Cryptomania? : ทำไมดูเหมือนใครๆ ก็เล่นเงินดิจิทัล? : ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

“คนกินวีแกน, คนเทรดบิทคอยน์ และคนที่ไม่ได้ไปลงคะแนนเลือกตั้งในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เดินเข้าไปในบาร์ คุณคิดว่าใครจะพูดเรื่องตัวเองก่อนกัน”

-ผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่ง

ผมเชื่อว่าจนถึงตอนนี้ ถึงคุณจะไม่สนใจ, ไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ, คุณก็น่าจะได้ยินข่าวบิทคอยน์ (รวมไปถึงคริปโตเคอเรนซี่-เงินดิจิทัล) อื่นๆ ไม่เว้นแต่ละวัน คุณอาจก้าวขาเข้ามาซื้อ (หรือบางคนก็เข้ามา “เล่น”) แล้วด้วยซ้ำ ด้วยคำชวนของเพื่อนใกล้ตัว คนในครอบครัว หรือตัดสินใจเอง

คริปโตเคอเรนซี่ เป็นหัวข้อสุดฮอตของปี 2017 (และข้ามมายังปี 2018) แทบไม่มีสำนักข่าวไหนที่ไม่เล่นข่าวนี้ แทบไม่มีผู้เชี่ยวชาญคนไหนที่ “ไม่มีความเห็น” กับการเจริญเติบโตที่รวดเร็วเหนือมนุษย์ของมัน (ลองพิจารณาว่า ถ้าคุณซื้อบิทคอยน์ต้นปี 2017 ตอนปลายปีคุณจะมีเงินเพิ่มขึ้น 17 เท่า ในขณะที่เงินดิจิทัลสกุลอื่นๆ เช่น Ethereum อาจเจริญเติบโตมากกว่านั้น คืออาจทำให้คุณมีเงินเพิ่มขึ้น 80 ถึงมากกว่าร้อยเท่า!)

Advertisement

บางคนมองในแง่ดีว่า นี่เป็นก้าวต่อไปของแวดวงการเงิน นี่คืออนาคตที่หน่วยเงินจะไร้พรมแดนอย่างแท้จริง มันจะเป็น “อินเตอร์เน็ต” ของเงินตราและเปลี่ยนแปลงการแลกเปลี่ยนของเราคล้ายกับที่อินเตอร์เน็ตได้เปลี่ยนแปลงวิธีการรับข้อมูลข่าวสาร ในขณะที่ฝั่งที่ไม่เชื่อในเรื่องสกุลเงินดิจิทัล (ซึ่งก็มีความแตกต่างหลากหลาย ตั้งแต่ไม่เชื่อทั้งหมด ไปจนถึงไม่เชื่อบางสกุล) ก็อาจมองว่านี่เป็นฟองสบู่ที่จะจบด้วยน้ำตาของใครหลายคน หรือรุนแรงที่สุด คืออาจมองว่าทั้งหมดเป็นเพียงการหลอกลวง (scam) ขนาดยักษ์เท่านั้น พวกเขาอาจคิดว่าเมื่อไม่มีอะไรมายืนยันความมีค่าของหน่วยเงินหนึ่งๆ แล้วมันจะมีความน่าเชื่อถือได้อย่างไร ในขณะที่ฝั่งที่ถือเหรียญดิจิทัลก็โต้กลับว่า เพราะพวกนายเป็น nocoiner หรือ “พวกไม่ซื้อเหรียญตั้งแต่ต้นๆ แล้วมาเสียดายทีหลัง” ล่ะสิ ในขณะที่ทั้งสองฝ่าย (หรือมากกว่านั้น) ถกเถียงกัน รัฐต่างๆ ก็หาวิธีกระชับล้อมวงเงินดิจิทัลเข้ามาเรื่อยๆ จีนและเกาหลีใต้ปิดเว็บเทรด สหรัฐอเมริกาแสดงความเป็นกังวล ไทยก็บอกว่าเป็นการพนัน ในขณะที่บางรัฐก็ส่งเสริม เช่น เอสโทเนียก็ประกาศตัวว่าอยากเป็นแหล่งกำเนิดเหรียญใหม่ๆ

