จาก ‘ครู 4.0’ ถึง ‘นักเรียน 4.0’ สู่การเป็น ‘ไทยแลนด์ 4.0’… : โดย รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์

มองภาพกว้างของสังคมไทยยุคนี้ คงไม่อาจหลีกหนี “ไทยแลนด์ 4.0” ซึ่งเป็นยุคของการมุ่งขับเคลื่อน “เศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม” (Value-Based Economy) เพื่อก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลาง โดยความเป็น 4.0 ที่ได้แทรกซึมทุกภาคส่วนของสังคม จนทำให้เกิดคำพูดที่คุ้นหูที่สะท้อนความเกี่ยวพันแบบแนบแน่นไม่ว่าจะเป็น “การเมือง 4.0” เศรษฐกิจ 4.0 “เกษตร 4.0” หรือแม้แต่ “การศึกษา 4.0”

การขับเคลื่อนสังคมไทยให้เข้าถึง “4.0” ที่แท้จริง (ต้องย้ำว่า “แท้จริง” …ไม่ใช่แค่ “เปลือก 4.0”) ย่อมเกิดขึ้นจากทรัพยากรมนุษย์ที่เป็น “คนไทย 4.0” โดยในแผนของการขับเคลื่อนประเทศตามแนวทาง “ไทยแลนด์ 4.0” ให้นิยามคำว่า “คนไทยในศตวรรษที่ 21” หรือ “คนไทย 4.0” หมายถึง “คนไทยที่มีปัญญาเฉียบแหลม มีทักษะที่เห็นผล มีสุขภาพที่แข็งแรง และมีจิตใจที่งดงาม”

ดังนั้น การจะชี้แนะให้คนหรือทรัพยากรมนุษย์โดยเฉพาะ “ผู้เรียน” หรือ “นักเรียน” เป็น “นักเรียน 4.0” ที่จะเติบใหญ่เป็น “คนไทย 4.0” ก็คงต้องอาศัย “การศึกษา 4.0” ซึ่งเป็นการศึกษาเพื่อการสร้างนวัตกรรมอันเป็นการจัดการการศึกษาที่บูรณาการ ทั้งเทคโนโลยี ศาสตร์ ศิลป์ และทักษะการดำเนินชีวิตเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน เพื่อสร้าง “คนไทย 4.0” ซึ่งมีทักษะในการดำเนินชีวิตทั้งในโลกจริงและโลกเสมือน มีความรู้และทักษะสูง มีความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรม มีความภูมิใจในความเป็นไทย และมีจิตสาธารณะ เกื้อกูล แบ่งปันและรับผิดชอบต่อส่วนรวม

เมื่อต้องหวังพึ่ง “การศึกษา 4.0” ก็ต้องมุ่งประเด็นมาที่ “ครู” อีกจนได้ แต่ “ครู” ซึ่งจะส่งผ่าน “นักเรียน 4.0” ให้เป็น “คนไทย 4.0” คงไม่อาจใช้ “ครูธรรมดา” เพียงเท่านั้น แต่ต้องเป็น “ครู 4.0” โดยบทบาทของ “ครู 4.0” ในการก้าวเข้าสู่ ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่ง นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ได้กล่าวไว้ในการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ครูยุคใหม่ สร้างเด็กไทย 4.0”

Advertisement

โดยระบุว่า “ครูทุกคนต้องเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงของโลกและสอนในสิ่งนั้น แต่สิ่งที่ครูห้ามเปลี่ยนแปลงนั้น คือ ต้องสอนให้เด็กทุกคนเป็นคนดีควบคู่ไปด้วย”

จากบทบาทที่กล่าวในข้างต้น คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า “ครู 4.0” จะเป็นครูที่ทำหน้าที่แบบเดิมๆ ไม่ได้ แต่ต้องเปลี่ยนจากครูสอนเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ (Facilitator) โดยพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนเป็นแบบบูรณาการ สหวิชาการ เชื่อมโยงความรู้กับจินตนาการ เปลี่ยนแปลงไปสู่รูปธรรมให้ผู้เรียนมีทักษะที่ต้องการ เช่น การทำงานร่วมกัน ความคิดสร้างสรรค์ และการสื่อสารที่ดี ซึ่งการจัดการศึกษาต้องสร้างความพอใจให้ผู้เรียนและท้าทายสู่การสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้ผู้เรียนอยากเรียน ฉะนั้น ครูยุคใหม่จึงต้องมี “ทักษะ 7Cs” อันเกิดจากการสังเคราะห์องค์ความรู้จากนักวิชาการต่างๆ ดังนี้

ทักษะสร้างหลักสูตร (Curriculum construction skills) ทักษะการจัดการเรียนการสอนเน้นเด็กเป็นสำคัญด้วยวิธีหลากหลาย (Child-oriented management skills) ทักษะการใช้นวัตกรรมการเรียนรู้ (Classroom innovation implementation skills) ทักษะการประเมินการเรียนรู้ (Classroom learning assessment skills) ทักษะการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Classroom action research skill) ทักษะการจัดการชั้นเรียน (Classroom management skills) และทักษะการพัฒนาลักษณะนิสัย (Character development skills) โดยตระหนักถึงการสร้างเด็กไทยให้มีทักษะตามความต้องการของศตวรรษที่ 21

