ประชารัฐ ร้อนๆ จ้า 3.5 หมื่นล้าน-แก้ รวยกระจุก จนกระจาย

ข้อกล่าวหาประการหนึ่งสำหรับรัฐบาลจากการเลือกตั้ง

โดยเฉพาะรัฐบาลของพรรคไทยรักไทย ที่แปลงกายเป็นพลังประชาชน และเป็นเพื่อไทยในท้ายที่สุด

ก็คือการใช้นโยบาย “ประชานิยม” ปรนเปรอประชาชนด้วยเงินงบประมาณรูปแบบต่างๆ

ทำให้ประชาชน “นิสัยเสีย” งอมืองอเท้าหวังพึ่งแต่ความช่วยเหลือจากรัฐ

Advertisement

เป็นนโยบายน่ารังเกียจ

เป็นเรื่องที่ไม่ควรเอาเยี่ยงอย่าง

ถึงขั้นมีการร่างเอาไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

Advertisement

ห้ามมิให้รัฐบาลใดๆ ดำเนินนโยบายประชานิยมเช่นนี้อีก

ฉะนั้น อย่าแปลกใจ

หากในท่ามกลางเสียงโอดครวญจากคนจำนวนไม่น้อยในสังคม

ว่าสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน แม้จะเจริญเติบโตดีกว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา

แต่ก็เป็นไปในลักษณะ “รวยกระจุก จนกระจาย” ยิ่งกว่าสมัยใดๆ

รัฐบาลจากการรัฐประหาร ซึ่งแสดงจุดยืนท่าทีชัดเจนแล้วว่าเป็น “นักการเมือง” ที่พร้อมจะเสนอตัวผ่านการเลือกตั้งครั้งต่อไป

จะตอบสนองอย่างขมีขมัน

ด้วยมาตรการที่คล้ายคลึงกัน

แต่ในชื่อที่แตกต่างกันออกไป

จากประชานิยม ก็กลายเป็น “ประชารัฐ”

พึงสดับ

9มกราคม ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยว่า

ที่ประชุมอนุมัติโครงการสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อผู้มีรายได้น้อยในระยะที่ 2 วงเงิน 3.5 หมื่นล้านบาท

เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในการซื้อสินค้า

บรรเทาเยียวยาค่าใช้จ่ายในครอบครัว

และโครงการระยะที่ 2 นี้ เน้นการฝึกอบรมให้ประชาชนเข้าถึงกองทุน โดยประชาชนที่มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่น และ 1 แสนบาทต่อปี จะได้ประโยชน์

เป็นโครงการที่สอดคล้องกับมาตรการลดความยากจนที่ช่วยเหลือทุกจังหวัด โดยจะนำทั้งกระทรวงเศรษฐกิจ เกษตร สิ่งแวดล้อม ความมั่นคง ลงไปดูแล

เหมือนกับที่รัฐบาลจีนลงไปพบปะทุกครอบครัว

ดูว่าประชาชนต้องการอะไร และอะไรที่ภาครัฐรวมถึงเอกชนจะเสริมได้

“ซึ่งเหล่านี้คือโครงการประชารัฐ”

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า

มาตรการนี้ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2560 จำนวน 4.7 ล้านคน

มุ่งหวังให้มีงานทำ การฝึกอบรมอาชีพและการศึกษา การเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ

มีโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำทุกมิติรวมกว่า 34 โครงการ

จาก 6 กระทรวง 3 ธนาคาร 2 กองทุน และ 2 หน่วยงาน

โดยที่

1.ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทในปี 2559 ได้รับวงเงินเพิ่ม 200 บาท/คน/เดือน

2.ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีรายได้สูงกว่า 30,000 บาทในปี 2559 ได้รับวงเงินเพิ่ม 100 บาท/คน/เดือน

เสริมด้วย

มาตรการภาษีเมื่อเอกชนจัดการฝึกทักษะฝีมือให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือจ้างงานเป็นกรณีพิเศษ

ให้หักรายจ่ายได้ 1.5 เท่า

และเมื่อกระทรวงการคลังส่งข้อมูลให้กับทางจังหวัดแล้ว จะมีคณะทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐประจำอำเภอ หรือทีมหมอประชารัฐสุขใจ (ทีม ปรจ.)

ดูแลและให้คำแนะนำแก่ผู้มีบัตรสวัสดิการฯ ทุกหมู่บ้าน

เริ่มลงพื้นที่เดือนกุมภาพันธ์ เพื่อวิเคราะห์สภาพปัญหา สอบถามความประสงค์

นอกจากนั้นยังจะมีการจัดหางานในประเทศและต่างประเทศโดยกระทรวงแรงงาน

โครงการแฟรนไชส์สร้างอาชีพเพื่อผู้มีรายได้น้อยโดยกระทรวงพาณิชย์ โครงการตลาดประชารัฐโดยกระทรวงมหาดไทย การเพิ่มทักษะอาชีพแก่เกษตรกร

โครงการมหาวิทยาลัยประชาชน โครงการสินเชื่อธุรกิจแฟรนไชส์ โครงการสินเชื่อ Street Food โดยธนาคารออมสิน

และสินเชื่อจาก ธ.ก.ส.วงเงิน 95,000 ล้านบาท

รวมทั้งตั้งคณะอนุกรรมการติดตามการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (คอต.)

ติดตามความคืบหน้าแบบรายบุคคล

เห็นไหมเล่าว่านี่คือประชารัฐ มิใช่ประชานิยม

แต่ไม่ว่าจะในชื่อใด

คำถามอยู่ที่ว่าจะบรรลุเป้าหมาย ที่มุ่งแก้ปัญหารวยกระจุก จนกระจายได้หรือไม่

ตรงนั้นต่างหากสำคัญ

และชี้ขาดอนาคตการเมืองของ คสช.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image