‘นักการเมือง’ โดย ปราปต์ บุนปาน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (แฟ้มภาพ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เพิ่งออกมายอมรับสถานะ “นักการเมือง” ของตนเอง เป็นครั้งแรก

ด้านหนึ่ง มองได้ว่า เพื่อตอบรับกับกระแสการเลือกตั้งทั่วไป (ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีภายในปีนี้) ตลอดจนกระแสการมีนายกฯ คนนอก ที่กำลังถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวาง

อย่างไรเสีย การพยายามแบ่งแยกอดีตทหารหรือผู้นำเหล่าทัพที่ลง/เข้ามาทำงานการเมือง (และต้องเผชิญหน้ากับเกมการเมือง-นักการเมืองโดยมิอาจหลีกได้) ออกจากกองทัพ ก็ถือเป็นเรื่องปลอดภัยไว้ก่อน

นั่นคือประเด็นเรื่องสภาวะแวดล้อมในทางการเมือง

Advertisement

อีกด้านที่น่ากล่าวถึง ได้แก่ สถานภาพของ “นักการเมือง” 

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ภาพลักษณ์ของ “นักการเมือง” ถูกนำเสนอหรือใส่ร้ายป้ายสีผ่านแง่มุมที่ย่ำแย่ยับเยิน

เพราะนักการเมือง นักเลือกตั้ง และพรรคการเมือง ซึ่งได้รับความชอบธรรมจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน หรือได้รับความชอบธรรมจากกระบวนการอื่นๆ จนสามารถขึ้นสู่อำนาจได้สำเร็จ นั้นไม่มีศักยภาพมากพอที่จะบริหารปกครองประเทศ

Advertisement

รัฐบาลของนักการเมืองมักพบจุดจบ หลังถูกมวลชนฝ่ายตรงข้ามต่อต้าน ความขัดแย้งแพร่ขยายลุกลาม และบ้านเมืองเดินหน้าไปต่อไม่ได้

ภาพลักษณ์อันย่ำแย่เช่นนี้นี่เอง ที่เปิดโอกาสหรือสร้างความชอบธรรมให้กองทัพ ได้เข้ามาควบคุมอำนาจทางการเมือง (จากชั่วคราวก็กินเวลายาวนานมาร่วมสี่ปีแล้ว)

ตามความเข้าใจของคนจำนวนไม่น้อย กองทัพนั้นมีภาพลักษณ์แตกต่างจากนักการเมืองชัดเจน เพราะทหารไม่ได้เล่นการเมือง และปลีกตนอยู่นอกเหนือเกมการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองอันสกปรก

ดังนั้น การประกาศยอมรับว่าตนเองก็เป็นนักการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จึงบ่งชี้ให้เห็นว่า ท้ายสุด “นักการเมือง” ก็ไม่ใช่กลุ่มคนหรือสายพันธุ์ที่เลวร้าย น่ารังเกียจ อย่างสิ้นเชิง

นักการเมืองก็คงเหมือนกับกลุ่มคนอื่นๆ หรือกลุ่มวิชาชีพอื่นๆ (รวมถึงกองทัพและข้าราชการ) ที่มีทั้งคนดีและคนไม่ดีดำรงอยู่ในสถานบัน/องค์กร

และถึงอย่างไรก็ตาม ประเทศชาติก็หลีกหนีนักการเมืองไปไม่พ้น ตราบใดที่ทิศทางหรือโรดแมปยังต้องมุ่งหน้ากลับไปสู่ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย โดยมีการเลือกตั้งเป็นเกณฑ์ชี้วัดสำคัญ

อีกข้อซึ่งน่าตั้งคำถาม คือ “นักการเมือง” ที่นายกรัฐมนตรี (เพิ่ง) ประกาศว่าตนเองเป็น กับ “นักการเมือง” จากพรรคการเมืองต่างๆ หรือกลุ่มคนทำงานการเมืองที่ต้องแสวงหาความชอบธรรมทางอำนาจผ่านคะแนนเสียงเลือกตั้งของประชาชนนั้น เหมือนหรือต่างกันอย่างไร?

“นักการเมือง” ที่ พล.อ.ประยุทธ์ (เพิ่ง) เป็น คือ สถานภาพใหม่ของนายกฯ ที่เพิ่งอุบัติขึ้น เมื่อประเทศกำลังเดินหน้าสู่การเมืองระบบปกติ หรือจริงๆ สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช. ทำมาตลอดหลายปีนี้ ก็คือ งานการเมืองแบบหนึ่ง ของ “นักการเมือง” อีกกลุ่มหนึ่ง?

ถ้าเป็นอย่างหลัง “นักการเมือง” ในแบบ พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช. ก็คล้ายจะไม่ได้มีนิยามความหมายเหมือนกับ “นักการเมือง” โดยทั่วไปเสียทีเดียว

แต่หากเป็นอย่างแรก ก็หมายความว่านายกฯ กำลังต้องปรับเปลี่ยนตัวเองเข้าสู่โหมด “นักการเมือง” ซึ่งไม่ใช่ผู้นำกองทัพ

นักการเมืองที่จะถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้นจริงจังจากนักการเมืองด้วยกันเอง องค์กรหรือภาคประชาชนต่างๆ ที่ไม่ไว้วางใจนักการเมือง และสื่อมวลชน

ไม่นับรวมถึงการเผชิญหน้ากับการปรับประสานต่อรอง ท้าทาย ลองของ รับน้อง หรือเกมชนิดอื่นๆ ที่จะตามมา

…………….

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image