Advertisement

พิจารณาจากสิ่งที่สังคมคาดหวังและทักษะครูต้องพัฒนาแล้ว คงต้องยอมรับว่าการเป็น “ครู 4.0” เป็นเรื่องไม่ง่าย ซึ่งแม้ว่าจะเป็นเรื่องยากเย็นเพียงใด แต่ด้วยจิตวิญญาณของความเป็นครู เชื่อว่าครูพร้อมทำงานเพื่อสังคมอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม หากต้องการให้ครูทำงานได้อย่างเต็มที่ ก็คงต้องเร่งพัฒนาครูให้เป็น “ครู 4.0” โดยเนื้อแท้

แนวทางการพัฒนาครู เพื่อสร้าง “ครู 4.0” หากจะดำเนินการให้ได้ผลสัมฤทธิ์ที่ยั่งยืน คงไม่สามารถมองในมิติใดมิติหนึ่ง แต่จำเป็นต้องมีการดำเนินงานแบบบูรณาการในมิติการพัฒนาครูแบบองค์รวม โดยจากการศึกษาวิจัยของ “องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ” (UN Educational, Scientific and Cultural Organization-UNESCO) พบว่าการพัฒนาครูแบบองค์รวมเป็นหลักการขั้นพื้นฐานที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงซึ่งกันและกัน ดังนั้น การพัฒนาครู จำเป็นต้องพัฒนาองค์ประกอบต่างๆ พร้อมกัน โดยแบ่งออกเป็น 9 องค์ประกอบ ได้แก่

การสรรหาและการดำรงอยู่ในอาชีพครู (Teacher recruitment and retention) การเรียนการสอนเพื่อเป็นครู (Teacher education-initial and continuing) การถ่ายทอดสู่การปฏิบัติ (Deployment) การกำหนดโครงสร้างหรือเส้นทางอาชีพ (Career structures/paths) การจ้างครูและเงื่อนไขการทำงานของครู (Teacher’s employment and working conditions) รางวัลและค่าตอบแทนของครู (Teacher reward and remuneration) มาตรฐานครู (Teacher standards) ความรับผิดชอบของครู (Teacher accountability) และการจัดการปกครองของโรงเรียน (School governance)

เรียกได้ว่าถ้าจะพัฒนาครูให้เป็น “ครู 4.0 โดยเนื้อแท้” คงทำแบบ “ฉาบฉวย” ไม่ได้ ต้องทำแบบ “ครบวงจร” เท่านั้น ซึ่งประเด็นนี้ ดูเหมือนเป็นสิ่ง “รมว.ศึกษาธิการ” จะเข้าใจเป็นอย่างดี พิจารณาได้จากนโยบายการพัฒนาครูของรัฐบาลชุดปัจจุบัน จะให้ความสำคัญกับทั้งระบบการคัดสรรบุคลากรที่เข้าสู่วิชาชีพครู การพัฒนาครู การรักษาครูเก่งหรือแม้แต่วิธีการประเมินครู ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการจัดการปกครองของโรงเรียน ก็เป็นสิ่งที่ช่วยสนับสนุนระบบการเข้าสู่วิชาชีพครู การพัฒนาครูและการรักษาครูเก่ง

เมื่อเป็นเช่นนี้เชื่อว่าการพัฒนา “ครู 4.0” น่าจะเป็นเรื่องที่ไม่ยากเกินจะเป็นไปได้อีกต่อไป

การยกระดับทรัพยากรมนุษย์สู่การเป็น “คนไทย 4.0” แม้จะไม่สามารถอาศัยเพียง “ครู 4.0” เท่านั้นจำเป็นต้องมีทั้ง “ผู้ปกครอง 4.0” “ผู้บริหารโรงเรียน 4.0” “ห้องเรียน 4.0” “โรงเรียน 4.0” หรือแม้แต่ “การเรียนการสอน 4.0” โดยความเกี่ยวพันระหว่างองค์ประกอบทางการศึกษาต่างๆ เหล่านี้ ต้องมีความสอดรับกัน จึงจะสามารถสร้างความสมบูรณ์แบบของสังคมที่เหมาะกับ “ยุคไทยแลนด์ 4.0” ได้อย่างเป็นรูปธรรม แต่อย่างน้อย ถ้า ณ วันนี้
มี “ครู 4.0” ทั้งตัวตน จิตใจ และวิญญาณที่พร้อมจะถ่ายทอดชี้แนะให้แก่ลูกศิษย์ลูกหาแล้ว เชื่อว่า “ครู 4.0” ขับเคลื่อนให้เกิด “นักเรียน 4.0” “คนไทย 4.0” และ “ไทยแลนด์ 4.0” ได้อย่างแน่นอน…!!

เอาเป็นว่าถ้าพัฒนา “ครู 4.0” ได้เมื่อใด? รับรองว่าการสร้าง “คนไทย 4.0” ก็ไม่ใช่เรื่องยาก…เชื่อมือ “ครูไทย” เถอะ..!!

รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image