ภาพเก่า…เล่าตำนาน ขุดคลองปานามา…เลยได้ประเทศปานามา โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

คลองขุดที่เป็นเส้นทางลัดโลกคลองที่ 2 คือ คลองปานามา (Panama Canal) ตอนเริ่มลงมือขุดก็แสนยากเข็ญ คนงานตายเป็นหมื่น โกงกันเอง เงินหมด วางแผนวิศวกรรมผิดพลาด งานถูกทิ้งคาราคาซัง พอจะเริ่มขุด มารผจญ กลิ่นเงินหอมหวน เกิดมีเหตุเภทภัย หักหลังกันสนั่นโลก ถึงขนาดต้องตั้งเป็นประเทศขึ้นใหม่ตามความโลภ

ต่อเนื่องจากตอนที่แล้ว เรื่องการขุดคลองสุเอซครับ
วิศวกรสมองเพชรของฝรั่งเศส นายเดอเลเซป (Ferdinand de Lessep) ทำให้ฝรั่งเศสดังกระหึ่มโลก สามารถวางแผนใช้คนงานนับแสนขุดคลองสุเอซยาว 183 กิโลเมตรในประเทศอียิปต์ เป็นทางลัดแล่นเรือระหว่างยุโรปกับเอเชีย ย่นระยะทางในทะเลได้ราว 6,400 กิโลเมตร

 

นายเดอ เลสเซป ฮึกเหิม ห้าวหาญไปขอซื้อสัมปทานงานขุดคลองปานามาในทวีปอเมริกากลาง เพื่อจะขอแสดงฝีมือขุดคลองเปลี่ยนโฉมการเดินทางในทะเลเพื่ออวดชาวโลกอีกครั้ง

Advertisement

พื้นที่ที่ต้องการจะขุดเป็นคลองปานามา เชื่อมระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรแอตแลนติก พื้นที่ตรงนี้เป็นแผ่นดินบริเวณคอคอดในประเทศโคลัมเบียในทวีปอเมริกากลางครับ

ลองมาย้อนประวัติศาสตร์คลองปานามากันหน่อย

พ.ศ.2056 ยุคที่สเปนเรืองอำนาจเป็นจ้าวแห่งมหาสมุทร นักสำรวจชาวสเปน ชื่อว่า วาสโก นูเนซ บัลโบ (Vasco Nunez de Balboa) แล่นเรือมาสำรวจพื้นที่บริเวณนี้ พบดินแดนที่เป็นเหมือนคอขวด ระหว่างมหาสมุทร 2 ฝั่ง แปซิฟิกและแอตแลนติก

Advertisement

ปี พ.ศ.2078 กษัตริย์แห่งโรมันพระนามว่าชาร์ลส์ที่ 5 ส่งทีมงานมาสำรวจเพิ่มเติม พบว่าดินแดนตรงนี้น่าจะแคบที่สุด สามารถเป็นเส้นทางลัดการเดินเรือระหว่าง 2 มหาสมุทรได้แน่นอน
ในปี พ.ศ.2241 ชนชาติสก๊อตที่เป็นนักเดินเรือ ได้พยายามเข้ามาตั้งสถานีการค้าบริเวณคอคอดตรงนี้ แต่เนื่องจากเงื่อนไขต่างๆ หยุมหยิม ในที่สุดก็ได้ออกจากเมืองปานามาไปในปี พ.ศ.2243
ในยุคนั้นทางเลือกเดียวที่จะข้ามแผ่นดินคอคอดตรงนี้คือการใช้รถไฟ ในที่สุดการรถไฟในเมืองปานามาสร้างเส้นทางรถไฟที่วิ่งเชื่อมชายฝั่ง ซึ่งถือว่าสะดวกสบายไม่น้อย ความคิดที่จะขุดคลองเป็นเพียงเรื่องในจินตนาการเท่านั้น

 

“ปานามา” เป็นเพียงจังหวัดหนึ่งของประเทศโคลัมเบีย ในที่สุดแนวคิดเรื่องการขุดคลอง เป็นเรื่องที่ “เป็นไปได้” โครงการถูกขายต่อมาถึงมือของนายแฟร์ดีนอง เดอ เลเซป วิศวกรมืออาชีพคนดังที่เพิ่งทำงานขุดคลองสุเอซสำเร็จ

ภูมิประเทศบริเวณจังหวัดปานามาที่จะขุดเป็นคลองตรงนี้แตกต่างจากบริเวณคลองสุเอซโดยสิ้นเชิง
1 มกราคม พ.ศ.2423 บริษัทฝรั่งเศส ของนายเดอ เลเซป เริ่มลงมือขุด ในขั้นแรกใช้แรงงานขุดกันด้วยจอบ เสียม เครื่องจักรกลทั้งปวงยังมีไม่มากนัก

