บทสนทนาระหว่าง’นักการเมือง’ โดย ปราปต์ บุนปาน

แฟ้มภาพ

หลังประกาศตัวชัดเจนว่าเป็น “นักการเมือง” ก็มีฟีดแบ๊กจากบรรดานักการเมือง “รุ่นพี่” กลับไปยังคำประกาศของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช. และ “นักการเมืองผู้เคยเป็นทหาร” อย่างต่อเนื่อง

เว็บไซต์มติชนสุดสัปดาห์เพิ่งจัดทำคลิปสัมภาษณ์พิเศษบรรดานักการเมืองระดับนำจากหลายพรรคถึงประเด็นดังกล่าว

นับว่าน่ารับฟังอยู่ไม่น้อย

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ มองว่าเป็นเรื่องดี ที่นายกฯ ยอมรับ “ความเป็นจริง” เพราะการเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็ต้องถือเป็นนักการเมืองอยู่แล้ว

Advertisement

เพียงแต่จะเป็น “นักการเมือง” ที่มาจาก “การเลือกตั้ง” หรือ “การยึดอำนาจ” เท่านั้น

คุณหญิงสุดารัตน์ย้ำไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ ว่าสิ่งสำคัญที่สุดของการเป็นนักการเมือง คือ การที่เราต้องมีหน้าที่ต่อประชาชน และเคารพในความคิดเห็นของประชาชน ด้วยฐานคิดที่ว่า “นักการเมืองทุกคนจะถือว่าประชาชนเป็นใหญ่ที่สุด”

ดังนั้น การประกาศตัวเป็นนักการเมืองจึงต้องเคารพเสียงและความคิดเห็นของประชาชนไปพร้อมกัน

Advertisement

นอกจากนี้ ในฐานะนักการเมือง เมื่อประกาศจะเข้ามาแก้ไขปัญหาให้กับประเทศ โดยเฉพาะประเด็นคอร์รัปชั่น ก็ต้องแก้ไขปัญหานี้ให้ชัดเจน ด้วยการส่งเสริมให้มีการตรวจสอบเรื่องทุจริตอย่างตรงไปตรงมามีมาตรฐาน และต้องไม่ใช้มาตรการใดๆ มาป้องกันการตรวจสอบ

ข้อสุดท้ายที่คุณหญิงสุดารัตน์ฝากไปยังนายกรัฐมนตรีก็คือ นอกจากจะประกาศตัวเป็นนักการเมืองแล้ว อีกสถานะหนึ่งซึ่งหัวหน้า คสช. ต้องเป็น คือ “สุภาพบุรุษนักการเมือง” ที่จะไม่ใช้อำนาจในมือเอื้อต่อการหาคะแนนเสียงให้แก่ตนเอง จนถูกครหาว่าเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่นๆ

นายอนุทิน ชาญวีรกูล ต้อนรับนักการเมืองชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ด้วยประโยคภาษาอังกฤษ “welcome to the club”

พร้อมความคาดหวังว่านายกฯ จะเข้าใจนักการเมืองด้วยกันมากขึ้น และหากต้องพบปะ พูดคุย เจรจากัน การมีปฏิสัมพันธ์นั้นๆ ก็น่าจะวางอยู่บนฐานของการเข้าใจซึ่งกันและกัน ไม่ใช่หวาดระแวง

นายอนุทินบอกว่า โดยหลักการ ถ้าพรรคภูมิใจไทยจะเสนอชื่อผู้เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรีภายหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า ก็คงต้องเสนอชื่อหัวหน้าพรรค

อย่างไรก็ดี ตนยังไม่อยากคาดเดาถึงอนาคต แต่ขอให้มีการเลือกตั้งก่อน แล้วค่อยรอดูผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นจากตรงนั้นอีกที

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ บอกว่าไม่แปลกใจกับการประกาศตัวเป็นนักการเมืองของนายกฯ เพราะถ้าย้อนกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์ จะเห็นได้ชัดเจนว่าหลังการยึดอำนาจหลายครั้ง มักจะมีการดำเนินการเพื่อดำรงอำนาจต่อไปในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง บางยุคผู้ยึดอำนาจก็ตั้งพรรคเอง บางยุคก็มีพรรคตัวแทน

ดังนั้น ถ้ายุคนี้จะมีพรรคการเมืองไม่ว่าจะตั้งขึ้นใหม่หรือไม่ใหม่ เข้ามาดำเนินการสนับสนุนแนวทางดังกล่าว ตนก็ไม่แปลกใจ เพราะประวัติศาสตร์บอกให้เรารู้ว่าเส้นทางสายนี้ยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้ในประเทศไทย ส่วนจะสำเร็จหรือไม่ อย่างไร ต้องติดตามดูต่อไป

สิ่งที่นายจุรินทร์กังวลมากกว่า คือ ความไม่มั่นใจว่าโรดแมปทางการเมืองในปี 2561 จะดำเนินไปตามที่ คสช.ประกาศไว้ หากประเมินจากสัญญาณที่ส่งออกมาสู่สาธารณะในระยะหลังๆ ของ “แม่น้ำสายต่างๆ”

ด้วยเหตุนี้ การประกาศตัวเป็นนักการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จึงเกิดขึ้นพร้อมกับสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังคงอึมครึมไม่ชัดเจน

ขณะที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง แสดงความเห็นว่าหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า หาก พล.อ.ประยุทธ์ ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีอีกหน ด้วยวิธีใดก็ตาม พรรคเพื่อไทยก็ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องไปทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้าน

ซึ่งทางเลือกดังกล่าวไม่ใช่เรื่องน่าเสียอกเสียใจ แต่เป็นเรื่องที่จะต้องทำหน้าที่อย่างสมเกียรติ

เหล่านี้คือความคาดหวัง ความห่วงใย ข้อทักท้วง ความไม่มั่นใจ และการคาดคะเนถึงสถานการณ์การเมืองไทย หลังการประกาศตัวเป็น “นักการเมือง” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

…………………

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image