สถานการณ์ การเมือง POST “วันที่ 29 มีนาคม” สถานการณ์ “ใหม่”

ไม่ว่าเสียงภายใน “คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ” จะแตก แยกย่อย อย่างไร ไม่ว่าเสียงจาก นายมีชัย ฤชุพันธุ์ จะแฝงการตัดพ้อต่อว่าอย่างไร

ทั้งหมดนี้เสมอเป็นเพียงสิ่ง “ปรุงแต่ง”

เพราะ “เป้าหมาย” อย่างแท้จริงอันปรากฏออกมาเป็นระลอกๆ นับแต่ คสช.ได้ทำหนังสือลงนามโดย พล.อ.ธีรชัย นาควานิช เพื่อเรียนให้ทราบ

คือ การประนีประนอม พบกัน “ครึ่งทาง”

Advertisement

คล้ายกับจะเป็นครึ่งทางระหว่าง คสช.กับ กรธ.แต่ในความเป็นจริงสิ่งที่ กรธ.กระทำมาตั้งแต่ก่อรูปขึ้นในเดือนตุลาคม 2558

คือ การเดินตามกรอบแห่งมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2557

ไม่ว่าข้อเสนอ 16 ข้ออันมาจาก ครม. ไม่ว่าข้อเสนอ 3 ข้อใหญ่อันมาจากแม่น้ำ 4 สายซึ่งอยู่ในกำกับของ คสช.

Advertisement

คือ การแปร “นามธรรม” ออกมาเป็น “รูปธรรม”

เป็นรูปธรรมว่าจะคงอำนาจของ คสช.ไว้อย่างไรในระยะซึ่งเรียกว่า “เปลี่ยนผ่าน” เป็นรูปธรรมว่าจะสามารถ “พิทักษ์” รัฐธรรมนูญได้อย่างไร

ในที่สุดแล้วทุกอย่างย่อม “เรียบโร้ย” โรงเรียน “คสช.”

 

สัญญาณสำคัญทางการเมืองจึงมิใช่วันที่ 22 มีนาคม ตรงกันข้าม การประกาศ “ร่าง” รัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ในวันที่ 29 มีนาคม ต่างหากที่ทรงความหมาย

เท่ากับเป็นก้าวที่ 1 ไปยังก้าวสุดท้าย “ประชามติ”

จากวันที่ 29 มีนาคม ไปยังวันที่ 29 เมษายน ไปยังวันที่ 29 พฤษภาคม ไปยังวันที่ 29 มิถุนายน ไปยังวันที่ 29 กรกฎาคม

กระทั่งวันที่ 7 สิงหาคม จึง “สำคัญ”

เป็นเวลา 4 เดือนแห่งการรณรงค์อันทรงความหมายยิ่งในทาง “การเมือง” โดยรวมศูนย์ไปยัง “ร่างรัฐธรรมนูญ”

ใครจะเลือก “สายใด” สามารถมองเห็นได้อย่างเด่นชัด

ใครเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ใครไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถ “กั๊ก” เอาไว้ได้อีกแล้ว เพราะถึงเวลาแล้วที่จะต้องตัดสินใจ

ไม่ว่ามองในแง่กลุ่ม ไม่ว่ามองในแง่พรรค

บรรยากาศและทิศทางทางการเมืองนับวันจะยิ่งคมและชัด บรรยากาศแห่งการเสนอความเห็นนับวันจะยิ่งแสดงแนวโน้มและทิศทางที่แน่นอน พรรคเพื่อไทยจะเสนอบทสรุปอย่างใด พรรคประชาธิปัตย์จะก้าวไปอย่างไร

ตรงนี้คือทิศทาง ตรงนี้คือเข็มทิศ ไปยัง “ประชามติ”

ระหว่าง 4 เดือน 7 วันแห่งการเปิดตัวร่างรัฐธรรมนูญฉบับ คสช.บวกกับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ จึงเป็น 4 เดือน 7 วันอันทรงความหมายเป็นอย่างสูง

กล่าวสำหรับ “คสช.” ไม่มีอะไรปิดบัง อำพราง

เพราะเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญจะเผยตัวตนและความต้องการของ คสช.จนหมดสิ้น ไม่มีหมกเม็ดเก็บไต๋แต่อย่างใด

บาทก้าวแรกของการเปลี่ยนผ่าน 5 ปีหลังการเลือกตั้งแจ่มชัด

นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ใดสามารถอ่านออกได้จากบทบัญญัติที่เปิดทางให้กับ “คนนอก” และไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการของ “การเลือกตั้ง”

คำว่า “เขาอยากอยู่ยาว” อันเป็นบทสรุปจาก นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ จะได้รับการยืนยันอย่างเป็นรูปธรรมมากน้อยเพียงใดก็ต่อเมื่อผนวกเอาข้อเสนอ 16 ข้อของ ครม. ข้อเสนอ 3 ข้อใหญ่ของ คสช.เข้ามาตรวจสอบผ่านร่างรัฐธรรมนูญ

หากยินดีให้ “ระบอบ คสช.” ดำรงอยู่จากรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เรื่อยไปกระทั่งผ่านการเลือกตั้งเดือนกรกฎาคม 2560 ไปยังเดือนกรกฎาคม 2565 เป็นอย่างต่ำ

ก็เข้าคูหากาบัตร “รับ” ร่างรัฐธรรมนูญในขั้น “ประชามติ”

หากไม่เห็นด้วยกับ “ระบอบ คสช.” และต้องการให้คืนกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยปกติอย่างที่นานาอารยประเทศปฏิบัติกัน

ก็เข้าคูหากาบัตร “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญในขั้น “ประชามติ”

 

นับจากวันที่ 29 มีนาคมเป็นต้นไป สถานการณ์ในสังคมประเทศไทยจะเริ่มเข้าสู่สถานการณ์ “ใหม่”

เป็นสถานการณ์แห่งการวิพากษ์วิจารณ์ เป็นสถานการณ์แห่งการสังเคราะห์ วิเคราะห์และประมวลในทางการเมือง เป็นสถานการณ์แห่งการเสนอทางออก เสนอทางเลือก

ฤดูกาลเปลี่ยน การเมืองย่อมเปลี่ยน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image