ในช่วง 10 ปีแรกของการขุด ระหว่าง พ.ศ.2423-2432 เป็นช่วงที่มีแต่อุปสรรค ล้มลุกคลุกคลาน นายเดอ เลเซป และทีมงานวางแผนการขุดคลองแบบเดียวกับที่เคยทำที่คลองสุเอซ ไม่ได้วางแผนสร้างประตูระบายน้ำเป็นช่วงๆ เพราะน้ำทะเลทั้ง 2 ฝั่งมีระดับไม่เท่ากัน งานหยุดชะงัก กระท่อนกระแท่น ไม่เป็นโล้เป็นพาย
สิ่งที่เลวร้ายที่สุดคือ คนงานเจ็บป่วยล้มตายเป็นใบไม้ร่วงจากโรคระบาดและความร้อน หมอยังไม่พบวิธีการรักษา ไม่ทราบว่าเป็นอะไรตาย คนงานที่เหลือหนีกลับบ้าน ขาดเครื่องมือ เงินทุนหมด

นายเดอ เลเซป ติดต่อกลับไปปารีสเพื่อขอความช่วยเหลือจากวิศวกรก้องโลก ชื่อ กุสตาฟ ไอเฟล (Gustave Eiffel) ผู้ออกแบบหอไอเฟลในปารีส ให้ช่วยมาแก้ปัญหางานวิศวกรรม ให้เร่งออกแบบคำนวณสร้างประตูกั้นน้ำในคลองปานามา

กุสตาฟ ไอเฟล เดินทางมาช่วยงานอย่างเต็มสูบ เพราะเป็นชื่อเสียงของฝรั่งเศส แต่จนแล้วจนรอด บริษัทที่ล้มลุกคลุกคลานมานานก็ไม่สามารถทรงสภาพอยู่ได้ เป็นอันต้องล้มละลายไปไม่รอด

มีการฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาล ผลปรากฏว่า นายเดอ เลเซป พร้อมทั้งบุตรชาย โดนข้อหาฉ้อโกง
ปี พ.ศ.2437 นายเดอ เลเซป เสียชีวิต ส่วนนายไอเฟล ที่ถูกจ้างมาช่วยงาน ประกาศเลิกเกี่ยวข้องกับคลองปานามาตลอดไป ฝรั่งเศสฮึดสู้ตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่อีกครั้งเพื่อจะขอกัดฟันทำงานต่อ แต่ในที่สุดก็ล้มครืน เจ๊งหมดรูปไม่เป็นท่าไปอีกครั้ง

รัฐบาลวอชิงตันของอเมริกาเฝ้ามองโครงการนี้มานาน เพราะโครงการใกล้ชิดเหมือนอยู่ใต้ถุนบ้านตัวเอง เป็นประโยชน์กับอเมริกาในด้านเศรษฐกิจและการทหาร ในขั้นต้นทีมงานของอเมริกากลับเห็นว่า ถ้าขยับแนวไปขุดคลองอยู่ในดินแดนประเทศนิการากัวน่าจะเหมาะสมกว่า

วิศวกรฝรั่งเศสชื่อนายบูโน วาริลยา (Bunau-Varilla) ล็อบบี้ชี้แจงเป็นตุเป็นตะ ให้ข้อมูลหนักแน่นว่า ดินแดนนิการากัวน่าจะเป็นอันตรายในระยะยาว เพราะมีภูเขาไฟที่อาจระเบิดวันใดก็ได้ อเมริกาจึงหันกลับมามองที่คลองปานามา

อเมริกาเจรจาขอซื้อโครงการขุดคลองจากบริษัทของฝรั่งเศสมาทำเอง เพราะเป็นเมกะโปรเจ็กต์ที่จะเปลี่ยนโลกใบนี้ไปแบบไม่มีวันหวนกลับ และในที่สุด พ.ศ.2445 สภาคองเกรสอนุมัติหลักการพร้อมเงินมหาศาลให้สหรัฐซื้อกิจการการขุดคลองจากฝรั่งเศสมาทำเอง

ตลกร้ายระดับโลกในอดีตที่ขำไม่ออกเกิดขึ้น ขอนำมาแบ่งปันครับ

ปานามา แต่เดิมเป็นเพียงจังหวัดหนึ่งของประเทศโคลัมเบีย เมื่อมหาอำนาจสหรัฐจะเข้ามาขุดคลองในรูปของธุรกิจ เงินจะไหลนอง ทองจะไหลมา สหรัฐเจรจากับรัฐบาลโคลัมเบียไม่สำเร็จเพราะผลประโยชน์ไม่ลงตัวหลายประเด็น

รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ นายจอห์น เฮย์ และนายบูโน วาริลยา เข้ามามีบทบาทในการเจรจา เรื่องที่ตกลงกันไม่ได้คือ กรรมสิทธิ์ในที่ดิน ราคาค่าเช่าที่รัฐบาลโคลัมเบียไม่ยินยอมรัฐบาลสหรัฐ ชาวปานามาเองก็ระแวงว่าโคลัมเบียจะไม่แบ่งผลประโยชน์ให้

แต่ก่อนแต่ไร บ้านเมืองก็สงบสุขปรองดองกันดี เมื่อเงินกำลังไหลออกมา ผู้คนทั้งหลายในบ้านในเมืองชักพูดกันไม่รู้เรื่อง เปลี่ยนมิตรเป็นศัตรูทันที

เกมแห่งอำนาจแบบนี้ ต้องเอาหนามบ่งหนาม
เมื่อตกลงกันไม่ได้ ทุกเวลานาทีเป็นเงินเป็นทองไปหมด ชาวจังหวัดปานามาจึงลุกขึ้นสวมหัวใจสิงห์ก่อการปฏิวัติและประกาศตัวเป็นประเทศเอกราช ขอแยกตัวออกจากโคลัมเบียทันที
สหรัฐอเมริกาเองกระโดดออกมารับรองความเป็นเอกราชของประเทศปานามาทันควัน และยังได้ช่วยกดดันไม่ให้โคลัมเบียส่งทหารเข้ามาปราบปรามชาวปานามา

พ.ศ.2446 วอชิงตันเจรจากับประเทศปานามาได้อย่างสะดวกโยธิน ทุกอย่างราบรื่นไพเราะเสนาะหู สหรัฐได้สิทธิขุดคลองปานามา

4 พฤษภาคม พ.ศ.2447 กองทัพบกสหรัฐโดย พันเอก วิลเลียม ซี กอร์กัส เข้ามารับผิดชอบพื้นที่ปานามา สิ่งแรกที่ทำคือ การกำจัดยุงซึ่งเป็นฆาตกรเงียบ เป็นพาหะในการนำโรคไข้เหลืองและมาลาเรีย โดยการขจัดหนองน้ำที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์และขจัดพงหญ้าที่เป็นแหล่งหลบซ่อนตัวของยุง ตลอดจนกำจัดหนูซึ่งเป็นพาหะกาฬโรค กองทัพบกสหรัฐใช้เวลาในการกำจัดยุงและหนูนาน 10 ปี ใช้เงินไปประมาณ 20 ล้านดอลลาร์
พ.ศ.2457 เมื่อพื้นที่ประเทศปานามาปลอดภัย กำลังพลจะไม่ป่วยตายจากยุงและหนู สหรัฐจึงให้คนงานเข้าพื้นที่ทำงานขุดคลอง

อเมริกาจะต้องจ่ายค่าขุดคลอง 375 ล้านเหรียญ รวมถึงจ่ายค่าทำสัญญา 10 ล้านเหรียญ และ 40 ล้านเหรียญ สำหรับสินทรัพย์ของฝรั่งเศสที่ขายต่อให้อเมริกา

วิศวกรอเมริกันตัดสินใจที่จะก่อสร้างคลองที่มีประตูกั้นน้ำเป็นระยะๆ แทนที่จะเป็นคลองที่มีระดับน้ำเท่ากับระดับน้ำทะเล และหลังจากได้ตระเตรียมระบบพื้นฐาน ระบบการก่อสร้างของระบบประตูกั้นน้ำของคลองก็เริ่มต้นขึ้น

15 สิงหาคม พ.ศ.2457 ตรงกับรัชสมัยในหลวง ร.6 คลองปานามาก็ได้เปิดใช้อย่างเป็นทางการ ซึ่งงานเสร็จก่อนกำหนดราว 2 ปี คลองมีความยาวประมาณ 80 กิโลเมตร

เกร็ดประวัติศาสตร์ของอเมริการะบุว่า สหรัฐจัดตั้งทหาร 1 กองพลขึ้น เพื่อดูแลพิทักษ์รักษาผลประโยชน์และอธิปไตยของสหรัฐในพื้นที่คลองปานามา ซึ่งก็เป็นไปตามหลักการของกองทัพสหรัฐ

