สุจิตต์ วงษ์เทศ : พระศรีสรรเพชญ์ อยุธยา เศียรสำริด เทคโนโลยี 3,000 ปี อุษาคเนย์

เศียรสำริดพระศรีสรรเพชญ์ พบที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ อยุธยา ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

เศียรพระศรีสรรเพชญ์ หล่อด้วยทองสำริด สูง 1.73 เมตร เป็นเศียรสำริดขนาดใหญ่องค์หนึ่งของยุคต้นอยุธยา
หล่อแยกเป็น 2 ส่วน แล้วเอามาประกอบเข้าด้วยกัน ตรึงด้วยหมุดโลหะ ได้แก่ ส่วนหน้า (เหมือนหน้ากาก) และส่วนหลัง
องค์พระแยกต่างหาก อาจทำด้วยไม้หรือก่อด้วยอิฐ แล้วหุ้มด้วยโลหะแผ่นต่อกันให้ดูเป็นโลหะทั้งองค์ แต่ความจริงไม่ใช่โลหะ
(อาศัยข้อมูลบางส่วนจากเอกสารเรื่องพระเศียรพระศรีสรรเพชญ์ ของ รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง)

เศียรพระพุทธรูปสำริด (บางทีเรียกทองสำริด) ขนาดใหญ่ในไทย ยังมีอีก เช่น (1.) เศียรพระธรรมิกราช พบที่วัดธรรมิกราช อยุธยา สูง 2 เมตร อยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา อยุธยา (2.) เศียรพระแสนแส้ว พบที่วัดยางกวง เชียงใหม่ สูง 1.70 เมตร อยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่

เศียรพระพุทธรูปขนาดใหญ่เหล่านี้ ล้วนหล่อด้วยสำริด ซึ่งเป็นโลหะผสมระหว่างทองแดง (เป็นโลหะหลัก) กับดีบุก
ทองแดง พบบริเวณลุ่มน้ำโขงกับลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง, ดีบุก พบทั่วไปทั้งภูมิภาคอุษาคเนย์

เทคโนโลยีหล่อโลหะสำริด (แบบไล่ขี้ผึ้ง) เป็นลักษณะพิเศษของภูมิภาคอุษาคเนย์ มีพัฒนาการไม่น้อยกว่า 3,000 ปีมาแล้ว พบเก่าสุดทางภาคใต้ของจีน (บริเวณมณฑลกวางสีและยูนนาน) กับเขตต่อเนื่องภาคเหนือของเวียดนาม แล้วแพร่กระจายสู่ลุ่มน้ำโขงบริเวณภาคอีสานของไทย กับบางส่วนของลาว

Advertisement

ในไทยพบแหล่งใหญ่ที่อุดรธานี (บ้านเชียง) และลพบุรี เป็นพื้นฐานให้มีช่างชำนาญเทคโนโลยีหล่อพระพุทธรูปและเทวรูปในสมัยเมื่อรับศาสนาจากอินเดีย แล้วตกทอดถึงปัจจุบัน

เทคโนโลยีเหล่านี้เป็นพยานสนับสนุนหลักฐานอื่นๆ ซึ่งมีมากว่าคนไทยไม่ได้มาจากไหน? แต่ผสมผสานร้อยพ่อพันแม่เป็นคนไทยอยู่ที่นี่ ที่อุษาคเนย์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image