‘มติชน’ ปีที่ 41 ‘ทิพยรูป’ แห่ง สื่อใหม่ ในยุค เปลี่ยนผ่าน

วาระครบรอบวันเกิดปี 41 ของ “มติชน” เดินทางมาถึงในบรรยากาศแห่ง “การเปลี่ยนผ่าน” อย่างมีนัยสำคัญในโลกของ “สื่อ”

ไม่ว่าระดับ “โลก” ไม่ว่าระดับ “ท้องถิ่น”

หากมองผ่าน ฐากูร บุนปาน อาจเป็นเรื่องที่ไม่ยากต่อการตัดสินใจเท่าใดนัก เพราะโดยรากฐานที่เรียนมาทางด้านรัฐศาสตร์ และเติบโตมากับข่าวต่างประเทศและข่าวเศรษฐกิจ

ย่อมสามารถไต่ไปบนยอด “คลื่น” โลกาภิวัตน์ได้อย่างคล่องใจ

Advertisement

แต่หากมองผ่าน ขรรค์ชัย บุนปาน มองผ่าน เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ ซึ่งเติบใหญ่และพัฒนามากับ “สื่อเก่า” อย่างยาวนาน

ก็ยากเป็นอย่างยิ่งที่จะ “ทำใจ”

ยิ่ง ขรรค์ชัย บุนปาน มีรากฐานมาจากความเป็น “นักโบราณคดี” มีความสุขอยู่กับโคลงในแบบทวาทศมาสและกำสรวลสมุทร ก็ยิ่งยากที่จะคาดหมายในเรื่องการปรับเปลี่ยน

Advertisement

นั่นอาจเพราะรับรู้เพียงด้านเดียว มุมเดียว

แท้จริงแล้ว ขรรค์ชัย บุนปาน มิได้เป็นคนโบราณอย่างสุดโต่งและด้านเดียว ตรงกันข้าม เขาเป็นนักโบราณคดีที่เข้าใจในหลักแห่ง “อนิจจัง”

คำว่า “กุมารสยาม” ที่ได้มาสะท้อนอะไร

1 สะท้อนการเรียนรู้และเข้าใจวิถีชีวิตของสังคม “สยาม” อย่างลึกซึ้ง ไม่ว่าในเรื่องของวัตถุ ไม่ว่าในเรื่องจิตใจ

ขณะเดียวกัน 1 ก็มีความเป็น “กุมาร” อยู่อย่างเต็มเปี่ยม

เคยมีผู้เปรียบเทียบว่า ขรรค์ชัย บุนปาน คือคนที่ชมชอบในหลักศิลาจารึก แต่ก็พร้อมที่จะนั่งอ่านแม้ในยามเสพเมรัยกับเพื่อนพ้องในคอฟฟี่ช็อป

หากไม่เข้าใจใน “โบราณ” อย่างลึกซึ้ง

หากไม่เข้าใจใน “สมัยใหม่” อย่างลึกซึ้งก็ยากเป็นอย่างยิ่งที่จะรจนาถ้อยคำอย่าง “กราบพระรูปทรงม้าน้ำตาริน” ออกมาอย่างเฉียบขาดเช่นนี้ได้

ตั้งแต่ยังเป็น “นักเรียนครู” อยู่ใน “วังสวนสุนันทา”

การตัดสินใจก้าวไปข้างหน้า ค่อยๆ เปลี่ยนผ่านจาก “สื่อกระดาษ” เข้าไปสู่สภาวะแห่งยุค “สื่อกระจก” ของมติชนและเครือข่ายจึงเป็นเรื่องที่ผ่านการวิเคราะห์ ขบคิดมาแล้ว

อาจมี ฐากูร บุนปาน และคณะเป็น “หัวหอก”

กระนั้น การตัดสินใจในขั้นสุดท้ายย่อมมาจากความสุกงอม ยอมรับอย่างเต็มเปี่ยมจาก ขรรค์ชัย บุนปาน อย่างไม่ต้องสงสัย

การดำรงอยู่อย่างยาวนานในยุค “สื่อเก่า”

ตั้งแต่ “สยามรัฐ” ภายใต้ร่มเงาของ คึกฤทธิ์ ปราโมช กระทั่ง “ไทยรัฐ” ด้วยฝีมือและความสามารถของ กำพล วัชรพล

และแยกตัวมาตั้งอาณาจักรของตนโดยเริ่มจาก “พิฆเนศ”

ตามมาด้วย “ประชาชาติ” รายสัปดาห์ ตามมาด้วย “ประชาชาติ” รายวัน ผ่านความปั่นป่วนจากเดือนตุลาคม 2516 จนถึงเดือนตุลาคม 2519 แล้วทะยานมาเป็น “มติชน” จึงเป็นรากฐานอันดียิ่งไม่เพียงแต่ต่อ “ประชาชาติ” หากแต่ยังต่อ “ข่าวสด”

การเปลี่ยนผ่านจาก “สื่อกระดาษ” เข้าไปยัง “สื่อกระจก” ของมติชนและเครือข่ายจึงมิได้เดินไปในความว่างเปล่า

ระยะ 2-3 ปีหลังแห่งยุคใหม่ที่มี “ข่าวสด” เป็นหัวรถจักร จากนั้นก็ “มติชน” และ “ประชาชาติ” ตลอดจน “มติชนสุดสัปดาห์” และ “ศิลปวัฒนธรรม”

ดำเนินไปตามคำขวัญ “เราเป็นผู้อาสา”

เป็นการอาสาเข้ามาในท่ามกลางความปั่นป่วน ผวนผัน ที่การเข้ามาของ “เทคโนโลยี” มีส่วนในการทำลายและสร้างสรรค์สิ่งใหม่จากซากปรักหักพัง

“มติชน” และเครือข่ายจึงพร้อมอย่างเต็มเปี่ยมที่จะก้าวไปเพื่อการสร้างสรรค์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image