แก่อย่างมีคุณค่า : โดย ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์

ช่วงสิบปีมานี้ ทุกครั้งที่ไปกินอาหารตามร้านหรือภัตตาคารแห่งใด ผมมักจะสนใจมองไปที่ผู้เฒ่าอายุราวแปดสิบกว่าปีขึ้นไป ซึ่งมารับประทานอาหารร่วมกับลูกหลานที่รายล้อมอยู่รอบตัว ในด้านหนึ่งก็เห็นหน้าตาผู้อาวุโสเหล่านั้นดูอิ่มเอมมีความสุข เพราะมีบุญวาสนาที่ลูกหลานทั้งหลายยังห่วงใยให้ความสำคัญ แต่อีกด้านหนึ่งก็มองเห็นความเสื่อมของสังขาร ต้องถือไม้เท้ายักแย่ยักยันเดินกระย่องกระแย่ง บางรายก็เดินไม่ได้แล้ว ต้องนั่งอยู่บนรถเข็นถึงจะเคลื่อนที่ไปมาได้

ผมจึงรำพึงกับตัวเองว่า อีกไม่นานเราก็ต้องเป็นเช่นนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น พร้อมทั้งหันกลับไปทบทวนชีวิตตัวเองตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เพื่อเตือนสติตนเองว่า ละครชีวิตใกล้จะปิดฉากลาโรงในวันหนึ่งวันใดอีกไม่นานนัก เป็นความคิดแบบปลงสังขารไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นจนเกินไป แต่ไม่ถึงกับโศกเศร้าเฉาแห้งห่อเหี่ยวหมดอาลัยตายอยาก เพราะยังมีงานมากมายเต็มไม้เต็มมือที่ต้องรับผิดชอบ

ระหว่างนี้ก็จะคอยเงี่ยหูสดับตรับฟังเรื่องราวข่าวสารเกี่ยวกับผู้สูงอายุทั้งในและต่างประเทศ เช่น สังคมญี่ปุ่นเป็นสังคมที่เริ่มชราภาพ เด็กเกิดใหม่น้อยลงเรื่อยๆ จนมีสถิติออกมาว่าอีกสิบปีข้างหน้าจะมีคนอายุเกินแปดสิบถึง 30% ซึ่งประเทศเขาก็เตรียมการรับมือไว้หลายวิธี อาทิ รับแรงงานหนุ่มสาวจากต่างประเทศโดยให้ค่าตอบแทนอย่างงาม เพื่อมาช่วยดูแลผู้สูงอายุที่พักอยู่บ้าน หรืออยู่บ้านพักที่สร้างไว้สำหรับสังคมคนชรา รวมทั้งคิดประดิษฐ์หุ่นยนต์อย่างไม่หยุดยั้งให้มาเป็นเพื่อนเจ้าของบ้านที่ไม่มีลูกหลานอยู่ด้วย

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลญี่ปุ่นไม่ได้ถือว่าคนชราเป็นภาระ จึงเรียกผู้สูงอายุเหล่านี้ว่า Active Senior ซึ่งฟังดูดีมีชีวิตชีวา และพยายามออกมาตรการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุที่ยังทำงานได้ให้มีโอกาสทำงานเพื่อสร้างประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น

Advertisement

เมื่อเร็วๆ นี้ผมก็ได้ยินคำศัพท์ใหม่ๆ ที่ใช้เรียกผู้สูงอายุ โดยแบ่งตามช่วงอายุ ถ้าอายุ 60-69 ปี เรียกว่า
ผู้มากประสบการณ์ระดับที่หนึ่ง อายุระหว่าง 70-79 ปี เรียกว่า ผู้มากประสบการณ์ระดับที่สอง อายุตั้งแต่ 80 ปีขึ้นไป เรียกว่า ผู้มากประสบการณ์ระดับที่สาม ชื่อเรียกเหล่านี้ไม่มีคำว่าสูงอายุ อาวุโส หรือชราภาพใดๆ ทั้งสิ้น แต่ชี้ไปที่คุณค่าว่าได้ผ่านชีวิตมานาน มีประสบการณ์มาก มากๆ มากๆๆ และจะมากเพิ่มขึ้นต่อไปไม่สิ้นสุด ภาษาจีนเองก็มีคำศัพท์ว่า “จือเซิน” หมายถึงมีคุณสมบัติซึ่งเปี่ยมด้วยประสบการณ์อันลุ่มลึก เป็นคำที่ใช้นำหน้าตำแหน่งที่มีความหมายกว้างขวางดีกว่าคำว่า “อาวุโส” ในภาษาไทย

ผมมาใคร่ครวญแล้วก็ตระหนักว่า เมื่อเข้าสู่ขั้นผู้มากประสบการณ์ระดับที่หนึ่ง นอกจากจะเข้าใจโลกและชีวิตมากกว่าช่วงอายุ 30-50 ปีแล้ว ในมือก็มักจะมีทรัพยากรมากกว่าในวัยขนาดนั้น และบางท่านก็อาจจะโชคดีมีบารมีที่สังคมยอมรับ จึงควรเป็นวัยที่สร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้สังคมได้ง่ายกว่าและมากกว่าเดิม ขอเพียงมีใจ หากมองไปรอบๆ ก็จะพบเห็นโอกาสที่จะทำสิ่งดีๆ ได้มากมาย ซึ่งจะช่วยให้มีความสุขอย่างลึกซึ้งเมื่อทราบว่าสิ่งที่ได้ลงมือทำกำลังจะสำเร็จ ออกดอกออกผลเป็นความสุขของสมาชิกคนอื่นๆ ในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มากประสบการณ์ที่มากด้วยบารมี ก็มีคนพร้อมจะให้ความร่วมมือช่วยเหลือจำนวนมหาศาล ออกแรงกระทำเพียงครึ่งเดียว แต่จะได้ผลสำเร็จสูงขึ้นเป็นทวีคูณ

ขณะที่สังขารของเราค่อยๆ โรยราไปอย่างไม่อาจสกัดกั้น แต่ประสบการณ์และความพร้อมในการสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้แก่โลกก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกัน เราจึงควรหยุดคิดในแง่ลบ หันมาคิดและดำเนินชีวิตที่เหลืออยู่ในทางบวก ก็จะเป็นการสูงอายุอย่างมีคุณค่า

ดังเช่นมหาบุรุษเติ้งเสี่ยวผิงและลีกวนยู ซึ่งไม่เคยหยุดคิดสร้างสรรค์ประโยชน์เพื่อปวงชน ตราบจนวินาทีสุดท้ายที่ยังหายใจ…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image