ชนชั้นนำ

ทุกๆ สังคมจะมีผู้คนอยู่กลุ่มหนึ่งหรือหลายกลุ่มที่มีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิด หรือเป็นผู้นำทางความคิด เป็นผู้สร้างกระแสความคิดที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม หรือเป็นกลุ่มคนหรือหลายกลุ่มที่ต่อต้าน ขัดขวางการเปลี่ยนแปลง กลุ่มผู้คนเช่นว่าถูกเรียกว่าชนชั้นนำ หรือ elite group ที่จะคอยก่อตัวเป็น กลุ่มที่กดดัน หรือ pressure group ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือต่อต้านการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ อย่างต่อเนื่อง จากยุคหนึ่งไปสู่อีกยุคหนึ่งเสมอ

ชนชั้นนำในสังคมมักจะอยู่ในกลุ่มที่สืบทอดฐานะทางสังคมของตนในด้านชนชั้น เช่น สืบทอดมาจากวงศ์ตระกูลที่เคยมียศถาบรรดาศักดิ์ เป็นผู้อยู่ในแวดวงผู้ปกครองมาก่อน เคยเป็นผู้นำทางสังคมในวงราชการ หรือการทหาร หรือธุรกิจการค้า ขณะเดียวกันก็เป็นปัญญาชนผ่านทางการที่มีโอกาสได้รับการศึกษาอบรมสูงกว่าผู้อื่นๆ สำหรับสังคมไทยต้องเป็นนักเรียนนอกด้วย สมัยหนึ่งนักเรียนนอกก็ต้องเป็นนักเรียนจากมหาวิทยาลัยอังกฤษ แต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ต้องเป็นนักเรียนนอกจากมหาวิทยาลัยชั้นนำจากอเมริกา วิชาที่เรียนจะเป็นวิชาอะไรก็ได้ แต่จำนวนมากก็จะเป็นวิชาวิศวกรรม แพทย์ บริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ และกฎหมาย

สำหรับประเทศทางตะวันตก การศึกษาก็มีความสำคัญต่อการเข้ามาเป็นสมาชิกของชนชั้นปกครอง เช่นเดียวกับที่อังกฤษก็ต้องเป็นนักเรียนมหาวิทยาลัยเก่าแก่ เช่น เคมบริดจ์ ออกซ์ฟอร์ด หรือมหาวิทยาลัยลอนดอน ที่อเมริกาก็ต้องเป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเก่าแก่ไอวี่ ลีค (Ivy league) หรือมหาวิทยาลัยชนชั้นนำ 10 อันดับแรก หรือ top ten universities ดังนั้นนอกจากเชื้อสายทางเลือดและนามสกุลแล้ว การศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำก็มีความสำคัญ

สำหรับการศึกษาก็มีข้อสังเกตว่าบัดนี้ชนชั้นนำและชนชั้นสูงของไทยนิยมส่งบุตรหลานเข้าเรียนโรงเรียนนานาชาติที่ใช้หลักสูตรต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรจากอังกฤษหรืออเมริกาที่มีราคาแพง เฉพาะค่าเล่าเรียนก็ตกเทอมละ 4 แสนบาท ปีละ 8 แสนบาท ยังไม่รวมค่าหนังสือแบบเรียนเสื้อผ้าและอุปกรณ์อย่างอื่น แต่ก็ยังถูกกว่าการส่งบุตรหลานไปเรียนต่อต่างประเทศโดยตรงตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษา

Advertisement

ปัจจัยที่ผลักดันให้ครอบครัวของชนชั้นนำต้องส่งบุตรหลานไปเรียนต่างประเทศ หรือยอมจ่ายแพงๆ ให้ลูกหลานเข้าเรียนหลักสูตรนานาชาติภาษาอังกฤษ ก็เพราะคนไทยอ่อนในการพูดอ่านเขียนภาษาอังกฤษและภาษาอื่นๆ ความชำนาญในการพูดอ่านเขียนภาษาอังกฤษด้วยสำเนียงอังกฤษหรืออเมริกัน เป็นเครื่องบ่งบอกว่าเป็นนักเรียนนอกหรือนักเรียนในประเทศ

ซึ่งการเป็นนักเรียนนอกตั้งแต่เด็ก พูดอังกฤษสำเนียงเจ้าของภาษา หรือสำเนียงอเมริกันได้ก็จะมีความรู้สึกว่าตนอยู่ในวรรณะหรือชนชั้นสูงกว่าคนไทยที่พูดอังกฤษสำเนียงไทย สำเนียงจึงมิได้ส่อแต่ภาษาเท่านั้น แต่ส่อชั้นชนที่คนพูดสังกัดด้วย