เงินดิจิทัลเป็นฟองสบู่หรือไม่ อาจเป็น – ผมเองก็เชื่อว่าเป็นในบางระดับ แต่ก็ยังเชื่อด้วยว่า เมื่อผ่านช่วงกระแสแรงไปแล้ว จะเหลือเงินดิจิทัลบางสกุลที่ต่อสู้ฟาดฟันจนใช้งานได้จริงๆ ซึ่งถ้าพูดเพียงเท่านี้ – ใครๆ ก็รู้ – คำถามที่สำคัญกว่านั้นจึงเป็น 1.ฟองสบู่ของเงินดิจิทัลจะแตกตอนไหน (คำตอบมีตั้งแต่ “แตกไปแล้ว” จนถึงปี 2022) 2.มันจะแตกด้วยความรุนแรงในระดับไหน (คำตอบมีตั้งแต่แตกจนเหลือมูลค่า 0 ไปจนถึงมูลค่า 10-20% ของปัจจุบัน) และ 3.อะไรที่จะหลงเหลืออยู่หลังฟองสบู่แตกแล้ว (คำตอบมีตั้งแต่ไม่เหลืออะไรเลยไปจนเหลือ 1,000 สกุลจากปัจจุบัน 1,384 สกุล และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ) ซึ่งถ้าใครตอบทั้งสามคำถามนี้ได้อย่างแม่นยำ ผมก็อยากจะซื้อเครื่องบรรณาการไปเซ่นไหว้และฝากตัวเป็นลูกศิษย์

มีการสำรวจที่น่าสนใจจาก Blockchain Capital บริษัทลงทุน พบว่าคนอเมริกันประมาณ 2% ถือครองบิทคอยน์ แต่ถ้าเจาะให้ลึกลงไปกว่านั้น จะพบว่าหากนับกันเฉพาะคนยุคมิลเลเนียลที่เกิดระหว่างปี 1980 ถึง 1990 ตอนต้นละก็ ตัวเลขนี้จะเพิ่มเป็น 4% และถ้าแบ่งตามเพศ คือนับเฉพาะผู้ชายมิลเลเนียลละก็ ตัวเลขจะเพิ่มเป็น 6% ตามผลการสำรวจ พบว่าคนยุคมิลเลเนียลมีความคิดเชิงบวกต่อบิทคอยน์มากกว่าคนวัยอื่นๆ มาก โดยเฉพาะหากเปรียบเทียบจากคนวัย 65 ปีขึ้นไป ที่จากกลุ่มตัวอย่างแทบไม่มีบิทคอยน์เลย หรือไม่เชื่อในเงินดิจิทัลเลย

Advertisement

ทำไมถึงเป็นเช่นนี้? เป็นไปได้ว่าการกระจายแบบนี้อาจเกิดขึ้นเพราะความที่สัดส่วนของผู้ชายกับผู้หญิงในวงการเทคโนโลยีเป็นเช่นนี้ (คือผู้ชายมักทำงาน หรือถูกรับทำงานในสายเทคโนโลยีมากกว่าผู้หญิง และค่านิยมก็มักผูกผู้ชายกับเทคโนโลยีมากกว่า) และคนรุ่นใหม่ก็อาจเปิดรับเทคโนโลยีได้มากกว่าคนรุ่นก่อน คอลัมนิสต์ของ Financial Times แสดงความเห็นว่า “การมีเงินดิจิทัลที่มูลค่าเหวี่ยงไปเหวี่ยงมาอย่างรวดเร็วอาจสะท้อนถึงความกบฎในวัยหนุ่มสาว” นอกจากนั้นยังให้เหตุผลว่าอาจเป็นเพราะคนวัย 18-34 ปีนั้นไม่เคยผ่านประสบการณ์ฟองสบู่แตกมาก่อน (คือเกิดแล้ว แต่อาจยังเด็กหรืออาจยังไม่มีส่วนร่วมกับฟองสบู่ดอตคอม)

นอกจากนั้น เธอยังบอกว่าที่คนเหล่านี้ซื้อบิทคอยน์หรือเงินดิจิทัลอื่นๆ นั้นอาจเป็นเพราะ FOMO (Fear of Missing Out) หรือซื้อเพราะกลัวจะตกขบวน กลัวจะไม่ทันเพื่อนๆ กลัวจะไม่มีส่วนร่วม ผลคล้ายกับโซเชียลเน็ตเวิร์ก หรือความเป็นไปได้อีกอย่างคือเพราะคนยุคนี้มีเงินให้ลงทุนน้อย จึงต้องลงทุนความเสี่ยงสูง เพื่อที่ว่าหากได้ผลตอบแทนก็จะได้ผลตอบแทนทีละมากๆ

ไม่ว่าเหตุผลจะเป็นอย่างไร (เหตุผลของแต่ละคนคงแตกต่างกันไป หรือเป็นส่วนผสมของหลายเหตุผลเข้าด้วยกัน) ความจริงก็คือ ตอนนี้ปรากฏการณ์เงินดิจิทัลได้เกิดขึ้นอย่างหยุดยั้งไม่อยู่แล้ว

มันเปรียบเสมือนการแสดงขนาดใหญ่ ที่ผู้ชมต่างรอดูว่าจะจบด้วยชัยชนะอันเกรียงไกร หรือความพ่ายแพ้ที่น่าอดสูของฝ่ายตน

หมายเหตุ: ผู้เขียนถือครอง Cryptocurrency บางสกุล
อ้างอิงข้อมูลการสำรวจจาก http://www.survey.blockchain.capital/#1509357382325-e50c4f0b-f4fd

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image