Cloud Lovers : Aureole & Corona : วงแสงแสนงาม โดย บัญชา ธนบุญสมบัติ

เมื่อมีเมฆบางๆ บดบังดวงจันทร์ บ่อยครั้งจะเกิดวงแสงสีส้มอมน้ำตาลโดยรอบ ส่วนภายในวงแสงมักมีสีฟ้าอ่อนๆ ลักษณะเช่นนี้เรียกว่า ออรีโอล (aureole) คำว่า aureole เป็นภาษาละติน มาจากคำว่า aurea แปลว่า มีสีทอง

หากเมฆบางๆ บดบังอย่างสม่ำเสมอ ออรีโอลก็จะเป็นวงกลมสมบูรณ์ ดังภาพที่ 1 แต่ถ้าบดบังบางส่วน ออรีโอลก็จะไม่สมบูรณ์ คือขาดแหว่งไปตรงบริเวณที่ไม่มีเมฆ ดังภาพที่ 2 ส่วนตรงที่มีเมฆอาจเกิดเมฆสีรุ้ง (iridescent clouds)

ภาพที่ 1 : ออรีโอลของดวงจันทร์
29 กันยายน 2555 22:01 น. พัทยา
ภาพ : อารีรัตน์ ตั้งเลิศไพบูลย์

Advertisement

ภาพที่ 2 : ออรีโอลและเมฆสีรุ้ง
30 มิถุนายน 2558 19:29 น. อ่อนนุช กทม.
ภาพ : พิเชษฐ อิทธิสัทธากุล

ในทางกายภาพ ออรีโอลเกิดจากการที่หยดน้ำในเมฆมีขนาดแตกต่างกันอย่างหลากหลาย โดยหยดน้ำแต่ละหยดทำให้แสงจันทร์เกิดการเลี้ยวเบน (diffraction) พูดง่ายๆ คือ แสงแต่ละสีในแสงจันทร์ถูกเบี่ยงเบนออกไปจากแนวเดิมไม่เท่ากัน

Advertisement

จะเกิดอะไรขึ้นหากหยดน้ำในเมฆมีขนาดเท่ากันทั้งหมด?

ภาพที่ 3 คือคำตอบครับ จะเห็นว่านอกจากออรีโอลตรงกลางแล้ว ยังมีวงแสงสีรุ้งล้อมรอบ อาจมีวงเดียวหรือหลายวงก็ได้ สำหรับแต่ละวง สีแดงอยู่ขอบนอก ส่วนสีม่วงอยู่ขอบใน วงแสงสีรุ้งนี้เรียกว่า โคโรนา (corona)

ในกรณีของดวงจันทร์ ก็เรียกว่า Moon corona หรือ Lunar corona แปลว่า โคโรนาของดวงจันทร์ หรือจะเรียกว่า ดวงจันทร์ทรงกลดแบบโคโรนา ก็ได้

ภาพที่ 3 : โคโรนาของดวงจันทร์
1 ธันวาคม 2560 อ่อนนุช
ภาพ : พิเชษฐ อิทธิสัทธากุล

หากเปลี่ยนดวงจันทร์เป็นดวงอาทิตย์ ปรากฏการณ์ออรีโอลกับโคโรนาก็ยังเกิดเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือแสงจ้ากว่ามาก โคโรนาของดวงอาทิตย์แสดงไว้ในภาพที่ 4 ครับ (ข้อควรระวัง: การถ่ายภาพโคโรนาของดวงอาทิตย์ต้องระมัดระวังไม่ให้แสงจ้าทำร้ายดวงตา)

ภาพที่ 4 : โคโรนาของดวงอาทิตย์
ภาพ : ภคพร บรรจงจัด

ตามหลักทางฟิสิกส์ เงื่อนไขการเกิดปรากฏการณ์ออรีโอลและโคโรนา ไม่จำเป็นต้องเป็นหยดน้ำในเมฆเท่านั้น ขอเพียงมีแค่อนุภาคขนาดเล็กจิ๋วจำนวนมาก เช่น ผลึกน้ำแข็งเล็กๆ ในเมฆหรือหมอก หรือแม้แต่ละอองเกสรดอกไม้ ก็ใช้ได้แล้ว

แหล่งกำเนิดแสงก็ไม่จำเป็นต้องเป็นดวงจันทร์หรือดวงอาทิตย์ แต่อาจเป็นแสงจากแหล่งกำเนิดอะไรก็ได้ ลองดูภาพที่ 5 ซึ่งผมถ่ายผ่านกระจกในรถยนต์ซึ่งมีหยดน้ำขนาดเล็กจิ๋วจำนวนมากเกาะอยู่ที่ผิวนอกของกระจก เนื่องจากวันนั้นฝนตกใหม่ๆ อากาศชื้น และภายในรถยนต์เปิดแอร์เย็น ทำให้กระจกเย็นตามไปด้วย ไอน้ำในอากาศภายนอกจึงควบแน่นเกิดเป็นหยดน้ำเกาะที่ผิวนอกของกระจก

2017-06-09-2107-Corona
ภาพที่ 5 : ออรีโอลและโคโรนาที่เกิดจากหยดน้ำขนาดเล็กบนกระจกรถยนต์
ภาพ : บัญชา ธนบุญสมบัติ

ปรากฏการณ์ออรีโอลและโคโรนาเกิดได้ตามเงื่อนไขที่เล่าไว้แล้ว และมีความงดงามน่าตามหาอย่างยิ่งครับ

ขุมทรัพย์ทางปัญญา
ขอแนะนำแหล่งข้อมูลและภาพโคโรนาที่ www.atoptics.co.uk/droplets/corona.htm

บัญชา ธนบุญสมบัติ
www.facebook.com/buncha2509
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image