การเลื่อนระดับชั้นในสังคมของไทยนั้นมีอยู่เสมอ ด้วยชนชั้นทางสังคมโดยสายเลือด ด้วยวงศ์ตระกูลขุนนาง หรือวงศ์ตระกูลผู้ดี มีทางเดียวก็คือเข้าไปแต่งงานด้วย บุตรหลานก็จะได้เลื่อนฐานะเป็นญาติพี่น้องของชนชั้น มีตระกูล มี “หัวนอนปลายตีน” อีกหนทางหนึ่งก็คือผ่านทางการศึกษา สมัยก่อนการศึกษาคือการบวชเป็นพระภิกษุหรือสามเณร แล้วศึกษาปริญญาเป็นมหาเปรียญ 7-8-9 แล้วลาสิกขาออกมารับราชการ เช่น เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) หรือหลวงวิจิตรวาทการ
(กิม เหลียง) เป็นต้น

ส่วนผู้ที่ได้รับการศึกษามาจากต่างประเทศรุ่นหลังๆ ที่เข้าร่วมกลุ่มเป็นชนชั้นนำก็มาก รวมทั้งกลุ่มคณะราษฎรที่มีทั้งนายทหาร ข้าราชการ พลเรือน นักวิชาการ ล้วนแล้วแต่เป็นนักเรียนนอกทั้งสิ้น การสืบเชื้อสายจากตระกูลที่มีฐานันดรศักดิ์และบรรดาศักดิ์ ในสมัยนี้อาจจะสังเกตได้จากนามสกุลที่มี ณ อยุธยา ต่อท้าย หรือไม่ก็มีนามสกุลที่นำเอาบรรดาศักดิ์ของต้นตระกูลมาเป็นนามสกุล

อย่างไรก็ตาม ยุคสมัยได้เปลี่ยนแปลงไป กระแสความเท่าเทียมกัน กระแสสิทธิมนุษยชน และกระแสศึกษาประชาธิปไตยซึ่งมาจากตะวันตก ได้สร้างความกดดันขึ้นในสังคมไทย แม้ว่าความกดดันนั้นไม่ได้เกิดจากประชาชนคน “รากหญ้า” ชั้นล่างในการสร้างกระแสเปิดกว้างเพื่อสิทธิความเท่าเทียมกัน เพื่อประชาธิปไตย ไม่มีการแสดงออกในการก่อการเรียกร้องอย่างรุนแรงโดยการชุมนุมเดินขบวนเรียกร้อง เพียงแต่เก็บกดความรู้สึกเช่นว่าไว้ในใจรอเวลา

เมื่อมีความกดดัน จะต้องมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ เปิดให้ประชาชนมีเสรีภาพทางการเมือง ก็พร้อมที่จะแสดงออกผ่านการเลือกตั้ง ถ้าไม่มีการเลือกตั้งหรือมีการกำหนดกฎกติกาการเลือกตั้งที่ไม่เป็นไปตามหลักสากลคือ หลัก “free and fair” แม้ว่าจะสามารถจัดการเลือกตั้งได้ แต่ก็จะมีกระแสต่อต้านก่อตัวขึ้น เช่นในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม จอมพลถนอม กิตติขจร และ พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นต้น

ชนชั้นนำในสหรัฐอเมริกาและยุโรปตะวันตก เช่น อังกฤษ สเปน โปรตุเกส มีลักษณะที่แตกต่างกัน สังคมอเมริกันต่อต้านความคิดเรื่องศักดินาหรือเจ้าขุนมูลนาย แต่ยกย่องผู้ที่สร้างเนื้อสร้างตัวสร้างฐานะ เช่น อับราฮัม ลินคอล์น ในกรณีสร้างตนทางการเมืองและตระกูลเคนเนดี้ ตระกูล
ร็อคกี้เฟลเลอร์ ตระกูลดูปองท์ และชื่นชมผู้ที่ประกาศบริจาคเงินเพื่อสาธารณกุศลจากทรัพย์สินของตนเอง ทั้งๆ ที่เงินที่บริจาคเพื่อการกุศลได้รับการยกเว้นภาษี ทั้งภาษีเงินได้ขณะที่มีชีวิตอยู่และภาษีมรดกเมื่อสิ้นชีวิตไปแล้ว ขณะนี้สหรัฐได้ประกาศยกเลิกการเก็บภาษีมรดกไปแล้ว เพื่อให้ถูกต้องตามหลักภาษีสากลที่จะให้หักเงินออกจาก
ฐานภาษีได้ มรดกเป็นเงินออมของเจ้ามรดก

ในมลรัฐแต่ละมลรัฐก็ย่อมจะมี 2-3 ตระกูลเป็นชนชั้นนำในมลรัฐนั้นที่มีฐานะทางเศรษฐกิจ เป็นเจ้าของธุรกิจและทรัพย์สินในมลรัฐนั้น และจะส่งสมาชิกของตระกูลลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าการมลรัฐ เป็นสมาชิกวุฒิสภา หรือสภาผู้แทนราษฎร จากทั้ง 2 พรรค คือพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครต

มลรัฐใดชนชั้นนำสังกัดพรรคใด พรรคนั้นก็มักจะชนะการเลือกตั้งตลอดกาล อาจจะมีการเปลี่ยนพรรคบ้างก็เป็นครั้งคราว ขณะเดียวกันตระกูลที่เป็นผู้นำของชนชั้นนำในมลรัฐใดก็มักจะได้รับการยอมรับจากประชาชน จากการเป็นผู้ว่าการมลรัฐ หรือสมาชิกวุฒิสภาซึ่งเป็นตัวแทนของมลรัฐ มลรัฐละ 2 คน มักจะได้รับเลือกจากพรรคโดยระบบไพรมารีให้เป็นตัวแทนในการสมัครเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี นักการเมืองในสหรัฐในยุคปัจจุบัน จึงมักจะผันตัวมาจากนักธุรกิจ หรือจากครอบครัวนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน

สําหรับประเทศอังกฤษ พรรคการเมืองที่ขับเคี่ยวกันเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสภาไพร่ House of Commons ก็มักจะเป็นผู้สืบเชื้อสายนักการเมืองที่เป็นผู้ที่ได้รับเลือกตั้งในเขตการเลือกตั้งนั้นๆ ทั้งพรรคอนุรักษนิยมและพรรคกรรมกร ยกเว้นเขตการเลือกตั้งในเมืองใหญ่ๆ ซึ่งจะมาจากกลุ่มตระกูลชนชั้นนำในเขตการเลือกตั้งนั้นๆ โอกาสที่จะมีคนจากชนชั้นล่างที่ประสบความสำเร็จจากการเป็นผู้มีอาชีพอิสระก็มีบ้างแต่ไม่มาก แต่สำหรับชนชั้นที่เคยเป็นเจ้าของที่ดินหรือศักดินาก็จะได้ที่นั่งในสภาขุนนาง หรือ House of Lords

ในสังคมญี่ปุ่น สมัยก่อนเป็นสังคมศักดินาที่มีการแบ่งชนชั้นกันอย่างชัดเจน เพราะก่อนที่จะรวมกันเป็นประเทศที่ชัดเจน จากการเป็นนครรัฐ โดยมีตระกูลไดเมียวเป็นผู้ปกครองอยู่ภายใต้โชกุน โดยยกองค์สมเด็จพระจักรพรรดิไว้เหนือการเมืองเป็นเพียงสัญลักษณ์ จนมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองสมัยจักรพรรดิเมจิ ที่ไดเมียวและโชกุนได้ถวายคืนอำนาจให้องค์จักรพรรดิ

เจ้าผู้ครองนครก็กลายเป็นประธานกรรมการกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ 5 บริษัท ซามูไรก็กลายเป็นผู้บริหารบริษัทในกลุ่มของไดเมียวแต่ละตระกูล นักศึกษามหาวิทยาลัยชั้นนำเช่นมหาวิทยาลัยโตเกียว เคียวโต หรือมหาวิทยาลัยในภูมิภาค ส่วนใหญ่ก็มักจะมาจากตระกูลซามูไรทั้งนั้น ซึ่งสังเกตได้จากนามสกุลที่มีจำนวนมากกว่าแซ่ของจีน

ส่วนพนักงานบริษัทที่ไม่ใช่ผู้บริหารก็จะมาจากชนชั้นล่าง แต่ไม่ใช่จากตระกูลชาวไร่ชาวนา การเป็นชาวไร่ชาวนานั้นเป็นได้ยากเพราะจะต้องเป็นผู้ได้รับการจัดสรรที่ดินจากโครงการปฏิรูปที่ดินของนายพลแมค อาร์เธอร์ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่รัฐบาลจัดเวนคืนที่ดินจากตระกูลไดเมียวเจ้าที่ดิน นำมาปฏิรูปแบ่งให้ชาวไร่ชาวนาเช่นเดียวกับไต้หวันและเกาหลีใต้

คงจะเป็นลักษณะของสังคมมนุษย์ ที่สมาชิกของสังคมมีการยอมรับกลุ่มคนที่เป็นชนชั้นนำ แต่การเป็นชนชั้นนำไม่ได้เกิดมามีรูปร่างผิดแปลกจากผู้อื่นเช่นสังคมผึ้งหรือสังคมมด ปลวก แต่การเลือกรับสังคมชั้นนำก็ยังอิงกับสายเลือด บวกกับผู้ที่ประสบความสำเร็จในการศึกษา ไต่เต้าตามชั้นของสังคมและประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ทางธุรกิจและการลงทุน และเมื่อได้เลื่อนฐานะทางสังคมเข้าสังกัดใน “ชนชั้นนำ” แล้ว ก็จะอยู่อย่างนั้นไปตลอดกาลผ่านทางสายเลือด เป็นอย่างนั้นทุกแห่ง รวมทั้งประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ที่ชนชั้นนำขณะนี้มักจะเป็นผู้ที่มีเชื้อสายจาก “สหาย” ผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ หรือไม่ก็ลูกหลานของ “แนวร่วม” สมัยสงคราม “ปลดแอก”

ชนชั้นนำจึงมีอยู่ทุกสังคม ทุกระบอบการปกครอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image