไม่ให้คืนสิทธิทางการเมืองกับประชาชน จะเป็นเงื่อนไขใหญ่ที่ทำให้ต้องตัดสินใจ

จาก “กรรมการ” จัดการ กระทั่งพลิกมาเป็น “คู่ต่อสู้” ในสภาพที่ “กองหนุนใช้ไปหมดแล้ว”

หนทางที่เหลืออยู่คือ “พึ่งพาตัวเอง โดยควบคุมความหงุดหงิดไว้อย่างเข้มข้น”

…………………

สุชาติ ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image