การเดินเรือ การเรียกเก็บค่าผ่านคลองเป็นไปอย่างราบรื่น
ในปี พ.ศ.2507 มีเหตุกระทบกระทั่งเรื่องการติดธงชาติตามแนวคลอง มีเหตุประท้วงรุนแรง มีการปราบปรามผู้ชุมนุมชาวปานามาเสียชีวิตจำนวนมาก รัฐบาลปานามาประกาศตัดความสัมพันธ์กับสหรัฐความสัมพันธ์สหรัฐ-ปานามา ขาดสะบั้น

พ.ศ.2520 ประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ ไปลงนามที่จะถ่ายโอนการควบคุมคลองปานามาคืนให้ปานามาในปี พ.ศ.2542 แต่มีเงื่อนไขว่าสหรัฐจะยังคงสิทธิที่จะสามารถใช้กำลังทหารปกป้องคลองเพื่อรักษาความเป็นกลางได้

วันที่ 31 ธ.ค. 2542 ปานามาได้รับอำนาจอธิปไตยเหนือคลองปานามาคืนจากสหรัฐ

ปี พ.ศ.2550 รัฐบาลปานามาได้เริ่มโครงการขยายคลองปานามาเพื่อรองรับเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ที่กินน้ำลึกกว่าเดิมเพื่อเพิ่มรายได้เข้าประเทศ

ผู้เขียนไปพบข้อมูลใหม่ว่า 100 ปี หลังจากเปิดใช้คลองปานามา รัฐบาลจีนย่องเข้าไปคุยกับรัฐบาลนิการากัว เพื่อขอขุดคลองอีกแห่งในนิการากัว ซึ่งได้มีการสำรวจเมื่อร้อยปีที่แล้วและอเมริกาไม่เอา
เมื่อปี พ.ศ.2556 จีนทุ่มเงินราว 40 พันล้านเหรียญให้รัฐบาลนิการากัว เพื่อขอขุดคลองอีก 1 เส้นผ่านนิการากัว เป็นทางเลือกและแข่งขันกับคลองปานามา

กว่าจะมาเป็นคลองปานามาทุกวันนี้ ช่วงแรกที่ฝรั่งเศสดำเนินการ มีคนงานเสียชีวิตจากโรคภัยไข้เจ็บ ฝนตกหนัก ความร้อน ความชื้น ไข้เหลือง มาลาเรีย และอุบัติเหตุราว 25,000 คน ส่วนในช่วงที่อเมริกาเข้ามา

ทำงานต่อ มีคนงานเสียชีวิตราว 5,600 คน

แต่ละปีมีเรือผ่านคลองปานามา ราว 13,000-14,000 ลำ เรือของอเมริกาใช้คลองนี้มากที่สุด ตามด้วยเรือจีน ชิลี ญี่ปุ่น โคลัมเบีย เกาหลีใต้

การเก็บค่าผ่านคลองจะเก็บตามขนาดเรือและปริมาณสินค้า เคยมีสถิติเรือที่จ่ายค่าผ่านคลองสูงสุดจากเรือใหญ่ที่สุดคือ 450,000 เหรียญ เรือที่เล็กที่สุดที่ต้องจ่ายคือ 36 เซนต์

ทุกวันนี้มีรายได้ประมาณปีละ 1.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลโดยประมาณ)
โดยเฉลี่ยเรือจะใช้เวลาวิ่งผ่านคลอง ราว 8-10 ชม. เมื่อเข้ามาสู่ระบบคลองกั้นน้ำ จะปรับระดับน้ำให้สูงขึ้น 85 ฟุตเหนือระดับน้ำทะเล ในระหว่างที่เรือแล่นผ่านคลอง มีกฎเหล็กที่กำหนดว่ากัปตันที่ควบคุมเรือมาจะต้องยินยอมให้กัปตันมืออาชีพที่ฝึกมาโดยเฉพาะของปานามาทำหน้าที่เป็นกัปตันแทน
ตั้งแต่เปิดใช้งานมาในปี พ.ศ.2457 มีเรือมาใช้บริการคลองปานามาแล้วประมาณ 1 ล้านลำ
คลองขุดมหากาฬระดับโลกทั้งสองคลอง ที่โชกชุ่มด้วยเลือดและน้ำตาคือ คลองสุเอซและคลองปานามา เป็นตำนานที่มีชีวิต โดยเฉพาะ “การเกิดขึ้นใหม่ของคลองปานามาและประเทศปานามา”

เหลียวซ้ายแลขวา ขยี้ตาดูให้ดี คิดถึงลูกหลานเหลน ก่อนจะคิดถึง “คลองไทย”
แปลและเรียบเรียงโดย

ขอบคุณภาพจาก dailymail.co.uk และ www. mapsofworld.com

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image